Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
11 ก.พ. 2022 เวลา 03:43 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 5
โพรไบโอติกส์, พรีไบโอติกส์ และซินไบโอติกส์ (ตอน 1)
สมัยผมยังเป็นนักเรียนมีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับ “ไบโอติก (biotic)” ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเพียงคำเดียวคือ antibiotics โดยคำว่า biotic มาจากคำว่า bios ในภาษากรีกที่แปลว่า “ชีวิต” (biology หรือวิชาชีววิทยามาจากรากเดียวกัน) ส่วน anti- เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ตรงข้ามหรือต่อต้าน
ราชบัณฑิตสภาบัญญัติให้ใช้คำว่า “สารปฏิชีวนะ” หรือ “ยาปฏิชีวนะ” แทน antibiotics สารหรือยาพวกนี้หมอจะให้เราตอนป่วย เพื่อฆ่าพวกเชื้อโรคแปลกปลอมซึ่งก็มักจะฆ่าเชื้อดีในร่างกายไปด้วยบางส่วน
ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านงานวิจัยในสายวิทยาศาสตร์การอาหาร (food science) พัฒนาแบบก้าวกระโดดมาก มีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เราจะมาเรียนรู้คำศัพทใหม่ๆ ในกลุ่มที่มีคำว่า biotic รวมอยู่ด้วยกันครับ
อ้อ บางทีอาจเห็นตัวสะกดมี s หรือไม่มี s ก็ได้นะครับ ถ้าไม่มี s (เช่น antibiotic) ก็เป็นคำนามเอกพจน์ หรือคำคุณศัพท์ แต่ถ้ามี s ก็จะเป็นคำนามพหูพจน์ครับ
อีไล เมทช์นิคอฟฟ์ ผู้ริเริ่มแนวคิดโพรไบโอติก https://en.wikipedia.org/wiki/Probiotic#/media/File:Ilya_Ilyich_Mechnikov_1913.jpg
โพรไบโอติกส์
คำว่า “โพรไบโอติกส์ (probiotics)” ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (ค.ศ.2001) ก็คือ “จุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตซึ่งหากมีปริมาณมากพอจะมีประโยชน์ด้านสุขภาพต่อสิ่งมีชีวิตเจ้าบ้าน (host)” ที่กำหนดเช่นนี้ เพราะ host ที่ว่านี้ อาจเป็นคนหรือสัตว์อื่นก็ได้ครับ
แต่คนทั่วไปมักจะเข้าใจแคบเข้าไปอีกนิดนึง คือมักนึกถึงเฉพาะพวกที่คนดื่มกินเข้าไป เช่น พวกที่ใส่ไว้ในโยเกิร์ต เป็นต้น ไม่นับพวกอยู่ตามผิวหรืออวัยวะต่างๆ
คำว่า “จุลินทรีย์” ก็คือสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จุลินทรีย์ในกลุ่มโพรไบโอติกส์ที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันมากที่สุด (ซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จของการโฆษณานมเปรี้ยวในยุค 30 กว่าปีที่แล้วทางโทรทัศน์) ก็คือ แบคทีเรียในกลุ่มแล็กโตบาซิลลัส (lactobacillus) ซึ่งกินน้ำตาลแล็กโตสเป็นอาหารและสร้างกรดแล็กติกให้กับร่างกาย ซึ่งคนแรกที่แยกแบคทีเรียกลุ่มนี้ออกมาได้เป็นแพทย์ชาวบัลแกเรียชื่อ สเทเมน กริโกรอฟ (Stamen Grigorov) แม้ว่าจะมีคนหลายชาติกินโยเกิร์ตมานานนับพันปีแล้วก็ตาม
อ้อ คุณหมอกริโกรอฟยังเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันวัณโรคอีกด้วย
คุณหมอสเทเมน กริโกรอฟ ผู้ค้นพบแบคทีเรียแล็กโตบาซิลลัสในโยเกิร์ต https://en.wikipedia.org/wiki/Stamen_Grigorov
อันที่จริงศัพท์คำว่าโพรไบโอติกส์นี้ชาวบ้านชาวช่องเริ่มคุ้นเคยกันก่อนหน้าที่องค์การอนามัยโลกจะนิยามเสียอีก คือใช้กันมาตั้งแต่ราวทศวรรษ 1980 และมีที่มาซึ่งสืบย้อนกลับไปได้ถึง ค.ศ.1907 ที่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล อีไล เมทช์นิคอฟฟ์ (Élie Metchnikoff) เป็นคนแรกที่กล่าวไว้ว่า
การที่จุลินทรีย์ในลำไส้ของเราต้องพึ่งพิงอาหาร ทำให้เป็นไปได้ที่จะหาทางดัดแปลงจุลินทรีย์ในร่างกาย และแทนที่จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
อีไล เมทช์นิคอฟฟ์
ปัจจุบันมีโฆษณาเกี่ยวกับประโยชน์ของโพรไบโอติกส์กันอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และการบำรุงผิวพรรณ เป็นอาทิ แม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะยังไม่ฟันธงเรื่องผลมากขนาดนั้นก็ตาม
ตอนหน้า มาดู "พรีไบโอติกส์" กันต่อครับ
บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย