8 ก.พ. 2022 เวลา 01:18 • ไลฟ์สไตล์
“กลัวติดสุขในสมาธิ …​ ความเข้าใจที่ผิด”
“ … อย่างคำถามโยม
ฝึกแล้ว ชอบปฏิบัติ แล้วมันเข้าไปนิ่งสงบ กลัวว่าตัวเองจะติดสุขในสมาธิ
คำว่า ติดสุขในสมาธิ
ยุคนี้เข้าใจกันเคลื่อน ผิดมากเลยทีเดียว
ถ้าเรามีความฝังใจว่า กลัวติดสุขในสมาธิ
ตัวนี้แหละ คือ ตัวดึงในวัฏฏะเลย
มันจะทำให้การปฏิบัติเรา ไม่สามารถก้าวหน้าได้เลย
เพราะปฏิบัติหน่อย ก็กลัวแล้ว ติดสุขในสมาธิ ๆ
มันคือตัวล่อของวัฏฏะ เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด
ทำความเข้าใจเสียใหม่นะ
เพราะว่าถ้าเราเข้าใจผิด เราก็จะดำริผิด
เมื่อเราดำริผิด เราจะลงมือปฏิบัติผิด
เราจะไปผิดทาง
เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อน
เมื่อเข้าใจถูก ก็จะดำริถูก
เมื่อดำริถูก ก็จะลงมือปฏิบัติได้ถูกทางนั่นเอง
คำว่า ติดสุขในสมาธิ
เป็นความเข้าใจที่ผิดนะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
มีความสุขที่ ควรกลัว
กับ ความสุขที่ ควรเสพ
ความสุขที่ควรกลัว คืออะไร ?
ก็สุขจากกามคุณอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง
การเพลินอยู่กับโลก อันนี้ควรกลัว
เพราะว่ามันสุขน้อย แต่มันเต็มไปด้วยโทษภัยมาก
มันคือ กับดักของวัฏฏะ นั่นเอง
แต่มีความสุขที่ควรเสพ
ควรทำให้มาก เจริญให้มาก ก็คือ
สุขจากการสงัดจากกามและอกุศลธรรม นั่นเอง
เข้าถึงความสุขอันเกิดแต่ความวิเวก
พระองค์ตรัสว่า ควรทำให้มาก เจริญให้มาก
เมื่อเราพิจารณาพระสูตรนี้
เราจะพบว่า คำว่า ติดสุขในสมาธิ
เป็นการคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงเลยนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียใหม่
อาการติดสุขในสมาธิ มันไปเกิดขึ้นกับ
ผู้ที่เขาเข้าไปสู่ มิจฉาสมาธิ
เป็นสมาธิที่ขาดสติ สัมปชัญญะ นั่นเอง
แล้วมันก็จะค้างอยู่อย่างนั้น
ท่านเรียกว่า สมาธิหัวตอ มันเดินปัญญาไม่ได้
แต่ถ้าเราเดินในวิถีที่ถูกต้อง
ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
สัมมาสมาธิ อันประกอบด้วยอริยมรรคตรงนี้
จะไม่มีคำว่า ติดสุขในสมาธิ เลย
คำว่า ติดสุขในสมาธิ
ไม่มีในสารบบของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสเลย
มีแต่ยุคนี้ เอามาเยอะเลย เอามาจากไหนก็ไม่รู้
ยังทำกันไม่ไ่ด้เลย กลัวแล้ว ติดสุขในสมาธิ
มันคือ ความหลง นั่นเอง
เพราะฉะนั้นควรทำความเข้าใจเสียใหม่
ทำสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น ทำความเข้าใจให้ถูก
เมื่อเข้าใจถูก ก็ดำริให้ถูก
แล้วก็ลงมือปฏิบัติให้ถูกต้อง
1
ผลที่เกิดขึ้น คือ สัมมาสมาธิ
สมาธิอันเป็นอริยะ จะไม่มีคำว่า ติดสุขในสมาธิ
1
จะเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
เพื่อการสละ ละ วาง
ถ้าเราไม่สามารถแช่อยู่กับสัมมาสมาธิได้ดีนะ
เราจะไม่มีทางยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้เลย
มันต้องทรงตัวได้ดีก่อน
โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นต้นไป
ถ้าอยากจะพิจารณา
ระดับการเห็นการแตกดับของจิต
ที่เรียกว่า พิจารณาจิตในจิต
ต้องเป็นวิปัสสนาที่มีระดับฌานที่ ๓ หรือ ฌานที่ ๔
เป็นบาทฐานเท่านั้น
ถึงจะสามารถพิจารณาจิตในจิตได้
เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ไม่มีฌาน ไม่มีปัญญา
ไม่มีปัญญา ไม่มีฌาน
เพราะฉะนั้นต้องผ่านระดับสัมมาสมาธิก่อน
ในอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาสมาธิข้อที่ ๘​
ถ้าไม่ผ่าน มันจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานไม่ได้เลย
เป็นไปไม่ได้เลย
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
การที่เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
โดยที่จิตตั้งมั่น เป็นฐานะที่จะมีได้
แต่การที่เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
โดยที่จิตไม่ตั้งมั่น เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียใหม่
ฝึกจากสัมมาสติ การระลึกรู้ที่ถูกต้อง
รู้สึกกาย รู้สึกใจ
ทำความรู้สึกตัวขึ้นมาเนือง ๆ
ทำให้มาก เจริญให้มาก
จนสงัดจากกามและอกุศลธรรม
จึงเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
1
จากนั้นก็ฝึก อยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมให้ทรงตัว
แล้วกำลังสติ กำลังสมาธิ
ก็จะมีกำลังยิ่ง ๆ ขึ้นไป
จนจะสามารถมีกำลังพอที่จะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้
ธรรมทั้งหลายจึงจะปรากฏตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น อย่าได้กลัว ติดสุขในสมาธิ
ควรที่จะกลัว การติดสุขจากกามคุณอารมณ์ในโลกมากกว่า
สิ่งนี้ต่างหาก ที่จะดึงเราให้จมอยู่
ในวัฏสงสารไปตลอดกาลนั่นเอง …​“
1
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา