26 ก.พ. 2022 เวลา 05:30 • ประวัติศาสตร์
หลังจากที่เขาเลือกลาออกจากบริษัทอาร์เมอร์ เขาได้กลับมาเข้าเรียนอีกครั้งในโรงเรียนสอนการแสดง และได้ออกทำการแสดงไปในที่ต่างๆกับคณะละครเร่ ซึ่งบทที่เขาได้รับคือบทนายแพทย์ ฮาร์ตลีย์ ในเรื่อง พอลลี กับละครสัตว์
แต่เป็นเวลาไม่นาน เขาก็รู้ตัวว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบจริงๆและไม่อาจเอาดีได้ การทำให้ผู้อื่นหลงใหลในบทบาทของเขาอาจไม่สำเร็จ เขาจึงออกจากคณะแสดงและกลับไปเป็นคนเดินตลาดของบริษัทเช่นเดิม
ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายรถบรรทุก บริษัท แพ็คการ์ต มอเตอร์คาร์
ความจริงคือ เดล คาร์เนกี เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกเลยแม้แต่น้อย และยังไม่มีความคิดที่อยากจะศึกษาด้วย ทำให้เขาทำงานนี้อย่างเบื่อหน่าย
เขาหวนคิดถึงความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียน สุดท้ายแล้วจึงลาออกจากบริษัท แพ็คการ์ต มอเตอร์คาร์ เพื่อหางานใหม่ ให้พอมีเวลาได้แต่งหนังสือ เขียนนวนิยายตามความฝันของเขาเอง หากมีเวลาว่างก็จะได้หาหนังสือมาค้นคว้าความรู้ใหม่ๆให้แก่ตน
สุดท้ายเขาตั้งใจจะหารายได้จากการเปิดสอนวิชาในโรงเรียนภาคคํ่า เพื่อใช้เวาในช่วงกลางวันทำในสิ่งที่เขามุ่งหมายไว้
แต่ว่าเขาจะสอนวิชาอะไร เดล คาร์เนกี ตระหนักดีว่าเขามีความสามารถอะไร และมันสำคัญอย่างไรบ้าง ความสามารถการพูดในชุมชนของเขานั้น ทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจและสร้างความกล้า และยังนำไปสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานรวมทั้งการดำเนินชีวิต
เขาได้ไปทาบทาม โรงเรียน ไว.เอ็ม.ซี.เอ
แต่ถูกปฏิเสธอย่างทันควันเพราะทางโรงเรียนคิดว่าอาจไม่เกิดผลใดๆ อีกทั้งทางโรงเรียนได้เคยมีการเปิดการสอนแผนกนี้แล้ว แต่พบว่ามิได้มีผู้ใดสนใจจะมาเรียนเลย
หากแต่ความเชื่อมันว่าการสอนของเขาจะสามารถช่วยผู้คนได้มากมายนัก ทำให้เดล คาร์เนกี ยังมิได้ลดละความพยายามที่จะเปิดสอน โดยเขาเสนอว่าเขาจะรับค่าจ้างเป็นเปอร์เซ็นแทนที่แต่เดิมขอรับคืนละ2เหรียญ หากมีกำไรโรงเรียนจึงต้องแบ่งให้เขาได้
สุดท้ายเขาจึงได้เปิดสอนดั่งหวังในที่สุด
หลังจากนั้นภายใน3ปีปรากฏว่า การเปิดสอนของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างใจหมาย เขามีลูกศิษย์มากมายมาจากหลายแหล่ง ทั้งนักขาย นักธุรกิจ นักศึกษาไปจนถึงพนักงานทั่วไปที่อยากก้าวหน้าในชีวิตการงาน
แถมคนที่รอคิวเข้ามาศึกษาวิชากับเขาอีกนับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อ "เดล คาร์เนกี" กระจายตัวไปในหลายรัฐ ทั้งนิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย บัลติมอร์ ไกลถึงกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ และกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส
และในท้ายที่สุดผลที่โรงเรียน ไว.เอ็ม.ซี.เอ ปฏิเสธการเรียกค่าจ้างชั่วโมงละแค่2เหรียญของเขานั้น ทำให้มันกลายเป็นชั่วโมงละ30เหรียญจากส่วนแบ่งแบบคิดเปอร์เซ็น
แต่ในการจัดสอนนั้น มิได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตำราที่จะใช้ประกอบการสอนช่างน่าเบื่อหน่ายแถมยังยากจะทำตามได้สะดวก เดล คาร์เนกี เขาจึงแต่งมันขึ้นมาใหม่เป็นของตัวเองเพื่อประกอบการศึกษา สำหรับเหล่าลูกศิษย์
ชื่อเล่มว่า การพูดในชุมชน (Public speaking) โดยในเวลาต่อมาหนังสือเล่มนี้ ได้บรรจุใช้ในโรงเรียน ไว.เอ็ม.ซี.เอ ทั่วทุกแห่ง และยังเป็นตำราของอีกหลายต่อหลายสมาคม
โดยตัวของเดล คาร์เนกีได้ยืนยันหนักแน่นว่า มนุษย์ทุกคนสามารถพูดได้ดีเมื่อคนๆนั้นคลั่งเป็นบ้า ตัวอย่าง เขากล่าว
"ถ้าท่านลองชกคนโง่ทึ่มที่สุดในเมืองเข้าที่ขากรรไกลจนเขาควํ่าไป เขาจะรีบลุกขึ้นยืนและพูดออกมาอย่างคล่องแคล่ว เผ็ดร้อน และชัดถ้อยชัดคำ ซึ่งอาจจะกลายเป็นคู่แข่งของ วิลเลียม เยนนิงว์ ไบรอัน ในสมัยที่เขารุ่งเรืองสูงสุด(นักปาฐกถาชาวอเมริกา 1860-1925)"
เขาได้กล่าวไว้อีกว่า การที่เราจะพูดได้อย่างมั่นใจนั้น ประการแรกเราต้องสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาให้จงได้ก่อน ดังนั้นสิ่งที่เขาสอนส่วนใหญ่จึงมีนัยสำคัญที่อยากจะให้ลูกศิษย์มีไฟแห่งความกล้าพลุ่งพล่านในตัวเองและความเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้
เดล คาร์เนกี กับประเทศไทย
ผู้แปลหนังสือของ เดล คาร์เนกี คือ คุณ อาษา ขอจิตต์เมตต์
เดล คาร์เนกี มาเยือนประเทศไทยในปี 1952 เพื่อขอบคุณผู้แปลหนังสือของเขา ในเวลานั้น ประชากรไทยมีเพียง16ล้านคนเท่านั้น และเป็นประเทศที่2ในเอเชียที่หยิบเอาหนังสือของเขามาแปล
ในวันที่เขามาถึงมีรถยนต์จากสถานทูตไปรับที่สนามบินดอนเมือง เดินทางเข้ากรุงเทพ สองข้างทางที่ผ่านมีแต่ทุ่งสวนไร่นา บ้านคนมีอยู่ประปรายตามทาง ไม่มีตึกใหญ่โตนัก
เขานึกในใจว่า ผู้แปลช่างกล้าหาญเหลือเกิน เพราะประเทศแรกที่นำไปแปลคือญี่ปุ่น ในเวลานั้นญี่ปุ่นมีประชากรมากกว่าไทยประมาณ2-3เท่า บ้านเมืองก็เจริญกว่ามาก
ในเวลาต่อมา เขาได้รับเชิญไปเปิดร้านหนังสือที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น ร้านแพร่พิทยา โดยที่ตัวเขาไม่รู้มาก่อนว่าจะได้รับเชิญไป อีกทั้งในงานมีนักเขียนชื่อดังของไทยมาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งตัวเดล คาร์เนกีได้บอกว่าเขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
โดยยังได้กล่าวอีกว่าระหว่างเดินทางมาเขานึกภาพประเทศไทยไม่ออก นึกเอาว่าคนไทยคงไม่สวมเสื้อและเต้นระบำประกอบพิธีกรรมแบบชาวเกาะนิวกินี คงมีแต่ป่าเต็มไปด้วยยุงและแมลง
แต่เมื่อมาถึงภาพทุกอย่างต่างไปจากที่เขาคิดเป็นอย่างสูง หากกลับไปแล้วเขาจะได้ไปเล่าให้ผู้คนตะวันตกรู้ว่าไทยมิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน และเรื่องราวดีๆที่ได้พบในประเทศไทย
และคุณ อาษา ได้ถามว่า อยากได้อะไรเป็นที่ระลึกกลับไป เดล คาร์เนกี ตอบว่า เขาอยากจะได้ตะเกียงหลอดที่ใช้สูบฝิ่น ทำให้เกิดความประหลาดใจต่อคุณอาษาเป็นอย่างมาก แต่เขาก็หัวเราะและบอกเหตุผลว่าจะเอาไปตั้งโชว์ให้ผู้คนดูว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เลวทรามทำให้มนุษย์ตกตํ่าเพียงใด
คุณอาษา ไปหาซื้อของที่ระลึกได้ที่ตลาดบำเพ็ญบุญ(สมัยนั้นการสูบฝิ่นยังไม่ผิดกฏหมาย) และได้ซื้อผ้าไหมผืนใหญ่เป็นที่ระลึกให้ภรรยาเขาด้วย
ซึ่งหลังกลับจากประเทศไทย2ปี เขาก็เสียชีวิตในปี 1955(66ปี)
เกร็ดความรู้ : ค่าลิขสิทธิ์การแปลที่เดล คาร์เนกีเรียกจากคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ คือ1เหรียญเท่านั้น ทำให้รู้ว่าเขาต้องการจะเผยแพร่ความรู้จริงๆมิได้มีผลประโยชน์แอบแฝง
หลังจากได้ศึกษาประวัติและอ่านหนังสือของเดล คาร์เนกี แล้ว ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า สิ่งที่เขาเขียนและดำเนินชีวิตมาช่างคู่ควรแก่การศึกษา ควรค่าแก่การอ่านและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ยากเย็น แถมยังจะทำให้ดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่นอีกด้วย
ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีเป็นอย่างมากที่ได้อ่านหนังสือของเขาตั้งแต่อายุยังน้อย ในอนาคตมันจะเป็นประโยชน์ต่อผมอย่างสูงแบบที่ประเมินค่ามิได้
แล้วเพื่อนๆละครับ คิดเห็นเป็นเช่นไร คิดว่าหนังสือเล่มไหนของ เดล คาร์เนกี ที่อ่านแล้วได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้นบ้าง
แลกเปลี่ยนหนังสือที่ดีกันได้ในคอมเม้นนะครับ ผมเองหวังว่าจะได้รับการแนะนำหนังสือดีๆจากเพื่อนๆพี่ๆทุกท่านนะครับ
ขอบคุณที่อ่านถึงตรงนี้ กดติดตามผมไว้นะครับ จะได้ไม่พลาดสิ่งดีๆและควรค่าแก่การศึกษาหาความรู้ไปด้วยกันกับผม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา