Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
28 ม.ค. 2022 เวลา 07:25 • ปรัชญา
"EP.03 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 2/2"
" ... ทีนี้มาถึง ขั้นที่ ๔ ซึ่งทำกายสังขารให้ระงับ ทำให้เกิดสมาธิ ก็เรียกว่า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ หายใจเข้าหายใจออก
คำว่า หายใจเข้าหายใจออกนี้ มีอยู่ตลอดเวลา รู้สึกอยู่ตลอดเวลา ทีนี้จะบังคับกายสังขาร คือ ลมหายใจนั้นให้ระงับ
ทำกายสังขาร กายลมให้ระงับโดยวิธีใดวิธีหนึ่งตามกฏของธรรมชาติ มันเป็นกฏของธรรมชาติที่มันมีอยู่ในธรรมชาติ ว่า ทำอย่างนั้นจะเกิดผลอย่างนั้น เราบังคับเอาเองไม่ได้ เราต้องทำให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ แล้วมันก็เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ แล้วมันก็สำเร็จประโยชน์ในการบังคับ
คำว่า ให้สงบรำงับ มันก็บอกอยู่แล้วว่า ให้มันไม่หยาบ ให้มันละเอียด ให้มันสงบ ให้มันรำงับ
มีวิธีใดที่จะทำให้ลมหายใจรำงับแล้วก็ทำ เมื่อลมหายใจรำงับแล้ว กายทั้งหลายก็สงบรำงับ เกิดความสงบรำงับเกิดขึ้นในระบบกาย บังคับเป็นชั้น ๆ ให้ละเอียดให้สงบระงับเป็นชั้น ๆ
มันจึงต้องทำอารมณ์สำหรับบังคับนั้นเป็นชั้น ๆ ซึ่งจะต้องฟังให้ดี
ครั้งแรกก็ที่ลมหายใจโดยตรง ที่ลมหายใจกระทบหรือผ่าน
แล้วทีนี้ก็ที่ตรงนั้นแหละสร้างนิมิตขึ้นมาให้เป็นเครื่องกำหนดง่าย ๆ
แล้วก็กำหนดนิมิตนั้นได้อย่างแน่วแน่
และสามารถต่อไปในการที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของนิมิตนั้น
ถ้าทำถึงขนาดนี้แล้วเรียกว่า ลมหายใจนั้นสงบรำงับปราณีตไปตามลำดับ ปราณีตไปตามลำดับ จนกระทั่งเป็นปราณีตที่สุด จนสามารถที่จะเป็นสมาธิสมบูรณ์แบบ ถึงขั้นสมาธิสมบูรณ์แบบเรียกว่ามีองค์แห่งสมาธิ องค์ฌาน
ซึ่งจะพูดให้เป็นลำดับเพื่อเข้าใจง่าย ว่าเราจะเริ่มต้นไปอย่างไร ในการบังคับลมหายใจให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงเกิดคำที่บัญญัติขึ้นมาใหม่หรือบัญญัติเอง ให้สะดวกในการพูดจาหรือทำความเข้าใจ ตั้งใจฟังให้ดี ๆ มันไม่กี่คำ มันจำง่าย
อันที่ ๑ เรียกว่า การวิ่งตาม
อันที่ ๒ เรียกว่า การเฝ้าดู
อันที่ ๓ เรียกว่า การสร้างนิมิต ขึ้นมาที่จุดหนึ่ง แล้วก็บังคับนิมิตนั้นได้ตามปรารถนา จนกระทั่ง กำหนดความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน
จะเรียกโดยตรงก็เรียกว่า ๔ ขั้น
วิ่งตาม <๑> เฝ้าดู <๒>
แล้วก็สร้างนิมิต และ ควบคุมนิมิต <๓>
แล้วก็ กำหนดองค์ฌาน <๔>
นี่ก็จะได้เพียง ๔ ขั้นตอน
ถ้าจะให้มันละเอียดไปหน่อยก็ว่า
วิ่งตาม <๑> เฝ้าดู <๒>
แล้วสร้างนิมิตประเภทอุคคหนิมิต <๓>
แล้วก็บังคับนิมิตชนิดนั้นในลักษณะให้เป็นปฏิภาคนิมิต คือ เปลี่ยนแปลงได้ <๔>
แล้วก็กำหนดองค์ฌาน <๕>
ถ้าอย่างนี้ก็จะได้เป็นห้าขั้นตอน
พูดไปมันจะสับสน จะ ๔ หรือ ๕ แล้วแต่ละเรียก แต่ขอให้มันได้หลักเกณฑ์อย่างนี้ ว่า
วิ่งตามอารมณ์ คือ ลมหายใจ
และเฝ้าดูอารมณ์ คือ ลมหายใจอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง
แล้วก็สร้างนิมิต คือ ภาพนิมิตซึ่งไม่ใช่ของจริง แต่เป็นภาพเห็นทางความรู้สึกขึ้นมาที่ตรงนั้น เรียกว่าสร้างนิมิต เห็นชัดอยู่อุคคหนิมิต
ต่อไปนั้นก็บังคับอุคคหนิมิตให้เปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่ต้องการ ถ้าทำได้ตามนั้นแล้วก็สามารถที่กำหนดความรู้สึกองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาขึ้นมาได้
นี่การปฏิบัติจตุกกะที่หนึ่ง ขั้นที่สี่นี่มันยุ่งยาก หรือเรื่องมาก มันซับซ้อน มันจะต้องศึกษาให้ดี ๆ เอ้าจะพูดทีละขั้น ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีให้เข้าใจด้วย
1
องค์ที่หนึ่ง ว่าวิ่งตาม ใช้คำอุปาว่า วิ่งตาม ลมหายใจที่มันเข้าออก เข้าออก มันเหมือนกับวิ่งอยู่ วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออก ก็คอยกำหนดดูว่ามันวิ่งจากไหนไปถึงไหน
1
ตามธรรมดาถ้าเราหายใจเข้ามันก็วิ่งจากข้างนอก คือ ปลายจะงอยจมูกเข้าไปข้างใน สุดข้างในสุดที่ตรงไหน เราสมมติโดยสมมติตามความสะเทือนที่มันรู้สึกว่าสุดที่สะดือ ว่าอย่างนั้น แล้วก็กลับออกมาจากจุดที่สะดือ ออกมาข้างนอกอีก มาสุดที่ปลายจมูกอีก
ทางวิ่งของมันมีอยู่แค่ปลายจมูกกับสะดือ วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออกเหมือนกับทางวิ่ง ลมหายใจมันก็วิ่งเข้าวิ่งออกไปตามแบบของลมหายใจ จิตที่มีชื่อว่า สติ ก็กำหนดด้วยการวิ่งตามลมหายใจ เข้าไปอย่างไรก็ตามเข้าไป ตามเข้าไป
แล้วสุดหยุดนิดหนึ่งอย่างไร แล้ววิ่งกลับออกมาอย่างไร ก็วิ่งตาม
วิ่งตามทั้งเข้าทั้งออก วิ่งตามทั้งเข้าทั้งออก
อย่างนี้เรียกว่า วิ่งตามเป็นคำพูดที่พูดขึ้นมาเอง จะหาคำอย่างนี้ตรง ๆ ในบาลีไม่ได้ แต่เรื่องราวมันมีอย่างนี้ มีลักษณะวิ่งตามอย่างนี้
จงหัดวิ่งตาม นี่ขั้นที่หนึ่ง ลมหายใจที่เข้าที่ออก กำหนดให้ดี ๆ ว่ามันสังเกตได้ว่า มันตั้งต้นที่ตรงไหน เมื่อเข้ามันจะตั้งต้นที่จะงอยจมูกด้านใน ในคนปกติธรรมดา
ในคนปกติธรรมดา แต่พึงเข้าใจว่าถ้าเขาเป็นคนอีกแบบหนึ่ง เช่น เป็นคนนิโกร จมูกมันยุบลงไปมาก ริมฝีปากมันเชิดสูงขึ้นมาก อันนี้มันคงจะตั้งต้นที่ริมฝีปากด้านบน เพราะว่าเป็นคนหน้าตาแบบนั้น
โดยทั่วไปคนเรานี้ก็ว่าที่จะงอยจมูกด้านในเป็นจุดตั้งต้น ก็เข้าไปเหมือนกับเป็นท่อเป็นทางเข้าไปจนสุดตามธรรมชาติ ธรรมดามันไปที่ปอด ไม่ได้ไปที่สะดือ แต่นี้ การกำหนดสมาธินี้ไม่ต้องเอาตามความจริงอย่างนั้น เอาตามความรู้สึกก็แล้วกัน ว่ามันไปสุดที่สะดือ แล้วมันก็กลับออกมา แต่ที่จริงมันไปที่ปอด
3
ไม่ต้องศึกษาเรื่องเข้าไปที่ปอด ศึกษาตามความรู้สึกว่ามันไปสุดที่สะดือคือที่ท้อง ที่ศูนย์กลางของท้อง ก็เลยวิ่งตาม วิ่งตามทั้งเข้าทั้งออก ซึ่งก็ไม่ใช่ง่ายเหมือนปากพูด พอทำเข้าจริงมันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปากพูด แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้
ฉะนั้นขอให้พยายาม แล้วพยายามด้วยใจคอที่ปกติหน่อย
อย่าเครียด อย่าหวัง อย่าตั้งใจให้มันมากนัก มันจะทำไม่ได้ ทำกับจิตนี้อย่าไปเครียดครัด บังคับกันรุนแรง ต้องทำให้พอดี ๆ มันจึงจะทำได้
วิ่งตาม วิ่งตาม จนทำได้อย่างวิ่งตาม ทำได้ตามพอใจตามที่ต้องการวิ่งตาม แล้วจึงเคลื่อนไปขั้นที่เรียกว่าเฝ้าดู
เฝ้าดู คือ งานที่ทำมันก็ลดลงหน่อย แล้วมันก็ปราณีต ละเอียดลงไปกว่า
การกระทำละเอียดปราณีตลงไปเท่าไร ความสงบรำงับมันก็มีมากขึ้นเท่านั้น และตัวหายใจเองมันก็จะสงบระงับลงไปตามการกระทำนี้ด้วย
นี้เรียกว่า สามารถบังคับลงหายใจให้ละเอียดลง หรือสงบ ระงับลงโดยเทคนิคที่เป็นธรรมชาติ ที่เราไม่ค่อยจะรู้
อุปามาที่เข้าใจได้ในข้อนี้ก็เหมือนกับว่า เอาเด็กใส่เปลให้นอน เด็กมันยังไม่นอน มันยังตื่นอยู่ มันจะลงจากเปล คนไกวเปลก็ต้องคอยดู จับตาดูทั้งที่เปลมันไกวแกว่งไปทางโน้น แล้วกลับมาทางนี้ แล้วกลับไปทางโน้น กลับมาทางนี้
คนที่เฝ้าดูเด็ก ก็ต้องแหงนไปแหงนมา เหมือนกับลักษณะวิ่งตาม ถ้าเมื่อใดเด็กมันง่วง มันไม่มีทางที่จะปีนตกเปลแล้ว มันนอนแล้ว คนนั่งเฝ้าดู ก็ไม่ต้องแหงนไปแหงนมาแล้ว ดูอยู่ที่แห่งหนึ่ง เมื่อเปลมันมาถึง แล้วมันก็ไป แล้วก็กลับมาอีกก็ดู ไปกลับมาอีกก็ดู
คือดูอยู่ที่เดียวไม่ต้องแหงนไปแหงนมา นี้เราจึงไม่เรียกว่าวิ่งตามแล้ว ไม่เรียกว่าวิ่งตาม แต่เรียกว่า เฝ้าดู อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง
ถ้าเป็นเรื่องของลมหายใจ จุดที่สะดวกเฝ้าดูก็คือที่จะงอยจมูก ตรงที่จะงอยจมูกที่มันจะต้องผ่านเพราะว่าหายใจเข้ามันก็ต้องผ่านที่ตรงนั้น หายใจออกมันก็ต้องผ่านที่ตรงนั้น
ฉะนั้นเราจึงกำหนดลงที่ จุดที่มันกระทบที่สังเกตได้ง่ายที่จะงอยจมูก
ที่จะงอยจมูก ไม่ต้องวิ่งตามก็สามารถจะมีความรู้สึก หรือกำหนดได้ โดยไม่เปิดโอกาสให้จิตวิ่งหนีไปเสียที่อื่น
เปรียบเทียบว่า ถ้าเราวิ่งตามมันก็ไม่มีโอกาสที่จะวิ่งหนีไปที่อื่น เพราะมันวิ่งตามติดกันทั้งเข้าทั้งออก ทั้งเข้าทั้งออกไปมา แต่พอเปลี่ยนเป็นหยุดเฝ้าดูที่แห่งหนึ่ง ระหว่างที่มันยังไม่มาถึงที่ตรงนั้น จิตอาจจะหนีไปเสียที่อื่นก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นไม่ได้ เพราะว่าเราได้ทำมาอย่างสำเร็จในระบบที่วิ่งตาม
ถ้าในระบบที่วิ่งตามทำได้ดี แล้วมาถึงระบบที่เฝ้าดู มันก็ทำได้ ก็ทำได้
ที่จริงลมหายใจนั้นมันก็วิ่งเข้าไป แล้วมันก็ต้องหยุดอยู่นิดหนึ่ง แล้วจึงวิ่งออกมา
มันก็ต้องหยุดอยู่นิดหนึ่ง มันจะวิ่งเข้าไป มันมีระยะที่จะหยุดอยู่นิดหนึ่งเสมอ
1
ฉะนั้นต้องกำหนดทั้งที่มันกำลังเข้าไปแล้วหยุดอยู่นิดหนึ่ง แล้วออกมา แล้วหยุดอยู่นิดหนึ่ง แล้วเข้าไป นี่เรียกว่าวิ่งตามอย่างไม่ขาดสาย มิฉะนั้นมันจะหนีไปเสียในระหว่างที่หยุดอยู่นิดหนึ่งก็ได้
ทีนี้เมื่อเฝ้าดู ก็เหมือนกัน ระยะที่มันไม่ผ่านตรงที่เฝ้าดู มันอาจจะวิ่งหนีไปเสียที่อื่นก็ได้ แต่ถ้าสามารถทำมาอย่างถูกต้อง อย่างดีที่สุด ตั้งแต่ในระยะวิ่งตามแล้ว มันเป็นไปไม่ได้คือมันไม่หนี มันจะต้องอยู่ในสภาพปกติตลอดเวลาที่เข้าและออก เข้าและออก หรือว่าจะหยุดอยู่นิดหนึ่ง
นี่เรียกว่า เฝ้าดู เหมือนคนเฝ้าประตู ก็ควบคุมคนเข้าออกได้ ตรงที่ว่า มันผ่านประตูนั่นเอง
ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามันก้าวหน้า การปฏิบัตินั้นมันก้าวหน้ามาขั้นหนึ่งแล้ว แล้วจิตนั้นก็จะสงบรำงับหรือละเอียดไปตามลมที่มันละเอียด
ลมในขณะ วิ่งตาม นั้นมันหยาบกว่าลมในขณะที่ เฝ้าดู
เมื่อเลื่อนชั้นของการปฏิบัติขึ้นมาได้เท่าไร ลมมันก็จะละเอียดเข้าเท่านั้น จิตมันก็จะละเอียดตามไปเท่านั้น หรือระงับลง ระงับลง ประณีตลงเท่านั้น
ฉะนั้นขอให้สังเกตดูพร้อมกัน ดูในการฝึกนั้น ว่าเมื่อเฝ้าดูอยู่ที่จุดหนึ่งนั้น จิตละเอียดมากกว่าเมื่อวิ่งตามอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้เราจะปฏิบัติต่อไปเพื่อเลื่อนขั้นต่อไปจากการเฝ้าดู ก็เรียกว่า สร้างนิมิต
คำว่า นิมิตนี้ ไม่ใช่ของจริง หรือมีตัวจริงอะไร แต่ว่าจิตสร้าง กำหนดขึ้น จิตน้อมนำไปให้กำหนดเกิดขึ้น เป็นนิมิตอะไรที่ตรงนั้น
เช่นที่ว่า กำหนดที่ปลายจะงอยจมูกที่เนื้อที่ตรงนั้น ก็เรียกว่าการกำหนดลงไปที่วัตถุ ธรรมชาติ ธรรมดาที่เนื้อโดยตรง
เดี๋ยวนี้จะไม่กำหนดที่เนื้อหนังธรรมดาโดยตรงที่ตรงนั้น กำหนดของแทน สร้างของอื่นขึ้นมาแทน ก็เรียกว่า นิมิต เป็นดวง โดยส่วนใหญ่ก็คือ เป็นดวงอะไร กำหนดจิตให้โผล่ขึ้นมาที่ตรงนั้น จะเป็นดวงขาว ดวงเขียว ดวงแดง ดวงอะไรก็แล้วแต่จะกำหนดขึ้นมาได้
บางทีก็เหมือนกับว่าดวงเขียว บางทีเหมือนดวงแดง บางทีดวงขาว บางทีเหมือนกับดวงน้ำค้างบนใบไม้ บนใบหญ้า บนใบบัว หรือบางทีก็เหมือนกับว่าใยแมงมุมที่วาว ๆ อยู่กลางแสงแดด เหล่านี้เป็นตัวอย่าง
ก็เรียกว่าเป็นนิมิตที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ของจริงเข้าไปอยู่ แต่ว่าทำให้เห็นได้ อย่างนี้เรียกว่า สร้างนิมิตขึ้นมาที่ตรงนั้น ที่ตรงที่เฝ้าดู แทนที่จะกำหนดจุดที่เป็นเนื้อหนังที่เฝ้าดู มันกลายเป็นการกำหนดนิมิตอันหนึ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วตรงที่เฝ้าดู
ใครเห็นนิมิตอย่างไร ก็เอานิมิตอันนั้น ซึ่งจะไม่เหมือนกันทุกคน แต่มันก็เป็นนิมิตที่ได้สร้างให้เกิดขึ้นมาแล้ว แล้วก็เพ่งอย่างติดตา นิ่งแน่วแน่นิ่งอยู่เป็น อุคคหนิมิต นี่เรียกว่า สร้างนิมิตชนิดนิ่ง
ชนิดแรกสร้างใหม่ ก็เก่งกว่าที่วิ่งตามหรือเฝ้าดู จิตละเอียดกว่า จิตปราณีตกว่า ลมก็ละเอียดกว่า ลมก็ปราณีตกว่า เมื่อสามารถมีนิมิตขึ้นมาที่จุดนั้น เรียกว่าสร้างนิมิตขึ้นมาได้
...
ทีนี้ ถัดไปก็เก่งกว่านั้น ก็คือว่า บังคับการเห็นให้นิมิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เห็นนิมิตอย่างไรในขณะแรก เดี๋ยวนี้บังคับให้เปลี่ยน ให้มันเปลี่ยนขนาดใหญ่เล็กก็ได้ ให้มันเปลี่ยนสีสัน ขาว ๆ เป็นดำ เป็นเขียวก็ได้ หรือให้มันเปลี่ยนอิริยาบถ ให้มันลอยไปลอยมาก็ได้
นี้มันไม่ใช่วิเศษวิโสอะไร เป็นสิ่งที่ทำได้ตามแบบธรรมชาติ ตามกฏของธรรมชาติ ตามความลับของธรรมชาติ ฉะนั้นไม่ต้องเห็นเป็นของวิเศษวิโสอัศจรรย์อะไรที่ไหน
มันเป็นการฝึกได้ จิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ การฝึกเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยอาศัยกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เรียกว่าเทคนิคของธรรมชาติที่เราค้นขึ้นมาได้ แล้วก็บังคับให้การเห็นนิมิตอย่างไรนั้นเปลี่ยนไปได้ เปลี่ยนไปได้ เปลี่ยนไปได้ตามต้องการ
แสดงว่าเดี๋ยวนี้มีอำนาจเหนือจิตมากที่สุด มีอำนาจบังคับจิตโดยการบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลมหายใจ หรือว่าสิ่งที่เกี่ยวกันอยู่กับลมหายใจ เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับลมหายใจ ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงได้
เรียกว่ามีความเก่ง เก่งกาจสามารถถึงที่สุดในชั้นนี้แล้ว บังคับจิตได้ถึงที่สุดแล้ว จิตอยู่ในอำนาจถึงที่สุดแล้ว ก็เรียกว่าสร้างปฏิภาคนิมิตได้
...
เลื่อนขั้นไปอีกหน่อย ก็คอยเฝ้าดูว่าความรู้สึกแก่จิตนั้นที่มีลักษณะเป็นสมาธิที่มันอยู่ในอำนาจแล้ว มันรวมจุดอยู่ที่จุดจุดเดียวแล้ว มันจะแสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา หรือว่ามันมีลักษณะอะไรบ้างที่เราจะกำหนดได้
สังเกตดูให้ดี ๆ ว่ามันมีลักษณะอะไรบ้างที่เราจะกำหนดได้ นี่กำหนดอะไรบ้าง นี้จะเรียกว่า เป็นองค์ฌาน เป็นองค์ของสมาธิ
เป็นองค์ของฌาน โดยปกติวางไว้สำหรับเป็นเครื่องกำหนด ๕ ประการ สำหรับประถมฌาน คือฌานทีแรก วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
เมื่อจิตอยู่ในสภาพได้ถึงขนาดนั้นแล้ว ก็มา แยกดูสังเกตดู ว่ามีอาการของจิตอย่างที่หนึ่งคือ วิตก คือ กำหนดอารมณ์ได้ กำหนดอารมณ์ได้เหมือนกัดติดไม่ยอมปล่อย อย่างนี้เรียกว่า วิตก กำหนดลงไปที่อารมณ์ เรียกว่าวิตก
ทีนี้อีกอันหนึ่ง เรียกว่า วิจาร คือ รู้สึกใคร่ครวญไปได้ตามอารมณ์ เรียกว่ามองดูได้รอบ ๆ เข้าใจได้รอบ ๆ รู้สึกได้รอบ ๆ ต่ออารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่ความคิดนึกอย่างฟุ้งซ่าน รู้ว่าจิตกำหนดอยู่ที่อารมณ์นั้น แล้วจิตเบียดถูกันอยู่กับอารมณ์นั้น เรียกว่าวิจาร
เขาเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย จะเปรียบเทียบว่า เอาลูกวัวมาฝึก เอาเชือกมัดเข้ากับหลัก ลูกวัวถูกเอาเชือกมัดเข้ากับหลัก ติดอยู่กับหลัก ก็เรียกว่า วิตก คือกำหนดอยู่ที่อารมณ์
ทีนี้ลูกวัวนั้นก็ดิ้นเบียดไปเบียดมา หมุนไปหมุนมารอบ ๆ หลัก ไม่ได้อยู่นิ่ง นี้ก็เรียกว่า วิจาร หรือ เปรียบเหมือนกับวิจาร
วิตก คือ กำหนดที่อารมณ์
วิจาร คือ ความรู้สึกซึมซาบในอารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่คิดนึกอย่างฟุ้งซ่าน
นี่เรียกว่าเดี๋ยวนี้มีองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร แล้ว
นี้ ถ้าเกิดพอใจ พอใจในการกระทำสำเร็จ พอใจว่ากระทำสำเร็จ เกิดปีติ พอใจขึ้นมา ก็รู้สึกว่า โอ้ ! มีปีติอยู่ส่วนหนึ่งด้วย
นี้ดูต่อไปในปีตินั้น มีความรู้สึกที่เป็นสุข เรียกว่าสุขด้วย แล้วความที่ว่าจิตเดี๋ยวนี้ไม่ฟุ้งซ่าน ไปที่ไหน รวมยอดสูงสุดดิ่งอยู่ ที่นั่น ไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหน แต่รวมจุดยอดเป็นศูนย์เดียวอยู่ ที่นั่น เรียกว่า เอกัคคตา
1
คำบาลีเหล่านี้ จำยาก ๆ หน่อย แต่ถ้าจำได้ก็จะดีมาก มันไม่กี่คำ : วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ๕ คำเท่านั้น
วิตก กำหนดอารมณ์
วิจาร รู้สึกต่ออารมณ์
ปีติ พอใจปราโมทย์ที่บังคับได้
แล้วก็สุข สุขเพราะบังคับได้
เพราะปีติแล้วก็มีอาการที่ว่ารวมอยู่ที่นั่น
เป็นความหมายของคำว่า สมาธิ ๆ ในชั้นทั่ว ๆ ไป เอกัคคตานี้ ก็คือ รวม รวมยอด สูงสุดเป็นจุดแหลม เหมือนกับรูปกรวย มันรวมจุดแหลมอยู่ที่นั่น หรือว่าเหมือนกับหลังคา หลังคาแบบโบราณมันแหลม หลังคาตอนล่างมันบานออก แล้วหลังคามันค่อย ๆ แหลม แหลม เป็นจุดยอดสุด
แหลมอยู่ที่ยอดหลังคานั้น คือว่า เอกัคคตา มียอดเดียว มียอดอันเดียว แล้วมันไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหน ไม่กระจัดกระจายไปที่ไหน
ความเป็นยอดเดียว จุดแหลมจุดเดียว มันไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหน ที่เรียกว่า อวิเขต แต่ก็รวมเรียกว่า เอกัคคตา ได้เหมือนกัน มียอดเดียว
มียอดเดียวนี้เรียกว่า เอกัคคตา เป็นความหมายสรุปยอดอยู่ที่อารมณ์ของสมาธิ เช่น ลมหายใจเป็นอารมณ์ ก็ลมหายใจเป็นจุดรวมของเอกัคคตา
แต่ถ้ามันก้าวหน้ามากเข้า มันก็เปลี่ยนเรื่อยไป ๆ จนว่า มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ของเอกัคคตา ประเสริฐสูงสุดกันอยู่ที่ว่าเอกัคคตาจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นั่นแหละคือสมาธิสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดไปกว่านั้น
ธรรมดาก็มีอารมณ์ของสมาธิเป็นจุดรวมของเอกัคคตา ก็ทำความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาที่นั่งฝึก ในขั้นที่สี่ของหมวดที่หนึ่ง
วิ่งตาม ทำได้ดี
เฝ้าดู ทำได้ดี
ทำอุคคหนิมิต ทำได้ดี
ทำปฏิภาคนิมิต ทำได้ดี
กำหนดองค์ฌาน ทำได้ครบถ้วน
ก็แปลว่าบังคับลมหายใจได้ดีถึงที่สุด สำเร็จเป็นปฐมฌาน
ฌานที่หนึ่งของฌาน เท่านี้ก็พอ เกินพอไม่ต้องมาถึงขั้นนี้ก็ยังได้ สำหรับจะฝึกอานาปานสติต่อไป
ถ้าทำได้มาถึงขั้นนี้ก็นับว่าดี ถึงขนาดเป็นฌาน เป็นตัวฌานแท้ ๆ ได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ถึงนั้นได้ก็ยังได้เพียงวิ่งตาม เฝ้าดู มีอุคคหนิมิต มีปฏิภาคนิมิต พอสมควรเท่านั้น มันก็สามารถปฏิบัติขั้นต่อไปได้
แต่ถ้าทำให้เป็นถึงปฐมฌานได้ มันก็ดี คือมันดีมาก ถ้าดีกว่านั้น จะทำให้สูงขึ้นไปเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ได้ แต่ว่าไม่จำเป็นดอกสำหรับกรณีทั่วไป ไม่จำเป็น
ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าอยากจะทำก็ทำได้ ต้องศึกษาพิเศษ ฝึกฝนพิเศษ ที่จะให้สำเร็จไปทั้งสี่ฌาน แล้วก็เลยไปถึงอรูปฌานด้วยก็ยิ่งดี แต่ว่าไม่จำเป็น
ไม่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามอานาปานสติเพื่อดับกิเลสกันตาม ๑๖ ขั้น
เอาว่าเป็นอุปจารสมาธิตามสมควร ไม่ต้องถึงปฐมฌานก็ยังได้ แต่ถ้าถึงปฐมฌานได้ก็ดี พูดไปมันก็จะมากเกินต้องการหรือว่าชักจะนำไปทางคุณวิเศษมากไป ก็จะเตลิดเปิดเปิง
เอาเป็นเพียงว่า เดี๋ยวนี้มีการบังคับกายสังขารได้ ถึงขนาดที่มีจิตสงบระงับแล้ว ก็จบหน้าที่ของขั้นที่สี่ ของขั้นที่สี่
อย่าลืมว่า ทุกขั้น ๆ ต้องทำให้ชำนาญ
แม้แต่ว่าเพียง "วิ่งตาม" ก็ทำให้ชำนาญ ซ้อมซักให้ชำนาญ
"เฝ้าดู" ก็ซ้อมซักชำนาญ
"สร้างอุคคหนิมิต" ก็ทำให้ชำนาญ ทำเมื่อใดทำได้ทันที
"ปฏิภาคนิมิต" ก็ทำได้ทันที เรียกว่าทำให้ชำนาญ
เขาเรียกว่า วสี แปลว่า ทำให้มันอยู่ในกำมือของเรา ทำให้มันอยู่ในอำนาจของเรา
คำว่า วสี แปลว่า ผู้มีอำนาจ เดี่ยวนี้เราจะปฏิบัติในขั้นไหน แม้ขั้นต้น ๆ กำหนดลมหายใจยาว ถ้าเราทำจนอยู่ในอำนาจของเรา ก็เรียกว่ามีวสีด้วยเหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยใช้คำนี้ในขั้นนั้น
มาใช้ในขั้นที่ว่าเป็นสมาธิ ถึงขนาดเป็นสมาธิก็เรียกว่าวสี วสี แปลว่าผู้มีอำนาจ เดี๋ยวนี้มีอำนาจเหนือลมหายใจ มีอำนาจเหนือจิต มีอำนาจเหนือความรู้สึกต่าง ๆ เหมือนอย่างว่าซ้อมนั่นแหละ
อย่างว่าเราหัดกีฬา เล่นกีฬา ทำมาได้ถึงขั้นไหนแล้วก็ซ้อม ซ้อมให้มีอำนาจ ให้ทำได้ดีที่สุดในขั้นนั้น อย่างนั้นก็เรียกว่าวสีได้เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องทางวัตถุ
จะหัดขับรถ หัดขี่ม้า หัดอะไรก็ตาม พอทำได้นั้นยังไม่พอ ต้องมาทำอีก ๆ ให้มันชำนาญ ให้มันแน่นอน อย่างนี้เรียกว่า ทำให้มันเกิดวสี
เราจะทำอะไร ไม่ว่าอะไรจะต้องทำให้จนเกิดวสีทั้งนั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์ หรือรับประกันได้ คือทำให้ชำนาญ ให้ได้ตามต้องการ อยู่ในอำนาจ อยู่ในกำมือ
เรื่องทางโลก ๆ จะทำไร่ทำนา จะค้าขายอะไรก็ตาม เมื่อทำได้แล้วยังไม่พอ ต้องทำจนให้มีอำนาจอยู่เหนือมัน เรียกว่า วสี คือ เก่งกล้าสามารถถึงที่สุด
เรื่องปฏิบัติจิตนี้ยิ่งต้องการมาก อย่าสักว่าพอทำได้แล้วก็เลิกกัน พรุ่งนี้ก็ไม่มีแล้ว ฉะนั้นต้องทำให้อยู่ในอำนาจ ทำให้อยู่ในอำนาจ ทำให้อยู่ในอำนาจ ต้องการเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น ก็เรียกว่า มีวสี
ฉะนั้น เราต้องมีวสีในการที่จะทำให้เกิดผลมาตามลำดับ ๆ มาถึงหมวดที่ ๔ นี้ "วิ่งตาม" >> "เฝ้าดู" >> "สร้างอุคคหนิมิต" >> "มีปฏิภาคนิมิต" แล้วก็ >> "มีองค์ฌาน" ในความรู้สึกทั้ง ๕ องค์ วสี ๆ มาตามลำดับ ก็สำเร็จประโยชน์
ในการปฏิบัติขั้นนี้ เป็นอันว่าเดี๋ยวนี้เรามีความสามารถในการทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้าออก เรื่องรู้สึกว่าหายใจเข้าออกนี้มีอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าขั้นไหน เพราะมันเป็นเครื่องกำหนดว่ามีสติ ไม่ปราศจากสติ
อย่างน้อยก็มีสติกำหนดรู้ความเข้าออก เข้าออกของลม
นั้นเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐาน ส่วนที่งอกออกมาเหนือพื้นฐานก็คืออย่างนี้
กำหนดลมหายใจยาว
กำหนดลมหายใจสั้น
รู้จักกายทั้งปวงคือทั้ง ๒ ชนิด
แล้วก็รู้จักทำลมหายใจให้สงบรำงับ
นี้เป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาบนพื้นฐาน ก็จบขั้นที่ ๔ ของหมวดที่หนึ่ง
หมวดที่หนึ่งมี ๔ ขั้นอย่างนี้
ขั้นที่ ๑ สามารถรู้จักมีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องลมหายใจยาว
ขั้นที่ ๒ เกี่ยวกับลมหายใจสั้น
ขั้นที่ ๓ รู้ความสัมพันธ์กันระหว่างลมหายใจกับกาย
แล้วบังคับร่างกายได้โดยทางลมหายใจ
ขั้นที่ ๔ ทำให้ลมหายใจรำงับ ร่างกายรำงับ จิตรำงับ
รำงับทั้งโลกโดยทางลมหายใจ
เมื่อลมหายใจระงับ ความรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวงก็ระงับและละเอียด เราก็มีอำนาจเหนือกายทั้งปวง เหนือยกายทั้งปวงแล้ว นี่เป็นหมวดที่หนึ่งของอานาปานสติ ๔ หมวด
เดี๋ยวนี้ก็มี อานิสงส์พิเศษ จะมีความสุข ความสุขที่แท้จริง ได้ทันทีที่เราต้องการ ในที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต้องตายแล้ว
สุขที่แท้จริง คือ ความสงบรำงับ สุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุกร้อน สุก ก สะกด สุขกามรมณ์ ไม่ใช่อย่างนั้น
สุขที่แท้จริง สุขที่เป็นความสุขที่แท้จริง สงบรำงับจริง ต้องการเมื่อไรจะได้เมื่อนั้น
ถ้าเราสามารถทำอานาปานสติหมวดที่ (๑) ทั้ง ๔ ขั้นนี้ได้สำเร็จ ความสุขอันแท้จริงอยู่ในกำมือของเรา ต้องการเมื่อไรได้เมื่อนั้น ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว
จะเปรียบเสมือนหนึ่งว่า ชิมรสของพระนิพพานเป็นการล่วงหน้า
ความสุขที่ไม่มีอามิส เหตุปัจจัยปรุงแต่งล่อให้หลง
มันมีได้แล้ว คือความสุขที่สงบรำงับเพราะความดับของการปรุงแต่ง
แม้ในขั้นต้น ๆ ต่ำ ๆ คือ ปรุงแต่งทางกาย เป็นกายสังขาร เรารำงับกายสังขารได้ ก็ได้รับความสุขชนิดนี้ เป็นความสุขใหม่อันนี้ตามสมควร
นี่ประโยชน์ อานิสงส์ของการปฏิบัติ อานาปานสติได้หมวดหนึ่ง คือ หมวดที่หนึ่งแล้ว ประโยชน์ต่อไป ก็คือว่าจะเป็นบาทฐานเครื่องช่วยให้สำเร็จในการที่จะปฏิบัติหมวดต่อไป
เมื่อปฏิบัติหมวดที่ (๑) ได้ ก็เป็นแน่นอนว่าจะปฏิบัติหมวดที่ (๒) ที่ (๓) ที่ (๔) เป็นลำดับได้ นี่เป็นอานิสงส์ในเบื้องหน้า แต่เดี๋ยวนี้ได้รับอานิสงส์ว่าต้องการทิฏธรรมสุขเมื่อไรได้เมื่อนั้น ที่นี่และเดี๋ยวนี้
พอทำจิตอย่างนี้ก็เป็นสุข ฝ่ายโน้นฝ่ายพระนิพพาน ฝ่ายไม่มีอามิส ฝ่ายไม่มีเหยื่อล่อ สุขที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส ได้ตามต้องการเมื่อไรก็ได้ แม้เพียงเท่านี้มันก็พอเสียแล้ว
เป็นอันว่า อธิบายหมวดที่หนึ่งของอานาปานสติ ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว แล้วก็พูดไม่ได้แล้ว เป็นอะไรก็ไม่รู้ จึงขอยุติการบรรยายนี้ไว้เพียงเท่านี้
เป็นโอกาสให้พระคุณเจ้าทั้งหลายสวดบทพระธรรมคณสาธยาย ให้เกิดการส่งเสริมกำลังใจ กำลังความเพียร สติปัญญาของท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายสืบต่อไป ในโอกาสนี้ ..."
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ชุดคู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๔
๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ ที่ลานหินโค้ง
6 บันทึก
12
4
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คู่มือปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา การหายใจที่ดับทุกข์ได้
6
12
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย