24 ก.พ. 2022 เวลา 13:23 • สุขภาพ
👂 ประสาทหูเสื่อม‼️ หูดับ‼️
..... รักษาอย่างไร? .....
ประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน คืออะไร?
🤔 ภาวะนี้บางคนเรียกว่า “โรคหูดับฉับพลัน” หมายถึง การที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมทันทีทันใด หรือภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งร้อยละ 85-90 ไม่ทราบสาเหตุ มีเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่ทราบสาเหตุ
ผู้ที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการเพียงรู้สึกได้ยินน้อยลงเล็กน้อย หรืออาจจะรู้สึกสูญเสียการได้ยินมาก จนไม่ได้ยินในหูข้างที่เป็นเลยก็ได้ การสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงเสียดังกล่าว อาจเป็นได้ 2 กรณี คือ
1️⃣ ชั่วคราว เช่น ได้ยินเสียงดังทำให้หูอื้อ และสักพักหูจะหายอื้อ หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน, ยาขับปัสสาวะ แล้วหูอื้อ เมื่อยาดังกล่าวหมดฤทธิ์อาการหูอื้อจะหายไป
2️⃣ ถาวรจนถึงขั้นหูหนวก ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป
โรคนี้พบได้ไม่บ่อย จากสถิติของโรงพยาบาลศิริราช พบภาวะนี้ร้อยละ 7.7 ของผู้ป่วยประสาทหูเสื่อมทั้งหมดที่มาพบแพทย์ ส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ (40 - 70 ปี) มักเกิดที่หูข้างเดียว โดยพบในเพศชายเท่ากับเพศหญิง
.
สาเหตุ :: ประเภทที่ ⛔️ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจาก
1️⃣ การติดเชื้อไวรัส
ไวรัสทำให้มีการอักเสบของประสาทหูและเซลล์ประสาทหู ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำหน้าที่ผิดปกติไป เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดและไข้หวัดใหญ่ มักทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง ส่วนไวรัสที่ทำให้เกิดโรคคางทูม มักทำให้ประสาทหูเสื่อมเพียงข้างเดียว เป็นต้น
2️⃣ การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
ทำให้เซลล์ประสาทหูและประสาทหูขาดเลือด จึงทำหน้าที่ผิดปกติไป โดยเส้นเลือดอาจอุดตันเกิดจาก
🔹 เส้นเลือดแดงหดตัวเฉียบพลันจากความเครียด, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, อ่อนเพลีย หรือไม่ทราบสาเหตุ
🔹 เส้นเลือดที่เสื่อมตามวัย แล้วมีไขมันมาเกาะตามเส้นเลือด มีโรคบางโรคที่อาจทำให้เส้นเลือดดังกล่าวตีบแคบมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคเบาหวาน
🔹 เลือดข้นจากการขาดน้ำ, การขาดออกซิเจนเรื้อรัง
🔹 มีลิ่มเลือดมาอุดเส้นเลือด อาจเกิดจากโรคหัวใจ, จากการบาดเจ็บที่อวัยวะต่าง ๆ
🔹 การอักเสบของเส้นเลือด
3️⃣ การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง
ซึ่งอาจเกิดจากการเบ่ง, การสั่งน้ำมูกแรงๆ, การไอแรงๆ หรือการที่มีความดันในสมองสูงขึ้น ทำให้ประสาทหูเสื่อม มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และเสียงดังในหู
.
สาเหตุ :: ประเภทที่ ⭕️ ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจาก
1️⃣ การบาดเจ็บ การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดหูชั้นกลาง การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของหูชั้นใน
2️⃣ เนื้องอก เช่น เนื้องอกของประสาททรงตัวที่มีการเพิ่มขนาดอย่างเฉียบพลัน เช่น มีเลือดออกในก้อนเนื้องอก จนอาจไปกดทับประสาทหูได้
3️⃣ การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น เชื้อซิฟิลิส, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
4️⃣ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคนี้น้ำในหูที่มีปริมาณมาก อาจกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้ มักมีอาการเสียงดังในหูหรือเวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมด้วย
5️⃣ สารพิษและพิษจากยา
🔹 ยาบางชนิดอาจทำให้หูตึงชั่วคราวได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของ salicylate, ยาขับปัสสาวะ หลังหยุดยาดังกล่าว อาการหูอื้อหรือหูตึงมักจะดีขึ้นและอาจกลับมาเป็นปกติ
🔹 ยาบางชนิดอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้ เช่น ยาต้านจุลชีพกลุ่ม amino glycosides เช่น streptomycin, kanamycin, gentamicin, neomycin, amikacin
ประสาทหูที่เสื่อมจากยานี้ อาจเกิดทันทีหลังจากใช้ยา หรือเกิดหลังจากหยุดใช้ยาไประยะหนึ่งแล้วก็ได้
.
การรักษา 💊🩺
ในรายที่ทราบสาเหตุ รักษาตามสาเหตุ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาประสาทหูที่เสื่อมให้คืนดีในสภาพปกติได้‼️ มักเป็นการรักษาตามอาการ (เช่น อาการเวียนศีรษะ, เสียงดังในหู) หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ( เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
ในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ มักจะมีโอกาสหายได้เองสูงถึงร้อยละ 60-70 ส่วนใหญ่การรักษามุ่งหวังให้มีการลดการอักเสบของประสาทหู และให้มีเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น ลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในที่เข้าไปในหูชั้นกลาง (ถ้ามี)
💊 ยาลดการอักเสบจำพวกสเตียรอยด์
ลดการอักเสบของประสาทหู และเซลล์ประสาทหู เช่น prednisolone
💊 ยาขยายหลอดเลือด
มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น เช่น nicotinic acid, betahistine
💊 วิตามิน อาจช่วยบำรุงประสาทหูที่เสื่อม
💊 ยาลดอาการเวียนศีรษะ (ถ้ามีอาการ)
💊 การนอนพัก มีจุดประสงค์เพื่อลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) แนะนำให้ผู้ป่วยนอนพัก โดยยกศีรษะสูงประมาณ 30 องศาจากพื้นราบ เพื่อให้มีความดันในหูชั้นในน้อยที่สุด ไม่ควรทำงานหนักหรือออกกำลังกายที่หักโหม บางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์
.
หากท่านมีอาการ "หูดับเฉียบพลัน" แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสมตามสาเหตุและอาการร่วมต่างๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับการได้ยินเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา อาจนัดติดตามผู้ป่วยในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจพบสาเหตุในภายหลังได้
1
👨‍⚕️ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีการได้ยินในหูท่านลดน้อยลงอย่างเฉียบพลัน อย่างนิ่งนอนใจนะครับ รีบมาพบแพทย์หู คอ จมูกโดยเร็ว เพราะถ้าให้การรักษาช้าไป อาจเกิดความพิการในหูท่านอย่างถาวรได้
.
.
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. https://bit.ly/2YWEyVn.
โฆษณา