23 ก.พ. 2022 เวลา 09:21 • ปรัชญา
"หัวใจของการปฏิบัติเกี่ยวกับสุญญตา"
" ... ทำไมจึงพูดเรื่องนี้โดยหัวข้อนี้ ก็เพราะเหตุว่าเรื่องทุกเรื่องย่อมมีส่วนที่เรียกว่า หัวใจ การจับส่วนที่เป็นหัวใจให้ได้ ย่อมเป็นการสะดวกในการที่จะปฏิบัติได้โดยง่ายและไม่ผิด
บางทีก็เรียกส่วนนี้ว่า เป็นเคล็ดลับของเรื่อง พูดอย่างสำนวนชาวบ้านก็จะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับ พูดตรงไปตรงมาอย่างนักปฏิบัติ ภาษาธรรมดา ก็จะเรียกว่า "หัวใจ" ที่แท้ดูก็จะเล็งถึงสิ่ง สิ่งเดียวกัน
สำหรับคำว่า เคล็ดลับ นี้มีความหมายในทางที่จะให้เกิดกำลังใจ ให้รู้สึกว่ามันไม่เหลือวิสัย หรือมันจะทำได้โดยง่าย
เพราะฉะนั้นบางหมู่ บางคณะ หรือบางพวกบางนิกาย ต่างก็สร้างสิ่งที่เรียกว่าเคล็ดลับขึ้นสำหรับหมู่คณะของตัว เพื่อความง่ายแก่สมาชิกผู้ปฏิบัติ แล้วก็เพื่อความเจริญก้าวหน้าของหมู่คณะเป็นส่วนรวม เช่น ทำให้มีคนพอใจที่จะปฏิบัติตามวิธีนั้น
เพราะฉะนั้นใครจะถือเอาคำว่า เคล็ดลับ หรือ คำว่า หัวใจ เป็นความหมายที่สำคัญก็ได้ทั้งนั้น
แม้แต่ในเรื่องรบราฆ่าฟันกัน มันก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า เคล็ดลับ หรือความลับ หรือหัวใจของเรื่อง และเป็นอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
สำหรับการปฏิบัติเรื่องสุญญตานั้น มันก็เหมือนกับกับต่อสู้ หรือการรบราฆ่าฟันกันอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน คือมันเป็นการรบกันกับกิเลส สติปัญญาหรือโพธิรบกันกับกิเลส เพื่อให้มันเกิดภาวะที่เป็นความว่างจากความทุกข์
นี่เป็นอุปมาที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ว่าการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย มันมีลักษณะเหมือนกับการรบรากับข้าศึกคือกิเลส การปฏิบัติเกี่ยวกับสุญญตา ถ้าทำไปสำเร็จมันก็หมายถึงการกวาดล้างข้าศึกออกไปได้โดยสิ้นเชิง
ทีนี้สำหรับเคล็ดลับ หรือหัวใจ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติสุญญตานี้ ถ้าจะพูดกันในแง่เคล็ดลับให้มันน่าอัศจรรย์ ก็จะพูดว่า "อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร"
แต่ถ้าจะพูดให้แง่ของคำว่าหัวใจ หรือภาษาธรรมดาตรงไปตรงมา ก็จะพูดว่า "มีสติอยู่ทุกเมื่อ”
1
ทีนี้สำหรับการพูดว่า "อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร" มันเป็นสำนวน ถ้าคนเข้าใจไม่ได้ ก็เข้าใจผิดเป็นว่าไม่ทำอะไร
คำว่า "อยู่เฉย ๆ " มันมีความหมายกว้าง คือหมายความไปในทางที่ว่า มันอยู่ในลักษณะที่ไม่ให้อะไรเกิดขึ้น อย่างที่เรียกว่าผิดปรกติ ให้มันคงเป็นไปตามสภาพเดิม
ตัวอย่างเช่น สภาพปรกติของธรรมชาติในเวลานี้ เงียบสงัด เย็นเยือก อะไรทำนองนี้ ถ้าเราสามารถรักษาสภาพนี้ให้คงเป็นอย่างนี้ไว้ได้ เรื่องมันก็หมดกันเท่านั้น
ไม่ต้องทำอะไร นอกจากทำให้มันคงสภาพเดิม ซึ่งที่แท้ก็เรียกว่า "ไม่ได้ทำอะไร" ก็ได้เหมือนกัน
ไอ้ "ทำอะไร" นั่นน่ะคือมาใหม่ คือความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อมีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ถ้าอย่าไปทำอะไร คืออย่าเสือกไปยุ่งกับมัน อยู่เฉย ๆ ได้ มันก็ปรุงความคิดเป็นตัวกูของกูไม่ได้ นี่เขาเรียกว่า "อยู่เฉย ๆ"
พวกนิกายเซนแขนงหนึ่งเขาใช้คำอย่างนี้ ใช้คำชนิดที่เรียกว่ามาเหนือคนอื่น ว่าอยู่เฉย ๆ สิ อย่ายุ่ง
ถ้าฟังถูก ก็หมายความว่าเข้าใจมาก หรือฉลาดมาก แล้วก็ไม่ต้องพูดกันอีก คล้ายว่าขยิบตาทีเดียว แล้วมันก็เลิกกัน ไม่พูดกันอีก มันก็ปฏิบัติถูกต้องไปจนถึงที่สุดได้
คือไปอยู่เฉย ๆ ได้ก็แล้วกัน พออยู่เฉย ๆ แล้วมันอยู่ในสภาพเดิมแท้ มันก็หมดปัญหาเท่านั้น
เพราะว่าสภาพเดิมแท้นั้น มันไม่มีความทุกข์
เพราะเหตุว่าความทุกข์เป็นของเพิ่งจะปรุงแต่งกันขึ้นมาใหม่ ๆ หยก ๆ เมื่อตะกี้นี้เอง คือทุกขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น
เพราะงั้นถ้าใครอยู่เฉยได้ในทุกขณะที่มีการกระทบทางอายตนะ มันก็หมดปัญหาเท่านั้น
ถึงแม้จะพูดอย่างหลักเถรวาทเรา โดยอาศัยหลัก เช่น ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จิตนี้ประภัสสร หรือเป็นธรรมชาติ พึ่งจะเศร้าหมองหรือเปลี่ยนแปลงไป ก็เมื่ออุปกิเลสเป็นแขกแปลกหน้าเข้ามา
คำว่า ประภัสสร หมายความว่ามันไม่มีกิเลส ไม่มีเครื่องเศร้าหมอง เหมือนกับเพชรที่มีรัศมีดี อยู่ในตัวมัน ถ้าอย่ามีโคลนหรือมีของสกปรกอะไรมาติด มาเปื้อน มันก็เท่านั้นเอง
งั้นวิธีก็คือว่า อย่าให้โคลนมันมาติด ไม่ต้องทำอะไร มันก็เป็นของประภัสสร ชนิดที่เรียกว่าตลอดกาล
จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอย่าให้เกิดการปรุงเป็นกิเลส เป็นตัวกูของกู อะไรขึ้นมา มันก็เป็นจิตประภัสสร ซึ่งไม่มีความทุกข์
เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่ามันคอยแต่จะมีอะไรเข้ามาใหม่เรื่อย ถ้าเรารักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้ มันก็หมดปัญหาเหมือนกัน นี่ก็เรียกว่าอยู่ในลักษณะที่ อยู่นิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ รักษาความปรกติเอาไว้ได้
ทีนี้ สำนวนที่เรียกว่า หัวใจ นี่มันหมายถึงการปฏิบัติที่ให้เป็นอย่างนั้นได้ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า "มีสติ รักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้" กลายเป็นว่า "ต้องทำ" ไม่ใช่ "อยู่เฉย ๆ "
มีสติอยู่ทุกเมื่อ เพื่อรักษาสิ่งต่าง ๆ ไว้ในสภาพเดิมเรื่อยไป ๆ ไม่ให้โอกาสแก่การปรุงแต่งเป็นกิเลสนั้น กิเลสนี้ ไม่ให้โอกาสเลย
ถ้าสติมันมีอยู่ล่ะก็ มันเป็นเครื่องกั้นไม่ให้เกิดกระแสแห่งการปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู มันก็อยู่ในสภาพสงบเงียบ ไม่เกิดตัวกูของกูอย่างนี้เรื่อยไป จนเคยชินเป็นนิสัยในทางตรงกันข้าม คือนิสัยที่จะไม่ปรุงแต่งความคิดนึกให้เป็นตัวกูของกูอีกต่อไป
แต่ก่อนนี้มันมีความเคยชินเป็นนิสัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คือ การปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู จนเรียกได้ว่าทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ นั่นเป็นความเคยชินในลักษณะที่จะปรุงแต่ง
เราจึงรู้สึกว่า เรามีปรกตินิสัยแต่ที่จะปรุงแต่งให้เป็นความทุกข์ ที่แท้นิสัยนี้ก็เพิ่งเกิด พึ่งสะสมเข้าไว้ เมื่อเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวมาแล้ว
นี่ก็ล้างนิสัยเดิมนี้ให้เปลี่ยนเป็นนิสัยใหม่ แต่นิสัยใหม่นี้แหละ คือกลับไปสู่ไอ้อันเดิมเก่านู้น เรียกว่าใหม่มันก็ถูก คือมองอีกทีมันก็ไม่ถูก ก็เรียกว่า "เดิมแท้" จึงจะถูก
เดิมแท้ (ไม่มีทุกข์) --> เดิม (ปรุงแต่งทุกข์) --> ใหม่ (ไม่มีทุกข์)
ใหม่ == เดิมแท้
กระบวนการเปลี่ยนความเคยชิน
เพราะว่าเดิมแท้ ๆ เด็ก ๆ ทารก ไม่เคยมีการปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู มันพึ่งจะทำเป็น ค่อย ๆ ทำเป็นมากขึ้น เมื่อเกิดออกมาแล้ว
บางทีเขาจึงแนะให้สังเกต ให้ลึก ให้ดูไปยังสภาพของจิตใจของเด็กที่ยังอยู่ในท้องของมารดา มันไม่รู้จักปรุงแต่งเป็นตัวกูของกูเลย เพราะมันไม่มีความรู้สึกอะไรได้ในทางอายตนะ แล้วมันก็ค่อย ๆ รู้สึก ๆ ขึ้น
ในเมื่ออวัยวะต่าง ๆ มันสมบูรณ์ขึ้น ๆ ๆ แต่มันไม่สมบูรณ์จนกว่ามันจะออกมาพบโลกข้างนอก ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สัมผัสกับสิ่งภายนอก
เมื่ออยู่ในครรภ์มันก็เหมือนกับนอนหลับอยู่ มีการหล่อเลี้ยง ให้เจริญเติบโตในลักษณะที่ไม่รู้สึกตัว ถึงแม้จะหิวจะดิ้นไปบ้าง มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้รู้สึกตัว ปรุงเป็นตัวกูของกูไม่ได้
ทีนี้พอออกมาแล้ว มันก็เริ่มมีขึ้นทีละนิด ๆๆๆ ไม่ทันจะเดินได้ วิ่งได้ มันก็ชักจะมีความรู้สึกที่เป็นตัวกู เป็นรูปเป็นร่าง
สรุปความว่า สภาพเดิมแท้ ของสิ่งทั้งหลายนั้นมันไม่ได้มีความวุ่นวาย เป็นตัวกูของกู นั่นน่ะคือนิสัยเดิม ถ้าไม่เรียกว่านิสัยเดิม ก็เรียกว่า สภาพเดิม
ที่มาสร้างนิสัยใหม่ คือค่อย ๆ มีตัวกู ๆๆ ... เป็นนิสัยสันดาน ที่เรามองดูกันแต่ส่วนนี้ เราก็ถือว่านี่คือพื้นฐาน คือลักษณะเดิมของคน ที่คอยแต่ละมีความโลก ความโกรธ ความหลง อยู่เรื่อย
ทีนี้เรามีหูตาให้มันกว้าง ให้มันสมกับที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า คือรู้ว่าไอ้นี่ พึ่งจะเกิดเดี๋ยวนี้เอง พึ่งจะค่อย ๆ เจริญขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ เรียกเคยชินกันเข้ากับการปรุงแต่ง
จึงมีความตั้งใจที่จะหยุดไอ้นิสัยนี้เสียที ไอ้นิสัยที่ไหลไปตามการปรุงแต่งเสียเรื่อย เกิดตัวกูของกูเสียเรื่อย เราต้องการจะหยุด
ถ้าหยุด ก็คือ เงียบสงบ วกกลับไปสู่อันเดิมแท้ คือไม่มีปัญหาเรื่องความทุกข์
แล้วสิ่งที่จะหยุดมันได้ ก็คือสิ่งที่เรียกในภาษาบาลีว่า "สติ" ภาษาไทยก็เรียกไปตามนั้น คือเรียกไปตามภาษาบาลี
นิสัยใหม่ เกิดทีหลัง (ปรุงตัวกูของกู)
หยุดนิสัยใหม่ กลับไปสู่นิสัยเดิมแท้ (ไม่มีทุกข์) โดยอาศัยสติ
กลับสู่สภาพเดิมแท้
สติ คือ ปัญญาที่รอบรู้ วิ่งมาช่วยทันท่วงที
นี่เคยพูดกันหลายครั้งหลายหนแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่าสตินั้นคืออะไร มันต้องประกอบด้วยความรู้ แม้จะเรียกว่าความรู้ดั้งเดิมก็ได้ ความรู้ดั้งเดิมของธรรมชาติล้วน ๆ ก็ได้
แล้วอันนี้วิ่งมาได้ทันท่วงที มาปรากฏในจิต ในอาณาจักรของจิต มันก็หยุดสภาพที่จะวุ่นวาย ที่จะปรุงกันไปในทางวุ่นวาย ให้หยุด เป็นสภาพเงียบสงบ ปรกติอยู่ตามเดิม
นี่คือหัวใจของการปฏิบัติธรรมะ ซึ่งกล่าวได้ว่า ธรรมะทุก ๆ ข้อ ทุก ๆ ระดับ เดี๋ยวนี้ระดับสูงสุด คือ เรื่องเกี่ยวกับสุญญตา มันก็เป็นเรื่องสูงสุดในการที่จะต้องมีสติป้องกันสิ่งที่จะมาปิดบังความว่าง ที่มาทำให้ไม่ว่าง
นี่เราพูดกันง่าย ๆ ธรรมดาสามัญที่สุดก็ว่า สภาพเดิมแท้ ก็ว่างอยู่แล้ว เราอย่าเผลอให้อะไรเข้ามาแทรกแซง ปรุงให้มันวุ่น
อย่าเผลอ ก็คือ สติ เรื่องก็มีนิดเดียว
อยากจะให้น่าอัศจรรย์ หรือนิดเดียวยิ่งขึ้นไปอีก ก็พูดอย่างที่บางพวกพูดว่า "อย่าทำอะไร" "อยู่เฉย ๆ อย่าทำอะไร" มันมีอยู่เสร็จแล้ว อย่าไปทำอะไรเพิ่มเข้าอีก
มองไม่เห็น ก็พยายามสักหน่อย คือมองให้เห็น ว่ามันปรกติอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร
แต่คำว่า "ไม่ต้องทำอะไร" นี้มันมีความหมายพิเศษ อย่าไปโง่ อย่าไปหลง อย่าไปบ้า ทำอะไรเข้า
แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้ว่าเราหลง เราโง่ เราบ้า เราคิดว่าเราฉลาดอยู่เสมอ แล้วเราก็ทำอะไรมาก ตามที่เราคิดว่าเรามันฉลาด รับนั่น รับนี่เข้ามา
ดังนั้น การปฏิบัติทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อยู่ที่มีสติ ไม่รับเอาอะไรเข้ามา ให้ผิดไปจากภาวะเดิม
นี่เราดูกันต่อไป ก็เป็นตัวอย่าง ในครั้งที่แล้วมาก็บอกว่าข้อใหญ่ ใจความที่สำคัญที่สุด ก็คือหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอจงมีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ
จงมีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ นั่นน่ะคือการรักษาสภาพเดิมแท้
เพราะโลกมันก็ว่างอยู่แล้ว จิตมันก็ว่างอยู่แล้ว เป็นสภาพปรกติถึงขนาดนี้แล้ว ก็มีสติรักษาสภาพอันนี้ไว้
ในรูปประโยค จงมีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ พูดอีกทีก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ให้มีสติ เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง เพราะโลกเป็นของว่างอยู่แล้วแน่นอน ที่มีสติเห็นอยู่ มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา
แล้วเดี๋ยวนี้คนเรารู้สึกว่า แหม ไอ้เรื่องการปฏิบัติธรรมะนี่ มันเป็นเรื่องใหญ่โตมากมาย เท่าภูเขาเลากา ไม่รู้จักสิ้นจักสุด เหมือนกับจับปูใส่กระโด้ง ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ถูกวิธี
คือ สติมันล้มลุกคลุกคลานเรื่อยเท่านั้นเอง
ปัญหาก็อยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสติทุกเมื่อ มองอีกแง่หนึ่งมันก็ยากเหลือแสน มองอีกแง่หนึ่งมันก็ง่ายเหมือนกับพวกบางพวกว่า ไม่ต้องทำอะไร
เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาให้รู้จักธรรมชาติเดิมแท้ของโลก หรือของสิ่งทั้งปวงว่ามันว่างอยู่ มันสงบอยู่ ศึกษาเรื่องนี้ให้มากพอ เห็นสภาพเดิมแท้ของธรรมชาติทั้งปวง คือความสงบ คือความหยุด คือความเงียบ
วิวัฒนาการทั้งหลายที่เป็นความวุ่นวาย ยุ่งยาก ลำบากนี่พึ่งจะมี
ถ้าพูดกันอย่างทางวัตถุ ทางฟิสิกส์เป็นตัวอย่าง อย่างที่เราเคยอ่าน เคยศึกษากันมาว่า โลกนี้ที่แท้มันก็มิได้มี กี่ล้าน ๆ ๆๆ ปีกี่อะไรมาแล้วก็พูดกันได้ แต่ว่าพูดได้ว่าทีแรกมันก็มิได้มี นี่ก็จะต้องเป็นของจริงแน่นอน
มันพึ่งจะมีเมื่อ ... เมื่อมันมีขึ้นมาเนี่ย
บางพวกก็พูดว่ามันกระเด็นมาจากดวงอาทิตย์ Accident อะไรอย่างหนึ่ง บางพวกก็ว่าคือการรวมตัวกันของอณูต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็น Galaxy เกิดเป็นก้อนแข็ง เป็นโลกนี้ขึ้นมา เรื่องนี้ไม่สำคัญสำหรับผู้ศึกษาธรรมะ
เราไม่ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ วัตถุอย่างนั้น เรารู้แต่ว่ามันเพิ่งจะมีขึ้นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง เดิมแท้มันก็คือไม่มี คือ ว่าง
ปัญหาเท่าที่เกี่ยวกับเรา คือโลกนี้ ก่อนนี้มันไม่มี มันว่าง แล้วมันก็มีขึ้นมา ก็มีวิวัฒนาการทางวัตถุมากพอแล้ว มันก็วิวัฒนาการทางจิตใจ ปัญหาพึ่งเกิดตอนนี้
เป็นพืชที่มีชีวิต เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึก แล้วเป็นสัตว์สูงขึ้นมาตามลำดับ แล้วเป็นสัตว์สุดท้าย คือคน มันของใหม่ทั้งนั้น
นี่หลักปฏิบัติธรรมก็เลยถือเอาหลักนี้ว่า กลับไปสู่สภาพเดิม แต่หมายความว่า โดยจิตใจที่นี่ เดี๋ยวนี้
กลับไปสู่สภาพเดิม คือความปรกติ ไม่วุ่นวายปรุงแต่งอะไร นั่นเรากลับไปสู่สภาพเดิมได้ ไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นเรื่องทางจิตใจ ทางจิตใจมีลักษณะเป็นสภาพเดิมแท้ คือ ไม่มีอะไรที่วุ่นวาย ผิดปรกติ
มีสติ เห็นสิ่งทุกสิ่ง ว่าง ไม่มีส่วนไหนที่ควรจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของ ๆ เรา
มองดูในลักษณะอุปมาก็เหมือนกับอยู่เฉย ๆ หรือมันบังคับอยู่ในตัวว่า มันต้องอยู่เฉยๆ เท่านั้น ทีนี้ส่วนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ มันก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้มันอยู่เฉยให้ได้
ทีนี้คนบางคนก็เรียกว่ามันมีบุญ มันเฉยได้ง่าย
คนบางคนมันมีบาป มันก็เฉยได้ยาก มันก็มีทุกข์มาก
ถอยหลังกลับไปหาคนป่า ซึ่งมันเฉยได้ง่ายกว่า
ถ้าถอยหลังไปหาสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมันเฉยได้มากกว่าอีก
ถอยหลังไปหาต้นไม้ พืชพันธ์ไม้ ก็เฉยได้กว่าอีก
กระทั่งถอยหลังกลับไปหาก้อนหิน มันก็เฉยเป็นปกติ
ฉะนั้นเรามีหลักที่จะพูดว่า อยู่เฉย ๆ หรือถ้าจะปฏิบัติ ก็ปฏิบัติเพื่อให้มันเฉยได้
มีสติ เพื่อความเฉยอยู่ได้ ..."
.
บางตอนจากพระธรรมเทศนา
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
เรื่อง "หัวใจของการปฏิบัติเกี่ยวกับสุญญตา"
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา