12 ก.พ. 2022 เวลา 05:16 • สุขภาพ
🦷 ปวดฟัน! ต้องกินยาอะไร??
ยาแก้อักเสบ VS ยาฆ่าเชื้อ
😭 : ขอซื้อยาแก้ปวดฟันหน่อยครับ
ต้องมีซักครั้งที่ตัวคุณเองปวดฟัน เหงือกบวมอักเสบ จนกินข้าวไม่ได้ ซึ่งในน้อยครั้งที่เราจะไปพบทันตแพทย์ การมาซื้อยาที่ร้านยามักเป็นตัวเลือกแรกๆของเราเสมอ แล้วบางท่านอาจจะมียาในใจมาก่อนแล้วว่าอยากได้ยาแบบนั้นยาแบบนี้ เช่น
😖 : ขอยาแก้ปวดดำแดง
😣 : ขอแก้ปวดฟันเม็ดเหลือง หรือชมพู
😡 : ขอยาเม็ดฟ้าเขียว
😨 : ซื้อทีซีมัยซินแก้ปวดฟัน
เป็นต้น นี่เป็นเพียงคำสั่งตัวอย่างที่เภสัชกรร้านยาคุ้นเคยกันดี ซึ่งคุณอาจพบว่าเภสัชกรเมื่อซักประวัติ สอบถามอาการของคุณ ถามเรื่องแพ้ยาแล้วไม่ค่อยจ่ายยาตามความต้องการให้คุณ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นยาอื่นๆแทน ทำไมกันนะ⁉️ มันคงชวนให้บางท่านหงุดหงิดใจไม่น้อยทีเดียว
..... วันนี้สุขภาพดีไม่มีในขวดขออธิบายสั้นๆให้ทุกท่านเข้าใจว่าการปวดฟันควรใช้ยาแบบใด และยาที่บางท่านเรียกหากันนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
.
จริงๆแล้วสาเหตุของการปวดและการรักษาที่ถูกต้องเราอยากแนะนำให้ไปพบหมอฟันเสียมากว่า แต่เราเข้าใจว่าอาการปวดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทรมานเช่นไร ดังนั้นในบทบาทเภสัชกรเราจึงควรให้คำแนะนำในการรักษาต่อไปโดยหายปวดแล้วไปพบทันตแพทย์ต่อ และควรช่วยคนไข้ก่อนเบื้องต้น ด้วยการบรรเทาอาการปวดฟันให้เบาบางลง
.
🦷อาการปวดฟันเกิดจากอะไร?
อาการปวดฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดจากการที่คุณมีฟันผุอยู่ก่อนแล้ว หรือการสึกกร่อนของฟัน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แมงกินฟัน พอเนื้อฟันหลุดออกไป ก็ไปเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย (ที่ค้างคาในช่องปาก) ร่วมด้วยคนไข้มักละเลยไม่ไปรักษา หรือปล่อยทิ้งไว้ พอเป็นติดต่อกันนานๆ ก็ลุกลามกินลึกลงไปในถึงรากฟัน ทำให้เกิดอาการอักเสบและปวดฟันอย่างรุนแรง ในบางรายอาจมีอาการเหงือกบวม เป็นหนอง หรือแก้มโย้บวมให้เห็นได้
.
ก่อนไปพบหมอฟัน ต้องรักษาอาการปวดก่อน‼️
เมื่อคุณผู้ป่วยมีอาการปวดฟันมาพบเภสัชกรที่ร้านยา หลายรายมักจะมาด้วยอาการปวดรุนแรงแล้ว ดังนั้นในขณะที่มีอาการปวดฟัน ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาบรรเทาอาการปวดฟันให้เบาบางลงก่อน จึงไปพบทันตแพทย์ เพื่อให้การรักษาทางทันตกรรมต่อไป
ในทางปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้มาปรึกษาเภสัชกร จะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับยารักษาอาการปวดและยาลดการอักเสบของเนื้อฟันและเหงือก ซึ่งใช้ยาอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1️⃣ ยาบรรเทาปวด-ลดอักเสบ
ในการใช้แก้ปวดฟัน มีการปวดตั้งแต่ปวดเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปวดมากขึ้นๆ จนถึงขั้นปวดรุนแรง คุณอย่าไปเสียเวลาเลือกยากินเอง ไปหาเภสัชกรร้านยา เสียเวลาเล็กน้อยเพียงเพื่อซักถามอาการให้เภสัชกรได้ทราบระดับความปวดของผู้ป่วยเพื่อจะได้แนะนำยาแก้ปวดฟันที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยยาที่มักจ่ายมีดังนี้
▪️ ปวดเล็กน้อยและไม่รุนแรง : 𝑃𝑎𝑟𝑎𝑐𝑒𝑡𝑎𝑚𝑜𝑙 500𝑚𝑔 ครั้งละ 1-2 เม็ด (ตามน้ำหนักตัว) ทุก 4-6 ชั่วโมง เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดฟัน ถ้าอาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติแล้วก็หยุดยาได้
▪️ ปวดรุนแรง : ยาแก้ปวดอักเสบกลุ่ม 𝐍𝐒𝐀𝐈𝐃𝐬 เช่น 𝐼𝑏𝑢𝑝𝑟𝑜𝑓𝑒𝑛 400-600𝑚𝑔 (ตามน้ำหนักตัว) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง กินหลังข้าวทันที เพื่อช่วยลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้เกิดเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ เมื่ออาการหายดีแล้ว ก็ควรหยุดยาและรีบไปหาหมอฟันต่อไป ตัวยาอื่นในกลุ่มนี้ที่ใช้ได้ เช่น 𝑀𝑒𝑓𝑒𝑛𝑎𝑚𝑖𝑐 𝑎𝑐𝑖𝑑 250-500𝑚𝑔, 𝑃𝑖𝑟𝑜𝑥𝑖𝑐𝑎𝑚 10-20𝑚𝑔, 𝐶𝑒𝑙𝑒𝑐𝑜𝑥𝑖𝑏 200-400𝑚𝑔, 𝐸𝑡𝑜𝑟𝑖𝑐𝑜𝑥𝑖𝑏 60-120𝑚𝑔 เป็นต้น
▪️ หากไม่ตอบสนองต่อ 𝐍𝐒𝐀𝐈𝐃𝐬 : สามารถใช้ยาสูตรผสม 2 ชนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้คือ 𝐍𝐒𝐀𝐈𝐃𝐬+𝐏𝐚𝐫𝐚𝐜𝐞𝐭𝐚𝐦𝐨𝐥
▪️ ยาแก้ปวดกลุ่ม 𝐎𝐩𝐢𝐨𝐢𝐝𝐬 : ได้แก่ 𝑡𝑟𝑎𝑚𝑎𝑑𝑜𝑙 ออกฤทธิ์แก้ปวดฟันชนิดรุนแรงหรือปวดมากๆ ได้ดี แต่ยากลุ่มนี้เวลาใช้ต้องดูแลทั้งวิธีการให้และระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดมาได้
.
2️⃣ ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ)
ไม่ได้จ่ายให้กับผู้ป่วยทุกราย ต้องพิจารณาก่อนว่าคุณมีอาการติดเชื้อในช่องปากหรือไม่? หรือในรายที่มีอาการเหงือกบวม เป็นหนองร่วมด้วย หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือไม่? ได้แก่ มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, มีโรดเกี่ยวกับหัวใจ-ลิ้นหัวใจ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิด Rheumatic fever
▪️ 𝐴𝑚𝑜𝑥𝑖𝑐𝑖𝑙𝑙𝑖𝑛 500𝑚𝑔
▪️ 𝑀𝑒𝑡𝑟𝑜𝑛𝑖𝑑𝑎𝑧𝑜𝑙𝑒 200-250𝑚𝑔 หรือ 𝐶𝑙𝑖𝑛𝑑𝑎𝑚𝑦𝑐𝑖𝑛 150-300𝑚𝑔 สำหรับการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน (anaerobe bacteria) ควรทานหลังอาหารทันที เพราะยานี้อาจระคายเคืองต่อทางเดินอาหารได้
.
❌ ไม่แนะนำ ❌
ทีซีมัยซิน โอริโอมัยซิน กาโน กานามัยซิน ไรแฟม เม็ดดำแดง เนื่องจากเป็นยาฆ่าเชื้อที่ไม่ครอบคลุมสาเหตุของอาการ
.
ยาฆ่าเชื้อควรใช้ให้ครบ dose คือติดต่อกัน 5 วันขึ้นไป และไม่ว่ายากลุ่มใด ⚠️ไม่ควรซื้อมากินเอง เพราะคุณอาจแพ้ยาได้ รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์/ ให้นมบุตร ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
.
.
เรียบเรียงโดย : สุขภาพดีไม่มีในขวด
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. Timmerman A, Parashos P. Management of dental pain in primary care. Melbourne Dental School, University of Melbourne. Aust Prescr 2020;43:39–44. https://bit.ly/2YBQsDe.
2. Dental Pain. Centers for Disease Control and Prevention, National Center for Injury Prevention and Control. May 11, 2020. https://bit.ly/3BwgPcy.
3. สาระสุขภาพยาน่ารู้. โอ้ย ปวดฟัน กินยาอะไรดีนะ? . https://bit.ly/3oTBCTN.
โฆษณา