Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
16 มี.ค. 2022 เวลา 02:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 20
*** โอเมก้า-3 ***
เดี๋ยวนี้ในโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริมต่างๆ เราจะได้ยินคำว่า “โอเมก้า-3 (Omega-3)” กันบ่อยครั้ง
ขณะที่ในอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็กก็จะได้ยินคำว่า “ดีเอชเอ (DHA)” บ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคำว่า “น้ำมันปลา” และ “น้ำมันตับปลา” อีกด้วย ที่มักจะโผล่มาใกล้ๆ กับคำทั้งคู่นี้
หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าอันที่จริงแล้ว โอเมก้า-3 กับดีเอชเอเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด
แต่ที่สำคัญกว่านั้นและน่าจะทำความรู้จักกัน เพราะอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญก็คือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ พวกนี้ที่อ้างกันว่ามีสารเหล่านี้แล้วให้ผลดีต่างๆ อย่างที่กล่าวถึงได้จริงหรือไม่ และหากต้องการรับประทาน จะมีข้อควรระวังอะไรบ้าง มาสำรวจกันดูสักหน่อยครับ
ปลาหลายขนิด โดยเฉพาะแซลมอน มักจะใช้อ้างอิงเรื่องอาหารเพิ่มโอเมก้า-3. Photo by Toa Heftiba on Unsplash
* ดีเอชเอ เป็น โอเมกา-3 ชนิดหนึ่ง *
ถ้ายังจำสมัยเรียนหนังสือตอนเด็กๆ กันได้ นอกจากวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ แล้ว จะมีสารอาหารหลักที่เราต้องกินคือ คาร์โบไฮเดรต (ในแป้งและน้ำตาล) โปรตีน (ในเนื้อสัตว์และพืชบางชนิด) และไขมัน (ในไขและน้ำมันของสัตว์และพืช)
โอเมก้า-3 อยู่กลุ่มสุดท้ายนี่เองครับ
โอเมก้า-3 เป็น กรดไขมัน (fatty acid) ที่พบมากในปลาทะเล แต่ก็มีส่วนหนึ่งในน้ำมันพืชด้วย
ดังนั้น ท่านที่พยายามหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมัน ก็ได้โปรดทราบว่าไขมันบางอย่างก็มีประโยชน์เช่นกันนะครับ
โอเมก้า-3 แบ่งออกตามโครงสร้างเป็น 3 แบบหลักๆ คือ
[1] กรดแอลฟา-ลิโนเลนิก (alpha-linolenic acid)
[2] กรดไอโคสะเพนทาอีโนอิก (eicosapentaenoic acid) และ
[3] กรดโดโคสะเฮกซาอีโนอิก (docosahexaenoic acid)
ซึ่งทั้ง 3 ชื่อนี้ หากต้องเรียกชื่อเต็มกันตลอดคงต้องมีอาการประสาทรับประทานของผู้เกี่ยวข้องเป็นแน่แท้
คนในวงการก็เลยย่อเป็น ALA, EPA และ DHA ตามลำดับ
โอเมก้า-3 แบบเม็ด ก็เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน. Photo by Michele Blackwell on Unsplash
ในกรดโอเมก้า-3 ทั้งสามชนิดนี้ ALA เป็นพวกเดียวที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นเองไม่ได้เลย จึงต้องได้รับจากการกินอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น
นอกจากโอเม้กา-3 ทั้งสามชนิดข้างต้นนี้ ยังมีโอเมก้า-3 แบบอื่นๆ ที่พบไม่บ่อยอีกหลายชนิดนะครับ
จึงสรุปได้ง่ายๆ ว่า ดีเอชเอ ก็คือ โอเมกา-3 แบบหนึ่งที่พบมากในปลาทะเลและหอยทะเลชนิดต่างๆ นั่นเอง
โครงสร้างเคมีของดีเอชเอที่เป็นโอเมก้า-3 แบบหนึ่ง . ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Omega-3_fatty_acid
ความที่กรดโอเมกา-3 มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย เช่น การทำงานของกล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด การย่อยอาหาร การแบ่งตัวของเซลล์ และการเจริญเติบโต ตลอดไปจนถึงความสามารถในการผสมพันธุ์หรือมีลูก จึงมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอยู่มากทีเดียว
อ้อ เลข 3 ในชื่อ โอเมก้า-3 เป็นการระบุตำแหน่งพันธะคู่ทางเคมีของโครงสร้างของมัน
จึงอาจพบเจอโอเมก้า-6 และโอเมก้า-9 ได้ด้วย
ฉะนั้น หากต้องการเขียนชื่อให้ถูกต้องทางวิชาการ ก็ต้องเขียนว่า “โอเมก้า-3” เสมอนะครับ คือมีขีดคั่นกลางระหว่างชื่อกับตัวเลข
ตอนหน้าจะมาดูกันว่า ที่อวดอ้างกันเรื่องสรรพคุณของโอเมก้า-3 นั่น มีความจริงปนอยู่มากน้อยแค่ไหน
โอเมก้า3
omega3
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย