25 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Schindler's List : บาดแผลของสงครามโลกครั้งที่ 2…สรุปแล้วสงครามให้อะไรกับเรา?
อำนาจ...คือ การที่เรามีข้ออ้างมากมายที่จะฆ่าใครสักคน…แต่เรากลับเลือกที่จะไม่ทำ
(Power is when we have every justification to kill, and we don’t.)
Oskar Schindler
2
บางครั้งการหลงใหลในอำนาจก็สามารถเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นปีศาจก่อสงครามมา เพื่อฆ่าล้างมนุษย์ที่ถูกมองว่าไม่ใช่พวกเดียวกับตัวเอง แต่บางครั้งความมีมนุษยธรรม กลับทำให้บางคนเลือกที่จะใช้อำนาจที่ตัวเองมี เพื่อช่วยเหลือคนอื่น…ถึงแม้จะไม่ใช่พวกเดียวกัน
2
Schindler’s List เป็นหนึ่งในหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างจับใจและสะเทือนอารมณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง เรื่องราวของนักธุรกิจชาวเยอรมันที่คิดหวังจะเข้าไปกอบโกยกำไรจากการทำโรงงานผลิตเครื่องเคลือบ ภาชนะให้ทหารในช่วงสงครามด้วยการจ้างแรงงานชาวยิวราคาถูก แต่ในที่สุดเขากลับเลือกใช้อำนาจ “เงิน” ที่เขามี เพื่อช่วยชีวิตเชลยทาสเหล่านั้นอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจของอาวุธที่อยู่ในมือทหารคนใด เมื่อเขาเห็นถึงความไร้มนุษยธรรม และความโหดเหี้ยมที่มนุษย์มอบให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองในระหว่างสงคราม
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากจะพาทุกท่านไปสำรวจว่าความโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างบาดแผลต่างๆ ให้กับยุโรป ตลอดจนประเทศที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ อย่างไรบ้าง นอกเหนือไปจากผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจที่เราน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว
📌 สงครามที่มีผู้ชนะบนความตายของคนนับล้าน
1
ในปี 1939 ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลกมีประชากรราวๆ 2 พันล้านคน แต่เพียงช่วงไม่กี่ปีที่สงครามโลกปะทุขึ้น กลับเข่นฆ่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 62 - 78 ล้านคน หรือคิดเป็น 3% ของประชากรโลกเลยทีเดียว
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนโลกในศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบยุโรป สงครามคร่าชีวิตผู้คนทั่วยุโรปไปกว่า 39 ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งเป็นเพียงประชาชนธรรมดาๆ เท่านั้น และกว่า 10 ล้านคนต้องตายเพราะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงที่นาซีเรืองอำนาจ
ทางฝั่งเอเชียก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน นายทหารชาวญี่ปุ่นกว่า 2 ล้านนาย และประชาชนนับล้าน เสียชีวิตไปในระหว่างสงคราม คิดเป็น 4% ของจำนวนประชากรญี่ปุ่นในช่วงก่อนจะเกิดสงคราม ส่วนประเทศจีน คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 10 - 20 ล้านคน และที่น่าเศร้า คือ กว่า 70% เป็นคนธรรมดา
1
ตลอดระยะเวลานั้น สิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ สถานที่สำคัญถูกทำลายไปอย่างไม่มีชิ้นดีในช่วงระหว่าง 6 ปีที่สงครามปะทุขึ้นอยู่ตลอดเวลา คนจำนวนมากต้องถูกบังคับให้ทิ้งบ้านของตนเองไปอยู่ที่อื่น ความอดอยากหิวโหยกลายเป็นเรื่องปกติแม้กระทั่งในประเทศที่ร่ำรวยทางฝั่งยุโรปตะวันตก หลายคนต้องแยกจากครอบครัวไปในสงครามเป็นเวลานานและอาจไม่ได้พบเจออีกเลยตลอดชีวิต เด็กจำนวนมากต้องกลายมาเป็นพยานในความโหดร้ายของสงคราม
📌 ครอบครัวที่ไร้เงาผู้ชาย…ผู้หญิงที่ไร้สามี…และลูกที่ไร้พ่อ
ผู้ชายนั้นมีอัตราการตายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารกัน ทำให้สัดส่วนระหว่างประชากรชายหญิงบิดเบี้ยวไปจากปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่สูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมากอย่างเยอรมัน การสูญเสียทหารไปในระหว่างสงครามกว่า 3 ล้านนาย ส่งผลให้สัดส่วนระหว่างเพศชายต่อเพศหญิงเปลี่ยนไปจาก ผู้ชาย 0.98 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 1939 กลายเป็นผู้ชาย 0.72 คน ต่อผู้หญิง 1 คนในปี 1946
นั่นทำให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้แต่งงาน เด็กหลายคนต้องเติบโตมาโดยปราศจากพ่อ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้มากที่สุดก็ คือ ประเทศที่ถูกทำลายในสงคราม อาทิ เยอรมัน, ออสเตรีย, และโปแลนด์
ในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย โดยเฉลี่ยแล้วถ้ามีเด็กเดินมาพร้อมกัน 4 คน จะมีเด็ก 1 คนที่อยู่โดยปราศจากพ่อในช่วงที่อายุราวๆ 10 ปี ในขณะที่เกิดสงคราม หรือคิดเป็น 25% และถึงแม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้วแต่เชลยศึกชาวเยอรมันกว่า 4 ล้านคน จาก 11 ล้านคน ก็ยังคงถูกจองจำอยู่ จนกระทั่งในปี 1955 ทหารเยอรมัน 35,000 คนสุดท้ายถึงได้ถูกปล่อยตัวกลับมาจากสหภาพโซเวียต สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ปัญหาลูกที่ไร้พ่อยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก
1
อย่างไรก็ตาม อัตราการอยู่โดยปราศจากพ่อในช่วงสงครามของเด็กในโปแลนด์ต่ำกว่า 2 ประเทศข้างต้น คืออยู่ที่ 15% แต่นั่นก็เป็นเพราะคนโปแลนด์ที่เสียชีวิตในสงครามส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป เด็กจึงมีโอกาสสูญเสียพ่อและแม่ไปอย่างเท่าๆ กันนั่นเอง
📌 ภาวะสงครามกับความอดอยาก
นอกจากความตายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สงครามมอบให้แก่ประชาชน คือ ความอดอยากขาดแคลนอันนำไปสู่ผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่ตามมา และยังส่งผลกับสุขภาพร่างกายในระยะยาวอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงที่เยอรมนียึดครองโปแลนด์ ประชาชนที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันมีสภาวะโภชนาการย่ำแย่มาก ปริมาณแคลอรี่ที่ชาวโปแลนด์ได้รับไปในแต่ละวันในปี 1941 อยู่ที่เพียง 930 แคลอรี่ และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดใน Warsaw Ghetto ที่ซึ่งผู้คนได้รับการปันส่วนอาหารโดยเฉลี่ยเพียง 186 แคลอรี่ต่อวันเท่านั้น
1
ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางฝั่งประเทศกรีซก็เผชิญกับภาวะทุพภิกขภัย เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ คาดว่าผู้คนกว่า 200,000 คนต้องจบชีวิตลงด้วยเหตุนี้ ซึ่งสาเหตุที่กรีซเผชิญภาวะทุพภิกขภัยอย่างหนักก็เนื่องมาจากกรีซอยู่ภายใต้การปกครองของบัลแกเรีย, เยอรมนี, และอิตาลี จึงทำให้ถูกปิดล้อมทางออกทางทะเล อีกทั้งราคาผลผลิตต่ำมากจนเกษตรกรไม่ขายผลผลิตอีกต่อไป และการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศก็ยังทำให้อย่างจำกัด ภายหลังมีผู้ทำการวิจัยพบว่าเนื่องจากภาวะขาดสารอาหารที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เด็กที่อายุ 1 - 2 ปี ในตอนนั้นมีอัตราอ่านออกเขียนได้ต่ำ และมีโอกาสเรียนจบประถมตอนปลายได้น้อย
เครดิตภาพ : Universal Pictures
จะเห็นว่าส่วนใหญ่ปัญหาความอดอยากหิวโหยนั้นปรากฏชัดในประเทศที่เกิดสงคราม มากกว่าประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมสงคราม และยิ่งรุนแรงในประเทศที่กลายเป็นสมรภูมิรบ หนำซ้ำสุดท้ายคนที่ต้องพลอยได้รับผลกระทบจากความอดอยากก็มักจะเป็นเด็กที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไร
📌 การพลัดถิ่นฐานอันเนื่องมาจากสงคราม
การพลัดถิ่นฐานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจากหลายปัจจัย แต่หลักๆ ก็คือ การหนีจากสงครามในถิ่นฐานบ้านเกิด ชาวยิวนับล้าน ตลอดจนคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคนาซี ต่างต้องหาทางหนีตายจากการถูกกวาดต้อนไปที่ค่ายกักกันก่อนจะถูกทารุณกรรมอย่างโหดร้ายจนเสียชีวิตอยู่ที่ค่ายแห่งนั้น
ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พรมแดนของแต่ละประเทศในยุโรปตะวันตกก็ได้เปลี่ยนไป หลายประเทศจึงย้ายถิ่นฐานไปอยู่ส่วนอื่นในยุโรปกันมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อสหภาพโซเวียตได้ผนวกดินแดนประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศเข้าไป ชาวโปแลนด์บางส่วนที่บ้านถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตก็เลยต้องย้ายไปที่อื่น จึงทำให้คนโปแลนด์นับล้านขยับออกไปอยู่ทางตะวันตกของประเทศ
📌 งั้นสรุปแล้ว…สงครามให้อะไรเราบ้าง?
สงครามทำให้หลายคนต้องตาย ทำใหัปัจจัยทุนลดลง เนื่องจากการที่โครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถในการผลิต บ้านเรือน ถูกทำลายโดยระเบิดและการสู้รบ ผู้คนต้องอดอยาก เนื่องจากต้องย้ายปัจจัยการผลิตอาหารและสิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการทำสงคราม ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดอย่างทุนมนุษย์ ก็ถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดาย
หลายคนอาจจะเถียงว่า ถึงอย่างนั้นในภายหลังก็เห็นว่าหลายประเทศทางยุโรปที่แพ้สงครามกลับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวของประชากร ดีกว่าประเทศที่ชนะสงครามเสียด้วยซ้ำมิใช่หรือ?
ต้องอย่าลืมว่าอันที่จริงปัจจัยที่ประเทศเหล่านั้นเติบโต อาจไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศนั้นเป็นผู้ชนะหรือแพ้ในสงคราม แต่ประเด็นหลักน่าอยู่ที่ว่าประเทศนั้นได้เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตย และเปิดเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีหรือไม่มากกว่า
1
ประวัติศาสตร์ครั้งแล้วครั้งเล่าชี้ให้เห็นว่าสงครามล้วนนำมาซึ่งความสูญเสียและความทุกข์ทรมาน
จึงไม่มีใครควรต้องมาสูญเสียเพราะสงครามอีกแล้ว
2
เพราะทุกครั้งที่เกิดสงคราม…ไม่ว่าผู้นำของประเทศไหนจะรบกัน...ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ
2
ท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายที่แพ้และต้องรับผลกระทบมากที่สุด…ก็คือประชาชน
8
#WW2 #WorldWar2 #สงครามโลก #Schindler_List #Speilberg #เศรษฐกิจ #ประวัติศาสตร์
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา