14 ก.พ. 2022 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 18....สัตว์ก็มีหัวใจ... รักเดียว❤เดียว ตอนที่ 2
14 กุมภาพันธ์ เป็นตัวแทนของ "วันแห่งความรัก" แต่คนเราสามารถมีและมอบความรักให้กันได้ในทุก ๆ วัน ไม่ได้จำกัดแค่วันแห่งความรักเท่านั้น สัตว์เองก็คงไม่ได้อินอะไรกับวันแห่งความรักของมนุษย์ด้วยอยู่แล้ว เพราะการแสดงความรักของสัตว์ได้ถูกกำหนดมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั่นเอง
https://www.framesofnature.com/blog/2018/06/great-hornbills-courtship/
ไหน ๆ ทุกคนก็จำได้แม่นว่า ‘14 กุมภาวันวาเลนไทน์’ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้จำเพิ่มอีกวันว่า 1 วันก่อนวันวาเลนไทน์ ก็เป็นวันสำคัญนั่นก็คือ ‘13 กุมภาพันธ์วันรักนกเงือก’
สำหรับประเทศไทย ‘นกเงือก’ เป็นหนึ่งในนกขนาดใหญ่ที่นอกจากจะมีความสำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศแล้วยังเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของ ‘รักแท้’ อีกด้วย
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนนี้ ถึงจะตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี แต่จะไม่ขอพูดเรื่องวันวาเลนไทน์หรือวันรักษ์นกเงือกเพราะน่าจะมีหลายๆ เพจลงเรื่องราวน่าสนใจให้ได้อ่านกันไปเยอะแล้ว
แต่อยากจะชวนมาเรียนรู้กันลึก ๆ ว่ารักเดียวใจเดียวในสัตว์กลุ่มนกที่มีจับคู่ผสมพันธุ์แบบคู่เดียวหรือผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) นั้นเป็นอย่างไร แล้วนกอื่น ๆ มีรักแท้แบบนกเงือกมั้ย
รักเดียวใจเดียวของนก (Bird Monogamy)
รักเดียวใจเดียวในคนอาจจะหมายถึงคนคู่หนึ่งอยู่กินกันไปตลอดชีวิต โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่นอกใจกัน
แต่รักเดียวใจเดียวของนกกับคนอาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว การรักเดียวใจเดียวของนกนั้นหมายถึงการที่ ‘นกตัวผู้’ หนึ่งตัวผสมพันธุ์กับ ‘ตัวเมียหนึ่งตัว’ โดยนกตัวหนึ่งอาจผสมพันธุ์กับนกตัวเดิม (รักแท้😍) หรือนกตัวใหม่ก็ได้แต่ต้องเพียงตัวเดียว (รักไม่แท้แต่ไม่คบซ้อน🤫) ในแต่ละฤดูกาลผสมพันธุ์เท่านั้น
การผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิม (same mate) จัดเป็นการจับคู่เชิงสังคม (social monogamy) โดยนอกจากนกทั้งคู่จะจับคู่เพื่อผสมพันธุ์กันแล้วยังอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วยนอกเหนือจากการผสมพันธุ์ ได้แก่ การฟักไข่ การหาอาหาร การเลี้ยงลูก การป้องกันอันตราย เป็นต้น
โดยมีทั้งนกที่อยู่ร่วมกันทั้งในและนอกฤดูผสมพันธุ์เรียกว่าการมีคู่ครองชั่วชีวิต (lifelong monogamy)
และนกที่อาจแยกคู่กันเมื่อสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์ แต่เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ในฤดูกาลใหม่ นกคู่เดิมนั้นจะกลับมาผสมพันธุ์กันอีกครั้ง ซึ่งจัดว่าเป็นนกที่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน (pair fidelity)
แต่ก็มีนกประเภทที่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ก็จะจับคู่ผสมพันธุ์กับคู่ตัวใหม่ (new mate) โดยเป็นการจับคู่เพียงตัวเดียวเท่านั้น (แบบนี้เรียกว่ารักเดียวแต่ไม่พร้อมจะผูกพันได้มั้ย🤔) เรียกว่าการจับคู่เชิงเพศสัมพันธ์ (sexual monogamy) ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ
โดยนกจะอยู่ร่วมกันชั่วคราวเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้นก่อนที่จะแยกทางกัน (divorce) โดยนกจะไม่ผสมพันธุ์กันคู่ตัวเดิมในฤดูกาลถัดมา เรียกว่า การมีคู่ครองเชิงชั่วระยะ (serial monogamy)
จะเห็นว่าชีวิตรักของนกนี่เค้าก็มีความซับซ้อนอิรุงตุงนังอยู่ไม่น้อยนะ การมีรักแท้ไม่ว่าในนกหรือในคนนั้นไม่ง่ายเลย
การผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิม (same mate) VS การผสมพันธุ์กับคู่ตัวใหม่ (new mate)
ในนกบางชนิดพบว่าประชากรทั้งหมดจับคู่ผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมตลอดชีวิต และจะไม่หาคู่ตัวใหม่เมื่อคู่ตัวเดิมตายหรือหายไป ซึ่งนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียวและได้รับการยอมรับเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ นกเงือก นกกระเรียน นกกาบบัว เป็นต้น
แต่มีนกบางชนิดที่ในแต่ละฤดูกาลประชากรบางส่วนผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมและบางส่วนผสมพันธุ์กับคู่ตัวใหม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม
เช่น นกฟลามิงโก (Phoenicopterus ruber) สามารถเปลี่ยนวิธีการจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตามขนาดของประชากร หากอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่อย่างอิสระในธรรมชาตินกมีแนวโน้มที่จะผสมพันธุ์กับคู่ตัวใหม่ในทุกฤดูกาล
แต่หากแยกเลี้ยงเป็นฝูงขนาดเล็กนกจะผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิม แสดงว่าการจับคู่ผสมพันธุ์ทั้งสองแบบให้ประโยชน์ต่อนกชนิดนี้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น การผสมพันธุ์ของนกกับคู่ตัวเดิมหรือคู่ตัวใหม่ต่างก็มีข้อดีในแง่มุมที่แตกต่างกัน
  • SAME MATE
การผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิม (Same Mate) มีประโยชน์ต่อนกที่อาศัยอยู่ในฝูงขนาดเล็กและไม่ใช่นกอพยพ เนื่องจากสามารถหาคู่ตัวเดิมได้ง่าย และเหมาะสำหรับนกที่มีอายุยืนสามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้งในชีวิต โดยการผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมมีประโยชน์โดยตรงต่อนก และประโยชน์โดยอ้อมต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ลดพลังงานและเวลาในการต่อสู้แข่งขันกัน ไม่ต้องบาดเจ็บ ตาย หรือสูญเสียพื้นที่ครอบครอง
เนื่องจากปกติเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้บางชนิดมักจะต่อสู้หรือแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีแข่งกันเพื่อดึงดูดความสนใจจากตัวเมียให้ยอมรับการผสมพันธุ์ ซึ่งธรรมชาติจะคัดเลือกให้ตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดเป็นผู้ชนะดังนั้นตัวผู้ที่อ่อนแอหรือมีลำดับขั้นทางสังคมต่ำมาก ๆ อาจไม่มีโอกาสได้ผสมพันธุ์
นอกจากนี้การผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมที่นกมีความคุ้นเคยและเข้าใจกันเป็นอย่างดีทำให้สามารถช่วยกันปรับปรุงขั้นตอนการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ได้แก่ การผสมพันธุ์ การหาอาหาร การฟักไข่ การเลี้ยงลูก เป็นต้น ทำให้ประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์มากขึ้น
ลดการแพร่ระบาดของโรค
โดยหากนกผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมโอกาสที่นกที่มีโรคจะแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่นกตัวอื่นหรือมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่านกที่เปลี่ยนคู่ผสมพันธ์ ทำให้สามารถควบคุมพื้นที่และกำจัดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
ลดจำนวนประชากร
ในกรณีที่ประชากรนกมีขนาดใหญ่มากไม่เพียงพอกับทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ขาดแคลนอาหารและที่อยู่อาศัย ดังนั้น หากนกหนึ่งตายหรือหายไปนกตัวที่จับคู่กันก็จะไม่ผสมพันธุ์กับนกตัวอื่น และทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลง ซึ่งแม้จะดูน่าเศร้าแต่หากนกชนิดนั้นเป็นนกที่สร้างความรำคาญหรือเดือดร้อนก็จะนับว่าเป็นผลดีต่อมนุษย์
ลดการใช้วัสดุสร้างรัง
นกส่วนใหญ่จะสร้างรังใหม่ทุกครั้งถึงแม้จะผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิม แต่มีนกบางชนิดที่ใช้รังเดิม เช่น นกเงือกที่ใช้โพรงรังเก่าในต้นไม้ ยกเว้นโพรงรังเก่าเสื่อมสภาพมากหรือมีสัตว์อื่นเข้ามาอยู่แทน นกเงือกจึงจะหาโพรงรังใหม่ทำให้ลดการทำลายต้นไม้
  • NEW MATE
การผสมพันธุ์กับคู่ตัวใหม่ (new mate) ในทุกฤดูกาล เป็นการเพิ่มอัตราการแข่งขันในประชากรมากขึ้นโดยพบว่าส่วนใหญ่นกตัวเมียจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนคู่ผสมพันธุ์
นกตัวเมียอาจมีการประเมินความสามารถในการหาอาหารเปรียบเทียบระหว่างคู่ตัวเดิมกับตัวผู้ตัวอื่น ๆ และอาจทำให้มีการเปลี่ยนไปจับคู่ผสมพันธุ์กับตัวผู้สายเปย์ที่หาอาหารได้มากกว่า โดยตัวผู้ที่ถูกทิ้งจะหาคู่ตัวใหม่ได้ยากมาก
เรื่องของพื้นที่ครอบครองหรืออาณาเขตก็เป็นอีกตัวเลือกสำหรับการเลือกคู่ โดยขนาดหรือคุณภาพของพื้นที่ครอบครองมีความสำคัญมากต่อความอยู่รอดและความสำเร็จในการสืบพันธุ์ของนก
เช่น นกไต่ไม้พันธุ์ยูเรเซีย (Sitta europaea) จะทำรังในโพรงไม้และอยู่ด้วยกันในพื้นที่นี้ตลอดทั้งปี โดยนกคู่ที่ได้ครอบครองพื้นที่ที่มีคุณภาพสูงจะมีสุขภาพแข็งแรงและผ่านพ้นฤดูหนาวมาได้
ดังนั้น หากเจ้าของพื้นที่นี้ตัวใดตาย นกเพศเดียวกันที่ครอบครองพื้นที่ด้อยกว่าก็พร้อมจะทิ้งคู่ของตนเอง และรอเสียบแทนที่นกตัวที่ตายทันที
นกไต่ไม้พันธุ์ยูเรเซีย (Sitta europaea) source: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Kleiber_Sitta_europaea-0447.jpg
นอกจากนั้นอายุเหมาะสมในการผสมพันธุ์ก็สำคัญ หากอายุของคู่ตัวเดิมไม่เหมาะสมกับการสืบพันธุ์ นกจะหาคู่ตัวใหม่ที่มีอายุเหมาะสมกว่า
เช่น นกคิตติเวก (Rissa tridactyla) ตัวผู้จะจับคู่กับตัวเมียที่มีอายุใกล้เคียงกันหรือน้อยกว่า เนื่องจากตัวเมียที่มีอายุมากจะวางไข่และฟักเป็นตัวได้น้อย
แต่ตัวเมียชอบที่จะจับคู่กับตัวผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ทำให้ตัวผู้ที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มจะได้เปลี่ยนคู่มากกว่าตัวผู้ที่อายุมาก ความสำเร็จในการสืบพันธุ์ของนกชนิดนี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอายุของตัวเมีย
ดังนั้น การเปลี่ยนคู่ผสมพันธุ์ในทุกฤดูกาล ทำให้นกไม่มีความผูกพันกัน และพร้อมที่จะแยกตัวออกไปทันทีเมื่อมีทางเลือกหรือโอกาสที่ดีกว่า สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการเลือกคู่ของนกตัวเมีย
อย่างไรก็ตามการที่นกเปลี่ยนคู่ตัวใหม่ในทุกฤดูกาจะมีความความผูกพันซึ่งกันและกันน้อย ทำให้เมื่อนกตัวใดถูกล่าตัวที่เหลือก็จะทิ้งไปทำให้ไม่ถูกล่าซ้ำ
ต่างจากนกที่มีคู่ตัวเดิมที่จะมีความผูกพันกันมาก เช่น ในกรณีของนกเงือกที่เมื่อตัวหนึ่งถูกจับขังกรงไว้หรือถูกยิงตาย นกคู่ของมันจะบินมาเฝ้าอยู่ใกล้ๆ ทำให้ถูกจับตัวได้ง่าย หรือถ้าไม่ถูกจับก็ไม่ยอมผสมพันธุ์กับนกตัวใหม่ทำให้ประชากรลดลงเรื่อย ๆ และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
นอกจากนี้กรณีที่นกเงือกตัวผู้ถูกล่าในช่วงฤดูผสมพันธุ์ก็จะไม่ได้มีแค่นกเงือกตัวผู้ที่ตายแต่นกเงือกตัวเมียและลูกน้อยก็ต้องตายด้วย
เพราะนกเงือกมีพฤติกรรมในการปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ เพื่อให้ตัวเมียขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ส่งอาหารเข้าไปได้เท่านั้น
พ่อนกเงือกทำหน้าที่หาอาหารเลี้ยงดูทั้งแม่นกและลูกนกที่ซ่อนตัวอยู่ในโพรงรัง โดยแม่นกจะเจาะโพรงออกมาก็ต่อเมื่อลูกนกโตพอแล้ว ที่มา:https://www.framesofnature.com/blog/2018/06/great-hornbills-courtship/
อย่างไรก็ตามการจับคู่กับนกตัวใหม่ยังทำให้นกผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้นเนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการหาคู่ตัวเดิมที่แยกจากกันเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งอาจหาพบได้ยากมากหากนกอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่หรือเป็นนกอพยพ รวมทั้งนกที่มีอายุสั้น หรือมีอัตราการตายสูงทำให้โอกาสที่นกคู่เดิมจะรอดชีวิตมาผสมพันธุ์กันใหม่มีน้อย
สรุปได้ว่า การผสมพันธุ์ของนกกับคู่ตัวเดิมหรือคู่ตัวใหม่ในแต่ละฤดูกาลต่างก็ให้ประโยชน์เช่นเดียวกัน และมีข้อดีในแง่มุมที่แตกต่างกันไปตามชนิดและสถานการณ์ของนก
แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น รูปแบบของการจับคู่ผสมพันธุ์ของนกเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้จากผลของการคัดเลือกโดยธรรมชาติโดยการเปลี่ยนคู่ตัวใหม่อาจเป็นกลไกอย่างหนึ่งเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการสืบพันธุ์ และส่วนใหญ่นกตัวเมียจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนคู่ผสมพันธุ์
การมีรักแท้ไม่ใช่เรื่องยาก อาจต้องอาศัยความซื่อสัตย์ อาจต้องแข่งขันแย่งชิงเพื่อให้ได้ความรักนั้นมา หรือไม่ก็แค่ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาตินำพา... สุขสันต์วันแห่งความรักค่า
รู้เรื่องสัตว์ ๆ
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา