1 ก.พ. 2022 เวลา 04:38 • ความคิดเห็น
เรื่องราวของคำว่าสมาธิ เดี๋ยวนี้มันมีหนังสือหนังหาให้อ่านเรียนมากมากก่ายกอง จนไม่รู้ว่าจะกลั่นกรองกันยังไงถูก สันสนวุ่นวาย ในคำว่าสมาธิโลกีย์ ทำอะไรก็ว่าเป็นสมาธิไปเสียหมด อยู่กับโลกีย์ ร้องรำทำเพลงก็บอกว่าเป็นสมาธิ สมาธิหลงรูปรสกลิ่นเสียงนั่นหรือคือสมาธิ ที่จริงคือ ยังทำสมาธิที่แท้จริงไม่ได้ แค่อุปโลกน์ตามๆกันไปเท่านั้นเอง ความหมายของคำว่าสมาธิที่แท้จริงเสียหายหมด การหาอ่านหนังสือทำนองนี้ ต้องมีเหตุผล ใคร่ครวญให้ดีๆ เปรียบเทียบ คำว่าสมาธิ ของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ท่านนั่งกลางป่า นั่นเป็นสมาธิแบบไหนกัน เรียนผิด จดจำมาแบบผิด มันพากันตกเหวเท่านั้นเอง
ในสมัยก่อน เค้าพูดถึงการว่าทำจิตเป็นสมาธิ การทำให้จิตเป็นสมาธิ เค้าก็มีคำพูด ที่เราก็ได้ยินได้ฟัง มันเป็นขั้นเป็นตอน ให้ทาน บุญ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเริ่มเป็นขั้นตอน เรื่องการให้ทาน สละปัจจัยที่เราหาด้วยความเหนื่อยยาก อาศัยสังขารที่เค้าให้มาไปเสาะแสวงหา แล้วก็แบ่งปันกัน จิตจะได้ไม่คับแคบ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้
เรื่องของบุญก็เหมือนกัน เราทำบุญถวายไว้ ในศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเรารู้จัก พระคุณพ่อแม่พระคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ที่จะช่วยชี้แนวทางให้แก่จิตของเรา ประพฤติปฏิบัติธรรม บรรเทาทุกข์ ทุกข์ที่อยู่ในกายที่เราอาศัยอยู่ ทุกข์สุขมันก็อยู่ที่กายนี้ กายนี้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากทารกเป็นหนุ่มสาวแก่เฒ่าชรา ตายจากไป ระหว่างทางจากเกิดไปจนตาย จิตนั้นล้วนตกเป็นทาสของอารมณ์โลภโกรธหลงตลอดเวลา โดยที่เราไม่ทันสังเกต ไม่รู้จัก ว่าการใช้กาย วิญญาณทั้งหก มันเกิดเป็นกรรมขึ้นมาอย่างไร เราก็ไม่รู้จัก เพราะเราไม่เคยรู้จักจิตของเราที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั่น เค้าทำด้วยกิริยานอบน้อมนั่งพับเพียบ กราบพระด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำตนเหมือนปฏิบัติธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำรวจตรวจสอบ กายให้ตรง ยืดตัวตรงๆ วางมือเป็นระเบียบ เหมือนกับพระปฏิมากร แต่เรานั่งพับเพียบ นั่งนิ่งกาย พยายามบังคับให้กายนิ่ง บังคับกายนิ่งได้จิตเค้าก็จะนิ่งตามกายเอง แล้วเราก็รักษากายให้นิ่ง เวทนาเจ็บป่วยก็นิ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในกายเป็นแค่ของอาศัย อารมณ์อะไรเกิดขึ้น ความคิดเห็นเกิดขึ้น ก็ให้มีสติรู้จักอารมณ์ว่ากำลังเกิดขึ้น เราก็พยายามบอกตัวเอง เอาให้จิตมาอยู่กับคำภาวนาพุทโธ (เรียกว่า ทำจากสมมุติ เพื่อไปหาวิมุตติ)
เรื่องการทำกายให้นิ่งจิตนิ่ง นั้นต้องอาศัยการฝึกหัด ทำเป็นนิจสิน เหมือนสละเวลาอยู่กับโลก มาอยู่ในรอยของการประพฤติปฏิบัติธรรม เรากระทำแบบสะสมไปเรื่อยๆ วันละห้านาที สอบนาทีเราทำให้เป็นนิจสิน จิตของเราก็จะมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น อารมณ์กรรมความหงุดหงิดขี้โมโห ก็จะค่อยน้อยๆลงไปๆเรื่อยๆ จิตจะค่อยพัฒนากับเรื่องราวของอารมณ์ขึ้นมา สำคัญอยู่ที่เวลาปฏิบัติ ทำให้จริงจัง หนักแน่น ทำได้แค่ไหนเอา แค่นั้น สะสมไปเรื่อยๆ เมื่อจิตนี้ ขยายโตขึ้น เราก็จะเข้าใจเรื่องราวของอารมณ์ที่ได้ชัดเจนขึ้น จิตที่มีอารมณ์ กับจิตไม่มีอารมณ์นั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เรามีความเพียรรักษากายรักษาจิต เพียรประพฤติปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ พอเราทำได้ กายนิ่ง จิตนิ่ง จิตก็จะมีแสงสว่าง สว่างไสว เราก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่อยู่ภายในกายได้มากขึ้น เราก็จะได้เรียนว่า ที่ว่าสิ่งต่างๆไหลมาแต่เหตุนั้นมาจากไหน เป็นลักษณะอย่างไรบ้าง มันทุกข์หรือมันสุข เหตุที่มันไหลออกมาเพราะอะไร มันทุกข์มันร้อนแสนสาหัสเป็นอย่างไรแล้วเราจะดับเหตุจะต้องทำอย่างไร ดับเหตุทีไหลออกมาได้ มันเบามันมีสุขมั้ย มันหลายเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้จัก อาศัยกายที่นิ่ง จิตนิ่ง จุดเทียนธรรมขึ้นมาเรียนรู้ จิตของตน ที่เป็นผู้ที่เดินทางออกจากสังขารนี้ จะไปสถิตสังขารใดรูปใดต่อไป เหมือนได้บ้านหลังใหม่ ที่สะอาดสดใส หรือ สกปรกเลอะเทอะก็อยู่ที่เราเพียรกระทำในปัจจุบัน ชาติปัจจุบันนี้
เรื่องของการประพฤติปฏิบัติธรรม เค้าจึงมีคำว่า พระปริยัติ พระปฏิบัติธรรม พระปฏิเวธ พระปฏิบัติธรรมที่อยู่ตรงกลางหายากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร มันเหมือนเสี่ยงทายจริง ถ้าเราเจอะเจอบุคคลครูบาอาจารย์ ที่ท่านกระทำได้จริงๆ จิตเข้าถึงธรรมได้จริงก็นับว่าโชคดี เพราะเราต้องการปฏิบัติธรรมตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสะสมอะไรมา เราจะได้เดินตามท่านให้ถูกทาง เหมือนคำพูดมาว่า หายใจยังไง ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย
มีบางเรื่อง ที่เราอาจจะพบเจอว่า ฟังเสียงเพลงทำนองนี้ ทำให้เกิดสมาธิ ความสงบอะไรต่างๆ เราก็ควรจะพิจารณา ให้ดีว่านั้น คืออะไร นั้นก็คือ อารมณ์อีกเหมือนกัน ที่จูงจิตของเราไปอยู่ในภวังค์ เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงนั้นอีกเหมือนกัน ทำให้จิตเราหลงใหลกับอารมณ์ที่มากับเสียงนั้นอีกเหมือนกัน มันมีอารมณ์ของความขอบใจในเสียงนั้นอยู่ๆ อีกเหมือนกัน
โฆษณา