7 มี.ค. 2022 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 21| สัตว์ปรับตัวอย่างไรในภาวะโลกรวน
🌡🌏Climate Change: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ชื่อจริง) โลกร้อน (ชื่อเล่นที่บ้าน) ภาวะโลกรวน (ชื่อเล่นที่เพื่อนเรียก)
ไม่ว่าจะชื่อไทยชื่อไหนก็ตามแต่ climate change หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษศตวรรษหรือนานกว่านั้น
ปัจจุบัน climate change กำลังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีวิตทั่วโลกอย่างหนัก ซึ่งระหว่างที่มนุษย์กำลังง่วนกับการจัดการประชุมเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างกันขึ้นมาเองนั้น🤔 ในขณะเดียวกันสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็กำลังรับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไปพร้อม ๆ กันกับมนุษย์😥
ภาพหมีขั้วโลกมักถูกหยิบยกมาใช้เพื่อเป็นตัวแทนของสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป Credit: National Geographic/Tom Hugh Jones via. https://www.adweek.com/convergent-tv/how-national-geographics-shows-tackle-climate-change-without-seeming-like-homework/
สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากจะมีวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) เมื่อวันที่ 3 มีนาคมแล้ว ยังมีการเผยแพร่ รายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report หรือ AR6) ของ IPCC
ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ย้ำเตือนอีกครั้งว่า Climate change มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศส่วนใหญ่ของโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากเพียงใด
จากเดิมความตกลงปารีสได้มีความพยายามที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 – 2.0°C แต่ถึง ณ ตอนนี้มนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นโดยเฉลี่ย 1.1 องศา และนั่นดูเหมือนว่าสถานการณ์ปัจจุบันกำลังสวนทางกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยด้วยบุคคล องค์กร หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น ภาวะโลกรวนที่มีให้เห็นในข่าว ไม่ว่าจะเป็น 🌪พายุขนาดใหญ่ที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น 🌊ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 🥵คลื่นความร้อนที่สามารถคร่าชีวิตคนได้ก็จะมีให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งหลายอย่างก็เรียกได้ว่าสายเกินกว่าจะกลับไปแก้ไขได้แล้ว แต่สิ่งที่ยังสามารถทำได้ในตอนนี้ก็คือการลดผลกระทบจาก climate change ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว (adaptation) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation)
ในส่วนของการปรับตัว มนุษย์ได้มีการใช้ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อการปรับตัว เช่น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่สามารถลดผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การคัดเลือกพันธุ์พืชที่ทนร้อนทนแล้งได้มากขึ้น เป็นต้น
แล้วสำหรับสัตว์ล่ะ? สัตว์มีการปรับตัวต่อ climate change หรือไม่อย่างไร?🧐
เพราะผลกระทบของ climate change เป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงที่สุดที่สัตว์ต้องเผชิญ เพราะ climate change เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ (นี่ยังไม่รวมการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์🪵🪓)
ผลกระทบเหล่านั้น ได้แก่ อุณหภูมิที่แปรปรวนอย่างน่าตกใจ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝน⛈️ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก🧊 ซึ่งบีบให้สัตว์บางชนิดต้องมีการพัฒนาและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางสรีรวิทยา พฤติกรรม และสัณฐานวิทยาทุกรูปแบบ เพื่อให้รอดตายและไม่ต้องถูกเพิ่มชื่อในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์☠️
🪶นกกระสา: เททริปอพยพดีกว่าถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป
credit: https://amurinfocenter.org/en/tools/projects/year-of-oriental-stork-en/
เวลาเราจะวางแผนเดินทาง นอกจากจัดเตรียมข้าวของแล้วการเช็คพยากรณ์อากาศก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบางครั้งทริปอาจจะล่มได้ถ้าอากาศในที่หมายนั้นแย่มากหรือเป็นอันตรายต่อการเดินทาง
นกอพยพจำนวนมากก็มีการปรับเปลี่ยนเวลาการบินอพยพย้ายถิ่นไปจนกระทั่งการยกเลิกไฟล์ทบินอพยพไปเลย แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมแทนการบินอพยพอย่างที่เคยทำมา
ซึ่งหนึ่งในนกที่มีการปรับตัวแบบนี้ก็คือนกกระสา โดยหากฤดูหนาวมีอากาศที่ไม่รุนแรงนัก นกกระสาก็จะเลือกที่จะอยู่ประจำในที่เดิมแทน รวมถึงปรับเปลี่ยนเลื่อนเวลาการผสมพันธุ์ให้เหมาะสมอีกด้วย
และสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการปรับตัวนี้คือลูกหลานของนกกระสาเหล่านี้ยังคงรักษายีนที่ควบคุมให้เกิดพฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นโดยการบินอพยพไปยังแอฟริกาเมื่อโตพอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปีต่อมา นกรุ่นนี้ก็จะกลับมาตั้งรกรากในที่ถิ่นอาศัยดั้งเดิมเช่นเดียวกับการปรับตัวของรุ่นก่อนหน้า
🐟🫁ปลาปอด: ถ้าหายใจด้วยเหงือกมันรอดยากก็เปลี่ยนมาหายใจด้วยปอดซะเลย
ปลาทั่วไปใช้เหงือกเพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจนในการหายใจ หรืออาจมีปลาบางชนิดที่พิเศษหน่อยตรงที่ใช้เหงือกร่วมกับผิวหนังในการการหายใจ เช่น ปลาตีน เป็นต้น
ชีวิตที่ขาดน้ำไม่ได้ของปลาอาจกำลังได้รับความเสี่ยงสูงจากความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่ในโลกนี้ยังมีปลาชนิดหนึ่งที่มีการปรับตัวแบบสุดขั้วไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ ‘ปลาปอด’
ชื่อของปลาปอดมีที่มาจากการที่ปลาชนิดนี้มีกระเพาะลมหนามากอยู่ใกล้สันท้องซึ่งอาจเทียบได้กับหน้าอกและมีท่อเชื่อมกับส่วนล่างทางด้านหน้าของกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่คล้ายปอดที่คอยดูดซับออกซิเจน ในขณะที่ปลาทั่วไปอวัยวะส่วนนี้ทำหน้าที่ช่วยพยุงตัวในขณะที่ว่ายน้ำ
นอกจากนี้ปลาปอดยังมีระบบจมูกที่แตกต่างจากปลาทั่วไป คือมีท่อเชื่อมกับช่องปาก ในปลาปอดยุคใหม่อย่างปลาปอดแอฟริกาและปลาปอดอเมริกาใต้นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ในช่วงที่แหล่งน้ำที่อยู่อาศัยแห้งขอด
ปลาปอดสามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ในช่วงที่แหล่งน้ำที่อยู่อาศัยแห้งขอด Credit: https://inf.news/en/animal/8ac2510fffde8e59b6dc835a1ec45419.html
โดยจะขุดโพรงในโคลนและปิดผนึกโพรงนั้นไว้ด้วยเมือกเหมือนการจำศีล ในระหว่างนั้นจะหายใจเอาอากาศโดยตรงผ่านทางถุงลมและจะลดการเผาผลาญพลังงานอย่างรวดเร็ว
แต่ปลาปอดก็สามารถจมน้ำตายได้หากไม่สามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้
แม้การปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตของปลาปอดจะมีมาตั้งแต่ก่อน climate change จะเกิดขึ้นอย่างในปัจจุบัน แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปลาบางชนิดอาจต้องเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในปลาปอดก็เป็นได้
เพราะการหายใจด้วยปอดนั้นเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ปลาปอดเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิต (living fossil) ซึ่งดำรงชีวิตมีอยู่บนโลกใบนี้มาหลายสิบล้านปีและอาจยังสามารถไปต่อได้ในสภาวะโลกรวนก็เป็นได้
🦜นกในป่า Amazon : ลดน้ำหนักตัวเพิ่มขนาดปีก
Photo by Philip Stouffer Via. https://news.mongabay.com/2020/04/birds-in-amazon-forest-fragments-new-study-summarizes-40-years-of-research/
การศึกษาโดยการสำรวจนก 77 สายพันธุ์ จำนวน 15,000 ตัว เป็นเวลา 40 ปี พบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโลกร้อนได้ส่งผลให้สรีระของนกหลายสายพันธุ์เปลี่ยนแปลงไป
โดยมีสัดส่วนรูปร่างที่เล็กลง กล่าวคือ นกหลายชนิดมีน้ำหนักตัวที่เบาลง พร้อมๆ กับขนาดของปีกที่กว้างขึ้น
จากการเริ่มศึกษาตั้งแต่ ช่วงปี 1980 พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวของนกแต่ละชนิดมีการลดลงโดยเฉลี่ย 2% ในทุกทศวรรษ ซึ่งหมายความว่านกที่มีน้ำหนัก 30 กรัม ในช่วงปี 1980 จะมีน้ำหนักเฉลี่ยเหลือเพียง 27.6 กรัม ในปัจจุบัน
หากเป็นกรณีของนกในเมืองที่ปรับขนาดตัวเองให้เล็กลง เพื่อการบินหลบหลีกตามตึกรามบ้านเรือนก็คงไม่แปลกนัก แต่นกที่ศึกษาเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ไม่ถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่าจนต้องเร่งปรับตัวเพื่อวิวัฒนาการตนเอง
ดังนั้น การปรับตัวนี้จึงน่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจากอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า
นกที่มีน้ำหนักเบาลงและมีขนาดของปีกที่กว้างขึ้นนั้น ส่วนมากเป็นนกที่บินและอาศัยอยู่ที่สูงหรือป่าชั้นเรือนยอดและชั้นกลาง
ซึ่งนกกลุ่มนี้จะอยู่ในจุดที่สัมผัสกับความร้อนได้ง่ายที่สุดจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด
เป็นที่มาของสมมติฐานว่านี่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับแรงกดดันต่าง ๆ เช่น ปริมาณของผลไม้และแมลง และความเครียดจากความร้อน
แต่ก็ยังไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าการปรับตัวนี้จะช่วยให้นกเหล่านี้รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดีมากน้อยเพียงใดและยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
สัตว์ไฮบริด : การผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อความอยู่รอด
🐻+🐻‍❄=?
ปัจจุบันมีสัตว์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ (hybridization) ไม่ว่าจะเป็น ล่อ ที่เป็นลูกผสมของม้าและลา ไลเกอร์และไทกอน ลูกผสมของสิงโตและเสือ เป็นต้น
แต่การผสมข้ามสายพันธุ์ส่วนใหญ่มักได้ลูกที่เป็นหมันและมีลักษณะที่ด้อยกว่าพ่อแม่จึงไม่สามารถสืบสายพันธุ์ต่อไปได้ แต่ climate change กำลังทำให้การผสมข้ามสายพันธุ์ในสัตว์บางชนิดประสบความสำเร็จ
การละลายของอาร์กติกจาก climate change ทำให้สัตว์หลายชนิดมีโอกาสได้เจอกันเป็นครั้งแรก
🐻‍❄โดยหมีขั้วโลก (Polar bear) ที่อยู่อาศัยในขั้วโลกเหนือแถบ arctic ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการละลายของพื้นน้ำแข็งทำให้ไม่สามารถล่าแมวน้ำได้ดังเดิมและถูกกดดันให้ต้องมุ่งลงใต้มากขึ้นเพื่อตามหาที่อยู่และแหล่งอาหารใหม่ทำให้ต้องใช้เวลาอยู่บนบกมากขึ้น
🐻ส่วนหมีสีน้ำตาล (grizzly bear) ที่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นของบริเวณอเมริกาตอนกลางก็กำลังขยายแหล่งหากินขึ้นสู่ทางเหนือเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากอากาศที่อุ่นขึ้น
ดังนั้น ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้หมีทั้ง 2 สายพันธุ์มีโอกาสพบกัน ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติและให้กำเนิดลูก hybrid ขึ้น!
ราว 20 ปีก่อนมีนายพรานพบหมีที่มีลำตัวสีขาวคล้ายหมีขั้วโลกแต่ก็มีลำตัวใหญ่บึกบึนแข็งแรง ใบหน้าแต้มสีน้ำตาลยื่นยาวเหมือนหมีสีน้ำตาลจนเรียกหมีเลือดผสมชนิดนี้ว่า Pizzly Bear หรือ Grolar Bear
Credit: WorldClimaps
และมีการพบหมีสายพันธุ์ hybrid นี้มากกว่าหนึ่งรุ่นซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมีขั้วโลกและหมีสีน้ำตาลยังมีการเจอกันและนับเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จในเชิงวิวัฒนาการ
เนื่องจากโดยปกติแล้วลูกที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ มักจะมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ด้อยกว่าพ่อแม่ แต่ไม่ใช่กับหมี Pizzly bear ที่สามารถกินอาหารได้หลากหลายชนิด ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และที่สำคัญคือ “ไม่เป็นหมัน”
ดังนั้น Pizzly bear ไม่เพียงสืบทอดลักษณะโดดเด่นจากทั้ง 2 สายพันธุ์เท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่เพิ่มอัตราการอยู่รอดให้กับลูกหลานได้อีกด้วย
ปัจจุบันการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสัตว์ต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยมีอีกตัวอย่างของการผสมข้ามสายพันธุ์ในคางคก ได้แก่ Bufo bufo และ Bufotes balearicus ซึ่งภาวะโลกร้อนทำให้คางคกสองชนิดนี้ชะลอวงจรการสืบพันธุ์เพื่อให้พอดีกันกับอีกชนิดหนึ่ง
รวมทั้งเริ่มปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตในพื้นที่ที่ไม่เคยอาศัยอยู่มาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของคางคกสองชนิดที่ต้องการจะเอาชีวิตรอดด้วยการถ่ายทอดยีนให้กับญาติของมัน
แต่ไม่โชคดีอย่างหมีไฮบริด เพราะแม้จะพยายามเปลี่ยนแปลงวงจรการสืบพันธุ์แล้วแต่ลูกที่เกิดขึ้นของการผสมข้ามสายพันธุ์ของคางคกสองชนิดนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการอยู่รอด
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็อาจจะได้เห็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการสืบพันธุ์ของสัตว์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจาก climate change เพิ่มมากขึ้น
ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จก็ตาม...
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา