8 มี.ค. 2022 เวลา 10:18 • ไลฟ์สไตล์
“ก่อนจะไม่ยึด ต้องยึดไว้ก่อน
ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว มันไม่ยึดของมันเอง
ไม่ใช่เราโน้มนำไปให้ไม่ยึด“
2
“ … รู้สึกไหม ลองดูแขนตัวเองสิ รู้สึกไหม
แขนเรามันเป็นวัตถุ มันปรุงแต่งไม่เป็น
ปรุงดีก็ไม่เป็น ปรุงชั่วก็ไม่เป็น ปรุงเฉยๆ ก็ไม่เป็น
ลองรู้สึก ลองสัมผัสดูก็ได้ สัมผัสแขนนี้
เราจะรู้สึกว่ามันเหมือนท่อนไม้อันหนึ่ง
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
พอดูลงไปแล้ว เห็นมันไม่ได้ปรุงอะไร
เป็นวัตถุเฉยๆ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว
ย้อนมาสังเกตที่จิต จิตมีน้ำหนัก แต่แขนไม่มีน้ำหนัก
ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อองค์หนึ่ง คือหลวงปู่ดูลย์
องค์นี้ฝากเป็นฝากตายกับท่าน ท่านเคยสอนว่า
“ถ้าวันใดที่เราเห็นว่าจิตของเรา
กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน คือว่าง
วันนั้นเราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์” ท่านว่าอย่างนี้
ทีนี้เรายังดูทุกสิ่งทุกอย่างให้ว่างไม่ได้
ดูโลกข้างนอกให้ว่าง
ที่จริงดูโลกข้างนอกให้ว่างยังง่าย
ดูจนเห็นว่าจิตนี้ก็ว่างเสมอด้วยโลกข้างนอก อันนี้ยาก
ต้องค่อยๆ ฝึก
จิตมันจะว่างเสมอกับโลกข้างนอกได้
มันต้องไม่ปรุงแต่ง
ถ้ามันปรุงแต่งขึ้นเมื่อไร
มันก็จะแยกตัวออกจากโลกข้างนอก
มันจะรู้สึกนี้เรา มีน้ำหนักแห่งความเป็นตัวเป็นตน
มีน้ำหนักแห่งความทุกข์ แห่งความปรุงแต่งเกิดขึ้น
แล้วจะรู้สึกอันนี้ส่วนหนึ่ง โลกข้างนอกอีกส่วนหนึ่ง
มี 2 ส่วน
พอมี 2 ส่วนก็มีการเคลื่อนได้
เคลื่อนที่ได้ มันก็เคลื่อนออกไปจับทางนี้ๆ
มีความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
มีเวลา เกิดกาลเวลาเกิดขึ้น
แล้วถ้าจิตทรงอยู่กับจิต ไม่มีเวลา เวลาไม่ปรากฏ
ฉะนั้นเวลาเรามีเวลาเล็กๆ น้อยๆ
เราก็ภาวนาของเราไป
ดูกายได้ก็ดู ดูจิตได้ก็ดู
มันดูได้ตั้งแต่หยาบๆ จนถึงละเอียด
อย่างดูร่างกายหยาบๆ
เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ดูละเอียดขึ้นมา ก็เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า
ดูละเอียดขึ้นไปอีก ก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหว
ร่างกายหยุดนิ่ง ดูไป
จะดูจิตดูใจก็ดูไป เห็นเลยความสุข ความทุกข์
ความดี ความชั่วผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิตแล้วก็ผ่านออกไป
ดูไปเรื่อย มีเวลาเมื่อไรดูเมื่อนั้น
แล้วเราจะเห็นเลย จิตเรานี้ปรุงแต่งทั้งวัน
คอยเรียนคอยรู้ความปรุงแต่งของจิต
เวลาเราเป็นนักปฏิบัติ
เราคิดถึงการปฏิบัติ เราก็ปรุงแต่ง
วางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ
ทำเป็นนิ่งๆ เงียบๆ ทำเป็นเรียบร้อย
ทั้งๆ ที่ตัวจริงเป็นมหาโจร ทำเป็นเรียบร้อย ให้ดูดี
เราไปสร้างภพของนักปฏิบัติ
เวลาเรามีลูก เราจะคุยกับลูก เราก็วางฟอร์ม
เป็นภพของพ่อภพของแม่
เวลาจะคุยกับเมีย เราก็วางฟอร์ม
สร้างภพของสามีขึ้นมาอะไรอย่างนี้
วางฟอร์มตลอด
จะคุยกับลูกน้องก็วางฟอร์มผู้จัดการ
หรือวางฟอร์มหัวหน้ากอง มันวางฟอร์มตลอด
ถ้าเราคอยเรียนคอยรู้
จิตเราปรุงอะไรขึ้นมา เราคอยรู้ไป
ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว
ปรุงภพต่างๆ ภพดีภพชั่วต่างๆ
1
อย่างเวลาใจเราโลภอย่างนี้ เราปรุงภพ
ภพเปรตขึ้นมาในใจ
เวลาใจเรามีความทุกข์ เราปรุงภพของสัตว์นรกขึ้นมา
ใจตกนรกตั้งแต่ตอนนี้แล้ว
เวลาเราคิดถึงการทำบุญทำทานใส่บาตรอะไรนี่
ใจอิ่มเอิบเบิกบานขึ้นมา เราก็เป็นภพในสุคติ นี่ภพ
ภพน้อยๆ หมุนอยู่ในใจเรานี้ทั้งวันเลย
เดี๋ยวก็สร้างภพอย่างโน้น เดี๋ยวก็สร้างภพอย่างนี้
ก็คือ เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว
ตัวภพก็คือตัวความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ เรียกว่าภพ
ภพชนิดนี้เรียกว่า กรรมภพ
จิตมันทำกรรม กรรมของภพก็ตัวพฤติกรรม
ภาษาสมัยนี้ก็คือพฤติกรรม
จิตนี้มีพฤติกรรมตลอดเวลา
มีพฤติกรรมที่ดีบ้าง พฤติกรรมที่เลวบ้าง
ก็คือ เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงเลวอะไรอย่างนี้
1
อ่านมันไปเรื่อย ตามรู้มันไปเรื่อย มันมารยา
รู้ว่ามันมารยา มันวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ
รู้ว่ามันวางฟอร์ม ดูไปเรื่อยๆ เก็บเล็กเก็บน้อย
ดูมันไปเรื่อย ถึงวันหนึ่งก็แจ้งขึ้นมา
ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง
มันเกิดจากตัณหาทั้งสิ้น
1
ปรุงดีหรือปรุงชั่วก็เกิดจากตัณหา
รากของมัน อวิชชามันไกลไป เรายังไม่เห็น เอาไว้ก่อน
ไว้ได้อนาคามีแล้วเรียนเรื่องอวิชชาได้
ยังไม่ถึง เรียนไม่ได้ ไม่รู้เรื่องหรอก ได้แต่คิดเอา
เราดู เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มีรูปธรรม มีนามธรรม
มีการ กระทบอารมณ์
ตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจกระทบความคิด
มีผัสสะ มีอายตนะ แล้วก็มีผัสสะ
พอกระทบอารมณ์ก็เกิดความรู้สึกสุข
ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา
พอมีความสุขเกิดขึ้นก็เริ่มปรุง ปรุงราคะ
มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ปรุง ปรุงโทสะ
บางทีเฉยๆ จับไม่ได้ชัดเจนว่าสุขหรือทุกข์
ก็หลงๆ เผลอๆ เพลินๆ ไป ปรุงโมหะขึ้นมา
ใจเราปรุงแต่งขึ้นมาเรื่อยๆ
คอยรู้ทันความปรุงแต่งของใจไป
พอมีราคะ เราก็สร้างภพของเปรตขึ้นมา
มีโทสะมันก็สร้างภพของสัตว์นรกขึ้นมา
มีโมหะเราก็สร้างภพของสัตว์เดรัจฉานขึ้นมา
สัตว์เดรัจฉานมันเกิดด้วยโมหะ
มันเซ่อๆ ซ่าๆ มันลืมเนื้อลืมตัวไป
2
ค่อยดูๆ ไป ใจเราจากความปรุงแต่งสกปรก
มันจะปรุงแต่งสิ่งที่สะอาดขึ้นๆ
ความปรุงแต่งที่ดีคืออะไร อะไรบ้าง
ศีล สมาธิ ปัญญา คือความปรุงแต่งฝ่ายดี
ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา
เบื้องต้นเราก็ต้องอาศัยอยากปฏิบัติก่อน
อยากดีก่อน แล้วก็ลงมือปฏิบัติไป
ค่อยรู้ทันๆ ใจที่อยากทีหลัง
แต่ว่าพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไปเรื่อยๆ สะสมไป
ถ้าเราไม่สะสมความปรุงแต่งฝ่ายดี
ไม่ยอมสนใจที่จะปรุงดี จิตมันจะปรุงชั่วโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นระหว่างปรุงดีกับปรุงชั่ว ปรุงดีไว้ก่อน
ถึงจะเป็นความจงใจ เป็นความปรุงแต่งก็ปรุงไปก่อน
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อภาวนาตอนเป็นโยม เคยภาวนาผิด
ที่หลวงพ่อมาสอนพวกเราเหยงๆ
สอนมาจากสิ่งที่ตัวเองทำผิดแทบทั้งนั้น
ภาวนาไปเรื่อยๆ เห็นความปรุงนานาชนิด
แล้วถึงวันหนึ่งปัญญามันล้ำหน้า สมาธิ
หลวงพ่อมีจุดอ่อน คือหลวงพ่อทำสมาธิแต่เด็ก
แล้วพอเจอหลวงปู่ดูลย์ มาเจริญปัญญา
หลวงพ่อทิ้งสมาธิเลย ดูถูกสมาธิ
พอมาเจริญปัญญา ปัญญามันล้ำหน้า สมาธิไม่พอ
ไม่สมดุลกัน ก็เห็นเลยว่า
เอ๊ะ ที่เราภาวนาอยู่ จิตเป็นผู้รู้อะไรขึ้นมา
นี่มันความปรุงแต่งทั้งนั้น
นี่ก็ปรุงก็ทิ้ง นี่ก็ปรุง ก็ทิ้งๆๆๆ
สุดท้ายจิตหลุดออกจากการทำกรรมฐานเลย
อ้าว หลุดออกมาอยู่ข้างนอกอย่างนี้ล่ะ
ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว
นี่สำคัญผิด ปัญญามันล้ำ
นี่ก็ไม่เอา นี่ก็ไม่ยึด นั่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่ยึดอะไรอย่างนี้
อย่างที่บางคนชอบ
ชอบนั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึดอะไรอย่างนี้
ต้องยึดไว้ก่อน
ก่อนจะไม่ยึด ต้องยึดไว้ก่อน
ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว มันไม่ยึดของมันเอง
ไม่ใช่เราโน้มนำไปให้ไม่ยึด
บางที่สอนไม่ให้ยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง
มันก็ยึดความคิดว่าจะไม่ยึดนั่นล่ะ
ก็ปรุงความไม่ยึด ปรุงความว่างๆ
ปรุงความว่างๆ เป็นความปรุงแต่งไหม เป็น
เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร
3
ปุญญาภิสังขาร ปรุงดี
อปุญญาภิสังขาร ปรุงไม่ดี
อเนญชาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง อยู่กับความว่างๆ
ฉะนั้นที่บอกว่าจิตว่างๆ ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง
มีชีวิต แหม มีความสุข ถ้าเราดูเป็นเราจะรู้เลย
นี่มันภพๆ หนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่ง
ประกอบด้วยโมหะ ประกอบด้วยความหลงผิด
คิดว่าตัวเองไม่ยึดโน่นไม่ยึดนี่
ถ้าอยู่ๆ คิดว่าไม่ยึด แล้วมันก็ไม่ยึด
ทุกคนเป็นพระอรหันต์หมดแล้วล่ะ
มันทำไม่ได้จริงหรอก
ทำอย่างไรถึงจะไม่ยึด
เห็นทุกข์มันถึงจะไม่ยึด
เราไม่ยึดกาย เพราะเราเห็นว่ากายนี้คือตัวทุกข์
เราไม่ยึดจิต เพราะเราเห็นว่าจิตคือตัวทุกข์
ฉะนั้นเราจะรู้ทุกข์ จนกระทั่งละสมุทัย ละความอยาก
พอละความอยากได้ จิตก็หมดความปรุงแต่ง
จิตก็หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่ง
3
ตรงที่ละความอยากได้ เขาเรียกว่า วิราคะ
พ้นจากความอยาก พ้นจากราคะ
ตรงที่มันหมดจากความปรุงแต่ง เขาเรียก วิสังขาร
1
ตรงที่มันไม่ยึดถืออะไรด้วยสติปัญญาอย่างแท้จริง
เป็นวิมุตติตัวที่สูง วิมุตติ เกิดอริยมรรค อริยผล
หรือจิตสัมผัสพระนิพพานอยู่
มันเป็นผลจากการปฏิบัติ
ที่เราทำมาอย่างหนักหนาสาหัสแล้ว
ไม่ใช่อยู่ๆ ก็นึกว่าไม่ยึดๆ พูดแล้วโก้ดี
1
พวกชอบอ่านหนังสือเซนคิดว่ามันง่ายๆ มันไม่ได้หรอก
ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่ฝึก
มโนเอาอย่างเดียวว่านั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด
เมื่อก่อนก็มีแอบมาสอนอยู่ในนี้
สอนสบายใจ ทำใจว่างๆ เพลินๆ
นอกรีตนอกรอยจากคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทิ้งการรู้ทุกข์ไม่ได้หรอก
ฉะนั้นหลวงพ่อเคยพลาดมาแล้ว
นี่ก็สร้างภพ นี่ก็ภพ นี่ก็ปรุงแต่งไม่เอาๆๆๆ
สุดท้ายจิตหลุดออกมาอยู่กับโลกข้างนอก
กรรมฐานแตกไปเลย ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
ฉะนั้นเราสังเกตตัวเองไป มีเครื่องอยู่ๆ
สังเกตจิตได้ สังเกตจิตไป
เวลาเราอยู่กับเครื่องอยู่
จิตมันจะมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น
มีสุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลายเกิดขึ้น
1
หรือจิตเกิดพฤติกรรมขึ้น มีพฤติกรรม
เช่น จะไปสร้างภพอย่างนั้นภพอย่างนี้
จะไปดูรูป จะไปฟังเสียง จะไปดมกลิ่น จะไปลิ้มรส
จะไปรู้สัมผัสทางกาย ส่งไปส่งมา
ทางใจจิตก็สร้างภพตลอดเวลาเลย
ภพน้อยๆ สร้างตลอด
เดี๋ยวก็ภพเป็นเปรต เดี๋ยวก็เป็นอสุรกาย
เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นมนุษย์
ช่วงไหนที่จิตใจมีศีล 5 ก็เป็นมนุษย์
ช่วงไหนศีลของเราประณีตขึ้นไปอีก
เรามีหิริโอตัปปะ เราก็เป็นเทพ
ช่วงไหนจิตสงบ
ไม่สนใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก
พึงพอใจในความสงบภายใน เราก็เป็นพรหม
นี่ก็สร้างภพของพรหม
มีภพทีไร มีทุกข์ทุกที
เพราะฉะนั้นจิตเวียนสร้างภพน้อยภพใหญ่ด้วยความปรุงแต่งนานาชนิด คอยรู้ไปเรื่อยๆ
ทีแรกรู้หยาบๆ ก็ได้ ตอนนี้เป็นเปรตแล้ว
อยากโน้นอยากนี้แล้ว
ตอนนี้เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วหลงเอาๆ
ฟุ้งซ่านเอาอะไรอย่างนี้ คอยรู้ไปอย่างนี้
ตอนนี้ตกนรกแล้ว กลุ้มใจ จมอยู่กับความทุกข์ รู้ไป
ตอนนี้สบายใจ รู้ไป ตอนนี้สงบ รู้ไป
อ่านภพที่เราสร้างในใจของเราไปเรื่อยๆ นี่ก็ปฏิบัติ
ไม่ใช่ไม่ปฏิบัติ แค่นี้ก็ปฏิบัติแล้ว
คอยรู้ทันความปรุงแต่งหรือตัวภพ
ภพคือความปรุงแต่งของจิต
ตัวสังขารของจิตที่มันปรุง
ฉะนั้นจิตมันสร้างภพน้อยๆ ตลอดวันตลอดคืน
ภพใหญ่ๆ ของเราตอนนี้เป็นมนุษย์
แต่ภพน้อยๆ เราเปลี่ยนตลอดเวลา
เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว สารพัด ดูความเปลี่ยนแปลงไป
แล้วต่อไปจะเห็น มีภพทีไรมีทุกข์ทุกทีเลย
ทันทีที่เราสร้างภพขึ้นมา
เราจะหยิบฉวย อายตนะขึ้นมา
หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าภพนั้นเนื่องด้วยตา เห็นรูปอันนี้แล้วก็ยินดีพอใจ
เป็นเปรต อยากได้รูปนี้ เราจะแอบไปยึดถือตา
แต่ตรงนี้ดูยากๆ ตัวไหนดูยากอย่าเพิ่งไปดูมัน
ตรงที่มันสร้างภพขึ้นมาแล้ว มันจะเกิดชาติ
คือการที่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา
พอมันหยิบฉวยขึ้นมาแล้ว
ภาระมันติดขึ้นมาทันที
เพราะตัวทุกข์ก็คือรูปนาม
ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นล่ะ คือตัวทุกข์
ไม่ใช่ตัวอะไรเลย
อยู่ดีๆ ก็ไปหยิบมันขึ้นมา
คล้ายๆ เห็นถ่านไฟแดงๆ สวยดี ก็ไปหยิบขึ้นมา
ก็ตัวเองทุกข์เอง
เราภาวนา บางช่วงบางเวลา จิตมันวางหมดเลย
มันไม่หยิบฉวยขึ้นมาเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่หยิบเลย กระทั่งตัวจิตเองก็วางจิตลงไป
จิตวางจิตลงไป
แต่ประเดี๋ยวหนึ่งสังขารปรุงต่อ
ก็ไปหยิบเอาจิตคืนมาอีก
สร้างภพขึ้นมาแล้วก็สร้างชาติขึ้นมา
การที่หยิบเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หรือหยิบรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมา
นั่นคือหยิบเอาตัวทุกข์ขึ้นมา
จิตมันจะมีภาระทันทีเลย
จิตมันจะทุกข์ทันทีที่มันหยิบฉวยขึ้นมา
หยิบฉวยรูป มันก็ทุกข์เพราะรูป
หยิบฉวยนาม ก็ทุกข์เพราะนาม
หลวงพ่อเคยภาวนาตอนเป็นโยม
มีอยู่ช่วงหนึ่งจิตมันวางจิตลงไป
เรารู้เลยว่าถ้ามันวางอย่างนี้ แล้วไม่หยิบขึ้นมาอีก
มันไม่มีอะไรจะไปต่อแล้ว แต่ว่าอวิชชาเรายังอยู่
มันวางไปประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวมันก็หยิบขึ้นมาอีก
หยิบแล้วภาวนาไปอีกหลายๆ วันก็วางอีก
วางแล้วก็หยิบๆ อยู่อย่างนี้
วางได้แป๊บหนึ่งก็หยิบๆ ก็สังเกตไปเรื่อยๆ
เอ๊ะ ทำอย่างไรมันจะไม่หยิบ
แล้วเวลาที่มันหยิบขึ้นมา หยิบจิตขึ้นมาแล้ว
มันปล่อยยาก มันไม่ยอมปล่อย ทำอย่างไรก็ไม่ปล่อย
วันหนึ่งได้ข่าวว่าหลวงปู่สุวัจน์ ท่านมาจากอเมริกา มาพักอยู่ที่สวนทิพย์ในซอยวัดกู้ รีบชวนคุณแม่นุชขับรถไป จิตกำลังวางอยู่เชียว จะไปถามท่านว่าวางอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อ
พอขึ้นรถเท่านั้น จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมา
แล้วคราวนี้ตั้งแต่บ้านที่เมืองนนท์เพื่อไปที่ปากเกร็ด
ขับรถไป ไม่ยอมปล่อย ทำอย่างไรก็ไม่ยอมปล่อย
จนกระทั่งรถเข้าซอยวัดกู้ จะถึงที่พักของท่านอยู่แล้ว
จิตก็ถอนใจว่า เฮ้อ มันเป็นอนัตตา
เราสั่งให้มันวาง มันก็ไม่วาง
พอรู้สึกอย่างนี้ รู้สึกว่ามันเป็นอนัตตา
สั่งให้วางมันก็ไม่วาง
พอเห็นตรงนี้ปุ๊บมันวางทันทีเลย ก็ดีใจ
วางทันที่เอาไปให้หลวงปู่ดู จะได้เรียนต่อ
พอเข้าไปถึงก็ไปนั่งรอท่าน ห้องนั้นเล็กนิดเดียว คนเยอะแยะเลย แต่เราก็แทรกๆๆ เข้าไป ไปก่อนชาวบ้านเขา ไปอยู่ข้างหน้า
สักพักใหญ่ๆ พระก็เข็นรถเข็นหลวงปู่มา ท่านเป็นอัมพาต รถคว่ำเป็นอัมพาต เข็นออกมา ก็กราบ ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา มองหลวงพ่อแวบก็ยิ้ม แล้วบอกว่า
“เราภาวนานะ บางทีจิตมันก็ปล่อยวางจิต
มันวางลงไป แล้วมันก็กลับมาหยิบจิตขึ้นมาอีก
พอมันหยิบขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง
พยายามอย่างไร มันก็ไม่วาง
แต่พอเห็นว่ามันเป็นไตรลักษณ์ มันก็วาง”
ท่านพูดอย่างนี้ เรายังไม่ได้พูดสักคำเลย
แล้วท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 กุมภาพันธ์ 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา