Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • การเกษตร
เชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
เป็นเชื้อราอาศัยในดิน สามารถทำให้แมลงหลายชนิดเป็นโรคตาย โดยเฉพาะแมลงในดิน เช่น แมลงในกลุ่มด้วง ด้วงแรด ด้วงกินรากพืช เป็นต้น
เชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
เชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
ปัจจุบันนำมาผลิตขยายและใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ได้แก่ แมลงในกลุ่ม หนอนด้วงแรดมะพร้าว หนอนด้วงหนวดยาว หนอนเจาะลำต้นอ้อย ตั๊กแตน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น และปลวก
โดยเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย อีกทั้งยังพบว่าสามารถกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดินได้อีกด้วย
ลักษณะของเชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
เป็นเชื้อราสีเขียว รูปทรงกระบอก เส้นใยมีผนังกั้นเป็นปล้อง สปอร์เป็นรูปยาวรีคล้ายเมล็ดข้าว เริ่มเกิดใหม่เป็นสีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้า เจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 24-26 องศาเซลเซียส สภาพความเป็นกรดเป็นด่างที่ 4.7-10 แต่ค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมที่สุด คือ 6.9 -7.4
ลักษณะของเชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
การเข้าทำลายแมลงของเชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
การเข้าทำลายแมลงของเชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี
เชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี ทำลายแมลงโดยการสัมผัส โดยสปอร์จะสัมผัสบนผนังลำตัวของแมลง ในสภาพที่มีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม สปอร์จะงอกและแทงผ่านผนังลำตัวแมลงบริเวณที่มีผนังบาง เช่น รอยต่อระหว่างปล้อง หรือบริเวณปากทวาร โดยจะทำลายชั้นไขมันและแพร่เข้าสู่ช่องว่างภายในลำตัวแมลง เส้นใยจะเจริญอัดแน่นและกินอาหารภายในตัวแมลง จากนั้นเส้นใยจะทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในของแมลง ทำให้แมลงตาย โดยมักจะตายในลักษณะแห้งแข็ง เรียกว่า มัมมี่
หลังจากแมลงตายเชื้อราจะแทงทะลุผ่านผนังลำตัวแมลงออกมาภายนอก หากมีความชื้นเหมาะสมจะพบเส้นใยสีเขียวปกคลุมลำตัวแมลงและจะสร้างสปอร์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ระยะเวลาตั้งแต่ฉีดพ่นเชื้อ จนเห็นเส้นใยประมาณ 5-7 วัน
วิธีใช้เชื้อราเมตาไรเซียมควบคุมแมลงศัตรูพืช
1. การใช้เชื้อราเมตาไรเซียมกำจัดแมลงในดิน เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ซึ่งชอบวางไข่ตามเศษซากพืชหรือกองปุ๋ยหมักในสวนมะพร้าวและสวนปาล์มน้ำมัน จะใช้วิธีทำกองปุ๋ยหมักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าววางไข่ โดย
• เตรียมกองปุ๋ยหมักขนาด 2x2x0.5 เมตร ทิ้งไว้จนวัสดุในกองปุ๋ยหมักสลายตัว
• โรยเชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี ลงในกองปุ๋ยหมักให้ลึกจากผิวหน้าประมาณ 15 เซนติเมตร โดยโรยเชื้อให้ทั่ว อัตราเชื้อเมตาไรเซียม 1 กิโลกรัมต่อปุ๋ยหมัก 1 กอง ทำกองปุ๋ยหมักจำนวน 1 กอง ต่อแปลงปลูกมะพร้าว 2 ไร่
• เพิ่มความชื้นในกองปุ๋ยเพื่อให้เชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี สามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยการรดน้ำปิดด้วยทางมะพร้าว เพื่อเก็บความชุ่มชื้นในกองปุ๋ยหมัก ซึ่งเชื้อราเมตาไรเซียมจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดด้วงแรดมะพร้าวอ่อนได้นานประมาณ 6-12 เดือน
2. ใช้กำจัดแมลงที่อยู่เหนือดินหรือทำลายต้นพืช เช่น ตั๊กแตน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดย
• นำเชื้อบริสุทธิ์ที่เลี้ยงบนข้าวสารหรือธัญพืชในถุงพลาสติก ผสมให้เชื้อเข้ากับน้ำ กรองเอาเมล็ดข้าวหรือธัญพืชออก นำน้ำที่ผสมกับเชื้อใส่ถังพ่น และนำไปใช้ในเวลาบ่ายถึงเย็น
• สำรวจแปลงให้ทั่วก่อนฉีดพ่น ดูปริมาณศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ ถ้าปริมาณศัตรูพืช 5 ตัว ปริมาณศัตรูธรรมชาติ 1 ตัว ไม่ต้องใช้อะไร หากปริมาณศัตรูพืชมากกว่า 5 ตัว ต่อศัตรูธรรมชาติ 1 ตัว และสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการระบาดของศัตรูพืช ให้ฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียในอัตรา 10 - 7 - 10 สปอร์ หรือประมาณ 250 – 1,000 กรัม ผสมน้ำ 80 ลิตร ฉีดพ่นในพื้นที่ 1 ไร่
3. สำรวจแปลงหลังการฉีดพ่น 3 วัน และ 7 วัน เพื่อดูว่าศัตรูพืชถูกทำลายด้วยเชื้อราเมตาไรเซียมหรือไม่ สังเกตได้โดย ตัวแมลงจะอยู่นิ่ง และเริ่มมีอาการผิดปกติ หรืออาจมีเชื้อสีเขียวเริ่มออกมาคลุมตัวแมลง
4. หากแมลงไม่ตายหรือมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ฉีดพ่นเชื้อซ้ำ และทำการสำรวจหลังพ่น 3 วัน และ 7 วัน หากปริมาณศัตรูพืชยังไม่ลดปริมาณให้ฉีดพ่นซ้ำอีก
5. ระหว่างฉีดพ่นควรใส่หน้ากาก และสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด ป้องกันการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
• กลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี กองส่งเสริมกการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
• ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ชัยนาท สุพรรณบุรี ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
หมวดโรคและแมลงศัตรูพืช
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย