21 มี.ค. 2022 เวลา 01:01 • ไลฟ์สไตล์
“ละอคติในใจต่อผู้อื่น ได้อย่างไร ?”
“ … ก็ทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
นั่นคือคุณสมบัติของผู้ที่มีใจอ่อนโยนนั่นเองนะ
ทุกคน …
ไม่มีใครหรอกอยากที่จะทำความชั่ว
อยากที่จะเป็นคนไม่ดี
เนื้อแท้แล้วทุกคน ก็อยากจะเป็นคนดี
อยากเป็นคนที่มีความสุขทั้งนั้นแหละ
แต่เพราะความหลงเข้าครอบงำจิตใจ
ก็จึงหลงไปกับสิ่งต่าง ๆ นั่นเองนะ
ถูกวิบากกรรม
ถูกแรงกดดันต่าง ๆ บีบเค้น
ทำให้หลงไป
ทำสิ่งที่ผิดพลาดไปนั่นเอง
ถ้าเรามีความเข้าใจ เราวางใจได้ถูก
เราจะรู้สึก … ไม่รู้สึกโกรธ หรือรู้สึกเกลียดชังเขาเลย
เราจะเข้าใจ พร้อมที่จะให้อภัย
ตรงกันข้าม เรากลับรู้สึกสงสารเขาว่า
ถ้าเขาหลงแบบนี้ โทษภัยที่เขาต้องได้รับ
มันสาหัสสากรรจ์ทีเดียว
ถ้าอย่างไร ถ้าเขาสามารถหลุดจากความหลงนั้นได้
หลุดจากทำสิ่งที่ไม่ดีนั้นได้
ตัวเขาก็จะได้เบาสบายลง
จิตใจแทนที่เราจะไปโกรธ ไปรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์เขา
เราจะรู้สึกเข้าใจ รู้สึกให้อภัย รู้สึกเห็นอกเห็นใจ
1
ไม่มีใครหรอก ที่อยากจะเป็นคนไม่ดี
ตัวเราเองก็เช่นกัน
นึกถึงตัวเอง
ถ้าเราเคยเป็นช่วงเวลาที่เราทำสิ่งที่ไม่ดีไว้
จากอะไรล่ะ ? ทำไมเราถึงทำสิ่งที่ไม่ดีไว้ ?
มันมีแรงบีบคั้นจิตใจ
มันทำให้เราหลงทำสิ่งที่ไม่ดีไว้
เมื่อเรานึกย้อนไป เราก็รู้สึกเสียใจ
ว่าทำไมเราถึงทำสิ่งที่ไม่ดีไว้
คนอื่นเขาก็เช่นกัน
ไม่มีใครหรอกที่อยากจะเป็นคนไม่ดี
ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เข้าอกเข้าใจกัน
เราจะไม่โกรธใครเลย
มีแต่ความเอื้ออารี มีแต่ความสงสาร
มีแต่ความเกื้อกูลนั่นเองนะ
คุณสมบัติตรงนี้มันจะเกิด เมื่อใจเรามีความอ่อนโยนนั่นเอง
ซึ่งความอ่อนโยน เป็นสิ่งที่สามารถเพาะบ่มได้
ด้วยการ … ความเอาใจใส่
ความเห็นอกเห็นใจ
ใจเขาใจเรานั่นเองนะ
ค่อย ๆ ฝึกหัดไป
เพราะจิตใจที่อ่อนโยนนี่แหละ
ควรที่จะเป็นพื้นฐานของทุกดวงจิตในวัฏสงสารนี้
ถ้าเรามีจิตใจที่อ่อนโยนเสียแล้ว
คิดดี พูดดี ทำดี ก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมชาติ
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย แต่คนดีทำได้ยาก
ส่วนความดี คนชั่วรู้สึกทำได้ยาก
คนที่ตระหนี่มาก ๆ
ถ้าจะรู้สึกว่าจะให้ทานแบ่งปัน มันทำยาก
แต่ความดี คนดีรู้สึกว่าทำได้ง่ายนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีจิตใจที่อ่อนโยนเสียแล้ว
ความคิดดีก็เกิดขึ้น ความรู้สึกดี ๆ ก็เกิดขึ้น
คิดดี ทำดี พูดดี
ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเพาะบ่ม
จิตใจที่อ่อนโยน
จิตใจที่ดีงามไว้ เป็นพื้นฐานไว้
และคุณลักษณ์ตรงนี้แหละ
ที่จะสามารถกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
ความอ่อนโยนนั้นมีตั้งแต่ระดับเบื้องต้น ระดับท่ามกลาง แล้วก็ระดับที่สุด
  • ระดับเบื้องต้น
เราสามารถเพาะบ่มได้ ด้วยความเอาใจใส่
เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน
จนมีจิตใจที่อ่อนโยน จิตใจที่ดีงามขึ้น
  • ระดับท่ามกลาง
ก็คือ การที่เราเข้าถึงสภาวธรรม
จนสามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นแก่นแท้แห่งตน
ที่เรียกว่า “จิตประภัสสร” ได้
เนื้อแท้ของทุกคนนั้นคือ จิตประภัสสร
ก็คือ ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั่นเอง
คุณลักษณ์ของจิตประภัสสร คือ ความอ่อนโยนนั่นเอง
พระอริยบุคคลทุก ๆ ท่าน
ล้วนเป็นผู้ที่มีจิตใจที่อ่อนโยน ทั้งหมดทั้งสิ้นเลย
เป็นความอ่อนโยนที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น
เข้าถึงสิ่งที่เป็นแก่นแท้แห่งตนแล้วนั่นเอง
ก็คือ การเข้าถึงจิตประภัสสร
เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคล
จึงเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ
เป็นวิถี เป็นธรรมชาติของท่านเหล่านั้นเลย
พระอริยบุคคลจึงเป็นผู้ที่ยินดีในการให้ทานโดยธรรมชาติ
ที่เรียกว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายมือชุ่มด้วยการให้
ด้วยการสละออก ด้วยการแบ่งปัน ด้วยการเกื้อกูล
เพราะว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจที่ดีงามโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
เพราะว่าเนื้อแท้ของจิตประภัสสร
คุณลักษณ์ก็คือ ความอ่อนโยน นั่นเอง
แล้วเราจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้
ถ้าใจเราไม่อ่อนโยน เราจะเข้าถึงได้อย่างไร ?
ต้องมีใจอ่อนโยนก่อน
ถึงจะเข้าถึงคุณลักษณ์ที่เรียกว่า จิตอ่อนโยน
แล้วจะนำไปสู่การเข้าถึง …​
  • ความอ่อนโยนในระดับที่สุด
ก็คือ การกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาตินั่นเอง
เนื้อแท้ของธรรมชาติ มีความอ่อนโยนอย่างถึงที่สุดเลย
เราจะเข้าถึงความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงได้
มันต้องเป็นสิ่งที่มีคุณลักษณ์เดียวกัน
ถ้าจิตใจเราแข็งกระด้าง มันจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามออกไป
แล้วโทษภัยก็จะตามมามาก
แต่ถ้าเรามีจิตใจที่อ่อนโยนนี่แหละ
มันก็จะเป็นคุณลักษณ์เดียวกัน
ที่จะทำให้เราสามารถ
คืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
ความเป็นกลางนั้นมันเป็นเรื่องของผล
และเนื้อแท้ของความเป็นกลาง
ธรรมชาติเต็มไปด้วยความอ่อนโยนนั่นเอง … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา