Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
27 ม.ค. 2022 เวลา 08:34 • ไลฟ์สไตล์
“EP.01 หลักการปฏิบัติอานาปานสติ”
“ … นี่เราก็ได้ทำความเข้าใจหรือทำความรู้จักกับอานาปานสติมาพอสมควรแล้ว ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมานี้
https://www.blockdit.com/posts/61f0f5bee6f39bce8035a682
ทีนี้ก็จะได้พูดถึง ตัวอานาปานสติ หรือการปฏิบัติอานาปานสติเป็นลำดับ ๆ ไป ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดี ฟังไม่ดีจะฟังไม่ถูก จะไม่รู้เรื่อง จะไม่สำเร็จประโยชน์
แล้วก็อยากจะพูดว่าเป็นการยากที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้โดยสมบูรณ์ ก็คอยจด ๆ จ้อง ๆ มานานแล้ว เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะพูดกันให้สมบูรณ์กันเสียสักที ท่านทั้งหลายจงพยายามรับเอาให้ดี สนองความประสงค์อันนี้ให้ดีให้เข้าใจ ให้ใช้ปฏิบัติได้ นั่นแหละก็จะไม่เสียทีว่าอุตส่าห์มาศึกษามาฟัง
การเตรียมสิ่งแวดล้อม
เมื่อจะพูดถึงการปฏิบัติอานาปานสติ ก็จะพูดถึง การเตรียมพร้อม เตรียมพร้อมเพื่ออานาปานสติเป็นข้อแรก ขอให้ฟังให้ดี จะพูดถึงตัวเรื่องปฏิบัติโดยตรงแล้ว
1
การตระเตรียม ก็โดยหลักทั่วไปนึกเอาเองก็ได้ จะทำอะไรมันต้องเตรียมอะไรบ้าง ก็พอจะนึกเอาเองได้ นี้ก็เหมือนกัน
ก็หาโอกาส เตรียมหาโอกาส ให้ได้โอกาส
หาเวลาที่พอเหมาะ หาสถานที่พอเหมาะ เท่าที่จะหาได้
ไม่ต้องจู้จี้พิรี้พิไร จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้
จนไม่ได้ทำ จนล้มเหลวเป็นข้อแก้ตัวของคนขี้เกียจหรือคนที่ไม่อยากจะทำ
หาโอกาส หาเวลา หาสถานที่ ที่พอเหมาะ เท่าที่จะหาได้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ถ้าหาในป่าไม่ได้ ที่บ้านก็ได้ เวลานั้นก็หาได้ แม้ว่าอยู่ที่บ้านก็มีเวลาสักแวบหนึ่งก่อนแต่จะนอนหรือตื่นนอนใหม่ ๆ หรือเวลาไหนก็ได้
ถ้าเราปิดหูปิดตา ไม่ดูไม่แลไม่ได้ยินได้ฟังอะไร ก็ทำอานาปานสติได้แม้นั่งอยู่ในรถไฟ ก็เรียกว่าต้องหาได้แหละ เวลาก็ดี โอกาสก็ดี สถานที่ก็ดี มันก็จะต้องหาได้ แต่แล้วเราก็จะหาให้ได้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้
…
เตรียมร่างกาย
แล้วก็เตรียมร่างกาย ให้มันพอเหมาะพอดี ให้มันสบายพอดี คือมันไม่ร้อน หรือมันไม่เหน็ดเหนื่อย หรือไม่อะไรทำนองนั้น มีร่างกายที่พอดีพอเหมาะสม และอวัยวะของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือจมูกที่จะหายใจ
ถ้าจมูกมันไม่ถูกต้อง ก็ต้องแก้ไข ถ้ามันเป็นหวัดก็ทำไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้ มันต้องเตรียมจมูก แล้วจมูกนี้ก็ไม่ใช่ว่าตระเตรียมไม่ได้ จมูกธรรมดานี้มันหายใจไม่สะดวกนัก มันต้องเตรียมให้หายใจสะดวก
นักเลง ใช้คำว่านักเลง นักเลงอานาปานสติเขามักจะใช้น้ำล้างจมูก คือ สูดน้ำเข้าไป เอาน้ำใส่ในฝ่ามือใจกลางมือ สูดเข้าไปแล้วก็สั่งออกมา ก็สูดเข้าไปแล้วก็สั่งออกมา ก็ทำให้จมูกดีกว่าธรรมดาสำหรับที่จะทำอานาปานสติ นี้เป็นตัวอย่างของการตระเตรียม
อารมณ์อะไรที่รบกวนจิตใจ ที่จะมารบกวนจิตใจก็สลัดออกไปเสียก่อน ไม่รู้ไม่ชี้กับมัน เรื่องต้องกังวลวิปฏิสาร ร้อนอก ร้อนใจอะไร แม้มีความทุกข์อยู่ก็สลัดออกไปเสียก่อน
คือลืมมันเสียทีก่อน แล้วมากำหนดลมหายใจ
แล้วก็กำหนดลมหายใจตามแบบของขั้นที่ ๑ ซึ่งมีความหมายว่าบังคับลมหายใจตามที่ต้องการ เอาละ บังคับลมหายใจตามที่ต้องการตามแบบของตน ๆ ก็มีหลายแบบ แต่ว่าทุกแบบเรียกว่าบังคับลมหายใจทั้งนั้นแหละ
เขาเรียกเป็นภาษาอินเดียโบราณ ก็เรียกว่าปราณายามะ แปลว่าบังคับลมหายใจ คำ ๆ นี้ใช้เป็นหลักทั่วไป ไม่ว่าในสมาธิภาวนาแบบไหน ของพวกไหนก็ตาม ในประเทศอินเดียวิปัสสนาทุกรูปแบบ เริ่มต้นด้วยปราณายามะ คือบังคับลมหายใจให้ถูกต้องให้ตรงตามที่ต้องการ
อานาปานสติขั้นต้น ๆ ก็เป็นการบังคับลมหายใจ มีลักษณะเป็นปราณายามะ เพราะว่าเราก็จะได้บังคับมันให้ดี ตั้งแต่ว่าเตรียมจมูกให้ดี เตรียมลมหายใจให้ดี จนกระทั่งว่าบังคับให้หยาบให้ละเอียด ให้ได้ดี อย่างนี้เป็นเบื้องต้นที่สุด
เกี่ยวกับการตระเตรียมหรือว่าจะควบคุมการหายใจ เรียกว่าเป็นปุพพภาคของวิปัสสนาสากลทุกรูปแบบ วิปัสสนาทุกรูปแบบต้องเริ่มต้นด้วยการ ปราณายามะ คือบังคับลมหายใจ
…
ท่านั่ง
มีท่านั่งที่เหมาะสม หมายความว่าหัดนั่งในท่าที่เหมาะสม โดยเฉพาะพวกฝรั่ง เขาไม่ค่อยจะเคยนั่งสมาธิ เคยนั่งแต่เก้าอี้ก็ลำบาก ลำบากเหมือนกัน
ที่จริงมันจะเปลี่ยนไปเป็นใช้เก้าอี้บุนวมหนา ๆ นั่งอย่างนั้นก็ได้ แต่มันไม่ดีเท่ากับว่าแบบสมาธิที่นั่งลงกับพื้น
พวกจีนก็เหมือนกัน พวกจีนเขาก็มีนั่งเก้าอี้ไม้ของจีน ไม่ค่อยนั่งสมาธิกับพื้น ก็ต้องลำบากในการหัดใหม่เหมือนกัน
เขาจึงใช้คำว่ามาหัดนั่งตามท่านั่งแบบอินเดีย แบบชาวอินเดีย คือนั่งขัดตะหมาด ขัดสมาธิลงกับพื้นนั่นแหละ ซึ่งเป็นการลำบากไม่น้อยสำหรับพวกฝรั่ง
อาตมาเคยไปเห็นที่ประเทศพม่า ฝรั่งนั่งร้องไห้อยู่เพียงแต่ว่านั่งขัดสมาธิไม่ได้เท่านั้น มันดึงเข้ามาไม่ได้ ขามันแข็ง แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็พยายาม นี้ก็อยู่ในพวกเตรียมเหมือนกัน เตรียมท่านั่ง หัดให้คุ้นเคยกับท่านั่ง ที่เรียกว่าแบบสมาธิสมาธิ
คำว่า “สมาธิ” แปลว่า ตั้งมั่น ท่านั่งอย่างอื่นไม่มั่นคงเท่ากับแบบขัดตะหมาด ขัดสมาธิ เราเรียกว่า แบบตะหมาด คำว่า ขัดตะหมาด ก็คือว่า ขัดสมาธินั่นเอง
เข้าใจว่ามันเรียนผ่านมาทางพม่า พม่าเขาออกเสียงตัว สอ. เป็นเสียง ตอ. เมื่อเราออกเสียงเป็น ตอ. ก็ออกเป็น ตอ. สมาธิออกเป็นตะมาธิ มันก็เลยเป็นตะหมาดไป ขัดตะหมาดก็คือมาจากคำว่าขัดสมาธิ
มันนั่งชนิดที่ว่าล้มไม่ได้ มีลักษณะเหมือนกับฝาชีหรือปีระมิด ฐานมันใหญ่แล้วมันแหลมขึ้นไปข้างบน รูปปีระมิด มันล้มไม่ได้ สมาธิคำนี้มันก็แปลว่า อย่างนั้นอยู่ด้วย สมาธิแปลว่ารวมยอด รวมยอดเดียวขึ้นไป เล็กเข้า ๆ แล้วไปเล็กสุดที่ยอด นั่นแหละความหมายของคำว่ารวมยอด
แล้วก็มีความหมายว่า ซ่านออกไปทิศไหนไม่ได้ ไม่ซ่านออกไปในทิศไหน แล้วก็รวมแน่นเป็นยอดเดียว เหมือนกับฝาชีหรือรูปกรวย ความหมายของสมาธิ สมาธิโดยทางวัตถุ โดยทางวัตถุมันเป็นอย่างนี้
ก็หัดนั่งเล่น ๆ ไปก่อน ถ้านั่งไม่ได้ แต่ไม่มีปัญหาอะไร คนไทยเรามีบุญ นั่งสมาธิเป็นมาแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่เดินไม่ได้ บางทีนั่งขัดตะหมาดเป็นแล้ว พ่อแม่จับให้นั่ง มันได้เปรียบฝรั่ง ได้เปรียบพวกจีน ได้เปรียบพวกที่ไม่เคยนั่ง นี่ก็เรียกว่าเตรียมด้วยเหมือนกัน
เตรียมให้คุ้นเคยกับท่านั่ง ขัดตะหมาด นักศึกษาปัจจุบันอาจจะไปตามฝรั่ง ติดฝรั่ง นั่งขัดสมาธิไม่ได้เข้าก็ได้ เพราะเคยนั่งแต่เก้าอี้ก็ตามใจ ถ้าอยากจะทำให้ดีในการทำสมาธิ แล้วก็มาหัดนั่งขัดตะหมาด ขัดสมาธิกันให้ได้แล้วมันจะสะดวก ได้ผลง่ายหรือดีกว่า
แล้วก็อย่าให้มีอะไรมารบกวนผูกพันกันนัก เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องอะไรอย่าให้เกิดเป็นปัญหา สลัดออกไปให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ แต่ก็ไม่ต้องมากจู้จี้หยุมหยิมจนทำไม่ได้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องแก้ตัวของคนไม่อยากทำ อะไร ๆ ก็ติดขัดไปเสียหมด
ที่จริงถ้ามีจิตใจที่ซื่อตรงต่อเรื่องนี้แล้วก็ทำได้ทั้งนั้น ขอให้เตรียมให้ทำได้
…
ซ้อมการหายใจ
เตรียมละเอียดลงไป ทีนี้เตรียมละเอียดลงไป ก็คือเตรียมการหายใจ ลองหายใจดู ลองหายใจดู ซ้อมการหายใจดูทุกรูปแบบ หายใจยาว หายใจสั้น ก็ลองหายใจซ้อมดู
ยาวคืออย่างไร สั้นคืออย่างไร
หายใจลึกคืออย่างไร หายใจตื้นคืออย่างไร
หายใจหนักคืออย่างไร หายใจเบาคืออย่างไร
หายใจหยาบคืออย่างไร หายใจละเอียดคืออย่างไร
ซ้อมมันดูเหมือนกับทำเล่นไปก่อน นี้ก็เรียกว่าเป็นการเตรียมด้วยเหมือนกัน
…
หัดสังเกตลมหายใจ
สังเกตให้เห็นว่าเมื่อหายใจอย่างไร มันมีผลอะไรเกิดขึ้น
หายใจหยาบสบายอย่างไร หายใจสั้นไม่สบายอย่างไร
หายใจลึกสบายอย่างไร หายใจตื้นไม่สบายอย่างไร
ไปศึกษาให้ดี ให้รู้ชัดลงไปถึงลักษณะของมัน มีลักษณะอย่างไร มีอาการอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร หายใจอย่างไรมีผลแก่ร่างกายและจิตใจเองอย่างไร
หรือว่าเนื่องไปถึงสิ่งที่มันเนื่อง ๆ กันไปอย่างไร เกี่ยวกับการหายใจนั้น นี่เรียกว่าเตรียมอย่างดีที่สุด เพื่อจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ลมหายใจ
แล้วก็หัดบังคับมันให้สั้นให้ยาว ให้หยาบให้ละเอียด มีวิธีตามที่จะหามาได้
ลมหายใจยาวเท่านี้ นับ หนึ่ง สอง สาม ไปได้ถึงเท่าไร
ถ้าอยากให้ยาวออกไปอีก ก็นับให้ยาวออกไปอีก กระทั่งนับหนึ่งถึงสิบ
มันก็เลยเป็นการบังคับอย่างมีกฏเกณฑ์ มีระเบียบ นับจำนวนน้อย ๆ มันก็สั้น นับจำนวนมาก ๆ มันก็ยาว ก็บังคับความสั้นหรือยาวได้โดยการนับ จนมียุติลงไปได้ว่าอย่างไรเรียกว่ายาว อย่างไรเรียกว่าสั้น
อย่างไรยาวเป็นที่พอใจ อย่างไรสั้นเป็นที่พอใจก็รู้ได้ดี มีอุบายต่าง ๆ เมื่อจะเลือก ใช้คำว่าเลือก เลือกความยาวเลือกความสั้นได้ตามที่ต้องการ เพื่อที่จะมาใช้ทำจริง
…
ฝึกลืมตาทำ ดีกว่าหลับตา
ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังมีเหมือนกัน เช่นว่าหลับตาหรือลืมตา โดยมากสังเกตเห็นว่า เขายึดติดเรื่องหลับตา พอจะทำก็หลับตา แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว ลืมตานั้นเป็นเทคนิคที่ลึกกว่า มีเทคนิคที่ลึกกว่า มีผลดีกว่า คือลืมตา
ลืมตาเพ่งดูที่ปลายจมูกอย่างเดียว ก็ไม่เห็นอะไรเหมือนกัน แต่มันเป็นการบังคับจิตที่ดีกว่า ดีกว่าหลับตา นี้เรียกว่าลืมตานี้ มันเก่งกว่าหลับตา หรือมันได้ประโยชน์มากกว่าหลับตา
คือว่าอย่างน้อยก็คือตามันไม่ร้อน ถ้าหลับตานั้น ตามันจะร้อนกว่าที่ลืมตา เหมือนกับที่เราลืมตาอยู่นี้อากาศมันผ่านตา ตามันก็ไม่ร้อน ถ้าเราหลับตา ตามันจะมีความร้อนเกิดขึ้น ลืมตามันยังดีกว่า ลืมตานี้มันเก่งกว่าหลับตา เพราะมันทำยากกว่า
ถ้าเป็นนักเลง เขาใช้คำว่านักเลง นักเลงสมาธิ เขาหัดอย่างลืมตากันทั้งนั้น แบบโบราณในอินเดียของพวกโยคีทั้งหลายก็ลืมตาทั้งนั้น ตั้งต้นด้วยลืมตาทั้งนั้น เพื่อตาไม่ร้อนและเพื่อการบังคับจิตที่ดีกว่า
แล้วก็รู้เถอะว่า พอมันเป็นสมาธิ พอมันเริ่มเป็นสมาธิ เข้าถึงขั้นที่เป็นสมาธิแล้ว มันหลับของมันเอง ตามันหลับของมันเอง แม้ว่าเราจะตั้งต้นด้วยการลืมตา ในที่สุดมันก็หลับของมันเอง
นี่เรื่องหลับตาหรือลืมตามันก็มีปัญหาอยู่บ้างอย่างนี้ แต่มันก็เป็นเทคนิค เป็นสิ่งที่มีความลับซ่อนเร้นอยู่ ว่าหลับตาดีหรือลืมตาดี นี่ขอให้สนใจกันไว้บ้าง
ถ้าถือเป็นแบบดั้งเดิมมาแต่โบราณกาล พวกโยคีเขาตั้งต้นด้วยการลืมตา แล้วมันค่อย ๆ หลับของมันไปเมื่อมันเป็นสมาธิมากเข้า ๆ จนหลับสนิท
ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นการตระเตรียม ซึ่งก็เป็นการตระเตรียมที่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะว่ามันมีเทคนิคอย่างที่ว่ามาแล้ว มันต้องถูกต้องตามเทคนิค ซึ่งจะเรียกว่าความลับของธรรมชาติ
เทคนิคแปลว่าอะไรก็ไม่รู้ พูด ๆ กันจนติดปาก แต่ว่าถ้าดูตัวแท้แล้วมันคือความลับของธรรมชาติ ให้ถูกต้องตามความลับของธรรมชาติ
เรื่องหลับตาหรือลืมตาก็เป็นเทคนิค มีลักษณะเป็นเทคนิคทำให้มันถูกต้อง แต่ถ้าว่าคนที่ไม่ชอบคิดหรือคนขี้ขลาดหรือคนยึดติด มันก็ทำไม่ได้ ลืมตาทำไม่ได้ ๆ เพราะมันเห็นอยู่ มันก็จริงซิ มันก็ทำไม่ได้ แต่ว่าไปลองดูซิ ลืมตาแต่มองอยู่ที่ปลายจมูก มองให้เห็นปลายจมูก
มองให้เห็นปลายจมูก มันก็ไม่เห็นอะไร มันก็มีผลเท่ากับหลับตาครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วมันบังคับจิตแรงกว่าที่จะหลับตา
แล้วโดยมากหลับเลย ง่วงเลยหลับไปเลย ถ้าตั้งต้นด้วยหลับตามักจะง่วงและหลับไปเลย มันก็ล้มละลาย ถ้าตั้งต้นด้วยการหลับตา ถ้าตั้งต้นด้วยการลืมตามันเข้มแข็งกว่า
ขอให้สนใจ นี่เรื่องของตระเตรียมมีอย่างนี้ ควรจะพอกันทีสำหรับเรื่องตระเตรียม … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ชุดคู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๔
๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ ที่ลานหินโค้ง
3 บันทึก
18
11
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คู่มือปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา การหายใจที่ดับทุกข์ได้
3
18
11
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย