26 ม.ค. 2022 เวลา 09:44 • ไลฟ์สไตล์
“อานาปานสติภาวนา เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นพุทธศาสนาที่สมบูรณ์”
5
“ … สิ่งแรกที่จะต้องรู้จักนั้น คือ ความทุกข์
ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
เรื่องขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว
1
จึงควรจะมีการศึกษาสืบต่อกันไป ในการที่จะควบคุมขันธ์ ๕ หรือ ความทุกข์นั้นให้อยู่ในการควบคุม และมีหลักอันสำคัญที่สุด ที่จะต้องจำไว้เป็นอย่างยิ่งว่า
‘มีอุปาทานขันธ์เมื่อใด ก็มีทุกข์เมื่อนั้น
ไม่มีหรือไม่เกิดอุปาทานขันธ์ ก็ไม่เกิดทุกข์’
ขอให้เข้าใจความข้อนี้ และถือว่าเป็นหลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ว่า ‘อุปาทานขันธ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่มีอุปาทานขันธ์ก็ไม่มีทุกข์’ พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันอย่างนี้
เมื่อจะทรงจำแนกทุกข์ต่าง ๆ กี่อย่างกี่สิบอย่าง ก็สรุปความว่า สฺงขิตเตนปญฺจุปาทานขนฺธาทฺกขา ว่า เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญจุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ หมายความว่าขันธ์ที่มีอุปาทานห้าอย่างนั้นแหละเป็นตัวทุกข์
ตรงกันข้ามก็คือ ถ้าไม่มีอุปาทานขันธ์หรือไม่เกิดอุปาทานขันธ์ ก็ไม่เกิดทุกข์หรือไม่มีทุกข์
นี้จงจำให้เป็นหลักแล้วก็สามารถอธิบายเชื่อมถึงโยงกันไปหมด จนเข้าหลักเกณฑ์อันนี้ โดยเฉพาะว่า “มีอุปาทานขันธ์เมื่อใดก็มีทุกข์เมื่อนั้น ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ก็ไม่เกิดทุกข์เลย”
1
ทีนี้ก็มาทราบว่า อานาปานสติภาวนา เป็นเรื่องสำคัญที่สุด หรือ เป็นวิธีที่จะให้รู้แจ้ง ให้เข้าใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
เรื่องอานาปานาสติ จะบอกให้ทราบ ทุกเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ คือ เรื่องความทุกข์ และ เรื่องที่จะควบคุมความทุกข์ไว้ได้
ดังนั้นในวันนี้ จะขอโอกาสบรรยายเรื่อง อานาปานสติภาวนาอันสมบูรณ์แบบ ในลักษณะที่จะใช้เป็นคู่มือ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จนใช้เป็นคู่มือประจำตัว สำหรับปฏิบัติอานาปานสติได้ตามความประสงค์
เหตุที่เลือกใช้อานาปานสติสูตร
ในชั้นแรกนี้เรามาทำความเข้าใจ หรือทำความรู้จักเกี่ยวกับอานาปานสติกันเสียก่อน ในทุกแง่ทุกมุม ทุกทิศทุกทางก่อนแต่จะลงมือปฏิบัติ
อานาปานสติภาวนา เป็นกรรมฐาน หรือ เป็นสมาธิภาวนาแบบที่พระพุทธองค์ ได้ปฏิบัติและตรัสรู้ มีคำตรัสยืนยันว่า ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติภาวนา โดยเฉพาะ นี้ก็เป็นเรื่องพิเศษเรื่องหนึ่ง ว่าทำไมจึงระบุอย่างนี้ กรรมฐานภาวนามีตั้งมากมาย ทำไมจึงตรัสระบุ อานาปานสติภาวนา
ใช้คำว่า อานาปานสติภาวนา ไม่ได้ใช้คำว่า สติปัฏฐาน แม้ว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน จะมีความหมายแตกต่างกันอยู่บ้างก็ไม่เท่าไร พระองค์ก็ยังตรัสเรียกว่า ระบบอานาปานสติภาวนา เป็นระบบที่ทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้ นี้ก็ควรจะสนใจ
และอีกอย่างหนึ่งที่น่าสะดุดใจ ก็คือว่า ตามพระพุทธประวัตินิทานวัตถุนั้น ก็แสดงว่าพระองค์ทรงคุ้นเคยกับอานาปานสติภาวนา มาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อยังเป็นพระกุมาร เขาพาไปร่วมพิธีแรกนาขวัญ ที่นาก็ประทับนั่งใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งเจริญอานาปานสติภาวนาได้ มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ข้อนี้ก็กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักภาวนาหรือนักสมาธิมาโดยกำเนิดก็ว่าได้ ดังนั้น เรามีสิทธิที่จะเรียกระบบอานาปานสติภาวนานี้ ว่าเป็นสมาธิแบบของพระพุทธองค์โดยตรง
เพราะมีที่อ้างอยู่ในพระบาลีโดยตรง ว่าพระองค์ทรงใช้แบบนี้ และไม่ได้เอ่ยถึงแบบอื่น เป็นแบบที่ควรจะเรียกกันทั่วไปว่า แบบของพระพุทธองค์ คือ แบบอานาปานสติภาวนา
มีข้อดี หลายอย่างหลายประการ ที่จะต้องทราบไว้ เช่นว่า เป็นแบบที่ไม่ต้องออกเสียงว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เขามักจะมีแบบที่ต้องออกเสียงว่าอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ไม่ต้องออกเสียง
เป็นแบบที่ไม่ต้องใช้ท่าทางทำไม้ทำมืออะไรประกอบ แบบเงียบกริบ
และไม่ต้องใช้วัตถุภายนอกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องประกอบ ทุกอย่างมีอยู่ในตัวเงียบกริบ เรียกว่าแบบที่ไม่ต้องวุ่นวาย แบบนี้จึงเรียกว่า แบบอานาปานสติ คือสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
วิธีการโดยละเอียดมีอยู่ในอานาปานสติสูตร ในมหาสติปัฏฐานสูตรมีนิดเดียว ทั้งที่ชื่อว่ามหา ๆ เพราะไปพูดเรื่องอื่นเสียมาก
อานาปานสติ ไม่ต้องมีคำว่า มหา ก็เพียงพอ สมบูรณ์เพียงพอ โดยไม่ต้องใช้คำว่ามหา
เป็นแบบที่แม้ในประเทศไทยนี้ก็เคยรู้จักกันแพร่หลายจนติดปากมาตั้งแต่สมัยก่อนโน้น ถ้าพูดถึงการทำสมาธิแล้ว ก็จะพูดว่า อานาปานสติ และมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า อานาปาฯ อานาปาฯ
1
หนังสือที่แต่งยุคเก่า ๆ ยุคโบราณ อย่างไตรภูมิพระร่วงเป็นต้น ก็เอ่ยถึงอานาปานสติ ในฐานะเป็นสมาธิภาวนาในพุทธศาสนา คล้าย ๆ กับว่าจะมีแต่เพียงแบบเดียวที่ยึดถือกัน รู้จักกันดีและเรียกสั้น ๆ ว่า อานาปา
ใช้ไปทำภาวนา ก็ใช้ไปทำอานาปา ถ้าทำผิดเป็นบ้า ก็ว่าบ้าอานาปา ก็รู้จักกันดีในคำคำนี้ ขอให้สนใจในคำว่า อานาปานี้มันย่อมาจากอานาปานสติภาวนา ซึ่งเราจะได้ศึกษากันให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
มันมีข้อดีหลายอย่างหลายประการสำหรับแบบนี้ ตัวอย่างเช่น แบบนี้เมื่อทำแล้ว จะเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาพร้อมกันไปในตัว ไม่ต้องแยกทำคนละที และยังแถมกล่าวได้ว่า มีศีลพร้อมกันไปในตัวการกระทำ ไม่ต้องทำพิธีรับศีลก่อนแล้วจึงมาทำ
ขอให้ลงมือทำเถิดตามระบบนี้ ก็จะมีศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกันไปในตัว แบบนี้จะสู้แบบที่เขากำลังเล่าลือกันในโลก คือแบบเซ็น อย่างแบบเซ็น ของจีน ของญี่ปุ่น ที่ไปมีชื่อเสียงโด่งดังในทางตะวันตก ในพวกฝรั่งนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นแบบที่มีสมถะและวิปัสสนา ติดกันอยู่ด้วยกัน พร้อมกันไปในตัว
เมื่อมาพิจารณาดูถึงแบบฝ่ายเถรวาท ก็เห็นว่า แบบอานาปานสตินี่แหละ มีสมถะและวิปัสสนา พร้อมกันไปในตัว แล้วก็อย่างรัดกุมที่สุด เลยเป็นเหตุให้ต้องนึกถึงข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงทางออกจากทุกข์ คือ วิถีทางดับทุกข์นั้น โดยทั่วไปก็ตรัสเป็น อัฏฐังคิกมรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทา ก็มีมากแห่งเหลือเกิน แทนที่จะตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ตรัสแต่เพียงว่า สมโถ จ วิปัสฺสนา จ เท่านี้ก็มี คือ สมถะและวิปัสสนา เป็นนิโรธคามินีปฏิปทา คือตรัสแทนคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา
ข้อนี้ถ้าไม่คุ้นเคยกับพระไตรปิฏกก็ไม่สังเกตเห็น แต่ผู้ที่คุ้นเคยกับพระไตรปิฏก ก็เกินกว่าที่สังเกตเห็น เพราะมีมากเหลือเกิน
ทำไมแทนกันได้ เพราะว่าในสมถะนั้น มันมีศีลรวมอยู่ด้วย เมื่อพูดว่า สมถะและวิปัสสนา ก็มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ และทั้งปัญญา ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ถ้าสงเคราะห์ย่นย่อแล้วก็มีเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น มันจึงมีค่าเท่ากัน
พระองค์จึงนำมาตรัสแทนกันได้ ระหว่างคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา กับคำว่า สมโถ จ วิปัสฺสนา จ ขอให้เป็นที่เข้าใจในข้อนี้
ทำสมาธิภาวนาโดยวิธีอานาปานสติแล้ว จะเป็นการปฏิบัติอย่างถึงที่สุด ทั้งในศีล ทั้งในสมาธิ และทั้งในปัญญา เรียกว่ามันสมบูรณ์แบบอยู่ในตัว ถ้าจะพูดอย่างธรรมดาสามัญ ก็ว่าเป็นวิธีที่ได้เปรียบที่สุด ควรจะสนใจ
มีข้อดีที่ว่า จะทำที่ไหนก็ได้ ทำที่บ้านก็ได้ ถ้าทำที่บ้านก็เท่ากับทำบ้านให้กลายเป็นป่าไปเสียก็ได้ ไม่รู้ไม่ชี้ในเรื่องสิ่งใดนอกจากลมหายใจ เมื่อคอยกำหนดแต่ลมหายใจ มันก็ไม่สนใจเรื่องอื่นใดให้แทรกแซงให้เป็นอุปสรรค ดังนั้นทำในรถไฟก็ได้
ไม่เชื่อก็ได้ แต่ขอให้หาโอกาสทดลองเถิด ว่าทำในรถไฟที่แสนจะหนวกหูก็ทำได้ ก็ไปกำหนดลมหายใจเสียแล้ว มันก็ไม่ได้ยินอะไร ไม่รู้สึกอะไร
ที่จริงสมาธิอื่น ๆ นั้นก็ยังทำได้แม้ในรถไฟ บางทีก็เอาเสียงที่ดังกึง ๆ อยู่ใต้ถุนรถไฟนั่นแหละเป็นอารมณ์ของสมาธิ มันก็ยังทำได้ แต่คนเหลวใหลขี้เกียจก็มีข้อแก้ตัวว่าทำไม่ได้แล้ว มันก็ไม่ต้องทำ
ฉะนั้นขอให้สนใจว่า อานาปานสติภาวนานี้ ประหลาดที่ว่าทำที่ไหนก็ได้ ทำที่บ้านก็ได้ ทำในป่าก็ได้ ทำที่บ้านก็ทำบ้านให้เป็นป่าไปในตัวนั่นเอง นี้เรียกว่าเป็นข้อดี ทำได้ทุกอิริยาบถ จะนั่ง จะยืน จะเดิน ก็ทำได้
แต่ว่าสะดวกที่สุดนั้นในอิริยาบถนั่ง เมื่อทำสำเร็จประโยชน์จนมีคุณประโยชน์ อานิสงส์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจจะรักษาอานิสงส์ คือ ความสงบนั้นไว้ได้ในทุกอิริยาบถ
ในพระบาลีกล่าวถึงของทิพย์ ที่นั่งทิพย์ ที่นอนทิพย์ ที่เดินทิพย์ ที่ยืนทิพย์ คือเมื่อมีอารมณ์แห่งสมาธิถึงที่สุดในใจ ไปนั่งที่ไหนก็เป็นที่นั่งทิพย์ที่นั่น ไปเดินอยู่ที่ไหนก็เป็นที่จงกรมทิพย์ที่นั่น ไปนอนที่ไหนก็เป็นที่นอนทิพย์ที่นั่น จะยืนที่ไหนก็เป็นที่ยืนทิพย์ที่นั่น
ข้อนี้บางคนจะไม่เข้าใจว่า ในอิริยาบถเดินเป็นต้น จะทำสมาธิได้อย่างไร ก็ลองไปทำดู ทำสมาธิอย่างอานาปานสติภาวนา แล้วก็เดินช้า ๆ พอสมควร ก็สามารถจะทำได้ แต่ก็นั่นแหละ จะให้สะดวกให้ได้ผลดีเท่ากับนั่งทำนั้นไม่ได้
1
แต่ว่าเมื่อทำได้แล้วอาจจะรักษาไว้ได้ รักษาความรู้สึกอันนั้นไว้ได้ในอริยาบถทุกอิริยาบถ คือความเป็นสมาธิแม้ในชั้นที่เรียกว่า จตุตถฌาน ก็ยังทำได้ในทุกอิริยาบถ
ทีนี้ก็มาดูถึงว่า มันมีประโยชน์แม้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ คือไม่เกี่ยวกับธรรมะก็ได้ แต่คำนี้มันพูดยาก คำว่าธรรมะนี้มันกว้าง แม้ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา ก็ยังเรียกว่าธรรมะได้
ถ้ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์รู้จัก ประพฤติกระทำได้รับผล ก็เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น จึงเรียกได้ว่ามีประโยชน์อย่างโลก ๆ ก็ได้ อย่างที่เป็นธรรมะโดยตรงก็ได้
เช่นว่า ถ้ามีสมาธินี้ดีแล้ว ก็จะมีอนามัยดี มีสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตดี นี่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องมรรคผล นิพพาน พูดถึงเรื่องมีความสุขทางกาย ความสุขทางจิต มีสุขภาพอนามัยทางกายและทางจิตก็มีได้ดี
เพราะอานาปานสติภาวนาจะทำให้จิตมีความสามารถ มีสมรรถนะมากขึ้น คือ คิดเก่ง จำเก่ง ทำอะไรเก่ง คือ จิตสามารถทำหน้าที่ทางจิตได้ดียิ่ง มันเป็นจิตที่นิ่มนวล อ่อนโยนควรแก่การงาน เรียกว่า กัมมนีย
จิตชนิดนี้จะไปทำอะไรก็ดีทั้งนั้น จะคิดจะนึก จะตัดสินใจอะไรก็ได้ แล้วก็จำเก่ง ถ้ามีจิตเป็นสมาธิจะจำเก่ง แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเรียกความจำกลับมา บางคนจะไม่เคยหรือจะไม่เชื่อก็ได้ว่า
เมื่อนึกอะไรไม่ออก แต่เรื่องนั้นมันคล้าย ๆ กับมาอยู่ที่ปลายจมูก หรือริมฝีปาก แต่มันก็ยังนึกไม่ออก พูดไม่ได้ พูดออกมาไม่ได้ เป็นเรื่องที่เคยพูด เคยนึกอยู่เสมอ แต่เผอิญวันนั้นมันลืมไป มันพูดออกมาไม่ได้ ก็เรียกว่า ความจำกลับคืนมาไม่ได้ ขอให้ทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก บางทีก็ในเวลาอันเล็กน้อย ความจำนั้นก็ผุดขึ้นมาได้
หรือว่าถ้าจะนานไปสักหน่อยก็ว่าหลับไปตื่นขึ้น มันก็อาจจะจำได้และก็นึกขึ้นมาได้
นี่ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า มันมีประโยชน์แม้แต่เรื่องทางโลกถึงขนาดนี้ ใครนึกเรื่องเก่า ๆ ไม่ค่อยออก ก็ลองทำอานาปานสติ บางเรื่องจะนึกออกในทันทีในไม่กี่นาที แต่บางเรื่องอาจจะต้องรอไว้ หรือบางเรื่องอาจจะรอถึงกับว่านอนหลับไปพักหนึ่งแล้ว ตื่นขึ้นมา ก็จะนึกได้อย่างนี้ เป็นต้น
โดยเหตุผลก็คือว่า มันได้จัดหรือปรับปรุงกันเสียใหม่ ในระบบทุกระบบ ทั้งระบบประสาท ระบบอะไรก็ตาม ให้เข้ารูป เมื่อเข้ารูปแล้วมันก็ทำหน้าที่ของมันได้ ดังนั้นมันจึงสามารถเรียกร้องความจำออกมาได้ตามที่ต้องการ นี่ขอให้สนใจกันถึงขนาดนี้
อานาปานสติเป็นสติปัฏฐานที่แท้จริง เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
เป็นที่นิยมยกย่องหรือสำคัญ สำหรับสติปัฏฐาน ๔ มันมีร่วมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม แต่คำว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานที่สมบูรณ์แท้ ๆ นั้น กลับมามีอยู่ในอานาปานสติสูตร ในสูตรชื่อมหาสติปัฏฐานเองกลับไม่สมบูรณ์
นี่ขอบอกกล่าวให้ทราบกันว่า “อานาปานสติที่สมบูรณ์นั้นมีอยู่ สูตรสั้น ๆ ชื่อว่า อานาปานสติสูตร ในมหาสติปัฏฐานสูตรอันยาวเฟื้อยนั้น กลับไม่สมบูรณ์ในเรื่องอานาปานสติ”
ฉะนั้นเราจึงสนใจเรื่องในอานาปานสติแทนมหาสติปัฏฐานสูตร จะได้ผลคุ้มค่า คุ้มค่าเวลา เป็นเรื่องกะทัดรัด เป็นเรื่องทำได้ทันอกทันใจ
เมื่อทำอานาปานสติครบ ๑๖ ขั้นแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อทำอานาปานสติครบ ๑๖ ขั้นแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ โพชฌงค์ก็สมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์วิชชาและวิมุตติก็บริบูรณ์ ตรงกันอย่างนี้เลย
สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ เมื่อทำอานาปานสติสมบูรณ์
อานาปานสติมีอยู่ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น เป็น ๑๖ ขั้น
ถ้าทำครบทั้ง ๑๖ ขั้นนี้แล้ว
สติปัฏฐาน ๔ จะสมบูรณ์ ไม่มีอะไรจะสมบูรณ์ไปยิ่งกว่านี้
ในที่บางแห่งจัดอานาปานสติว่า เป็นสัญญาชนิดหนึ่งโดยเฉพาะในคิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐ ประการนั้น ได้จัดอานาปานสติไว้ในฐานะเป็นสัญญาหมวดหนึ่งด้วย ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องกำหนดหมายที่ดีที่สุด
คำว่า สัญญา ในที่นี้ก็หมายถึงเครื่องกำหนดหมาย กำหนดหมายที่ดีที่สุด ที่ทำให้ก้าวหน้าบรรลุพระนิพพานได้ ก็คือ อานาปานสติ ท่านจึงตรัสว่าเป็นสัญญา
เป็นอันว่าได้พิจารณาใคร่ครวญดีถึงที่สุด ทบทวนไปมาเป็นเวลานานแล้ว เกิดความคิดอย่างนี้ ความเข้าใจอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้ จึงนำมาเสนอแก่ท่านทั้งหลาย ขอได้พิจารณาดูจะได้รับประโยชน์มหาศาล
รูปโครงของอานาปานสติ
ทีนี้ก็จะได้พิจารณาดูกันต่อไปถึงรูปโครงของอานาปานสติทั้ง ๔ หมวด ใช้คำใหม่ ๆ ภาษาใหม่กันว่าทางเทคนิค
เมื่อจะพิจารณากันดูโดยวิธีทางเทคนิคแล้ว จะเห็นความมีเทคนิคกันอย่างยิ่งเหลือประมาณ ในเรื่องอานาปานสติ ๔ หมวด จนกระทั่งมองเห็นชัดว่า มันต้องมีจำนวนเท่านี้ คือ ๔ หมวด หมวดละ ๔ เป็น ๑๖ ต้องมีจำนวนเท่านี้ จะมากกว่านั้นก็ไม่ได้ จะน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้
แล้วยังเห็นชัดว่า จะต้องจัดลำดับดังนี้ จัดอย่างอื่นไม่ได้ ขอให้ใคร่ครวญดูเถอะว่า ต้องมี ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้นอย่างนี้ มากกว่านี้ก็ไม่ได้ น้อยกว่านี้ก็ไม่ได้ แล้วยังต้องเรียงลำดับกันอย่างนี้ จึงจะเป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยสะดวกดาย
เรียกกันอย่างสมัยใหม่ว่ามันมีเทคนิคจำกัดเฉพาะอย่างยิ่ง และเหลือประมาณทีเดียว จะต้องรู้ไว้ในเรื่องนี้ด้วย ท่านศึกษาเรื่อย ๆ ไป จนครบถ้วนแล้ว ท่านจะรู้ได้เอง รู้ความที่มันต้องมีเทคนิคอย่างนี้ มีเป็นอย่างอื่นไม่ได้
หรือว่ามันสมบูรณ์ด้วยเทคนิคอย่างยิ่ง ใช้ถูกวิธีก็เป็นเทคโนโลยี ภาษาอะไรก็ไม่รู้ที่เขาใช้พูดกันอย่างนี้
เทคโนโลยี คือ วิธีที่จะใช้เทคนิคให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ แต่นี้มันเป็นเรื่องทางใจ เป็นเรื่องเทคนิคทางจิตใจ เป็นเทคโนโลยีทางจิตใจซึ่งไม่มีใครเขาพูดกัน แต่ว่ามันเป็นอย่างนั้น เอามาพูดอย่างนั้นได้
ถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจแล้ว การปฏิบัติสมาธินี้ อานาปานสติสมบูรณ์ด้วยเทคนิค และอาจจะใช้เป็นเทคโนโลยีได้โดยสะดวก มีผลดี หมายถึงเรื่องในทางจิตใจ
ทั้ง ๔ หมวด เรียกว่า จตุกกะ จตุกกะก็แปลว่า หมวดละ ๔
จตุกกะนี้ มันสัมพันธ์กันอย่างมีเทคนิคที่สุด คือ มันต้องทำเป็นลำดับ ลำดับไปอย่างนั้นให้ครบถ้วนอย่างนั้น แล้วเกี่ยวข้องกันอย่างนั้น ๆ แล้วมันก็กะทัดรัดที่สุด ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งซ่าน
เอ้าดูว่า หมวดที่ ๑ จตุกกะที่ ๑ ทำให้รู้จักลมหายใจ รู้จักธรรมชาติของลมหายใจ จนกระทั่งรู้จักว่า ร่างกายเนื้อนี้ก็มีอยู่หมวดหนึ่ง เนื่องกันอยู่กับลมหายใจ
เตรียมกายนี้ให้พร้อม ให้รู้จัก คือปรับปรุงให้ดี ให้ถูกให้ต้องทั้งสองกาย คือ ทั้งกายลมและกายเนื้อ ก็จะเกิดการสงบรำงับได้ นี่หมวดที่หนึ่ง ก็มีเทคนิคอยู่อย่างนี้
หมวดที่ ๒ ก็รู้จักเวทนา คือความรู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ว่าเวทนานี้เป็นเรื่องสำคัญในหมู่มนุษย์ มนุษย์เป็นไปตามอำนาจของเวทนา เวทนานี้มันจูงจมูกไปให้ทำอะไรก็ได้
สุขก็จูงไปอย่าง ทุกข์ก็จูงไปอย่าง อทุกขมสุขก็จูงไปอย่าง เราต้องรู้จักเวทนา และควบคุมเวทนาให้ได้ และจะเสวยเวทนาตามที่ควรจะเสวย บังคับเวทนาได้ก็คือ การบังคับจิตได้
มันสัมพันธ์กับหมวดที่ ๑ ก็คือว่าเมื่อทำหมวดที่ ๑ สำเร็จ มันก็จะมีสุขเวทนาที่เกิดมาจากสมาธิ แล้วก็เอาสุขเวทนาที่เกิดมาจากสมาธิของหมวดที่หนึ่งนั้น มาเป็นอารมณ์ของเวทนานุปัสสนา หมวดที่ ๒
ก็แปลว่า เราได้เวทนาอันสูงสุด ประเสริฐที่สุด คือเป็นสุขที่สุด มาใช้เป็นบทเรียน ถ้าเอาชนะเวทนาอันสูงสุดนี้ได้ แล้วก็เอาชนะเวทนาที่ต่ำต้อยกว่านั้นได้โดยไม่ต้องสงสัย
1
เอาเวทนาชั้นที่สูงสุดมาเป็นบทเรียนสำหรับศึกษา สำหรับประพฤติกระทำ มันก็ดีกว่า นี่ความเป็นเทคนิคมันซ่อนอยู่อย่างนี้ แล้วมันสัมพันธ์กันกับหมวดที่ ๑ อย่างนี้
ทีนี้หมวดที่ ๓ รู้จักจิต ว่าเป็นอย่างไร รู้จักจิตทุกชนิด ทุกรูปแบบว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งว่าบังคับจิตได้ตามต้องการ
มันสังเกตเอาจากที่ว่าในระยะไหนของอานาปานสติจิตเป็นอย่างไร ในระยะไหนจิตเป็นอย่างไร อย่างนี้ก็ได้
หรือจะสังเกตเอาทั่ว ๆ ไปตามความรู้สึกของเราที่มีอยู่ว่า จิตเป็นอย่างไร จิตเคยเป็นอย่างไรบ้าง
อย่าต้องคำนวณว่า ถ้าจิตฟุ้งซ่านคือเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่านจะเป็นอย่างไร ก็พอจะคำนวณเอาได้ จนสามารถรู้จักจิตทุกแบบ รายละเอียดข้อนี้ก็จะไปพูดถึงเมื่อบรรยายไปถึงตอนนั้น
ทีนี้ หมวดที่ ๔ บังคับจิตได้แล้ว ก็ใช้จิตนั้นให้ทำงาน พูดอย่างเป็นภาษาอุปมาว่า ภาษาบุคคลาธิษฐานว่า ใช้จิตให้ทำงาน
ข้อนี้ก็ไม่มีอะไรมาก จิตที่อยู่ในอำนาจ ควบคุมได้แล้ว ก็สามารถจะใช้ทำอะไรก็ได้ ในที่นี้ก็ บังคับจิตให้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมถูกต้อง จนกระทั่งเห็นอนิจจัง ซึ่งรวมทั้งทุกขัง อนัตตา แล้วก็บังคับจิตให้หน่ายคลายกำหนัด ให้คลายกำหนัด คือ ให้คลายความยึดมั่นถือมั่น แล้วจนกระทั่งดับความยึดมั่นถือมั่นได้
แล้วกระทั่งรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ว่าทำได้แล้ว ทำได้อย่างนี้แล้ว ทำได้ถึงที่สุดแล้ว เรื่องที่ต้องทำเพื่อดับทุกข์นั้น ไม่มีเหลืออีกแล้ว ทำหมดแล้ว
นี่อานาปานสติหมวดที่ ๔ เป็นอย่างนี้ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากเพียงพอ จนกระทั่งเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จนมีวิราคะ
เมื่อคลายไปคลายไปก็ดับหมด เป็นนิโรธ จึงหมดปัญหาดับกิเลสและดับทุกข์ได้ ก็รู้เป็นครั้งสุดท้ายว่า โอ้ มันดับแล้ว ดับสิ้นสุดแล้ว ใช้คำที่เป็นโวหารอุปมาอีกเหมือนกัน ใช้คำว่า “สลัดคืน” คือ โยนทิ้งออกไปได้หมดแล้ว ไม่เอามายึดถือไว้อีกต่อไปแล้ว จบอย่างนี้
1
นี่แหละรูปโครงของอานาปานสติ ๔ หมวด มีลักษณะอย่างนี้ สัมพันธ์กันอย่างนี้ มีเทคนิคอย่างนี้ มีจำนวนเท่านี้ เพิ่มไม่ได้ลดไม่ได้ ต้องเรียงลำดับแห่งการปฏิบัติอย่างนี้ ๆ สลับกันอย่างอื่นไม่ได้หรือไม่ดี นี่ขอให้รู้จักไว้อย่างนี้
อานาปานสติ ๑๖ ขั้น เป็นพุทธศาสนาสมบูรณ์
ทีนี้มาพิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า เมื่อทำได้อย่างนี้ ๑๖ ขั้น จนกระทั่งบรรลุผลถึงที่สุด และรู้ว่าบรรลุแล้วนี้ มันเป็นการแสดงพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์
ฟังดูให้ดี มันเป็นการแสดงพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ คือ แสดงทั้งการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ
การแสดงแต่เพียง ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นไม่สมบูรณ์ มันแสดงแต่วิธีปฏิบัติ ที่เป็นประเภทเหตุ ที่เป็นผลของการปฏิบัติยังมิได้แสดงเลย แต่ถ้าเราพูดถึงอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้แล้ว มันจะแสดงทั้งการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ
แม้ว่าจะแสดงด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทา มีองค์ ๘ ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะไม่แสดงผลแม้แต่นิดเดียว แสดงแต่เหตุ คือวิธีปฏิบัติ : สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันก็จบ มันยังไม่ได้แสดงว่าได้รับผลอะไร
ต่อเมื่อแสดงเป็นสัมมัตตะ ๑๐ คือ เพิ่มเข้าไปอีก ๒
เป็นสัมมาญานะ รู้อย่างถูกต้อง
สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นอย่างถูกต้อง
ครบ ๑๐ นั่น จึงจะสมบูรณ์
เราจะเห็นได้ทันทีว่า ในอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ แสดงให้ครบทั้ง ๑๐ เท่ากับว่า อานาปานสติทั้งชุดนี้มันแสดง สัมมัตตะ ๑๐ นั่นเอง เป็นตัวพุทธศาสนาสมบูรณ์ ทั้งเหตุและทั้งผล
ข้อนี้ควรจะเข้าใจกันไว้ด้วยว่า ถ้าพูดแต่เพียง อัฏฐังคิกมรรค ๘ นี้มันยังไม่ครบไม่สมบูรณ์ของตัวพระศาสนา ยังไม่แสดงส่วนที่เป็นผล ต้องแสดงเป็นสัมมัตตะ ๑๐ เพิ่มเข้าไปอีก ๒ สัมมาญานะ สัมมาวิมุตติ แล้วนี้ก็จะเป็นจบสมบูรณ์
เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัสถึงระบบพระพุทธศาสนาทั้งหมด ในฐานะเป็นเครื่องดับทุกข์ทั้งหมด แล้วก็ตรัสถึงสัมมัตตะ ๑๐ ทั้งนั้นแหละ ไม่อยู่เพียงแค่แปด แค่มรรคมีองค์ ๘
เมื่อจะตรัสเปรียบเทียบทางบุคคลาธิษฐาน หรือ ภาษาคน ก็ตรัสว่า สัมมัตตะ ๑๐ มันเป็นโธวน เครื่องชำระบาป เป็นวิเรจนะ เป็นยาถ่ายโทษหมดโดยประการทั้งปวง หรือเป็นวมน ทำให้สำรอกอาเจียน มันก็ไปจนถึงว่ามีสัมมัตตะ ๑๐ ครบถ้วนแล้ว
มันจึงจะเป็นการสำรอกหรืออาเจียนโทษทั้งหลายทั้งสิ้นออกไปได้ นี้เราจงรู้ค่าของอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ ว่ามันเป็นความสมบูรณ์แห่งการแสดงให้รู้จักตัวพระพุทธศาสนา
หรือถ้าจะดูกันอีกโดยการเปรียบเทียบกับหลักสำคัญ ๆ ที่ว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สพฺพํทุกขํ อุปจุจคุ การก้าวล่วงทุกข์ทั้งปวงทำได้เพราะสมาทาน สัมมาทิฏฐิ
การสมาทาน สัมมาทิฏฐินี้มันมีผลครอบหมดทั้งอานาปานสติทั้งชุดเลย อานาปานสติทั้งชุดเมื่อทำแล้วจึงได้ชื่อว่า สมาทานสัมมาทิฏฐิ แม้ว่าสัมมาทิฏฐิจะเป็นเพียงองค์แรกองค์หนึ่งของอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่ามันมีความเกี่ยวข้องหรือคาบเกี่ยวกันไปจนกระทั่งเรื่องสุดท้าย
ถ้ายังไม่สมบูรณ์ ตามหลักอานาปานสติ ๑๖ ขั้นอยู่เพียงไร สัมมาทิฏฐินั้นยังไม่ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ถึงที่สุด
นี่จึงให้เข้าใจไว้ว่า ถ้าจะดับทุกข์หรือออกจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็จงประพฤติอานาปานาสติทั้งสี่หมวดให้สมบูรณ์ อานาปานสติจึงเป็นพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ ทั้งในแง่ของปริยัติ ทั้งในแง่ของปฏิบัติ และทั้งในแง่ของปฏิเวธ
คือในการศึกษาเล่าเรียน ก็เรียนให้รู้เรื่องอานาปานสติ ในการปฏิบัติก็ปฏิบัติอานาปานสติ ได้รับผลของการปฏิบัติก็คือรับผลการปฏิบัติ อานาปานสติ จึงจะเป็นการรับผลที่สมบูรณ์
1
เอาพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น คือ ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ และปฏิเวธ นี้มารวมอยู่ในเรื่องของอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ชุดคู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๔
๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ ที่ลานหินโค้ง
1
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
หนังสือ คู่มือปฏิบัติอานาปานสติภาวนา การหายใจที่ดับทุกข์ได้
บรรยายโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
Photo by : Unsplash(1-2) , Canva (3) , Pixabay (4)
โฆษณา