25 ก.พ. 2022 เวลา 00:20 • ไลฟ์สไตล์
“ไม่ให้ยึดติดทั้งดีและเลว หมายความว่าอย่างไร ?”
การไม่ติดข้องต่อสิ่งใด ๆ ทั้งปวงในโลก ก็เป็นวิถีที่จะสามารถคืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติได้นั่นเอง
1
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งปวงใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมบทนี้ ก็คือ ธรรมทั้งปวงใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็คือการปล่อยวาง การไม่ติดข้องนั่นแหละ ชื่อว่าได้ฟังธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนาทีเดียว
ก็มีครั้งหนึ่งพราหมณ์ก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงธรรมไว้มาก ก็เรียกว่าสมัยนี้ก็รวบรวมได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทีเดียว ตู้พระไตรปิฏก มีไหม บทเดียวที่รวมเนื้อหาทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มี
ก็คือ ธรรมทั้งปวงใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ก็คือการปล่อยวาง การสละ ละ วาง การไม่ติดข้องนั่นเอง
พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมบทนี้ ชื่อว่าได้ฟังธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนาทีเดียว ผู้ที่ได้ฟังธรรมบทนี้แล้วปฏิบัติตามธรรมบทนี้ ก็คือการไม่ยึดติด การไม่ยึดมั่นถือมั่น ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนาทีเดียว
ก็เรียกว่าเป็นทั้งหลักธรรม ปริยัติ
เป็นทั้งวิธีการปฏิบัติ ก็คือภาคของการลงมือฝึกปฏิบัติ
ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมบทนี้ แล้วได้รับผลจากธรรมบทนี้
ก็ชื่อว่าได้รับผลทั้งหมดของพระพุทธศาสนาทีเดียว
ก็เป็นทั้งปริยัติ เป็นทั้งปฏิบัติ แล้วก็เป็นทั้งปฏิเวธ ก็คือ ผล
ผลก็คือ ความไม่ยึดมั่น การไม่ยึดติดนั่นเอง
นี่คือแก่นของพระพุทธศาสนา ความไม่ยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับวัฏสงสารนั่นเอง
วัฏสงสารเป็นเรื่องของความหลง ในการยึดมั่นถือมั่น
เหมือนเรายกของที่มันหนัก ก็ในเมื่อเราถือของที่หนักอยู่ มันก็หนักใช่ไหม มันจะเบาได้อย่างไรล่ะ มันจะเบาได้ก็ต่อเมื่อเราวางของหนักลง พอวางได้ มันก็เบา
แต่สิ่งที่เราไม่รู้ ก็คือ จิตใจที่มันหลงยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งต่าง ๆ หลงแบกของหนัก ของร้อน หลงยึดมั่นถือมั่นไว้
จิตใจเนี่ยกักเก็บอะไรไว้เยอะมากทีเดียว สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ถ้ารู้จักในการวางของหนักของร้อนลง ก็จะเข้าถึงความเบาสบายได้นั่นเอง
ละชั่ว ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนก็ควรเรียนรู้ฝึกฝนอยู่แล้ว งดเว้นจากการเบียดเบียนทั้งปวง ไม่ติดในความชั่วทั้งปวง ก็คือ ละชั่วนั่นเอง
แต่ละการติดดีเนี่ย ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า กิเลสละเอียดนั่นเอง
ละชั่วว่ายากแล้ว แต่ละการติดดียากกว่า สำหรับคนที่ปฏิบัติเข้าสู่สภาวะที่ละเอียด แต่สุดท้ายมันจะพ้นได้ มันก็ต้องปล่อยทุกอย่าง คือการไม่ติดข้องต่อสิ่งใด ๆ ทั้งปวงในโลกด้วยนั่นเอง
เครื่องมือในการปล่อยวาง ละวาง ก็คือ สติปัฏฐาน ๔​
การที่เราจะปล่อยวางอารมณ์ภายนอก ปล่อยวางกาย ก็ด้วยการมีสติที่ตั้งมั่นขึ้นมา ก็ต้องอาศัยการเพาะบ่ม อมรมตนเองด้วยสติปัฏฐาน
พอมีสติตั้งมั่นอยู่กับกายได้ดี มันก็จะหลุดจากอารมณ์ภายนอกโดยธรรมชาติ หลุดจากอารมณ์หยาบ ๆ
พอสติตั้งมั่นได้มีกำลังพอ สติก็จะปล่อยวางกาย ก็คือ วางจากฐานกาย เข้าสู่ฐานของเวทนา เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
เมื่อดำรงอยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ดี ถึงจุดหนึ่ง สติก็จะวางจากฐานเวทนา เข้าถึงฐานของจิต มีความตั้งมั่น ตื่นรู้ ขึ้นมา
เมื่อพัฒนาสติ จนเข้าถึงฐานของจิต มีความตั้งมั่น มันจะปล่อยวางอารมณ์ได้มากทีเดียว เมื่อเข้าถึงอุเบกขา มันก็จะวางสิ่งต่าง ๆ ได้มาก แม้กระทั่งกายก็ปล่อยวางได้ อารมณ์ต่าง ๆ ก็ปล่อยวางได้ มีใจที่ตั้งมั่น ตื่นรู้ เด่นอยู่นั่นเอง
เมื่ออยู่กับความตื่นรู้ ได้มีกำลังพอ ถึงจุดหนึ่ง ก็จะสามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้ เกิดสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน ที่เรียกว่าเกิดพุทธสภาวะนั่นเอง
เมื่อเกิดสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน แม้กระทั่งจิตก็ถูกเปลื้องออกไป จิตผู้รู้ที่ยังเป็นตัวรู้อยู่ ก็ปล่อยได้ หลุดได้นั่นเอง เรียกว่าปล่อยวางกาย ปล่อยวางใจ ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ได้ ก็จะเข้าสู่สภาวะของวิปัสสนาญาน เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
ในสภาวะของวิปัสสนาญาน ธรรมทั้งหลายก็จะเกิดการแยกธาตุแยกขันธ์ แตกดับของใครของมัน
ผู้ปฏิบัติที่ดำรงอยู่ในวิปัสสนาญานได้ดี จะพบว่า สรรพสิ่งมันก็ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา ท่ามกลางความว่างของธรรมชาติ แม้กระทั่งจิต หรือ วิญญานขันธ์ ก็เกิดดับ
ตอนที่จิตตั้งมั่นนี่ ก็รู้สึกว่าจิตมันตั้งมั่น นิ่ง
แต่ความนิ่ง ตั้งมั่นของจิตนั้น มันอยู่ภายใต้อวิชชาที่บดบังอยู่นั่นเอง
แต่เมื่อใดที่สามารถเปลื้องจิตออกไปได้ ก็คือปล่อยจิตนี่แหละ จากการผลิบานของพุทธสภาวะ
เวลาพุทธสภาวะผลิบาน อวิชชาที่ห่อหุ้มอยู่ ก็จะถูกเพิกออกไป จิตผู้รู้ก็จะหลุดออกไป เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง เข้าสู่ฐานของธัมมานุปัสสนานั่นเอง หรือ วิปัสสนาญาน
เมื่อเกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
ที่เราเห็นโลกทุกวันนี้ เขาเรียกว่าเห็นแบบสมมติ เห็นภายใต้เมฆหมอกของอวิชชา มันเป็นเรื่องของความหลง ความหลับใหลอยู่
ที่ว่าเราตื่นขึ้นมา ไปทำงาน ไปใช้ชีวิตแต่ละวัน แท้ที่จริงแล้ว มันก็ยังเป็นเรื่องของความหลับใหล เรียกว่า หลับอยู่ในโลกของ Matrix ในโลกของสมมติมายา ในวัฏสงสารนั่นเอง
เพราะฉะนั้นมันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะเวียนเกิดเวียนตายมานานเท่าไร เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง บางคนอยากรู้อดีตตัวเอง เคยเกิดเป็นพระราชา เกิดเป็นคนเป็นใหญ่ เป็นนู่น เป็นนี่ มันไม่สำคัญอะไรเลย เพราะว่ามันก็คือชีวิตที่หลับใหลอยู่ในโลกของสมมติมายา โลกของวัฏสงสาร
มันสำคัญที่ว่า เมื่อไรเราจะ “ตื่น” ขึ้นมาต่างหาก เห็นโลกตามความเป็นจริง ก้าวเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง จนหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้
เมื่อเห็นโลกตามความเป็นจริง ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น เรียกว่า ไม่ติดข้องต่อสิ่งใด ๆ ทั้งปวงแล้ว
ดีก็ไม่ติด ชั่วก็ไม่ติด ไม่อาลัยกับอะไรเลย ก็จะสามารถสลัดคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ เข้าถึงเนื้อธรรมชาติที่พ้นจากการปรุงแต่ง ที่เรียกว่า “วิวัฏฏะ” นั่นเอง
การสลัดคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ ก็จะมีระดับของการเข้าถึง มีความลึกซึ้ง ที่เรียกว่า ลาด ลุ่ม ลึก โดยลำดับลำดานั่นเอง
จะพบว่าเข้าถึงใหม่ ๆ มันก็เข้าถึงได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวโลกมันก็จะดึงกลับมา ก็ต้องเพียรเดินตามมรรค ชำระตนเองเรื่อยไป
ในอริยสัจ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงจัดมรรคไว้เป็นข้อสุดท้ายนั่นเอง ถ้าที่เราเข้าใจ มรรคก็ควรอยู่ข้อแรกใช่ไหม ต้องเดินตามมรรคก่อน จึงเห็นการเห็นอริยสัจ ๔
แต่พระองค์ตรัสว่ารู้ทุกข์ก่อน ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ จริง ๆ มันควรจะจบตรงนี้ใช่ไหม ดับได้ก็เข้าถึงนิโรธะ แต่มันไม่ได้จบแบบนั้น
พระองค์ตรัสมรรควิธีเป็นข้อสุดท้าย ก็คือต้องเดินมรรคอย่างนี้เรื่อยไป ก็เรียกว่าเกิดการทวนกระแส ในการชำระล้างบาปและอกุศลธรรมต่าง ๆ ก็เรียกว่าต้องเคลียร์หนี้เวร หนี้กรรมต่าง ๆ จนหมดสิ้นไป
ถามว่า มีไหม แบบทีเดียวแล้วตื่นโพล่ง แล้วจบเลย ถ้าเราศึกษาในพระไตรปิฏกเราจะพบว่า มี ในสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะยุคแรก ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมทีเดียว เปรี้ยงเดียวเกิดตู้ม หลุดพ้นเลย
ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น บำเพ็ญบารมีจนเต็มรอบแล้วนั่นเอง เหมือนน้ำที่เต็มตุ่มแล้ว รอเวลาเพื่อที่จะเปิดออกนั่นเอง ก็เรียกว่าพอตื่นโพล่งปุ๊บ ก็ชำระกันหมดเลย
แต่ถ้าบารมียังไม่เต็ม ก็เรียกว่ากำลังยังไม่พอที่จะชำระหนี้สิน ก็ต้องเดินตามมรรคแบบนี้เรื่อยไป ชำระตนเองเรื่อยไป จนกว่าจะชำระล้างบาปและอกุศลธรรมต่าง ๆ จนหมดสิ้นไปได้ ก็เรียกว่า ผ่องแผ้วแล้ว ไม่มีสิ่งใด ๆ ติดข้องอีกต่อไป
การละการติดดี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมรรคเบื้องปลายแล้ว ระดับอรหันต์แล้วล่ะ ระดับอนาคามีก็ยังติดดีกันอยู่ โสดาบัน สกิทาคา อนาคา
แต่ระดับพระอรหันต์ ก็เรียกว่าต้องละการติดดี
การละการติดดี ไม่ได้หมายความว่า ไม่ทำความดี แต่ใจไม่ติดข้องนั่นเอง ก็เรียกว่าทำความดีไม่หวังผลนั่นแหละ
อย่างพวกเราบางทีหวังผล อยากจะให้งานมันดี อยากจะให้สภาวะมันดี อยากจะให้คนนู้นปฏิบัติดี มันยังเป็นเรื่องของการติดข้องในโลกในวัฏฏะอยู่นั่นเอง ก็เรียกว่าไปติดดี
ละการติดดีก็คือ ก็วางการคาดหวัง ทุกอย่างมีวาระ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาตินั่นเอง ก็ไม่ติดข้องกับสิ่งใด ๆ ทั้งปวงในโลก
ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ทุกสรรพสิ่งก็เป็นเช่นนั้นเอง
เพราะว่าจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมติที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่จะใจพ้นได้ ก็คือไม่ติดข้องกับอะไร ๆ ทั้งปวงในโลกด้วย ที่เรียกว่า สิ้นอาลัยในตัณหา จึงจะพ้นออกไป
ถึงแม้ว่าจะมีกายสังขารจะดำรงอยู่ในวัฏฏะ แต่ใจก็พ้นออกไป สัมผัสวิวัฏฏะ คือความบริสุทธิ์ ที่พ้นจากการปรุงแต่งได้ นั่นเอง
ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ฝึกหัดไป … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
1
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา