2 ก.พ. 2022 เวลา 03:19 • การศึกษา
​การพัฒนา “ทุนมนุษย์” ด้วย Mentorship Program
1
​Adam Smith บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์และบุคคลสำคัญของโลก ได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือ “The Wealth of Nations” อันโด่งดัง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1776 ว่า นอกเหนือไปจากปัจจัย เช่น อาคาร เครื่องจักร ที่ดิน แล้ว ปัจจัยการผลิตสำคัญของเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้เลยคือ แรงงาน
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า แรงงานมีความหมายที่กว้างขวางไปกว่าการเป็นเพียงกำลังทางกายภาพ แต่แรงงานคือ “ทุนมนุษย์” (human capital) ที่รวมคุณสมบัติสำคัญอื่น ๆ ที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าต่อเศรษฐกิจ สังคมและองค์กรด้วย
โดย Lynda Gratton และ Sumantra Ghoshal นักวิชาการจาก London Business School ได้ให้ความหมายซึ่งผู้เขียนคิดว่าครบถ้วนเป็นอย่างดีว่า ทุนมนุษย์ คือส่วนผสมสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ทุนทางปัญญา (intellectual capital) อาทิ ความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทักษะ ประสบการณ์ที่คนสะสมไว้ รวมทั้งความรู้ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล (tacit knowledge) ทุนทางสังคม (social capital) อาทิ เครือข่ายความสัมพันธ์ และทุนทางอารมณ์ (emotional capital) คือ คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความมีศักดิ์ศรี (integrity) การทนทานต่อความเปลี่ยนแปลง (resilience)
ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคม การลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของคน จึงเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับประเทศในทางหนึ่งด้วยผลิตภาพของการทำงาน (productivity) ที่สูงขึ้น จากการสะสมความรู้ ประสบการณ์ เครือข่าย และคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน ดังนั้น นอกจากการลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การเรียนในชั้นเรียน การฝึกอบรมทักษะเฉพาะอย่างตามเส้นทางอาชีพแล้ว การลงทุนผ่านการศึกษาที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบ เช่น การถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่สะสมไว้ในตัวโดยเฉพาะ tacit knowledge จากผู้มีประสบการณ์และความรู้มากกว่า รวมถึงการถ่ายทอดคุณลักษณะที่เอื้อให้เกิดผลที่ดีต่อสังคมส่วนรวม ย่อมสร้างคนให้เป็น “ทุนมนุษย์” ที่มีคุณค่า อันจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ สังคม และองค์กรได้ต่อไปอย่างมหาศาล
หนึ่งในกระบวนการสร้างทุนมนุษย์ที่ไม่ได้จำกัดเป็นการศึกษาที่อยู่ในรูปแบบ คือ “mentorship program” ซึ่งผู้เขียนโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมและสัมผัสประสบการณ์โดยตรงในทั้ง 3 บทบาท คือ การเป็น mentor (หรือภาษาไทยคือพี่เลี้ยง) mentee (น้องเลี้ยง) และ organizing committee (ผู้จัด) วันนี้จึงมาชวนท่านผู้อ่านทำความรู้จักโปรแกรมนี้กันครับ
Mentorship program คือ กระบวนการเสริมสร้างปัญญาด้วยการสร้างมุมมองสะท้อนย้อนคิด (reflection) และการถ่ายทอดความรู้ แนวคิด มุมมอง ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ที่สะสมมาและมีคุณค่า จากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์สูงกว่า (mentor) ให้แก่ผู้ที่มีน้อยกว่า (mentee) ซึ่ง mentee ถือเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้นี้
โดยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแบบไม่เป็นทางการ แต่จัดให้มีช่วงเวลาพบเจอเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ (mentoring session) เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เช่น 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งช่วยให้ mentee ได้เรียนรู้โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องงาน แต่รวมถึงการใช้ชีวิต วิธีคิด จนบางครั้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติของเป้าหมายชีวิตหรือทางเลือกในการจัดการกับปัญหาที่หลากหลายขึ้น โดยสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในระดับองค์กร สังคมหรือประเทศ ทั้งนี้ กระบวนการ mentoring เป็นทั้งการ coaching คือการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และการตั้งคำถามชวนคิดอันทรงพลัง ผนวกกับการให้คำแนะนำ (advising) ที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ของ mentor เพื่อให้ mentee สามารถนำไปประยุกต์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตของตนเองได้
ในบริบทสากล mentorship program เป็นแนวคิดที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่ง ตลอดจนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก สำหรับประเทศไทย mentorship program ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 นั่นคือ โครงการ ChAMP (Chulalongkorn Alumni Mentorship Program) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี mentor เป็นศิษย์เก่า และ mentee เป็นนิสิตปัจจุบันไม่จำกัดคณะ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วกว่า 10 ปีจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ แนวคิดเริ่มขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ธรรมศาสตร์ (โครงการ TBS-AIM) เกษตรศาสตร์ (โครงการ KAMP-Engineering)
Mentorship program ยังมีให้เห็นในระดับประเทศอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น โครงการ IMET MAX ของมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) ที่ดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ (mentee) ได้เรียนรู้ พัฒนา และสามารถประยุกต์คุณค่าที่ได้รับจากผู้บริหารระดับสูง (mentor) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง และต่อผู้อื่น (Wisdom for life and social values)
mentor ของโปรแกรมนี้จะมีลักษณะเป็นที่ปรึกษาหรือคู่คิดที่ช่วยสร้างกระบวนการ reflection เพื่อกระตุก mentee ให้ทบทวน วิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้ชัดเจนขึ้น และอาจแบ่งปันประสบการณ์หรือยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของ mentor ให้ mentee ทราบเพื่อนำไปประยุกต์กับการตัดสินใจใด ๆ ของตนด้วย นอกจากนี้ mentorship program ยังมีให้เห็นในระดับองค์กรของรัฐและเอกชน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีโปรแกรมให้ผู้บริหารและพนักงานเป็น mentor และ mentee ได้เรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน
จากหลักฐานความสำเร็จที่ปรากฏ โดยเฉพาะจากโปรแกรมต่าง ๆ ที่ดำเนินมาแล้วในหลายประเทศรวมทั้งไทย ผู้เขียนมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า แนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยการเรียนรู้แบบ mentorship จะแพร่หลายต่อเนื่อง และช่วยสร้างกำลังแรงงานให้เป็นทุนมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณค่า สร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศและโลกต่อไปครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
1
โฆษณา