21 ก.พ. 2022 เวลา 09:30 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 19
รักโดยไม่มีเพศมากั้น❤ Same Sex Behavior ในสัตว์
เราทราบกันดีว่าสัตว์จับคู่ผสมพันธุ์กับเพศตรงข้ามเพื่อถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของตนเองผ่านการสืบพันธุ์
แต่ไม่ใช่สัตว์ทุกตัวที่จะสามารถทำได้สำเร็จบ้างก็ไม่สามารถผสมพันธุ์กับเพศตรงข้ามได้ บ้างก็ผสมพันธุ์กับเพศเดียวกัน...
การจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศเดียวกันซึ่งเคยคาดการณ์ว่าเป็นข้อเสียเชิงวิวัฒนาการสำหรับสัตว์ที่ไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะของตนเองผ่านการสืบพันธุ์ได้
แต่จากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการจับคู่กับเพศเดียวกันในสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมนี้อาจเป็นเรื่องปกติกว่าที่คิด
ดังนั้น จึงขอนำเสนออีกแง่มุมความรัก? ที่เกิดขึ้นในสัตว์ ส่งท้ายเดือนแห่งความรักให้ได้อ่านกันค่ะ
By Laurence Barnes via. https://www.zooportraits.com/animal-homosexuality/
Note*
เรียบเรียงจากบทความ ‘Why Is Same-Sex Sexual Behavior So Common in Animals?’ โดยผู้เขียนหลีกเลี่ยงการใช้คำว่ารักต่างเพศ (heterosexual) และรักร่วมเพศ (homosexual) เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับพฤติกรรมทางเพศในสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์และเลือกใช้คำว่า different-sex sexual behavior (DSB) และ same-sex sexual behavior (SSB) ซึ่งชัดเจนกว่าแทนค่ะ
พฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศตรงข้าม (different-sex sexual behavior) หรือ DSB เพื่อถ่ายทอดลักษณะของตนนั้นเป็นไปตามทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)
แต่ในสังคมสัตว์ก็มีพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศเดียวกัน (same-sex sexual behavior) หรือ SSB เกิดขึ้นด้วย ซึ่งนับเป็นปริศนาทางวิวัฒนาการมานาน
จากการสำรวจสัตว์กว่า 1,500 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น นก ไพรเมท ค้างคาว ดาวทะเล งูไปจนถึงไส้เดือนฝอยพบว่ามี SSB เกิดขึ้น โดยการแสดงพฤติกรรมขึ้นคร่อม เกี้ยวพาราสีโดยการร้องเรียกหรือส่งสัญญาณอื่น ๆ หรือการปล่อยอสุจิ
ที่ผ่านมามีการเสนอสมมติฐานและการทดสอบมากมายเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมสัตว์ถึงมีพฤติกรรมทางเพศกับเพศเดียวกันในเมื่อพฤติกรรมนี้ไม่นำไปสู่การสืบพันธุ์
จากเอกสารตีพิมพ์ใน Nature Ecology and Evolution ได้พิจารณาสมมติฐานต่าง ๆ ที่นักชีววิทยาเสนอมาเพื่ออธิบายการเกิด SSB
สมมติฐานแรก ส่วนใหญ่อธิบายว่า SSB เป็น "ความผิดปกติทางวิวัฒนาการ" เพราะเป็นการเสียพลังงานเปล่า ๆ โดยไม่สามารถสร้างประชากรเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ได้
แต่ทำไมพฤติกรรมที่ดูจะไม่คุ้มค่าและเสียงพลังงานไปเปล่า ๆ นี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือ SSB อาจมีประโยชน์แฝงอื่น ๆ หรืออาจเป็นพฤติกรรมที่ยากที่จะกำจัดให้หมดไปตามการคัดเลือกโดยธรรมชาติได้
เพราะหากพิจารณาการผสมพันธุ์กับเพศตรงข้าม หรือ DSB แม้จะถูกมองว่าคุ้มค่ากว่าเพราะเกิดการสืบพันธุ์และสร้างประชากรได้ก็จริง แต่ในกระบวนการสืบพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกเพียงไม่กี่ตัวก็ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรเยอะมาก
ทั้งจากการที่ต้องผสมหลายครั้ง สัตว์บางชนิดต้องใช้พลังงานในการเกี้ยวพาราสี การต่อสู้เพื่อแย่งชิงคู่และบ่อยครั้งก็มีปัจจัยต่าง ๆ ทำให้การสืบพันธุ์ไม่สำเร็จ ดังนั้นแล้วพลังงานที่ใช้ไปเพื่อ DSB คุ้มค่าจริง ๆ หรือไม่เมื่อเทียบกับ SSB
สมมติฐานที่สอง ลักษณะ/อุปนิสัย ที่จัดเป็น SSB และเกิดขึ้นแพร่หลายในสปีชีส์ต่างๆ มีการพัฒนาขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในสปีชี่ส์ที่มีบรรพบุรุษร่วมมากกว่าจะเกิดขึ้นโดยอิสระ แต่ก็คงยังไม่สามารถสรุปได้เพราะปัจจุบันยังไม่มีการทำ scenario ทางวิวัฒนาการ สำหรับพฤติกรรม SSB ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีสมมติฐานทั้งสองที่กล่าวมานี้ได้ตั้งขึ้นบนพื้นฐานจากการวิจัยตามกรอบในอดีตที่มองว่า SSB เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนในสัตว์
Credit: ALAMY Via. https://www.thesun.co.uk/news/10224739/labour-giraffes-are-gay-row/
แต่การศึกษาโดยเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับเพศของสัตว์ก็จะช่วยนำเสนอทางเลือกที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศของสัตว์ได้มากขึ้น
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและเปิดมุมมองที่ฉีกออกจากทฤษฎีเดิม ๆ ที่ว่า SSB เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือแยกออกจาก DSB อย่างชัดเจน
แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องปกติที่ในประชากรสัตว์ที่จะมีการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันก็ตาม
และมุมมองนี้นำไปสู่การเสนอ scenario ที่ว่าพฤติกรรมทางเพศของสัตว์อาจมีการวิวัฒนาการขึ้นมาพร้อม ๆ กับความแตกต่างทางกายภาพระหว่างเพศทั้งขนาดลำตัว รูปร่าง สีสันหรือกลิ่นเฉพาะตัว ทำให้ในอดีตสัตว์มีการผสมพันธุ์โดยไม่เลือกเพศเพราะอาจยังไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศที่ชัดเจนนัก
ซึ่งหากมองในแง่ความคุ้มค่าในการใช้พลังงานการผสมพันธุ์โดยไม่เลือกเพศอาจคุ้มค่ากว่า เพราะการเลือกคู่ผสมพันธุ์นั้นสัตว์ต้องมีการปรับตัวทั้งทางสรีรวิทยาและทางความคิดซึ่งอาจทำให้บางตัวพลาดโอกาสในการสืบพันธุ์ได้
ดาวทะเลแสดงพฤติกรรมการผสมพันธุ์ Credit: Doug Steakley Getty Images
อย่างไรก็ตาม SSB จะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ โดยในสัตว์บางชนิดที่มีความคุ้มค่าน้อยกว่า DSB พฤติกรรมนี้ก็จะถูกกำจัดออกไปและเกิดขึ้นได้น้อย
แต่หาก SSB คุ้มค่ากว่าก็จะเป็นพฤติกรรมที่ยังเกิดขึ้นและถูกถ่ายทอดไปพร้อม ๆ กับ DSB ในกลุ่มประชากรสัตว์นั้น ๆ
ปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับ SSB ในสัตว์ยังมีความจำกัดอยู่ในสัตว์แค่บางกลุ่มและอาจไม่สามารถสรุปในภาพรวมของสัตว์ทุกชนิดได้
ดังนั้น ในอนาคตการพยายามตั้งสมมติฐานเพื่อโต้แย้งทฤษฎีเดิม ๆ และการศึกษาร่วมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงอื่น ๆ จะนำไปสู่การขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติทางเพศของสัตว์และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ต่อไป :)
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา