Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2022 เวลา 01:21 • ไลฟ์สไตล์
“วิปัสสนาไม่ได้คิดเอา
วิปัสสนาไม่ได้จำเอา
วิปัสสนาต้องเห็นเอา”
“ … เมื่อวานหลวงพ่อไปเทศน์ให้คนจีนฟัง มีคอร์สจีน 300 กว่าคน คราวนี้เป็นกลุ่มค่อนข้างใหม่ แต่ไม่ใช่ใหม่แบบไม่เคยเรียนเลย เขาให้ฟังการจัดคอร์สจีนที่ผ่านมา เขาอัดวิดีโอไว้ก็ให้ฟัง พวกนี้ก็เรียนพื้นฐานก่อน ดูเขาก็สนใจกันดี
เขาเรียนลำบากกว่าเรา อย่างหลวงพ่อเทศน์ก็ต้องมีคนแปล สงสารคนแปล หลวงพ่อไม่ได้พูดช้าๆ ทีละประโยค พูดปกติ เขาเก่งนะเขาแปลได้ ได้กี่เปอร์เซ็นต์เราก็ไม่รู้หรอก เพราะเราฟังไม่ออก
ฉะนั้นกว่าคนต่างชาติเขาจะเรียนธรรมะได้ ยาก ไม่เหมือนพวกเราพูดภาษาเดียวกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมอันเดียวกัน มันเข้าใจกันง่าย ฉะนั้นเวลาจะยกตัวอย่างเวลาอะไร มันเป็นตัวอย่างที่พวกเรารู้จัก เห็นก็ง่ายกว่ากัน วัฒนธรรมแตกต่างกันสื่อความหมายกันยาก
คนจีนยังมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเรายังไม่ยากมาก อย่างฝรั่งเรียนธรรมะยากมากจริงๆ ให้เรียนเรื่องทุกข์เขาบอกเขาไม่ทุกข์ ไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย ที่เขามาเรียนเขาอยากมีสมาธิ เพื่อไปแก้ปัญหาชีวิต
3
…
ธรรมะเห็นด้วยใจ
สมาธิมันแค่บทเรียนเบื้องต้นของศาสนาพุทธเท่านั้นเอง บทเรียนที่สูงกว่าสมาธิก็คือการเจริญปัญญา ฝรั่งเขาบอกเขามีปัญญาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียน
พอใจมันไม่เอา มันไม่มีทางที่จะเรียนธรรมะได้
จิตใจที่เปิดถึงจะเรียนธรรมะได้
จิตใจที่บล็อกตัวเองรู้แล้วๆ เรียนไม่ได้หรอก
ฉะนั้นอย่างพวกเราหลายคน
กระทั่งคนไทยไปเรียนตำรับตำรามาก
ใจมันบล็อกเหมือนกัน
ฟังธรรมะมันไม่เก็ต
นี่ก็รู้แล้ว นี่ก็รู้แล้ว ที่จริงไม่รู้สักอย่าง
มันรู้แต่ความจำ แต่ความจริงไม่เคยเห็น
2
รู้จำมันไม่เหมือนรู้จัก
รู้จักยังไม่เหมือนรู้แจ้ง
ภาษาอย่างนี้คนต่างชาติฟังไม่เข้าใจ
1
เรียนธรรมะ เรียนเบื้องต้นก็อ่านบ้างฟังบ้าง
แล้วก็คิดเอา แล้วก็เชื่อเอา แล้วก็จำเอาไว้
ธรรมะเป็นอย่างนี้ๆ
1
อย่างมีโยมมาบอกหลวงพ่อเรื่อยๆ ไปเรียนที่นั่นที่นี่สอนเหมือนหลวงพ่อเปี๊ยบเลย ก็ใช้ตำราเล่มเดียวกัน ใช้พระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็พูดเหมือนกันหมด
แต่ว่าเวลาเรียนจริงเห็นสภาวะไหม
เห็นสภาวะหรือไปเพ่งเอา หรือไปคิดเอา
ระหว่างการเห็น การเพ่ง การคิด
ไม่ได้เหมือนกันเลย คนละเรื่องเลย
1
การเพ่ง คือ อัตตกิลมถานุโยค
ทำไปแล้วก็เป็นคนดี เพ่งเก่งๆ ก็ไปเป็นพระพรหม
คิดเอาๆ ก็คิดดีบ้าง คิดร้ายบ้าง
ก็วนเวียนอยู่ในภูมิธรรมดาๆ หรือลงอบายภูมิไป
คิดแล้วเซลฟ์จัด หรือเรียนมากก็เซลฟ์จัด
นั่นก็รู้ นี่ก็รู้ รู้หมดเลย
อย่างจิตมีกี่ชนิดมีกี่ดวงรู้หมด
หรือสภาวะอันนี้ มีปัจจัยกี่อย่างประกอบกันขึ้นมา
รู้หมด แต่ถ้าไม่เห็นของจริงมันใช้อะไรไม่ได้
วิปัสสนาไม่ได้คิดเอา
วิปัสสนาไม่ได้จำเอา
วิปัสสนาต้องเห็นเอา
วิ กับ ปัสสนะ
ปัสสนะ แปลว่า การเห็น
วิ แปลว่า เห็นแจ้ง
เห็นแจ่มแจ้ง คือ เห็นไตรลักษณ์ นั่นเอง
ฉะนั้นถ้าเราไม่เห็นยังไม่ใช่การเจริญปัญญาชั้นสูงจริงๆ
ไม่ได้เป็นวิปัสสนา
คิดเอาๆ อ่านเอา ฟังเอา จำเอา
ก็ได้มานะอัตตาไป กูเก่ง แล้วเอาไปสอบ
สอบเสร็จแล้วก็ลืม
มันไม่เหมือนธรรมะที่เราภาวนา
เราเห็นสภาวะมันถึงจิตถึงใจ
2
ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่า หลวงพ่อเคยได้ยิน
ท่านบอกเรื่องโลกๆ ท่านลืมหมดแล้ว
เรื่องธรรมดา เรื่องโลกๆ เรื่องเด็กๆ
สมัยโน้นสมัยนี้ท่านไม่จำเลย ลืมหมด
พอแก่แล้วจำไม่ได้แล้ว
1
แต่ธรรมะที่มันเห็นด้วยใจ
มันจำได้โดยที่ไม่ได้จงใจเลย ไม่ลืม
อย่างลีลาการปฏิบัตินั้น
ได้พบได้เห็นสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ มีประสบการณ์
ท่านบอกมันไม่ลืมหรอก
เพราะมันฝังใจมันเห็นด้วยใจจริงๆ
แล้วธรรมะถ้าไม่ได้เห็นด้วยใจจริงๆ มันล้างกิเลสไม่ได้
เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจเรา
เราไม่เห็นถึงจิตถึงใจตัวเองจะไปล้างกิเลสที่ไหน
กิเลสไม่ได้อยู่ในสมอง
กิเลสอยู่ในจิตใจของเรานี่เอง
สภาวธรรม
ฉะนั้นเราต้องหัดเห็นสภาวะให้ได้
ถ้าเราไม่เห็นสภาวะเราเจริญปัญญาไม่ได้จริง
เครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นสภาวะ ก็คือ สติ
อันแรกเข้าใจคำว่าสภาวะก่อน
สิ่งทั้งหลายที่เรารู้เราเห็น เรียกว่า อารมณ์
อารมณ์มี 2 ส่วน
อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม
อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ
ไม่มีสภาวะรองรับ
อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ
อาศัยความคิด คิดทั้งวัน คิดทั้งคืน ก็คิดไปเรื่อยๆ
ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดที่สุด มันไปเรื่อยๆ
ไม่เห็นว่าจะมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ไหนเลย
ถึงคิดเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็แค่ความคิด
ฉะนั้นเรื่องราวที่คิดขึ้นมา ท่านเรียก อารมณ์บัญญัติ
อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม
อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่าง
คือ รูปธรรม
รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์
เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์
2
อย่างร่างกาย ร่างกายต้องนึกไหม
ร่างกายเราไม่ต้องนึกมันก็ยังอยู่
ไม่ได้หายไปไหนก็มีอยู่
ความรู้สึกในใจเราต้องนึกไหม มันก็มีอยู่ทั้งวัน
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย มีอยู่ทั้งวัน
แต่อารมณ์บัญญัติ เรื่องที่คิด
เมื่อไรเลิกคิดมันก็หายไปหมดแล้ว
เมื่อไรจิตคิดขึ้นมามันก็มีขึ้นมา
อย่างเราคิดว่าตัวเรามี
ตรงที่คิดว่าตัวเรามีจริงๆ เป็นเรื่องที่บัญญัติขึ้นมา
คิดขึ้นมา เพ้อฝันขึ้นมา
มันเหมือนความฝันเท่านั้น อารมณ์บัญญัติ
จับต้องอะไรไม่ได้
ฉะนั้นเวลาดูที่จะเจริญปัญญา
ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม
มีรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง
อย่างนามธรรม เช่น ความสุข ความทุกข์
โลภ โกรธ หลง เป็นนามธรรม
จิตก็เป็นนามธรรม
จิตคือสภาพรู้อารมณ์
สภาวะที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เรียกว่าจิต วิญญาณ
จิตหรือวิญญาณอันเดียวกัน
คำว่าจิต คำว่าวิญญาณ คำว่าใจ 3 ตัวนี้
เรียกจิต มโน วิญญาณ
มโนแปลว่าใจ
คนเดี๋ยวนี้เอาคำว่ามโนมาใช้ในความหมายเพี้ยนๆ ไป
ปรมัตถธรรมอีกอันหนึ่ง
นอกจากรูปธรรม นามธรรม ก็คือ พระนิพพาน
นิพพานเอามาทำวิปัสสนาไม่ได้
นิพพานมันเที่ยง
นิพพานมันสุข ไม่มีความเสียดแทง
ที่สำคัญเราไม่เห็น
นึกถึงนิพพานคืออะไรก็ไม่รู้ที่จับต้องไม่ได้
แล้วก็มโนเอา มโนสมัยใหม่นะ
มโนเอาว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ใช่
ความคิดของมนุษย์นั้นไปไม่ถึงพระนิพพาน
ภาษาของมนุษย์มันไปไม่ถึงพระนิพพาน
ไม่สามารถจะสื่อได้
ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าจะบรรยายถึงพระนิพพาน
ท่านจะพูดในเชิง Negative
นิพพานไม่มีอย่างนี้ นิพพานไม่มีอันนี้ๆ
สภาวะที่เราจะใช้เจริญวิปัสสนาก็มี 2 อันเท่านั้น
รูปธรรม นามธรรม นี่ต้องรู้จัก
นี้รูปจะรู้ได้อย่างไร
รูปบางอย่างรู้ด้วยตา สีที่เรามองเห็น
แสงสีทั้งหลายที่เรามองเห็น
อันนี้เป็นรูปชนิดหนึ่งรู้ด้วยตา
รูปบางอย่าง คลื่นเสียงรู้ด้วยหู
รูปบางอย่างคือกลิ่น รู้ด้วยจมูก
รูปบางอย่างคือรส รู้ด้วยลิ้น
รูปสองสามอย่าง รูป สามอย่างรู้ด้วยร่างกาย
ใช้ร่างกายรู้สึกเอา
อย่างความเย็น อากาศเย็นรู้ด้วยใจได้ไหม
รู้ด้วยใจไม่ได้
ความเย็น ความร้อนเป็นเรื่องของธาตุไฟ
รู้ด้วยร่างกาย
ถ้าเราไม่มีร่างกาย มนุษย์เราไม่มีร้อนมีเย็น
นี้ร่างกายเป็นตัวรับสัมผัส
ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความไหว
ความตึงกับหย่อน
จริงๆ ก็คือ รู้ธาตุ
ร่างกายนี้เป็นตัวรับสัมผัสธาตุ
ธาตุไฟ ความเย็น ความร้อน
ธาตุลม เป็นความตึงความไหว
ทำไมธาตุลมเป็นตึงได้ด้วย
ถ้าในท้องเรามีลมเยอะๆ ท้องมันตึงไหม
ท้องมันก็ตึงขึ้นมา เป็นตัวทำให้ตึง
ทำให้ไหว เคลื่อนที่
ความอ่อนความแข็ง รู้ด้วยร่างกาย
จิตเราไม่ได้ไปรู้ความอ่อนความแข็ง
ความอ่อนความแข็งเป็นตัวธาตุดิน
1
ฉะนั้นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
เป็นธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุลม รู้ด้วยร่างกาย
ธาตุน้ำรู้ด้วยใจ
ธาตุน้ำไม่ใช่น้ำอย่างที่เราเห็นนี้
คำว่าธาตุน้ำ
มันคือแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลดึงดูดรูปเล็กๆ
ให้ประสานเข้าด้วยกัน รวมเข้าด้วยกัน
อันนี้เราไม่ต้องไปเรียนเยอะ ขนาดที่หลวงพ่อบอกนี้หรอก
ถ้าเรียนรูปแท้ๆ อย่างนี้ยากมาก
ถ้าไม่ทรงฌานจริงๆ ไม่รู้ไม่เห็นหรอก
เราเรียนรูปที่ง่ายกว่านั้นได้ เรียนรูปที่ง่ายขึ้นมา
อันนี้ในตำราเขาก็ถือยังไม่เป็นรูปแท้ๆ
แต่อาศัยรูปแท้ๆ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ก่อเกิดขึ้นมา
อย่างรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน
ตัวที่ยืน ร่างกายที่ยืนมันประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม
แต่มันแสดงอาการยืนออกมา
หรือมันนั่ง ร่างกายที่นั่งก็ประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม
แต่มันแสดงอาการนั่งออกมา
1
การแยกธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้
มันแยกในเชิงอภิธรรม อยู่ในพระอภิธรรม
แต่การแยกร่างกาย
ร่างกายหายใจออก
ร่างกายหายใจเข้า
ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
แยกโดยนัยยะแห่งพระสูตร
อย่างธาตุดิน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
จัดเป็นธาตุดิน ถ้ามองในมุมของอภิธรรม
แค่ผมเส้นเดียวมีดิน น้ำ ไฟ ลมครบเลย
ฉะนั้นเรียนเพื่อความสนุกสนานแตกฉาน
แต่ถ้าจะเรียนเอามรรคผลนิพพานจริงๆ เรียนพระสูตร
พระสูตร พระพุทธเจ้ากับพระสาวกท่านสอนไว้
แล้วคนที่ฟังบรรลุมรรคผลกันเยอะแยะแล้ว
ฉะนั้นอย่างเราจะเรียนรู้รูป
สภาวะของรูปไม่ต้องไปเรียนถึงดิน น้ำ ไฟ ลมหรอก
เราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา
แค่รู้สึกแค่นี้ ก็จะรู้ว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่ตัวเราแล้ว
ถ้าเราเห็นสภาวะคือรูปยืน เดิน นั่ง นอน
ตำราเรียกวิญญัตติรูป
รูปที่เคลื่อนไหว เห็นรูปยืน เดิน นั่ง นอนไป
แล้วเราเห็น รูปที่ยืนไม่ใช่เรา
รูปที่เดินไม่ใช่เรา
รูปที่นั่งที่นอนไม่ใช่เรา
รูปทั้งหมดก็ไม่เป็นเราแล้ว
เรียนอย่างนี้นะที่เขาบรรลุมรรคผลนิพพานกัน
เรียนง่ายๆ อย่างนี้
ไม่ได้เรียนตำราท่องกันหัวโต มันก็ภาวนาไม่เป็นหรอก
กิเลสมานะอะไรก็เพิ่มพูนไป รู้เยอะ รู้มากยากนาน
1
เราไม่ต้องรู้เยอะหรอก
แค่เห็นร่างกายที่หายใจออก
ร่างกายที่หายใจเข้าไม่เที่ยง
ดูไปเรื่อยๆ แค่นี้ก็ยังได้
ร่างกายที่หายใจออก
มันหายใจออกเพื่อหนีทุกข์ของการหายใจเข้า
ร่างกายที่หายใจเข้า มันหนีทุกข์ของการหายใจออก
ร่างกายที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถก็เพื่อหนีทุกข์
เห็นซ้ำๆ อยู่แค่นี้ก็ยังพอเลย
ก็จะทำมรรคผลให้แจ้งได้
2
ร่างกายทั้งหมดนั่นล่ะ
ไม่ว่าร่างกายชนิดไหน
ก็ถูกความทุกข์บีบคั้น นั่นคือทุกขตา
มันถูกบีบคั้นให้ทนอยู่ในสภาวะอันเดิมไม่ได้
หายใจเข้าอย่างนี้ทนอยู่ไม่ได้หรอก
เดี๋ยวก็ต้องหายใจออก เพราะมันถูกบีบคั้น
อันนี้เรียกว่าเราดูกายแล้วเราเห็นทุกข์ ทุกขตา
ทุกขลักษณะ
หรือเราเห็นร่างกาย ร่างกายเป็นวัตถุธาตุ
มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา
หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก
มีธาตุลมเข้าไป
แล้วธาตุลมก็ไหลออกมา
มีธาตุดินกินอาหารเข้าไป
มีธาตุน้ำดื่มน้ำเข้าไปอะไรอย่างนี้
แล้วก็ขับถ่ายออกมา ร่างกายเป็นแค่วัตถุ
เป็นแค่ก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เห็นอนัตตา …”
1
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กุมภาพันธ์ 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/subjective-absolute/
เยี่ยมชม
dhamma.com
อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์
อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์
Photo by :Unsplash
11 บันทึก
21
2
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
11
21
2
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย