25 พ.ค. 2022 เวลา 11:03 • การเกษตร
แมลงหางหนีบ ควบคุมหนอนศัตรูพืช
แมลงหางหนีบจัดอยู่ในอันดับ Dermaptera ปัจจุบันพบประมาณ 2,000 ชนิด เป็นแมลงขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ลำตัวยาว แข็ง ปากแบบกัดกิน ปีกคู่หน้าเป็นแผ่นแข็ง (elytra)​ หรือลักษณะเหนียว (tegmina)​ ขนาดสั้นกว่าลำตัว ปีกคู่หลัง มีลักษณะ​แผ่นบางพับซ่อนใต้ปีกคู่หน้า
ลักษณะ​ที่สำคัญของแมลงหางหนีบ คือ แพนหาง (cerci)​ ที่ปลายส่วนท้องมีลักษณะ​คล้ายคีมหรือปากคีบ (forceps-like)​ใช้สำหรับจับเหยื่อ หรือต่อสู้เพื่อป้องกันตัว
แมลงหางหนีบทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินอาหารได้หลายชนิด โดนเป็นตัวห้ำกินไข่ ตัวหนอนและแมลงที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ได้อีกด้วย
แมลงหางหนีบชอบอาศัยตามที่มืดและชื้น เช่น ในดิน ใต้เปลือกไม้ ใต้ก้อนหิน หรือตามต้นพืช เป็นต้น มักออกหากินช่วงกลางคืน เคลื่อนไหวรวดเร็ว
วงจรชีวิตแมลงหางหนีบ
ไข่ ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางกลุ่มไข่ใต้ดินหรือผิวดิน ประมาณ 30-60 ฟอง ไข่มีลักษณะ​กลมรี ผิวเรียบ ไข่ที่วางใหม่ ๆ จะมีสีขาวนวล และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเมื่อใกล้ฟัก ระยะไข่ 6-8 วัน
1
ตัวอ่อน ตัวอ่อนมี 4 วัย เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่ หรือหลังการลอกคราบจะมีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตัวอ่อนวัย 1 ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน และสีจะเข้มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าวัยที่ 2 3 และ 4 โดยตัวอ่อนแต่ละวัยมีลักษณะ​คล้ายคลึงกัน ต่างกันที่สีและขนาดของลำตัวที่ใหญ่ขึ้นตามวัย ระยะตัวอ่อน 50-60 วัน
ตัวเต็มวัย แมลงหางหนีบเป็นแมลงขนาดกลาง ลำตัวยาว 1.6-18 ซม. สีน้ำตาลดำเป็นมัน แข็ง ไม่มีปีก ขายาวสีเหลือง มีแถบสีน้ำตาล​เป็นวงรอบขา แพนหางสีน้ำตาล​ดำคล้าย​คีม เพศผู้แพนหางมีลักษณะโค้งและมีปุ่มเล็ก ๆ ยื่นออกมาระหว่างแพนหาง ส่วนเพศเมียแพนหางมีลักษณะ​เหยียดตรง เพศเมียจะวางไข่ในรูตามพื้นดิน ใต้เศษซากพืช และคอยเฝ้าดูแลป้องกันอันตรายและทำความสะอาดไม่ให้เกิดเชื้อรา
หลังจากฟักเป็นตัวอ่อนแล้ว ตัวแม่จะคอยดูแลอยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะหากินเป็นอิสระ
เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต​ ประมาณ 240-300 ฟอง ตลอดวงจรชีวิตตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 120-150 วัน ตัวเต็มวัยอายุประมาณ 60-90 วัน
ลักษณะการทำลายเหยื่อของแมลงหางหนีบ
แมลงหางหนีบมีความสามารถในการหาแมลงศัตรูที่อยู่ในลำต้น ซอกกาบใบพืช ใต้ผิวเปลือกไม้ ตามซอกดินหรือรูที่หนอนเจาะเข้าไปกิน
แมลงหางหนีบทำลายแมลงศัตรูพืชที่เป็นตัวหนอน โดยใช้แพนหางที่มีลักษณะ​เป็นคีมหนีบจับตัวหนอนหรือแมลงที่มีขนาดเล็ก จากนั้นใช้ปากเพื่อกัดกินเหยื่อต่อไป
แมลงหางหนีบที่เป็นตัวห้ำ ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืชมีหลายชนิด เช่น แมลงหางหนีบสีน้ำตาล Proreus simulans Stallen และแมลงหางหนีบขาวงแหวน หรือแมลงหางหนีบสีดำ Euborellia sp. สามารถควบคุมแมลงศัตรูอ้อย ข้าวโพด และศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ เช่น หนอนกออ้อย หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด หนอนผีเสื้อ รวมทั้งไข่ และแมลงขนาดเล็กที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1
การนำมวนพิฆาตไปปล่อย เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช
  • 1.
    ทำการสำรวจอย่างสม่ำเสมอก่อนการปล่อยแมลงหางหนีบเพื่อควบคุมศัตรูพืชได้ทุกวัย
  • 2.
    ก่อนการระบาดหรือพบการระบาดน้อย อัตราการปล่อย 100-200 ตัว/ไร่
  • 3.
    หากพบการระบาดมาก อัตราการปล่อย 1,000-2,000 ตัว/ไร่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
  • กลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร
  • ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ชัยนาท สุพรรณบุรี ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา
เรียบเรียง : กลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา