Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ฆรีเอติวิถี ตอน 5
ทำไมเราล้างความคิดเก่าออกได้ยากมาก?
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
เมื่อผู้กำกับใหญ่ เดวิด ลีน ทำหนังพีเรียดฉากปฏิวัติรัสเซียเรื่อง Dr. Zhivago เขาไปหา มัวริส จาร์ ให้ช่วยทำดนตรีประกอบ เขาอยากได้ธีมสำหรับนางเอกของเรื่องชื่อ Lara แสดงโดย จูลี คริสตี
2
มัวริส จาร์ เป็นนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส เป็นเซียนคนหนึ่งในวงการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ มีผลงานเช่น Lawrence of Arabia, The Train, Witness, Ghost, Dead Poets Society เป็นต้น เขาทำงานคู่กับ เดวิด ลีน มาหลายเรื่อง
มัวริส จาร์ หายไปไม่นานก็กลับมาพร้อมดนตรีบทหนึ่ง เดวิด ลีน ฟังแล้วบอกว่า “ผมว่าคุณทำได้ดีกว่านี้นะ”
คนแต่งเพลงกลับบ้านไปทำงาน แล้วนำงานใหม่ไปเสนอ
ผู้กำกับชาวอังกฤษฟังแล้วก็บอกสั้นๆ ว่า “เศร้าไป”
นักแต่งเพลงกลับบ้านไปทำงาน แล้วนำงานไปเสนอ เดวิด ลีน วิจารณ์ว่า “เร็วไป”
1
หลังจากผู้กำกับใหญ่ยิงงานตกไปหลายครั้ง คนแต่งเพลงก็เริ่มเครียด เกิดอาการเกร็ง คิดอะไรไม่ออก เดวิด ลีน จึงบอกว่า “ลืมเรื่อง ดร. ชิวาโก ลืมเรื่องหนัง ลืมตัวละครทั้งหมด อาทิตย์นี้คุณไปเที่ยวภูเขากับแฟนคุณ พออารมณ์ดีๆ ก็แต่งเพลงสักเพลงให้เธอ แต่งเพลงให้แฟนนะ ไม่ใช่แต่งเพลงให้หนังของผม”
อาทิตย์ต่อมา มัวริส จาร์ กลับมาจากภูเขาพร้อมเพลงที่แต่งให้แฟน เดวิด ลีน ฟัง แล้วบอกว่า “ใช่เลย”
1
เป็นที่มาของ Lara’s Theme ต่อมาใส่เนื้อเข้าไปเป็นเพลง Somewhere My Love ฮิตระเบิดไปทั่วโลก
1
เดวิด ลีน รู้ว่า หากปล่อยให้คนแต่งเพลงทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่ได้งาน เพราะหัวของคนแต่งเพลงยังมีของเดิมอยู่ ต้องล้างสมองก่อน และเริ่มต้นใหม่
3
นี่ก็ตรงกับนิทานเซนที่แพร่หลายมากเรื่องนี้ :
ครั้งหนึ่งในสมัยเมจิแห่งญี่ปุ่น อาจารย์เซนนาม นันอิน มีโอกาสต้อนรับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มาขอคำแนะนำเรื่องเซน ทั้งสองสนทนาธรรมกันในห้องดื่มชา
1
ปรมาจารย์นันอินอธิบายเรื่องเซนให้แขกฟัง แต่ไม่ว่าพูดอย่างไร แขกที่มาเยือนก็แย้งกลับเสมอ ปรมาจารย์นันอินไม่พูดอะไร เพียงรินชาใส่ถ้วยของแขกผู้นั้นจนชาล้นถ้วย แต่ก็ยังคงรินต่อไปจนนองโต๊ะ
1
อาจารย์ท่านนั้นอดรนทนไม่ไหว เอ่ยว่า “ชาล้นถ้วยแล้ว ไม่มีอะไรที่เข้าไปได้อีก”
2
ปรมาจารย์เซนกล่าวยิ้มๆ “ใจของท่านก็เต็มไปด้วยหลักการต่างๆ อาตมาจะแสดงหลักเซนให้ท่านรู้ได้อย่างไรเล่า หากท่านไม่ทำ ‘ถ้วย’ ของท่านให้ว่างลงก่อน”
2
จะเห็นว่าจะออกจากกรอบคิดเดิม สิ่งแรกอาจคือการ ‘ล้างสมอง’
ล้างสมองในที่นี้หมายความตรงคำ คือการลบข้อมูลเก่าออกไปก่อน เพื่อเปิดพื้นที่ให้คิดทางเลือกใหม่ได้
6
นิยายบางเรื่องของกิมย้ง อาจารย์สอนศิษย์ให้เรียนเคล็ดวิชาแล้วลืมให้หมด เพื่อที่จะก้าวสู่มรรคาใหม่
2
ในวงการสร้างสรรค์ก็เป็นเช่นนี้
การสร้างทางสายใหม่ทำไม่ได้หากไม่มองออกนอกเส้นทางเดิม
บางครั้งจะสร้างบ้านใหม่ ก็ต้องรื้อหลังเก่าออกก่อน
1
เมื่อทางสายเดิมไม่สามารถพาเราไปไหนหรือพาเรากลับไปที่จุดเดิม ก็แผ้วถางสร้างทางสายใหม่
พูดง่ายๆ คือ เลิกคิดว่า “ไม่มีทาง” แต่จงคิดใหม่ว่า “จะสร้างทางใหม่ได้อย่างไร”
1
นี่มิได้บอกว่าชาเก่าเลวร้าย ต้องเททิ้ง เพียงบอกว่าหากจะได้ชาใหม่ ต้องเทชาเก่าทิ้ง
‘ใหม่’ อาจจะไม่ ‘ดี’ กว่าเก่า แต่ที่แน่ๆ คือมันใหม่กว่า
1
ในวงการสร้างสรรค์ที่ต้องการไอเดียหลากหลาย การเทชาเก่าทิ้งสำคัญอย่างยิ่ง
1
ทว่าการ ‘เทชาทิ้ง’ ทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องฝึกฝนเช่นกัน
2
สมัยผมเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ งานยากที่สุดคือการลบความคิดเก่าออก เป็นความทรมานอย่างยิ่งที่ฉีกแบบเก่าทิ้งแล้ว ออกแบบใหม่ทีไร ก็ได้แบบเดิม
เมื่อทำงานสายโฆษณาและเขียนหนังสือก็พบประสบการณ์เดียวกัน อาการ ‘พายเรือในอ่าง’ เกิดขึ้นเนืองๆ คิดอะไรใหม่มาก็เหมือนของเก่าที่ไม่ดีพอ เหตุผลเพราะความคิดเก่ายังคาในหัว เหมือนชงชาใส่ถ้วยที่ยังมีกาแฟเหลืออยู่
2
จึงพบสัจธรรมว่า การใส่ความคิดใหม่เข้าไปในหัวกระทำได้เมื่อหัวว่างจากความคิดเก่าก่อน
คนทำงานสร้างสรรค์หรือคนที่ต้องการสร้างทางใหม่หรือคิดค้นของใหม่ต้องรู้จักเทน้ำชาในหัวให้ถ้วยว่าง และต้องรู้ว่าเมื่อไรน้ำชายังเต็มถ้วยอยู่ ต้องหาวิธีเรียนรู้การจัดการล้างสมองให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเหนื่อยและไม่ได้งานด้วย
2
การล้างสมองหรือ ‘เทน้ำชาทิ้ง’ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางคนใช้เวลาหนึ่งวัน บางคนอาจต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์เพื่อที่จะลืมความคิดเก่า แต่โลกของพาณิชย์ศิลป์ไม่อนุญาตให้มีเวลารอนานขนาดนั้น (หนึ่งวันถือว่ายาวนานมาก!) คนทำงานต้องฝึกที่จะล้างสมองให้ว่างโดยเร็วที่สุด
1
เหตุผลที่การล้างสมองทำได้ยากมีหลายข้อ
1 เราคิดมาเพียงไอเดียเดียว
2 เราคิดโดยใช้ pre-conceived ideas
โทษของการคิดงานออกมาแค่ไอเดียเดียวใหญ่หลวงนัก! เพราะเมื่อมันถูกยิงตก ก็ไปต่อไม่พ้นจากพื้นที่ของไอเดียเดิม
เหตุที่คิดมาแค่ไอเดียเดียวก็เพราะอีโก้ของคนออกแบบนั่นเอง เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นไอเดียสุดยอดประเภท ‘คิดได้ไง’ เมื่อไอเดียนั้นถูกยิงตก ก็เกิดอาการเมา ไปต่อไม่ถูก
2
คนส่วนใหญ่ในวงการงานสร้างสรรค์มักเคยพบพานประสบการณ์ที่เมื่อคิดไอเดียหนึ่งแล้วเกิดอาการพลุ่งพล่าน รู้สึกว่ามันเป็นไอเดียดีเหลือเกิน ทำไมเราเก่งอย่างนี้นะ! แต่พอผ่านไปสามวันเจ็ดวัน มาดูไอเดียนั้นใหม่ กลับเห็นว่ามันธรรมดามาก
7
ผมเองก็เป็นอย่างนี้บ่อยๆ จึงบอกนักอยากเขียนทั้งหลายว่าอย่ารีบร้อน เขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยายเสร็จแล้ว ก็เก็บงานไว้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อมาอ่านใหม่สักหลายเดือนต่อมา อาจเปลี่ยนใจบ่นกับตัวเองว่า “เราเขียนเรื่องห่วยขนาดนี้ได้ยังไงนะ”
2
นี่เป็นธรรมชาติของสมองเรา ระหว่างที่คิดไอเดียหนึ่ง ความคิดไปจับที่ด้านดีของไอเดียนั้น ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่าดี ผ่านไปหลายวันเมื่อได้สติแล้ว ก็ค่อยมองเห็นภาพจริงว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่รู้สึก
ดังนั้นเวลาคิดไอเดีย คิดไว้หลายๆ ทาง หลายๆ ไอเดีย หลายๆ แนว ไม่ต้องกลัวเปลืองสมอง
3
อีกเหตุผลหนึ่งที่ล้างสมองยากคือการจมอยู่กับ pre-conceived ideas
pre-conceived ideas คือความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อลูกค้าบอกว่าอยากได้โฆษณา ความคิดเราอาจวิ่งไปที่หนังที่เคยดู หรือหนังสือที่เคยอ่าน แล้วมันก็เกิดการปรุงแต่ง ณ ขณะจิตนั้น เกิดเป็นไอเดียที่เรารู้สึกว่าดีเหลือประมาณ
2
หากมองเผินๆ อาจนึกชมตัวเองว่า เราเก่งจริงๆ ว่ะ ได้ไอเดียเร็วทันใจขนาดนี้
แต่ในการทำงานสร้างสรรค์ ถือว่าไม่ดี เพราะมันเป็นไอเดียที่เกิดโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด เป็นการชิงสุกก่อนห่าม เพราะหากไอเดียนี้ไม่ผ่าน หรือพิสูจน์แล้วว่าไม่ดี จะกลายเป็นอุปสรรคขวางการคิดไอเดียใหม่
1
preconceived idea นี้ก็ขจัดยากหรือล้างออกยากมาก
แล้วจะทำยังไงให้ไม่ต้องล้างสมองบ่อยๆ?
มีคำแนะนำสองข้อ
ข้อ 1 ก่อนลงมือทำงานใหม่ ให้ปล่อยวางจากสิ่งที่เรียกว่า preconceived ideas อย่าเพิ่งรีบคิดอะไร รับโจทย์มาแล้ว คิดแบบกว้างๆ จะดีกว่า เพราะเราจะได้ไอเดียรอบด้านกว่า และกว้างกว่า
การคิดก็ต้องฝึกฝน ไม่ใช่คิดแบบเรื่อยเปื่อย คนที่ฝึกวิธีคิดเค้นไอเดียมาดีแล้ว สามารถผลิตงานสร้างสรรค์ออกมาแบบกดปุ่ม
1
สมัยผมทำงานโฆษณา มักได้รับบรี๊ฟเช้า พรีเซ็นต์งานตอนเย็น นัดลูกค้าได้เลย หากคิดไม่เป็นก็จะลนลาน ทำอะไรไม่ถูก แต่ถ้าคิดเป็น ก็จะรู้ว่าภายในกรอบเวลาสั้นๆ น้อยกว่าหนึ่งวัน เราก็สามารถสร้างสรรค์งานที่น่าสนใจได้ ที่แน่ๆ คือไม่ต้องโทร.เลื่อนนัดลูกค้า
จากประสบการณ์ทำงานจริงหลายปีในสภาวะกดดันแบบนี้ ผมค้นพบว่าสมองคนเราสามารถรับแรงกดดันได้ ขอเพียงเราเรียนรู้ที่จะจับไอเดียออกมาจากช่องว่างระหว่างนิวรอน
เหมือนชาวประมง รู้ว่าต้องเหวี่ยงแหบริเวณไหนของแม่น้ำ จึงน่าจะมีปลา แต่ต้องไวในการคว้าตัวปลา
ฝึกไปนานๆ ก็เก่งขึ้น ไวขึ้น
ข้อ 2 คือคิดงานให้มีทางเลือกให้มากที่สุดตั้งแต่แรก แล้วค่อยพัฒนาไอเดียใดไอเดียหนึ่งในเชิงลึก เมื่อไอเดียหนึ่งไปไม่รอดหรือลูกค้ายิงตก ก็สามารถกลับมาที่กองกลางไอเดียที่คิดไว้แต่ต้น ยุทธวิธีนี้ทำให้ไม่เสียเวลา และได้ไอเดียดีที่สุด มากที่สุดภายในเวลาน้อยที่สุด
1
เราอาจมีกรอบคิดว่า เวลาคิดไอเดีย ต้องหาแต่ไอเดียดีเลิศ แต่ผมแนะนำให้ทำตรงกันข้าม จงคิดไอเดียแบบเน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ แล้วค่อยไปเค้นหาคุณภาพในกระบวนการขั้นต่อไป
ในธรรมชาติ การผสมพันธุ์ของสัตว์พืชจำนวนมากจะผลิตเชื้อชีวิต (ไม่ว่าอสุจิหรือสปอร์หรือเมล็ด) จำนวนมาก แต่ใช้น้อย ยกตัวอย่างในสัตว์ ปลดปล่อยสปิร์มจำนวนหลายร้อยล้านตัว แต่ใช้จริงแค่ตัวเดียว ทั้งที่ทุกตัวก็ทำให้ตั้งท้องได้ แต่มีเพียงตัวเดียวที่เหมาะสมที่สุด
3
การหาไอเดียก็เช่นกัน
1
การคิดไอเดียครั้งแรกจึงเป็นกระบวนสำคัญ ควรทำให้ถูกตั้งแต่แรก
1
จากประสบการณ์การทำงานแบบนี้ ผมจะคิดหาทางเลือกมากที่สุด เน้นปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ เพราะปริมาณจะช่วยให้เราสามารถแตกหน่อความคิดได้กว้างขึ้น
2
ให้ทำตัวเหมือนชาวประมงเหวี่ยงแหหาไอเดีย จับให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยมาคัดสรร นั่นคืออย่าเพิ่งพัฒนาไอเดียใดไอเดียหนึ่ง อย่าเพิ่งลงรายละเอียด คิดทางเลือกให้มากที่สุดก่อน แล้วจึงเลือกเอาทางหนึ่งไปพัฒนา
1
ทางพุทธสอนเรื่องสมาธิ การปรุงแต่ง และการปล่อยวาง ในการคิดก็เช่นกัน ต้องมีสมาธิและรู้จักปล่อยวางความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า
1
สิ่งแรกคือทำใจให้สงบ ทำสมองให้ว่าง ปล่อยวางความคิดที่เรียกว่า pre-conceived ideas (ความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า) แล้วเริ่มคิดและจดทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในหัว ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องหรือโยงมาจากโจทย์ คิดทุกหนทางที่เป็นไปได้ ไม่ว่ามันจะดูเหลวไหลและไม่เกี่ยวข้องกับโจทย์ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ จนกระทั่งไม่มีอะไรออกมาจากสมองอีกแล้วจึงหยุด กระบวนการนี้กินเวลาราวครึ่งชั่วโมง ไม่น่าเกินสองชั่วโมง
3
ไอเดียที่คิดออกมานี้คือทางเลือก (alternatives) ทั้งหมดที่เรามีปัญญาคิด เมื่อนั้นจึงเร่ิมกรองไอเดียทั้งหมด คัดออกมาสองสามอันเพื่อพัฒนาต่อไปเป็นไอเดียที่สมบูรณ์ เมื่อไรที่พัฒนาต่อไปไม่ได้หรือลูกค้ายิงตก ก็กลับมาที่กองกลางไอเดีย หยิบไอเดียอีกอันสองอันไปพัฒนาต่อ หรือเชื่อมโยงกับความคิดหรือคำวิจารณ์ของลูกค้า เป็นไอเดียใหม่ วิธีนี้สมองจะไม่บอบช้ำ และลดกระบวนล้างสมอง
1
ต่อเมื่อทุกไอเดียในกองกลางใช้ไม่ได้เลย จึงค่อยลงมือล้างสมอง และเริ่มต้นใหม่
1
ยิ่งฝึกสมองบ่อย ก็จะยิ่งแม่นยำขึ้น และใช้เวลาน้อยลง
1
แล้วจะคิดงานแบบเน้นปริมาณได้อย่างไร? สัปดาห์หน้าจะบอก
3
ไลฟ์สไตล์
ปรัชญา
หนังสือ
46 บันทึก
102
3
51
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals ฆรีเอติวิถี CREATIVITY
46
102
3
51
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย