18 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มองเศรษฐกิจเกาหลีเหนือผ่านซีรีส์ Crash Landing on you
2
การประกาศแต่งงานในชีวิตจริงของคู่พระเอกนางเอกจากเรื่อง Crash Landing on you คงจะเป็นเหมือนตอนจบที่สมบูรณ์ของเรื่องราวทั้งหมด จนทำเอาหลายคนอดไม่ได้ที่จะต้องกลับไปย้อนดูซีรีส์เรื่องนี้อีกครั้ง
1
แต่ไหนๆ จะกลับไปดูอีกครั้งแล้ว Bnomics อยากพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือกันสักหน่อย เผื่อว่าการย้อนดูอีกครั้ง จะทำให้เข้าใจ และอินกับเรื่องราวของสหายผู้กองรีจองฮยอก และยุนเซรี ในฉากหลังของประเทศเกาหลีเหนือได้มากยิ่งขึ้น
1
📌 แรกเริ่มของเกาหลีเหนือ
ก่อนอื่นต้องเน้นย้ำให้ผู้อ่านทราบก่อนว่า เนื่องจากเกาหลีเหนือเป็นประเทศปิด ข้อมูลหลายๆ อย่างจึงทำการสำรวจและเก็บได้ยาก ดังนั้นข้อมูลที่คนส่วนใหญ่รับรู้จึงเป็นข้อมูลที่เกาหลีเหนือเลือกที่จะเปิดเผยให้คนภายนอกรับรู้เสียมากกว่า
เดิมที เกาหลีก็มีเพียงแค่เกาหลีเดียว และในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นถูกบังคับให้ต้องปล่อยประเทศใต้อาณานิคมทั้งหมด ซึ่งนั่นรวมไปถึงเกาหลีด้วย
แต่อิสรภาพของเกาหลีก็ไม่อาจอยู่ได้นาน เพราะสหภาพโซเวียตบุกเข้ายึดเกาหลีแทบจะภายในวันเดียวกับที่ญี่ปุ่นออกไป สหภาพโซเวียตได้ยึดเกาหลีฝั่งเหนือ ส่วนสหรัฐฯ ก็เข้ามายึดเกาหลีฝั่งใต้ โดยแบ่งกันที่เส้นขนานที่ 38
ในปี 1948 จึงเกิดประเทศที่ชื่อว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งมีเขตปลอดทหาร หรือ Demilitarized Zone (DMZ) เป็นแนวกั้นตรงบริเวณเส้นขนานที่ 38 แต่หากพ้นจากเขตนั้นก็จะเต็มไปด้วยทหารอยู่ทั้งสองฝั่งประเทศ ประชาชน 2 ประเทศนี้จึงไม่อาจข้ามไปหากันได้ และตรงจุดนี้เองที่ความบังเอิญพัดพาให้ร่มบินของนางเอกลอยข้ามเส้นขนานที่ 38 ไปตกยังฝั่งเหนือจนพบกับสหายผู้กองรีจองฮยอกได้
1
📌 ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับของเกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนือใช้ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับ (Command economy) โดยรัฐจะควบคุมการผลิตทุกอย่าง ทั้งนี้เป้าหมายทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือจะเชื่อมโยงอยู่กับลัทธิจูเช (Juche) ที่เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก เกาหลีเหนือจึงหลีกเลี่ยงการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเกาหลีเหนือก็ยังยอมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกรวมไปถึงจีน
1
แต่ในช่วงต้นศตวรรษ 1990 เศรษฐกิจเกาหลีเหนือต้องเผชิญกับความยากลำบากเมื่อสหภาพโซเวียตรวมไปถึงกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ทางยุโรปตะวันออกล่มสลาย ทำให้ประเทศเกาหลีต้องสูญเสียประเทศคู่ค้าและประเทศที่คอยให้ความช่วยเหลือไป
ดูเหมือนในเวลานั้นจะเป็นคราวเคราะห์ของเกาหลีเหนือ เพราะในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เกาหลีเหนือก็เผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงขึ้นมาอีก ทั้งน้ำท่วมและความแห้งแล้งอย่างหนัก จึงเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ภาวะทุพภิขภัย และขาดสารอาหาร คาดการณ์ว่ามีคนนับแสน หรืออาจจะนับล้านคนต้องเสียชีวิตจากขาดอาหารในตอนนั้น จนมีชื่อเรียกเหตุการณ์เลวร้ายนั้นว่า Arduous March
ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงบีบบังคับให้เกาหลีเหนือต้องยอมเปิดเศรษฐกิจเพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติ และเพิ่มโอกาสทางการค้าในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ภายใต้เป้าหมายของรัฐบาลที่จะสร้าง “กองกำลังที่เข้มแข็ง และเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง”
เมื่อดูจากข้อมูลสถิติบางส่วน ก็จะเห็นว่าในช่วงปี 2000 จีนได้กลายมาเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือ และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากที่ในปี 2005 การค้าของเกาหลีเหนือพึ่งพาจีน 50% ก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 95.8% ในปี 2018 และแน่นอนว่าเมื่อจีนมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือขนาดนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นกับประเทศคู่ค้าหลัก เศรษฐกิจเกาหลีเหนือจึงเผชิญกับความเสี่ยงเป็นอย่างมาก
นอกจากจีนแล้วก็ยังมีรัสเซีย และอินเดีย ที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 และ 3 แต่มูลค่าการค้านั้นน้อยนิด อยู่ที่เพียง 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 21 ลัานดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018
สำหรับประเทศไทยเอง ก็เคยเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ เช่นกันในระหว่างปี 2004 ถึง 2007 แต่มูลค่าการค้าลดลงไปอย่างมากจนเหลือเพียง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นในปี 2018
📌 พลังงานมีจำกัด...ไฟฟ้าที่สว่างไม่ทั่วถึงประชาชนทุกคน
โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ เป็นแหล่งผลิตพลังงานหลักในเกาหลีเหนือ โดยที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำก็จะต้องขึ้นกับปริมาณฝน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพจะใช้ถ่านหินเป็นหลัก โรงงานเหล่านี้ ตลอดจนอุปกรณ์การส่งผ่านพลังงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่เก่าและไม่มีประสิทธิภาพ ในปี 2018 กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดยังต่ำกว่าในปี 1990 ถึง 10% และคิดเป็นเพียง 1 ใน 20 ของระดับที่เกาหลีใต้ผลิตได้เท่านั้น
ข้อมูลจาก World Bank ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2017 ประชากรกว่า 56% ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ การที่ไฟฟ้าไม่เพียงพอนี้เองยังส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการทำอุตสาหกรรมและทำเหมือง
การจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป โดยส่วนมากแล้วพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมากจะอยู่นอกกรุงเปียงยาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านในซีรีส์ที่ทางการอาจจะตัดไฟได้ตลอดเวลา ในแต่ละบ้านจึงต้องเตรียมอุปกรณ์ให้แสงสว่าง หรือถ้ามีเงินก็อาจจะใช้แบตเตอรี่ต่อไฟสำรองเพื่อใช้ในบ้านได้ (ซึ่งผิดกฎหมาย)
1
The korean Peninsula by night
📌 การคมนาคมในเกาหลีเหนือ..รถไฟที่ขัดข้องก็อาจพาไปถึงจุดหมายได้
การเดินทางโดยรถไฟ ถือเป็นช่องทางการขนส่งหลักๆ ที่วิ่งจากเหนือจรดใต้ โดยรถไฟส่วนใหญ่จะรองรับพื้นที่ในเมืองและบริเวณที่เป็นเหมือง อย่างไรก็ตามระบบการขนส่งในเกาหลีเหนือนั้นค่อนข้างจะมีปัญหา เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานชำรุดทรุดโทรมและพลังงานมีจำกัด มีการสร้างทางหลวงหรือทางรถไฟสายใหม่ไม่กี่แห่งตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ดังนั้นรถไฟจึงมีโอกาสขัดข้องได้ทุกเมื่อ ดังจะเห็นได้จากตอนที่รถไฟที่ยุนเซรีและสหายผู้กองนั่งไปกรุงเปียงยางเกิดขัดข้อง จึงต้องหยุดพักคอยไปหลายสิบชั่วโมงก่อนจะเดินขบวนรถได้อีกครั้ง
ส่วนการเดินทางทางถนนนั้นอาจไม่สำคัญสักเท่าไหร่เนื่องจากมียานยนต์เพียงไม่กี่คัน เราจะสังเกตจากในซีรีส์เรื่องนี้ได้คือมีตัวละครเพียงไม่กี่ตัวที่มีรถขับ ส่วนใหญ่จะเป็นทหารระดับสูง หรือนักธุรกิจ
ในขณะที่การโดยสารโดยเครื่องบินจะถูกควบคุมโดยกองทัพอากาศ โดยจะมีไฟลท์บินระหว่างเมืองหลักๆ และถ้าหากจะบินไปต่างประเทศ จะมีปลายทางแก่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และมอสโก ประเทศรัสเซีย เท่านั้น (ในเรื่อง ซอดัน ซึ่งเป็นลูกชนชั้นสูงของเกาหลีเหนือ ก็กลับมาจากการศึกษาต่อที่รัสเซีย)
ในปัจจุบัน มูลค่าทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 1990 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวก็เป็นเพียงสัดส่วนเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ แม้ว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม แต่การผลิตอาหารในประเทศก็ยังไม่อยู๋ในระดับเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาอาหารไม่พอที่เป็นมาอย่างเรื้อรังได้ และการค้าระหว่างประเทศก็ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากปัจจัยรอบด้านโดยเฉพาะนโยบายแทรกแซงการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น
1
เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือในวันข้างหน้าเมื่อมองจากตรงนี้ ก็คงเหมือนกับการนั่งรถไฟ ที่ไม่รู้ว่ารถไฟจะติดขัด ต้องเจอพายุ หรือต้องจอด ณ สถานีไหน แต่ผู้ที่โดยสารที่จำเป็นต้องขึ้นรถไฟขบวนนี้แล้ว ก็คงไม่ได้มีทางเลือกอะไรนอกจากนั่งรอไปจนถึงปลายทางที่ตัวเองจะลง…
บางครั้งการขึ้นรถไฟผิดขบวน ก็อาจพาเราไปถึงจุดหมายได้
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : www.bnomics.co
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา