21 ก.พ. 2022 เวลา 07:14 • สุขภาพ
"ผักสลัด" ยอดนิยมเหล่านี้ มีชื่อว่าอะไรกันบ้างนะ ?
“ผัก” เมนูที่หลายคนอาจไม่ชอบ แต่ก็ต้องรับประทานเพื่อสุขภาพที่ดี
บางทีก็เพิ่มความอร่อยด้วยน้ำสลัดนานาชนิดไป
(สำหรับเราแล้ว ผักบางชนิดทานสด ๆ ก็กรอบอร่อยดีนะ)
ปัจจุบันนี้ก็เรียกได้ว่าแทบจะทุกร้านอาหารก็จะต้องมีเมนูสลัด เป็นเมนูสามัญประจำร้านเอาใจสายสุขภาพกันไป บางทีเราก็สั่งเป็นชื่อเมนูสลัดไปเนอะ เช่น สลัดถั่ว สลัดเต้าหู้ ซีซาร์สลัด อะโวคาโดสลัด…
ซึ่งเมนูเหล่านี้ทางร้านอาหารก็จัดผักมาให้เราอย่างเต็มที่ ทานอร่อยเพลินจนลืมไปนึกไปว่า เอ้ะ ผักสลัดที่เราทานอยู่นี่ มันเรียกกว่าอะไรนะ ?
(แถมหน้าตายังคล้าย ๆ กันอีก)
ถ้าอย่างนั้น วันนี้พวกเรา InfoStory ขอชวนเพื่อน ๆ ที่เพิ่งเริ่มทานผักสลัด มาส่องกันว่าผักสลัดแต่ละชนิดที่คุ้นตาคุ้นรสปากเนี่ย เขามีชื่อเรียกว่าอะไรกันบ้าง ?
ถ้าพร้อมแล้ว ขอชวนเพื่อน ๆ ไปรับชมถาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากัน เหมือนเช่นเคย !
หมายเหตุนิดนึงนะคร้าบ : ผักที่พวกเรายกตัวอย่างมาในภาพอินโฟกราฟิกนี้ อาจจะมีบางชนิดที่ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นประเภทของผักสลัด (Lettuce) อย่างเช่น ผักเคล (แต่ว่าเป็นหนึ่งในผักยอดนิยมที่นำมาทานในเมนูสลัด)
[ผักสลัด คืออะไรนะ ?]
เวลาที่เราพูดถึงผักสลัด ส่วนใหญ่เราอาจจะนึกถึง “สลัด (Salad) ที่ใส่ผักทั้งใบเขียวใบแดง หลากหลายชนิดพร้อมผสมน้ำสลัดเข้าไป (Salad Dressings)”
แต่ที่จริงแล้ว คำว่า “ผักสลัด” จะมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Lettuce” หรือถ้าแปลตามชื่อตรง ๆ แล้ว เราก็อาจจะคุ้นเคยกับคำแปลในชื่อของ “ผักกาดหอม” เสียมากกว่าเนอะ (คือไม่ใช่ว่าผักทุกชนิดที่ทานสด ๆ เราจะเรียกว่าผักสลัดนะ)
ผักสลัด (Lettuce) เป็นผักในตระกูล Lactuca sativa มีการปลูกครั้งแรกตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณและประเทศที่อยู่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ประมาณ 6,000 ปีก่อน) จนกระทั่งมาพบการเพาะปลูกเป็นผักท้องถิ่นในแถบประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนที่จะค่อย ๆ แพร่กระจายโดยนักสำรวจชาวยุโรปที่มาเยือนประเทศจีนและนำเจ้าผักสลัด ออกไปหลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลก
โดยผักสลัดหรือผักกาดหอมเนี่ย เขาจะมีลักษณะภายในมีใบอัดกันคล้ายกะหล่ำปลี (แต่ไม่ใช่กะหล่ำปลี หรือ Cabbage นะจ้า) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม อาจมีได้ทั้งสีเขียวอ่อน เขียวแก่และแดงอมม่วง
ตรงจุดนี้ละ หากเราสังเกตดีดีโดยเฉพาะเวลาเลือกซื้อผักในซุปเปอร์มาเก็ต ก็คงจะพอเห็นภาพกันชัดขึ้นแน่นอน (หรือในร้านอาหารบุฟเฟ่ที่มีสลัดบาร์ ก็มักจะมีกลุ่มผักสลัดวางให้เราเลือกหยิบกันอยู่เนอะ)
ถ้าอ้างอิงในเรื่องของสายพันธุ์และรูปลักษณะแล้ว ก็เลยกลายเป็นว่า ผักที่เราทานกันอยู่ ไม่ว่าจะในเมนูสลัดหรือทานในซุปหรือแกงต่าง ๆ อาจจะไม่ใช่ประเภทของเดียวกับผักสลัดเสมอไป
ถ้าพูดถึงประเภทของผักสลัด/ผักกาดหอม หรือ Lettuce เขาก็จะแบ่งออกเป็น
- ผักกาดหอมที่ห่อหัวคล้ายกะหล่ำปลี (head lettuce)
- ผักกาดหอมชนิดธรรมดาไม่ห่อ (leaf lettuce)
- ผักกาดหอมที่มีลำต้นยาว (stem lettuce)
อาจจะดูวิชาการไปสักนิด งั้นเราขอเพิ่มเติมตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้น คือ
ถ้าเป็นผักสลัด/ผักกาดหอม ที่มีลักษณะเป็นทรงออกเป็นพุ่มใบเล็ก ๆ หรือผักกาดหอมห่อ (Head lettuce) ก็จะมีคร่าว ๆ สองแบบ คือ แบบหัวห่อแน่น (ผักกาดแก้ว) กับแบบหัวห่อไม่แน่น (ผักบัตเตอร์เฮด)
ส่วนผักกาดหอมที่เป็นทรงพุ่มและมีใบที่ยาว ก็จะเป็นประเภทของ ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce) เช่น ผักคอส (Cos) เป็นต้น (แต่ถ้าเป็นแบบ baby cos ก็จะเป็นรุปทรงพุ่มห่อหัวแน่น)
[จะเรียกว่า ผักคอสหรือผักกาดหอมโรเมนดีละ ?]
ผักคอส (Cos) เป็นผักที่เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะชอบทานกัน มีความกรุบกรอบเบา ๆ ทานง่าย ทานคู่กับเบคอนกับพาร์เมซานชีสก็คือทานสนุกมาก
ผักชนิดนี้ น่าจะเป็นผักที่มีชื่อเรียกให้เรางุนงงกันสักนิดนึง โดยเฉพาะถ้าเราไปเที่ยวต่างประเทศ
เพราะผักชนิดนี้สามารถเรียกได้ ทั้ง 2 แบบ คือ
“คอส (Cos)” ที่เป็นการเรียกแบบบริทิชอิงลิช
“โรเมน (Romaine)” ที่เป็นการเรียกแบบอเมริกันอิงลิช
แต่ถ้าถามว่าชื่อเรียกไหน คือชื่อเรียกที่เกิดขึ้นมาก่อนกัน ?
ก็คงจะต้องย้อนกลับไปสักนิดนึงเกี่ยวกับที่มาของผักทรงพุ่มใบยาว ที่มาจากเกาะคอส (Kos) ของประเทศกรีซ ที่มีการเพาะปลูกและบริโภคผักสลัดสายพันธุ์นี้เป็นแห่งแรกของโลก (เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน)
บ้างก็ว่าชื่อ “คอส” เป็นการเรียกเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “khus خس” ในภาษาอาหรับที่แปลว่า Lettuce หรือผักกาดหอม/ผักสลัด นั่นเองจ้า
แล้วทำไมทางฝั่งอเมริกาถึงได้เรียกผักชนิดนี้ว่า “โรเมน (Romaine)” กันละ ?
โอเค คือเรื่องสั้น ๆ มันเป็นแบบนี้
ผักชนิดนี้ถูกเผยแพร่ไปยังทวีปอเมริกา โดยผู้อพยพชาวยุโรป ซึ่งมีจากอิตาลีและฝรั่งเศส
ซึ่งชาวฝรั่งเศสเนี่ย รู้จักผักชนิดนี้ในชื่อของ “Roman Lettuce”
แล้วทำไมชาวฝรั่งเศสถึงไปรู้จักในชื่อนั้นได้ละ ?
เรื่องราวตรงนี้ต้องอ้างอิงถึงการปกครองทางศาสนาสักนิดนึง
ในช่วงศตวรรษที่ 14 ที่ พระสันตะปาปาแห่งคริสตจักรได้ย้ายจากกรุงโรมมาอยู่ที่เมืองอาวิญง (Avignon) ประเทศฝรั่งเศส จากเหตุการในช่วงของการแตกแยกครั้งใหญ่ของคริสตจักร (Catholic Schism)
ซึ่งกลุ่มคณะชาวอิตาลีที่ย้ายตามพระสันตะปาปามาอยู่ที่ฝรั่งเศส ก็ได้นำผักชนิดนี้ติดมาเพาะปลูกอีกด้วย
Avignon, the City of Popes
จึงทำให้ชาวฝรั่งเศสเข้าใจว่าผักชนิดนี้มันกำเนิดมาจากอิตาลี และนิยมเพราะปลูกมาตั้งแต่สมัยชาวโรมันโบราณ พวกเขาเลยเรียกว่า “Romaine Lettuce” จนไปถึงฝั่งของชาวอเมริกา นั่นเองจ้า
(ที่อิตาลี ก็จะเรียกผักชนิดนี้ว่า “Lattuga romana”)
Babycos Salad
ก็พอหอมปากหอมคอแบบเบาสมองกันไปอย่างเช่นเคย
หยั่งงั้นพวกเราขอตัวไปรับประทานซีซาร์สลัดกันก่อนดีกว่า ! :):)
โฆษณา