10 ม.ค. 2022 เวลา 11:21 • ปรัชญา
"การละตัวตนโดยสิ้นเชิง ต้องละทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว"
1
" ... ตัวกู ของกู
หรือที่เรียกในหลักธรรมชั้นสูงของพุทธศาสนาว่า อัสมิมานะ
อันมีความหมายตรงกับคำว่า Egoism อย่างยิ่ง
ซึ่งเมื่อกำจัดเสียได้แล้ว
จะประสบสิ่งที่เรียกว่า "นิพพาน"
คือความสิ้นสุดลงแห่งความทุกข์
1
คำว่า 'อัสมิมานะ' แปลว่า ความสำคัญว่าตัวฉันมีอยู่
'มานะ' แปลว่า ความสำคัญหรือความสำคัญมั่นหมายในทางจิตใจ
อัสมิ แปลว่า ข้าพเจ้ามีอยู่
และมีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า 'อหังการ'
ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลาง
หรือเป็นประธานของความรู้สึกทุก ๆ อย่าง ทั้งหมดทั้งสิ้น
ไม่ว่าในทางดี หรือทางชั่ว
1
ถ้ากล่าวให้ถูกกว่านั้น
ก็กล่าวว่า เป็นศูนย์กลางของการกระทำ
แล้วก็ทำทุกอย่างตามที่มันต้องการ
แล้วจึงมีการบัญญัติกันขึ้นเองในชั้นหลังว่า 'ดี' หรือ 'ชั่ว'
โดยถือเอาลักษณะที่น่าทำ หรือไม่น่าทำ
น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา เป็นเกณฑ์
เพราะฉะนั้นความดี หรือ ความชั่ว ก็ตาม
ย่อมมีความหมายเท่ากันสำหรับสิ่งที่เรียกว่าอัสมิมานะ หรือสำหรับอหังการ
หรือแม้สำหรับความเห็นแก่ตัวที่เรียกกันว่า Egoism ก็ตาม
ด้วยเหตุนั้นเอง การละเสียซึ่งอัสมิมานะนั้น
ถ้าจะให้ถึงที่สุดแล้ว ต้องละเสียทั้งชนิดดี และชนิดชั่ว
จึงจะนับว่าถึงที่สุดของการละเสียซึ่งอัสมิมานะ
หรือสิ่งที่เรียกว่า Egoism
1
การละเสียแต่เพียงฝ่ายชั่ว และยึดถือเอาไว้ซึ่งฝ่ายดีนั้น
ตามลัทธิอื่นหรือในสังคมปัจจุบันอาจจะถือว่าเป็นการละ Egoism แล้วก็ได้
แต่ทางฝ่ายพุทธศาสนานั้น
ยังไม่ถือว่าเป็นการละความเห็นแก่ตัว หรือ Egoism เลย
เพียงแต่ ละตัวที่น่าเกลียดแล้วไปยึดเอาตัวที่น่ารักไว้เท่านั้น
ต่อเมื่อละได้หมด ไม่มีส่วนที่น่าเกลียด หรือน่ารักยึดถือไว้
จึงจะเรียกว่าตัวกู หรือของกูถูกละไปหมด
ถ้าเข้าใจหลักอันนี้ ก็จะเข้าใจพุทธศาสนาได้โดยง่าย
หรือรวดเร็วทันทีทันใดทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปฏิบัติที่เป็นการละอัสมิมานะสิ้งเชิงนี้
เป็นการปฏิบัติขั้นสูงสุด และทำได้ยาก
จึงได้มีหลักเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติที่วางไว้ในขั้นที่รอง ๆ ลงมา
คือให้มีการยึดถือตัวตนแต่น้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้ไปพลางก่อน
และต้องเป็นตัวตน ที่อาจจะบัญญัติได้ว่าเป็นฝ่ายดี
เว้นตัวตนที่เป็นฝ่ายชั่วเสีย โดยเด็ดขาด
สำหรับคนสามัญทั่วไปจะได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติ
พุทธศาสนาก็ยอมรับรองในข้อนี้
จึงได้มีหลักปฏิบัติที่เราถือกันว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
อยู่ในรูปของพระพุทธภาษิตที่ว่า
'การไม่ทำความชั่วทุกอย่าง การทำความดีให้สมบูรณ์
และการชำระจิตให้ขาวสะอาด'
สามอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
หรือถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุด
ก็กล่าวว่า 'เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้สะอาด'
จากคำว่า ทำใจให้สะอาด นั่นเอง
เราจะพบว่ายังมีการกระทำอีกขั้นหนึ่ง
ซึ่งสูงไปกว่าการทำดี
หรือกล่าวกลับกันอีกทางหนึ่ง ก็กล่าวว่า
การทำสิ่งที่ตนยึดถือว่าดีนั้น แม้ถึงที่สุดแล้ว ใจก็ยังไม่สะอาด
นี่แหละคือร่องรอยอันแสดงให้เห็นว่า
การละความเห็นแก่ตัว หรือ Egoism ชั้นเลวเสียแล้ว
ตั้งตนอยู่ในฐานะเป็นคนดีเต็มที่แล้ว
ก็ยังหาจัดว่าเป็นการละ Egoism โดยสิ้นเชิงไม่
ต้องมีการปฏิบัติอีกชั้นหนึ่งขึ้นสูงขึ้นไป
คือ ชำระใจให้สะอาด ปราศจาก Egoism โดยประการทั้งปวง
จึงจะถือว่ากำจัดตัวกู หรือของกู ออกไปได้ ... "
.
ธรรมบรรยาย
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา