Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
28 ม.ค. 2022 เวลา 00:01 • ไลฟ์สไตล์
“EP.02 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 1/2”
“ … การลงมือปฏิบัติ
ทีนี้ก็ลงมือทำ ลงมือทำ อย่างที่บอกแล้วว่าอานาปานสติ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น
หมวดที่ (๑) เกี่ยวกับกาย
หมวดที่ (๒) เกี่ยวกับเวทนา
หมวดที่ (๓) เกี่ยวกับจิต
หมวดที่ (๔ ) เกี่ยวกับธรรมะ หรือธรรมชาติ ไว้ค่อยพูดทีหลัง
พูดหมวดที่ (๑) เกี่ยวกับกายกันเสียก่อน
หมวดที่ (๑) เกี่ยวกับกาย
คำว่ากายนี้ มันคงจะแปลกสำหรับคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยเรียนบาลี คนทั่วไปก็จะเข้าใจคำว่า กาย หมายถึง ร่างกาย ร่างกายเนื้อหนังคือกาย แต่ภาษาบาลี ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่ากายนี้ มันแปลว่า สิ่งที่รวม ๆ กันเป็นหมู่ ๆ หลาย ๆ อันรวมกันเป็นหนึ่งหมู่ เรียกว่า กาย ทั้งนั้นคำว่า กาย แปลว่า หมู่
แม้ว่าร่างกายของคนเราคนหนึ่งนี้ มันประกอบด้วยอะไรหลายอย่าง เช่นว่ามีอาการ ๓๒ รวมกันมันก็เป็นหนึ่งกาย มันก็คือหมู่นั่นเอง นี้ลมหายใจก็เรียกว่า กาย กายลม ลมหายใจก็เป็นหมู่ก็เรียกว่า กาย
หมวดที่ (๑) จัดการโดยตรงกับเรื่องลมหายใจ แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน :
ขั้นตอนที่ ๑ ลมหายใจยาว ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เราปรับปรุงศึกษาเตรียมตัวจนรู้จักกับเรื่องลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น เดี๋ยวนี้ก็เอาลมหายใจยาวมากำหนด หายใจลมหายใจยาว ให้ลมหายใจที่เข้าและออก เข้าและออกนั้นเป็นอารมณ์ของสมาธิ
เริ่มต้นทีเดียว เริ่มฝึกด้วยลมหายใจชนิดยาว ยาวมากหรือยาวน้อย เอาตามพอใจก่อนก็ได้ เพราะได้กล่าวมาแล้วว่าเราได้ศึกษาเรื่องยาว ยาวอย่างไร ๆ มาพอสมควรแล้ว จนกระทั่งว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ
มันยาวอย่างไรเรียกว่ายาว และเราก็รู้สึกว่ายาว แล้วก็เอายาวนั่นแหละมาเป็นการฝึกกำหนดครั้งแรก เราจะหัดให้ยาวที่สุดหรือให้สั้นที่สุด จนให้รู้จักมันดีทั้งยาวและทั้งสั้น เพราะว่าแม้แต่ยาวนี้ก็มีหลายยาว ยาวมากก็มี ยาวไม่มากก็มี ยาวน้อยก็มี แม้แต่ยาวมันยังมีตั้ง ๓ ยาว ก็รู้มันทั้ง ๓ ยาว
แล้วก็เอายาวที่พอดี ที่ตามสบาย ยาวที่รู้สึกว่ายาวก็แล้วกันมากำหนด หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว หายใจเข้ายาว และหายใจออกยาว กำหนดลมหายใจที่ยาว และพร้อมกันนั้นมันจะรู้พร้อมกันไปด้วยว่า หยาบหรือละเอียด หรือเป็นกลาง ๆ
ศึกษาว่าเมื่อยาวมาก มันมีผลอย่างไรแก่ความรู้สึก
เมื่อยาวขนาดกลางมีผลอย่างไรแก่ความรู้สึก
เมื่อยาวน้อยมีผลอย่างไรแก่ความรู้สึก
สังเกตปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่มันเกิดแก่ความรู้สึกหรือร่างกาย ว่ามันต่างกันอย่างไร ยาวมาก ยาวน้อย หรือยาวกลาง ๆ ใช้คำว่าอิทธิพลก็ได้ มีอำนาจหรือมีอิทธิพลอย่างไรต่อร่างกาย
ลมหายใจชนิดยาวมีอิทธิพลต่อร่างกายอย่างไร
ยาวมากมีอิทธิพลอย่างไร
ยาวน้อยมีอิทธิพลอย่างไร
ยาวไม่สู้มากมีอิทธิพลอย่างไร
เพื่อจะให้รู้จักลมหายใจยาวพร้อมทั้งลักษณะของมัน พร้อมทั้งอิทธิพลของมัน ที่มีต่อความรู้สึกหรือต่อร่างกาย ของลมหายใจยาว เรียกว่ารู้จักลมหายใจยาวเป็นอย่างดี
นี้เพียงข้อที่หนึ่งเท่านั้น ข้อแรกข้อเดียว
รู้จักลมหายใจยาว รู้จักควบคุมลมหายใจยาว
แล้วรู้จักอิทธิพลรู้จักประโยชน์
แล้วยาวมันก็มีส่วนละเอียดมากกว่าสั้น หายใจสั้นมันก็ต้องหยาบเป็นธรรมดา หายใจยาวมันก็จะละเอียดเป็นธรรมดา
…
ทีนี้ไม่เกี่ยวกับธรรมะ ไม่เกี่ยวกับธรรมะธรรมโมที่ไหน ลมหายใจยาวก็มีประโยชน์ มีประโยชน์ทางกายทางสุขภาพทางอนามัย คือ สบาย ๆ ทำให้ระงับทำให้ปกติ
ตกใจอะไรมา ตื่นเต้นอะไรมา กลัวอะไรมา มานั่งลงหายใจยาว ๆ ยาว ๆ จะขจัดอารมณ์ร้าย ๆ เหล่านั้นออกไปได้ เท่านี้ก็ดีถมไปแล้ว หายใจยาว ๆ ได้เป็นปกตินี้สุขภาพอนามัยก็จะดี หายใจละเอียดมันก็เกิดปฏิกิริยาในทางภายใน ในทางร่างกายชนิดที่ระงับ
ลมหายใจที่ละเอียดที่ยาวที่ละเอียดนี้จะช่วยให้เลือดออกน้อยเข้า จะว่าเลือดมันออกมาจากแผลหรือออกมาจากอะไรก็ตาม ถ้าลมหายใจยาวละเอียดเลือดจะออกมาไม่มาก ฉะนั้นสามารถจะบังคับได้แม้บังคับเลือด บังคับเลือดลม ลมหายใจนี้ ไม่ใช่เล่น
ฉะนั้นศึกษาความยาว รู้จักอิทธิพลของการมีลมหายใจยาว รู้จักใช้ประโยชน์แม้แต่ทางวัตถุที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะ
…
ต่อไปนี้เราจะพูดถึงเรื่องของธรรมะ ลมหายใจยาวเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักเป็นข้อแรก ในขั้นที่หนึ่งของหมวดที่หนึ่ง หายใจยาวตามที่พอใจ กำหนดให้อยู่ได้อย่างนั้น ไม่หนีไปไหน จิตอยู่ที่ลมหายใจที่ยาวตลอดเวลา
กว่าจะทำได้ก็คงจะหลายเวลาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพอลงมือทำมันจะได้ เพราะว่าคนธรรมดาไม่เคย ไม่เคยหยุด ไม่เคยกำหนดลม มันก็มีอะไรแทรกแซงก็ทำไม่ได้ นี้ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ แม้แต่เพียงกำหนดลมหายใจยาว
ทีนี้ขั้นที่หนึ่งมันหมดไปแล้ว คือ ทำได้โดยหลักนี้ ที่พูดไปนี้มันเป็นเครื่องสังเกตย่อ ๆ จะไปรู้จักกันจริงก็ต่อเมื่อไปทำจริง ทำจริง ๆ แล้วรู้จักจากธรรมชาตินั้นเอง จะรู้จักดีกว่าที่ฟังพูดอย่างนี้
ฟังพูดอย่างนี้ มันผิวเผินแล้ว ไปกำหนดเอาเอง จากการหายใจยาวมีลักษณะอย่างไร
มีอาการอย่าไงไร มีธรรมชาติอย่างไร
มีอิทธิพลอย่างไร มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างไร
นี้เรียกว่ารู้จักลมหายใจยาว
ถ้ายังใช้ประโยชน์ทางธรรมะไม่ได้ ก็เอาประโยชน์ทางโลก ๆ ไว้ก่อน คือสุขภาพอนามัยดี เพราะลมหายใจยาว
ทีนี้ ขั้นที่ ๒ ก็ ลมหายใจสั้น ศึกษาอย่างเดียวกันกับเรื่องลมหายใจยาว แต่เดี๋ยวนี้เราใช้ลมหายใจสั้นมาเป็นอารมณ์สำหรับกำหนด วิธีการศึกษาให้รู้อย่างเดียวกันกับเรื่องลมหายใจยาว
มีลักษณะอย่างไร มีอาการอย่างไร
มีธรรมชาติอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร
รู้กันเสียให้หมด เกี่ยวกับลมหายใจสั้น
ลมหายใจสั้น นี้มันก็มีสั้นมาก สั้นน้อย หรือไม่มากไม่น้อยอีกเหมือนกัน มันก็มีสั้นหลายขนาดนั่นเอง ขนาดไหนที่เราพอเหมาะที่จะเอามาศึกษาสบายดี ก็เอาขนาดนั้น แต่รู้จักสังเกตความแตกต่าง แตกต่างกันในลักษณะ อาการ ธรรมชาติ อิทธิพล ปฏิกิริยา
ให้รู้จักสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างลมหายใจยาวกับลมหายใจสั้น
แม้ว่าลมหายใจสั้น มันก็มีอย่างหยาบแล้ว อย่างไม่หยาบ มีอย่างกลาง ๆ ตามแบบของมันเหมือนกัน ลมหายใจสั้นหยาบมากก็มี ไม่สู้หยาบก็มี หรือไม่หยาบก็มี
ถ้าจะขยับขยายให้ดีพอเหมาะพอดี ก็ต้องรู้เรื่องลมหายใจสั้น เดี๋ยวนี้เป็นผู้แตกฉานชำนาญเชี่ยวชาญในเรื่องลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น นี้เราฝึกจนว่า แม้ลมหายใจสั้น แต่ใจคอก็ยังปกติ เหมือนกับลมหายใจยาว
ลมหายใจยาวให้ความเป็นปกติอย่างไร เราก็สามารถที่จะมีความปกติชนิดนั้นได้ แม้เมื่อมีลมหายใจสั้น อันนี้ทำยากหน่อย แต่ทำได้
ถ้าบังคับได้ดี บังคับได้จริง จะมีเสียงบ้างเป็นธรรมดา มีเสียงดังปี๊ด ๆ บ้างเป็นธรรมดา นักเลงสมาธิ พวกโยคี พวกสวามี ทำอานาปานสติหายใจดังปี๊ด ๆ เพราะเขาทำได้ดี เพราะเขาทำได้จริง
ฉะนั้นไม่ต้องกลัวถ้ามันจะมีเสียงออกมาบ้าง เพราะการบังคับที่แน่วแน่ ที่ถูกต้อง ที่พอเหมาะ มันจะมีเสียงออกมาบ้าง ก็ช่างมันเถอะ ไม่เป็นไร ไม่ใช่แปลกประหลาดอะไร ไม่ใช่วิเศษวิโสอะไร
ลมหายใจสั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องการ แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องรู้จัก ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องการจะมีลมหายใจสั้น ถ้าให้เลือกตามที่ต้องการ เราควรจะเลือกลมหายใจยาวมากกว่า หรือตามสบายมากกว่า เอาตามความสบายเป็นจุดกลาง แล้วเอายาวหรือสั้นเผื่อเลือก
หรือเพื่อที่จะทำให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแปลกออกไป
อย่างไรเมื่อไร ต้องการลมหายใจยาว
อย่างไรเมื่อไร ต้องการลมหายใจสั้น
เป็นผู้เข้าใจเชี่ยวชาญแตกฉานคล่องแคล่วในเรื่องของลมหายใจ ที่ยาวหรือสั้น
ขั้นที่หนึ่ง แตกฉานในเรื่องลมหายใจยาว
ขั้นที่สอง แตกฉานในเรื่องลมหายใจสั้น
ทีนี้มาใน ขั้นที่ ๓ ก็รู้จักกายทั้งปวง เปลี่ยนไปใช้คำว่ากายลมแทน รู้จักกายทั้งปวง เพื่อให้มันครอบงำไปถึงร่างกายด้วย
คำว่า กาย ก็แปลว่า หมู่ อย่างที่กล่าวแล้ว ก็พูดกันตรงเรียกกันง่าย ๆ ว่ากายลมกับกายเนื้อ หมู่แห่งลม ก็คือกายลม ลมหายใจนั่นแหละ เป็นกายลม
แล้วกายเนื้อ คือ เนื้อหนังร่างกายนี้ ที่มันเนื่องกันอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจมันหล่อเลี้ยงร่างกาย มาดูในส่วนมันหล่อเลี้ยงคือร่างกาย ที่เรียกว่า กายเนื้อ
เรามารู้จักว่ามีกายอยู่ ๒ กาย กายธรรมดาสามัญนี้คือ กายเนื้อ เนื้อหนังร่างกายนี้ แล้วเนื้อหนังร่างกายนี้มันถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยลมหรือกายลม ที่เรียกว่า ปราณฯ ลมปราณ
ลมหายใจนี้เรียกว่าลมปราณ คือลมแห่งชีวิต ลมเพื่อชีวิต ลมเพื่อมีชีวิต เรียกว่าลมปราณ นั้นเรียกว่ากายลม มันหล่อเลี้ยงกายเนื้อ มันสัมพันธ์กันอยู่อย่างลึกซึ้ง อย่างที่นอกความรู้สึกหรือนอกการบังคับด้วยซ้ำไป
กายลมมันหล่อเลี้ยงกายเนื้ออยู่ตามกฏเกณฑ์ของมันเอง อยู่นอกเหนือการบังคับหรือความรู้สึกของบุคคลที่เป็นเจ้าของ แต่เราจะสามารถศึกษา ให้รู้สึกให้แยกกันได้
โดยสังเกตว่า เมื่อลมหายใจเป็นอย่างไร รู้สึกทางร่างกายอย่างไร
เมื่อลมหายใจยาว ร่างกายรู้สึกอย่างไร
เมื่อลมหายใจสั้น รู้สึกทางร่างกายอย่างไร
มันแสดงให้เห็นได้ จนเรารู้จักได้ว่า มันมีอยู่ ๒ อย่าง อาศัยกันอยู่
กายลม ลมหายใจนี้เรียกว่ากายลม มันปรุงแต่งกายเนื้อ ปรุงแต่งกายเนื้อ จึงเรียกมันว่า กายสังขาร ลมหายใจเรียกชื่อใหม่อีกอย่างว่า กายสังขาร คือสิ่งที่ปรุงแต่งกาย
สิ่งที่ปรุงแต่งกาย มันปรุงแต่งทางฝ่ายกาย กายสังขาร คือ ลมหายใจ ต่อไปนี้จะเรียกว่ากายสังขาร แล้วคำต่อไปจะมีคำกล่าวว่า "บังคับกายสังขารให้สงบระงับ" ในขั้นต่อไป
ในขั้นนี้เพียงแต่รู้จักกันทั้งสองกาย คือทั้งกายลมและกายเนื้อ ลมหายใจเรียกว่า กายลม เรียกว่า กายสังขารก็ได้ เพราะว่ามันปรุงแต่งกายเนื้อ
ดูให้เห็นชัดว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร
นั่งกำหนดอยู่ที่นั่น กำหนดอยู่ที่นั่นว่า เมื่อลมเป็นอย่างไร กายเป็นอย่างไร
เมื่อลมเป็นอย่างไร กายเป็นอย่างไร
ก็จะรู้ได้เองว่ากายลมมันปรุงแต่งกายเนื้ออย่างไร
เมื่อกายลมถูกต้อง กายเนื้อมันก็สบาย
กายลมไม่ถูกต้อง กายเนื้อหนังก็ไม่สบาย
แล้วมันก็พลอย ๆ ตามกันไป เพราะมันเนื่องกันอยู่
ถ้ากายลม ลมใจหายหยาบ ร่างกายนี้ก็รู้สึกกระสับกระส่าย
ถ้าลมหายใจละเอียด ร่างกายนี้ก็สงบรำงับ มันเนื่องกันอย่างนี้
มันขึ้นด้วยกัน มันลงด้วยกัน เพราะว่ามันเนื่องกัน
เราสามารถบังคับกายเนื้อได้โดยทางกายลม นี้เป็นความจริงที่จะต้องมองให้เห็น ค้นให้พบ ในการปฏิบัติในขั้นนี้ว่าเราไม่สามารถบังคับกายเนื้อโดยตรงว่าจงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้
แต่เราบังคับมันได้โดยทางอ้อม โดยผ่านทางบังคับลม
บังคับลมหายใจให้ระงับกายเนื้อก็ระงับ
บังคับลมหายใจให้ละเอียด กายเนื้อมันก็ละเอียด
ลมหายใจสงบ กายเนื้อหนังก็สงบ
เรียกว่าบังคับโดยอ้อม บังคับโดยผ่านทางลมหรือทางกายลม รู้จักทั้งสองอย่างนี้ เรียกว่ารู้จักกายทั้งสอง คือ กายทั้งหมด
ตรงนี้พระบาลี เขาใช้คำว่า สพฺพกาย ปฏิสงฺเวที เป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง คำว่า ทั้งปวง หมายความว่าทุกกาย บางคนแปลผิด ตำราฝรั่งแปลผิดเห็นอยู่ชัด ๆ ก็มี บังคับกายทั้งหมดคือมีกายเดียวแต่ทั้งหมด แปลเป็นภาษาฝรั่งว่า whole คือทั้งหมด
กายเดียวทั้งหมด นั้นไม่ถูก มันมีสองกาย ถ้าแปลถูกต้องก็ต้องแปลว่า ทั้งหมดคือสองกาย ไม่ใช่กายเดียวทั้งหมด แต่ว่าทั้งสองกาย นี่เรียกว่า รู้จักกายทั้งปวง
สพฺพ แปลว่า ทั้งปวง ในบาลี สพฺพ แปลว่า ทั้งปวง หมดทุกอย่าง แต่ถ้าหมดในอย่างเดียวก็ใช้คำว่า สกฺกาย เกวละ นี่เดียวหมดทุกอย่าง หมดแต่อย่างเดียว ทั้งหมดแต่ในอย่างเดียว
ถ้าหมดทุกอย่าง สพฺพ เราจะต้องรู้ว่า เราต้องรู้จักสองกายเสมอไป ทั้งกายลมและทั้งกายเนื้อ และรู้มากไปกว่านั้น ว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วรู้มากไปกว่านั้นว่า เราบังคับกายเนื้อได้โดยทาง ทางกายลม
เราไม่สามารถจะบังคับกายเนื้อลงไปตรง ๆ แต่เราสามารถจะบังคับได้โดยผ่านไปทางกายลม บังคับลมแล้วไปมีผลที่กาย ถ้ารู้อย่างนี้ก็เรียกว่ารู้หมดของความลับ หรือความจริงเกี่ยวกับกายทั้งสองกาย
เมื่อเป็นอย่างเราสามารถที่จะปรับปรุงกายเนื้อให้ได้ผลตามที่เราต้องการโดยการบังคับผ่านทางกายลม ดังนั้นเราจึงต้องเป็นผู้ฉลาดอย่างยิ่งในการบังคับกายลม แล้วก็สามารถปรับปรุงกายเนื้อให้อยู่ในที่เราต้องการ
คือให้ความสงบรำงับก็ได้ คือให้มันเย็นให้มันร้อนก็ได้ ได้โดยการจัดการทางกายลม ถ้ามีความถูกต้องทางกายลม ก็มีความถูกต้องทางกายเนื้อ แล้วก็มีความสบายในทางกายเนื้อ เหมือนกับกินยาอะไรเข้าไปสักอย่างหนึ่ง
การบังคับลมมีผลทางกายเนื้อทางระบบประสาทนี้ เป็นความลับของธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครค้นคว้า แต่เขาก็รู้เรื่องนี้กันมาก ว่า ปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นนี้ ในทางอารมณ์ในทางจิตนั้น มันมีอำนาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
เป็นกรดชื่อนั้นชื่อนี้ขึ้นมา แล้วก็มีอารมณ์ร้ายอย่างนั้น อารมณ์ร้ายอย่างนี้ ต้องกินยา ทำอย่างอื่นไม่ได้
แต่ถ้าว่าเป็นโยคี เป็นนักจิตใจอย่างนี้ เขาก็บังคับจิตใจได้โดยการบังคับไปทางลม ไม่ต้องกินยา ก็มีผลอย่างนั้นอย่างนี้ ได้ตามที่ต้องการ
เรียกว่าคนหนึ่งอาศัยวัตถุเป็นหลัก คนหนึ่งอาศัยจิตใจเป็นหลัก นี้ก็เพราะว่าเขารู้เรื่องสองเรื่อง คือ รู้เรื่องทั้งใจและทั้งกาย สามารถที่จะบังคับใจได้โดยผ่านทางกาย หรือ บังคับกายได้โดยผ่านทางใจ บังคับได้ตามความปรารถนา เรียกว่าจะบังคับอารมณ์ก็ได้ บังคับร่างกายก็ได้ มันก็ได้เปรียบได้ประโยชน์ สบายดี
นี้เป็นขั้นที่ ๓ ควรจะพูดให้ติดต่อกันเสียทีหนึ่งก่อนจะได้ว่า :
ขั้นที่ ๑ ศึกษาเรื่องธรรมชาติลมหายใจยาว จนรู้รอบคอบหมดจดทุกสิ่งทุกอย่างอันเกี่ยวกับลมหายใจ
ขั้นที่ ๒ ศึกษาจนรู้อย่างเดียวกันเกี่ยวกับลมหายใจสั้น
ขั้นที่ ๓ รู้ว่าลมหายใจนี้ปรุงแต่งร่างกาย คือ กายเนื้อ
เลยมี ๒ กาย เรารู้จักทั้งหมดทั้งสองกาย สามารถจะบังคับกายได้ บังคับกายลมให้กายลมไปบังคับกายเนื้อ อย่างนี้ก็ทำได้ นี้ขั้นที่ ๓ ไม่ใช่เล็กน้อยนะ
เพียง ๓ ขั้นเท่านั้น ก็ไม่ใช่เล็กน้อย
สมที่ว่าเป็นหลักปฏิบัติที่ละเอียดปราณีตสุขุมจริง ๆ ... "
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ชุดคู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๔
๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ ที่ลานหินโค้ง
2 บันทึก
7
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คู่มือปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา การหายใจที่ดับทุกข์ได้
2
7
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย