10 มี.ค. 2022 เวลา 00:00 • การเมือง
แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม EP.1: คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ
เคยสงสัยไหมว่าโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ทั้งเรื่อง น้ำท่วม น้ำเสีย รถติด ระบบขนส่งสาธารณะ และอื่น ๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมกรุงเทพฯ จึงมีหน้าตาออกมาดังที่เราเห็นในปัจจุบัน
หากลองย้อนไปค้นหาคำตอบนี้ จะพบว่า “ทิศทาง” การการพัฒนาเมืองของกรุงเทพ “มหานคร” มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร’ ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อ 45 ปีก่อน หลังจากที่กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแล้ว 5 คน ในช่วงระยะเวลา 4 ปี
แผนพัฒนากรุงเทพมหานครนี้เปรียบเหมือน ‘แผนแม่บท’ หรือพิมพ์เขียวของผู้มีอำนาจว่าอยากเห็น “เมืองหลวง” แห่งนี้พัฒนาไปทิศทางใด ทว่า อย่าเพิ่งรีบถามว่าใครคือผู้มีอำนาจสูงสูดกำหนดความเป็นไปของมหานครนี้
ขณะเดียวกัน ‘แผนแม่บท’ นี้ ทั้งหน่วยงานและการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นกรอบในการจัดทำ แผนปฏิบัติราชการประจำปี และแผนงบประมาณประจำปี จนกลายเป็น “เมืองอัปลักษณ์” ของคนใช้ชีวิต และ “เมืองสวรรค์” ของคนส่วนน้อย
กล่าวอย่างย่นย่อ จาก พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีแผนพัฒนามาแล้วทั้งหมด 8 ฉบับ เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1-6 ต่อเนื่องมาถึง แผนยุทธศาสตร์กรุงเทพระยะยาว 12 ปี พ.ศ. 2552-2563 และ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575
นำมาสู่คำถามชวนสงสัยต่อไปว่า ดังนั้นแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. ที่คนกรุงโหวตเลือกเข้ามาเพราะถูกอกถูกใจนโยบาย สุดท้ายแล้วจะสามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ได้มากน้อยแค่ไหน หรือสุดท้ายแล้วก็ยังมี ‘กรอบ’ ที่ต้องทำตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครอยู่ดี
The Active ขอเชิญชวนทุกคนมารู้จัก ‘แผนที่’ และ ‘เข็มทิศ’ ผ่านแผนพัฒนาเมืองหลวงทั้ง 8 ฉบับ
ใครเป็นคนกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองหลวง
ก่อนจะมีแผนพัฒนาเป็นของตัวเองนั้น กรุงเทพมหานคร บริหารงานภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และ แผนแม่บทกระทรวงมหาดไทย
แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็น “เมืองหลวง” บริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีสถานะเป็น “องค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษ” พูดอีกแง่หนึ่งคือ กทม. ยังเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ครอบคลุมพื้นที่เมืองเต็มพื้นที่ มีสถานะเป็น “จังหวัด” ในแง่ของพื้นที่การบริหาร แต่ไม่มีโครงสร้างแบบจังหวัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
ทำให้ “ผู้ว่าฯ กทม.” ไม่มีอำนาจเหนือหน่วยงานราชการอื่นในระดับเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัด และมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่ “กำกับดูแล กทม.”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมติคณะรัฐมนตรี สามารถปลดผู้ว่าฯ ​กทม. ได้
แต่ใน “ความเป็นพื้นที่” ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง และเป็นพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ (ไทย) จึงมีปัญหาหลายด้านที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น มีแนวคิดให้มีแผนพัฒนากรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหา เริ่มจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2520-2524) และฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 เป็นแนวทาง ร่วมกับ แผนแม่บทมหาดไทย
จนกระทั่ง แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 3 เป็นต้นมา ถึงได้เริ่มนำนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งมาใช้เป็นแนวทางกำหนดแผนด้วย โดยมี ‘สำนักนโยบายและแผน’ (ปัจจุบันคือสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำ
สำรวจ 3 รูปแบบจัดทำแผนพัฒนา ฯ คนกรุงมีส่วนร่วมแค่ไหน
หากพิจารณาแผนพัฒนากรุงเทพฯ ทั้ง 8 ฉบับแล้ว อาจจำแนกตามกระบวนการจัดทำแผนได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1) จัดทำโดยข้าราชการ กทม. สอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในช่วง 20 ปีแรก แผนพัฒนาฉบับที่ 1-4 (พ.ศ. 2520-2539) การออกแบบการพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านคน ถูกกำหนดโดย คณะกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าฯ กทม. เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและอนุมัติทิศทางของการพัฒนา โดยมี คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแต่ละสาขา ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละแผนพัฒนาจะประกอบด้วย แผนงานย่อย วัตถุประสงค์ และ เป้าหมายย่อย หากย้อนไปดูรายละเอียดของแต่ละแผนพัฒนาฯ จะพบจุดเด่นที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละแผน เช่น
ฉบับที่ 1 เน้นไปที่การพัฒนาชุมชนบริเวณชานเมืองและรอบนอกกรุงเทพฯ
ฉบับที่ 2 เน้นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ของเมือง
ฉบับที่ 3 ให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษ น้ำท่วม รวมถึงสุขอนามัยของประชาชน โดยมีประเด็นสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ปรากฏขึ้นมาโดยเฉพาะในระดับแผนงาน จากที่ฉบับก่อน ๆ เป็นเพียงโครงการย่อย
ฉบับที่ 4 เริ่มพูดถึงเป้าหมายเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส และเรื่องมลพิษทางอากาศและเสียงปรากฏอยู่ในระดับแผนงาน
2) จัดทำโดยข้าราชการ กทม. ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน
จุดเปลี่ยนของการจัดทำแผนพัฒนาฯ เริ่มต้น ในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2540-2544) ด้วยบริบทกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนุญปี 2540 คือเดิมที่ภาคราชการเป็นผู้จัดทำ แต่ฉบับนี้ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมครั้งแรกในการแสดงความคิดเห็น และกำหนดทิศทางผ่านการระดมความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป ด้วยการออกแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านต่าง ๆ
เริ่มจากการจัดสัมมนาเรื่องเมืองน่าอยู่ 1 วัน เพื่อประมวลความคิดเห็นของประชาชนทุกเขต ต่อด้วยการสัมมนาประชาพิจารณ์อีก 1 วัน ให้ตัวแทนประชาชนวิจารณ์ร่างแผนพัฒนาที่กรุงเทพมหานคร จัดทำขึ้น
ทว่า บทบาทของประชาชนก็ยังถูกจำกัดอยู่เพียงแค่เป็น “ผู้ให้ความเห็น” ต่อแผนที่หน่วยงานรัฐร่างไว้ก่อนเท่านั้น ยิ่งหากพิจารณาเนื้อหาในแผนฉบับที่ 5 นั้น จะพบว่ามีแผนงานในประเด็นต่าง ๆ ที่แทบไม่แตกต่างจากแผนฉบับที่ 4
บทบาทของประชาชนเริ่มมีขึ้นในขั้นตอนการจัดทำแผนฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2545-2549) โดยผู้จัดทำเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชน เอกชน และราชการ มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นและจัดทำแผนทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ตลอดจนการร่วมตรวจร่างแผน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการพัฒนากรุงเทพฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้
แผนพัฒนาฉบับนี้มีลักษณะที่เป็นแผนยุทธศาสตร์มากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ และเริ่มมีประเด็นเรื่องการท่องเที่ยว การกีฬาและเทคโนโลยีสารสนเทศปรากฏขึ้นมาในระดับแผนงานเป็นครั้งแรกในแผนฉบับนี้อีกด้วย
3) จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
แผนพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะหลัง ถูกขยายกรอบเวลาให้นานขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปี ทั้งแผนยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ ระยะยาว 12 ปี (พ.ศ. 2552-2563) ที่อยู่ภายใต้เป้าหมาย ‘มหานครน่าอยู่อย่างยั่งยืน’ แบ่งช่วงการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ระยะละ 4 ปี ตามวาระของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในกระบวนการจัดทำแผน คณะกรรมการกํากับนโยบายการจัดทําแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552-2555 ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครให้กําหนดวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพฯ ในระยะยาว 12 ปี จากนั้น จึงนำแผนฉบับร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และพัฒนาเป็นแผนฉบับสมบูรณ์ระยะยาว 12 ปี
ไม่นานก็มีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ซ้อนขึ้นมา ด้วย เป้าหมายเป็น ‘มหานครของเอเชีย’ ซึ่งจัดทำโดยคณะที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการทำงานร่วมกับข้าราชการกรุงเทพมหานครและรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาชน
หลังการประกาศใช้แผนได้ไม่นาน กรุงเทพมหานคร ได้ปรับปรุงแนวทางเป็น แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) หรือ ฉบับปรับปรุง ด้วยเหตุผลว่า “เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน” ภายใต้กรอบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และ สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเข้าไว้ด้วยตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561
แต่การจัดทำแผนฉบับนี้จำกัดอยู่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ทั้งการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องและการรับฟังความเห็นจากข้าราชการ แต่ระบุว่ามีการฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยก็ตาม
กล่าวโดยสรุป ทิศทางการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานของ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีข้อจำกัด ทั้งขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังเป็นเพียงขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นมากกว่าการร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ประเด็นรายละเอียด รวมทั้งเรื่องระยะเวลาที่สั้นมาก
แต่สิ่งสำคัญคือจะมีช่องทางให้คนกรุงสามารถเสนอความคิด และข้อเสนอแนะ ร่วมพัฒนาถิ่นที่อยู่ของตัวเองได้หรือไม่
บทบาทของผู้ว่าฯ กทม. ในการกำหนดทิศทางผ่านแผนพัฒนากรุงเทพฯ
จนถึงปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว 16 คน และมีแผนพัฒนากรุงเทพฯ 8 ฉบับ ผู้ว่าฯ ที่มีโอกาสได้ใช้แผนพัฒนากรุงเทพฯ คนแรก คือ ชลอ ธรรมศิริ
เป็นที่น่าสังเกตว่าจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ แต่ละฉบับ มีทั้งผู้ว่าฯ ที่เป็นเพียงแค่ผู้ปฏิบัติตามแผน บางคนได้มีส่วนร่วมและใช้แผนพัฒนาในช่วงเวลาที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่ ในขณะที่ผู้ว่าฯ บางคนดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการร่างแผนที่จะใช้ดำเนินการในระยะต่อไป แต่หมดวาระก่อนที่จะได้ทันใช้แผนพัฒนาดังกล่าว
อีกทั้งพบว่า ผู้ว่าฯ ที่ได้ใช้แผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ตนเองลงนาม มีเพียงแค่ 4 คน คือ
1) ชลอ ธรรมศิริ ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2520-2522 ในช่วงที่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2520-2524) ประกาศใช้
2) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2528-2532 และ 2533-2535 ในช่วงที่แผนพัฒนาฉบับที่ 2 (พ.ศ.2525-2539) และ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2530-2534) ประกาศใช้
3) พิจิตต รัตตกุล ดำรงตำแหน่งระหว่าง 2539-2543 ในช่วงที่แผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ.2540-2544)ประกาศใช้
4) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2552-2556 ในช่วงที่แผนพัฒนา 20 ปี ประกาศใช้
จากข้อมูลจะเห็นว่า แผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี บางฉบับเช่น ฉบับที่ 1 มีผู้ว่าฯ 2 คนคือ ชลอ ธรรมศิริ และ เชาวน์วัศ สุดอาภา บริหารภายใต้แผนเดียวกัน ส่วนฉบับที่ 4 มี ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าฯ คนเดียวของแผนฉบับนี้
ขณะที่การบริหารงาน กทม. ภายใต้ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2551 ไม่มีแผนพัฒนากรุงเทพฯ ใช้เป็นแนวทางในการบริหาร เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ส่วนราชการทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับแผนการบริหารราชแผ่นดิน จากนั้น จึงเริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพระยะยาว 12 ปี
ต่อมาในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีการจัดทำและประกาศใช้แผนพัฒนาระยะ 20 ปี ในช่วงเวลาซ้อนกับแผนระยะ 12 ปีด้วย ซึ่งแผน 20 ปีใช้มาจนถึงยุคของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน
แต่สิงที่น่าสนใจคือ ในยุคของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (ก) มีการปรับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2561 เปิดเป็นแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ.2561-2565) เพื่อปรับตัวชี้วัดให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้ และ (ข) มีการประกาศวาระแผนพัฒนาประจำปี 2561 หรือนโยบาย NOW ภายใต้แนวคิด “ทำจริง เห็นผลจริง” ออกมา ซึ่งเป็นการหยิบเอาประเด็นต่าง ๆ ของแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำปีของ กทม. และแนวนโยบายของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เองมาปรับใช้
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า มีผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร น้อยคนที่จะมีโอกาสได้ใช้แผนพัฒนาที่ตนเองมีส่วนร่วมในการร่างแผน โดยส่วนใหญ่นั้นมักจะอยู่ภายใต้แผนพัฒนาที่มีอยู่แล้ว และหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าฯ คนใหม่อาจจะต้องทำงานภายใต้แผนพัฒนาระยะยาว 20 ปีที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
คำถามคือผู้ว่าฯ คนใหม่จะผนวกนโยบายที่ตนเองได้หาเสียงไปภายใต้แผนพัฒนาที่ตนเองไม่ได้มีส่วนในการทำแผนอย่างไร
โปรดติดตามตอนต่อไป ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม
ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม เป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง "การพัฒนาแพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย (2563) บนเว็บไซต์: กรณีศึกษาและการประยุกต์ใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร" ภายใต้โครงการจับตาสถานการณ์และความรู้ด้านการพัฒนาประชาธิปไตย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า. ธันวาคม 2563.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา