เปลี่ยน Voters ให้เป็น Active Citizens ไปกับ The Active ร่วมติดตามเนื้อหาและเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ผ่านเว็บไซต์ https://theactive.net/ และ www.thaipbs.or.th/BKKelection65 #ปลุกกรุงเทพฯ #เปลี่ยนเมืองใหญ่ #เลือกตั้งผู้ว่าฯ65
“ทำไมการใช้ชีวิตในเมืองต้องจ่ายแพง” คำถามเชื่อมประสบการณ์ของใครหลายคนกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ “หัวลำโพง” หรือ สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่เป็นทั้งต้นสายและปลายทางของหลายชีวิต โดยเฉพาะ “คนจนเมือง” ซึ่งมีต้นทุนสำคัญอย่างน้อยสองเรื่อง คือ ค่าเดินทางและค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งน่าสนใจว่า ต้นทุนสองสิ่งนี้สัมพันธ์กันผ่านอาชีพและการใช้ชีวิตของพวกเขาในมหานคร The Active ชวนเดินทางจากในกลางมหานคร สู่ประสบการณ์การพัฒนาเมืองทั่วโลก ว่าหากจะทำให้แนวคิด “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง” เกิดขึ้นได้จริงใน “กรุงเทพมหานคร” และเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากบทเรียนการพัฒนา “มหานคร” ทั่วโลก
The Active ทบทวนนโยบายรัฐบาลในอดีต ที่เคยพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนมานานกว่า 5 ทศวรรษ ผ่านการประกาศนโยบายแก้จนอย่างชัดเจน แต่เมื่อนำมาวิเคราะห์กับชี้วัด สัดส่วนรายได้ของประชากร อาจสะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วการแก้ปัญหา “คนจน” นั้นสำเร็จหรือไม่ แล้วอะไรคือจุดตั้งต้นใหม่ที่ยังไม่สายเกินแก้ จากการเสนอแนะเชิงนโยบายจากภาควิชาการ
เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายปี “ข้าวและชาวนา” กลายเป็นประเด็นร้อนให้สังคมถกเถียงทุกปี บ้างเป็นข้อเท็จจริง บ้างเป็นมายาคติของคนกินข้าวที่มีต่อคนปลูกข้าว เพราะนอกจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังต่อ ๆ กันมาว่า “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” ยังมีมายาคติอีกมากที่ยากจะทำความเข้าใจ หากไม่ได้เข้าไปอยู่ในวังวนของเกษตรกรในไร่นา และอุตสาหกรรมส่งออกข้าว “รัฐแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือชาวนาอย่างไรบ้าง?” ที่ผ่านมา, ทุกรัฐบาล ภาพของชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกหรือภัยพิบัติ ทั้ง แล้ง ท่วม และศัตรูพืช ทว่า ปีนี้ชาวนาไทยถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระบาด ทั้งการขนส่ง – ส่งออกข้าวหยุดชะงัก การบริโภคในประเทศลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ราคาข้าวเปลือกกิโลกรัมหนึ่งถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลายเป็นความทุกข์ร่วมของสังคม พร้อมตั้งคำถามว่าชาวนานั้นได้รับการดูแลจากรัฐอย่างถูกที่ถูกทางหรือไม่? ขณะเดียวกัน เราก็พอจะได้เห็นภาพของชาวนาและเกษตรกรที่ลืมตาอ้าปากได้ บางคนเป็นชาวนาตัวอย่าง บางคนเป็นชาวนาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังปรับตัวและได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แต่ “โมเดล” เหล่านั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะสะท้อนภาพชีวิตของชาวนาที่มีอยู่กว่า 4.5 ล้านครัวเรือนได้ทั้งหมด จริงอยู่ว่า “ข้าว” เป็น 1 ใน 5 สินค้าเกษตรของไทย ที่ได้รับการประกันราคาสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับ ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่นอกจากนโยบายด้านราคาแล้ว ที่ผ่านมา ภาครัฐก็มีนโยบายอีกจำนวนมาก เพื่อมุ่งให้ข้าวเป็นจุดแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารของไทยและของโลก แต่นอกจากการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในตลาดโลกแล้ว การทำให้ “ชาวนา” ทั้งความหมายแบบเดิม และ “ชาวนา” ที่หมายถึงผู้ประกอบการและแรงงานในแปลงนารุ่นใหม่ ได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี “นโยบายภาคการเกษตรของไทย” ควรเดินต่อไปในทิศทางไหน The Active พยายามอธิบายความซับซ้อนของปัญหาข้าวและชาวนาไทย และรวบรวมข้อเสนอจากหลายแหล่ง เพื่อประมวลให้ประชาชนร่วมทำความเข้าใจว่าหากภาคการเกษตรของไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น มีทางเลือกแบบไหนบ้าง
เมื่อโรคระบาดทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อคุมระบาดภายในประเทศ ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว (Supply Chain) ทั้งนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ แรงงาน และชุมชน ฯลฯ ที่เคยพึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวเป็นหลัก “แทบไปไม่เป็น” ที่จริงแล้ว แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่หลังประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม Earth Summit ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งมีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Agenda 21) เมื่อปี 2535 ส่งผลให้ไทยเริ่มทำการศึกษาความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวตามแนวทางนี้ และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปี 2540 ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายการท่องเที่ยวเพื่อรักษาระบบนิเวศ และในปี 2546 มีการจัดตั้ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว ให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่เชิงคุณภาพ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พยายามนำเสนอข้อมูลเป็นทางเลือก รวมถึงการสร้างแคมเปญด้านการท่องเที่ยวชุมชน แต่เมื่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น หลายธุรกิจมีผลประกอบการกลายเป็นศูนย์ และส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ The Active ชวนดูโมเดลการท่องเที่ยวทางเลือก ในวันที่ประเทศไทยต้องนับหนึ่งอีกครั้งหลังเปิดประเทศ และยังตั้งเป้าว่า ภาคการท่องเที่ยว จะยังเป็นความหวังและเครื่องมือสำคัญในการฟื้นคืนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นอีกครั้ง