16 ก.พ. 2022 เวลา 09:38 • การเกษตร
อาการผิดปกติของกล้วยที่ไม่ควรมองข้าม
กล้วย มีศัตรูพืชหลายชนิดที่เข้ามารบกวน ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งศัตรูกล้วยแต่ละชนิดมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน
ดังนั้น การวินิจฉัยให้ถูกต้องว่าต้นกล้วยของเรามีอาการผิดปกติเนื่องจากสาเหตุใด จึงเป็นสิ่งจำเป็น จึงขอยกตัวอย่างอาการผิดปกติของกล้วยที่มักสร้างความสับสนในการวินิจฉัยหาสาเหตุจากศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ อาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา หรือโรคตายพราย อาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาการที่เกิดจากด้วงงวงเจาะต้นกล้วย ซึ่งมีข้อพิจารณา ดังนี้
1. อาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา (โรคตายพราย)
สาเหตุ : เชื้อรา
การแพร่ระบาด : เชื้อสาเหตุติดไปกับหน่อพันธุ์และดิน
อาการที่ใบ : ใบล่างหรือใบแก่แสดงอาการเหลืองก่อน กากใบหักพับบริเวณโคนก้านใบ ต้นสลด
อาการที่ลำต้นเทียม : แกนกลางของลำต้นเป็นสีขาวปกติ แต่กาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง เน่า
อาการที่ผล : ผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ แก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามจืด เนื้อผลสีขาวปกติ ถ้าอาการรุนแรงกล้วยจะไม่สร้างเนื้อ
2. อาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย
การแพร่ระบาด : เชื้อสาเหตุติดไปกับหน่อพันธุ์ ดิน เครื่องมือการเกษตร เช่น มีดตัดกล้วย และแมลงผสมเกสร
อาการที่ใบ : ใบธงหรือใบยอดแสดงอาการเหลืองก่อน โดยทางใบจะไม่พับหัก แต่ต้นสลด
อาการที่ลำต้นเทียม : แกนกลางลำต้นเป็นสีน้ำตาล มีของเหลวข้นสีครีมไหลออกมา แต่กาบใบปกติ
อาการที่ผล : ผลลีบเล็ก เนื้อผลเป็นสีน้ำตาลหรือดำ
3. อาการเหี่ยวที่เกิดจากด้วงงวงเจาะต้นกล้วย
สาเหตุ : ด้วงงวงเจาะต้นกล้วย
การแพร่ระบาด : ตัวด้วงงวงหรือตัวอ่อนระยะหนอนติดไปกับต้นกล้วยที่กองอยู่ในสวน
อาการที่ใบ : ทั้งใบอ่อนและใบแก่ที่ถูกเจาะแสดงอาการเหลืองและแห้ง ทางใบพับและต้นแห้งตาย
อาการที่ลำต้นเทียม : พบรอยเจาะเข้าทำลายของด้วงงวง อาจพบตัวอ่อนระยะหนอนอยู่ในต้นกล้วย
อาการที่ผล : ผลลีบเล็ก ไม่สม่ำเสมอ เนื้อผลสีขาวปกติ
การควบคุม
อาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา (โรคตายพราย)
1. กำจัดต้นเป็นโรค
2. ฆ่าเชื้อในดินด้วยยูเรียและปูนขาว
3. ใช้ต้นพันธุ์ปลอดโรคจากแหล่งที่เชื่อถือได้
4. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันการเกิดโรค
5. ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร
6. ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดด้วยปูนขาว ปูนมาร์ล
7. จัดการระบบน้ำในแปลงให้มีการระบายน้ำที่ดี
อาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
1. กำจัดต้นเป็นโรค
2. ฆ่าเชื้อในดินด้วยยูเรียและปูนขาว
3. ใช้ต้นพันธุ์ปลอดโรคจากแหล่งที่เชื่อถือได้
4. ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 ของกรมวิชาการเกษตร
5. ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรด้วยคลอรอกซ์ 10%
6. ระมัดระวังในการเดินเข้าสู่บริเวณพื้นที่ปลูกของต้นที่เกิดโรคไปยังพื้นที่ปลูกของต้นปกติ เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อสาเหตุติดไปกับรองเท้า
อาการเหี่ยวที่เกิดจากด้วงงวงเจาะต้นกล้วย
1. ทำความสะอาดแปลงปลูกไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนและแหล่งอาหารของตัวด้วงงวง
2. หน่อกล้วยที่ใช้ปลูกต้องปราศจากแมลง หรือจุ่มด้วยสารป้องกันกำจัดแมลงก่อนปลูก
3. ใช้ต้นที่ตัดเครือแล้วทำเป็นเหยื่อล่อ โดยการผ่าครึ่งตามยาว นำไปวางคว่ำบริเวณโคนต้นกล้วยให้รอยผ่าหันลงดินล่อตัวด้วงงวงที่มาหลบซ่อน และหมั่นเก็บทำลาย
4. ใช้สารกำจัดแมลง ราดโคนต้นกล้วยสูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร และรอบโคนต้นรัศมี 30 เซนติเมตร โดยรอบ
จะเห็นได้ว่าอาการผิดปกติของกล้วยที่เกิดจากศัตรูพืชแต่ละชนิด มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน แต่การป้องกันกำจัดของแต่ละชนิดศัตรูมีวิธีการที่แตกต่างกัน หากเกษตรกรมีความเข้าใจและสามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติของกล้วยที่พบได้ถูกต้อง จะทำให้สามารถดำเนินการป้องกันกำจัดศัตรูกล้วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ หากพบกล้วยแสดงอาการผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถขอรับบริการให้คำปรึกษาและแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชใกล้บ้านท่าน หรือกลุ่มส่งเสริมการวินิจฉัยศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ในวันและเวลาราชการ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา