Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 พ.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ฆรีเอติวิถี ตอน 7
ฉีกแนวด้วยความกล้ากับลูกบ้า
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ครั้งหนึ่งนักแต่งเพลงรับงานแต่งเพลงเปิดรายการตลกชื่อ It’s Garry Shandling’s Show ของดาวตลก แกร์รี แชนด์ลิง วิธีนำเสนอก็มีการเล่นกับผู้ชม มีการพูดกับกล้อง (เทคนิคที่เรียกว่า Breaking the Fourth Wall)
มันกลายเป็นรายการฮิต ทั้งที่ไอเดียนี้เคยถูกสถานี NBC ยิงตก ก่อนหน้านั้น NBC เปิดไฟเขียวให้ แกร์รี แชนด์ลิง ทำรายการตลก แชนด์ลิงเสนอไอเดียรายการซิตคอมที่เขาเล่นเป็นนักแสดงตลก เล่นเกี่ยวกับชีวิตของเขาเอง ผู้บริหาร NBC บอกว่าไม่มีใครอยากดูชีวิตของดาวตลก และห้ามพูดกับกล้อง แชนด์ลิงไปหาช่องอื่น และรายการนี้ก็ฮิต
เพลงประจำรายการก็แหวกแนว วันหนึ่งแชนด์ลิงขึ้นลิฟต์กับ อลัน ซวีเบล คนแต่งเพลง เขาบรีฟซวีเบลว่าอยากได้ “เพลงที่เล่นกับเพลง”
1
อีกฝ่ายถามว่า “ยังไงล่ะ?”
แชนด์ลิงก็ร้องความคิดในหัวออกมาว่า “This is the theme to Garry’s show, the theme to Garry’s show. Garry called me up and asked if I would write a theme song.”
1
คนแต่งเพลงก็รับลูก แต่งต่อให้ทันที เมื่อประตูลิฟต์เปิด ทั้งสองก็ได้เพลงประจำรายการ
เป็นที่มาของเนื้อเพลง
1
“This is the theme to Garry’s Show,
The theme to Garry’s show.
Garry called me up and asked if I would write his theme song.
I’m almost halfway finished,
How do you like it so far,
How do you like the theme to Garry’s Show.”
1
(นี่คือเพลงประจำรายการ Garry’s Show แกร์รีติดต่อผมและขอให้ผมช่วยแต่งเพลงเปิดรายการ ผมทำเกือบเสร็จแล้วละ ที่แต่งมานี้คุณชอบมันบ้างมั้ยเนี่ย)
1
ตัวอย่างการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้บอกว่าไม่มีกฎใดๆ ในการทำรายการ การสร้างสรรค์งานสามารถเกิดขึ้นในพริบตา และใช้เวลาสั้นนิดเดียว ไม่มีข้ออ้างว่า “งานยาก เวลาไม่พอ” และคนสร้างสรรค์งานต้องกล้าก้าวออกจากกล่อง
4
ผมชอบเขียนงาน ‘กวนตีน’ ประเภท “จงทำชั่ว!” “อย่าทำดี” “เรามามี SEX กันเถอะ” ฯลฯ กลวิธีแบบนี้คือเขียนหัวเรื่องให้หวือหวา ‘เรียกแขก’
ความจริงมันเป็นการนำเสนอเรื่องด้านบวกโดยใช้องค์ประกอบของด้านลบ เป็นการใช้แก๊กในการนำเสนอเรื่องอย่างหนึ่ง เป็น presentation ซึ่งทำให้เรื่องธรรมดาน่าอ่านขึ้น
1
หลักการคิดคือหัวเรื่องหรือคอนเส็ปต์ต้องช็อคคนอ่าน แล้วอาจหักเป็นอารมณ์ขัน หรือเข้าเรื่องที่จะนำเสนอ
ยกตัวอย่าง เช่น คำชมคนที่รักษาเส้นรอบเอวก็เป็นการประชดอย่างหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้คนไปออกกำลังกาย
ชื่อสินค้าสมัยใหม่หลายยี่ห้อตั้งใจใช้ ‘คำลบ’ หรือคำที่มีสองความหมาย เช่น น้ำหอม Poison เสื้อผ้ายี่ห้อ fcuk (ไม่ลบแต่หมิ่นเหม่) วงดนตรี Black Death ฯลฯ ชื่อเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อช็อค และจดจำได้ เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้ผลอย่างหนึ่ง
3
เกมต่อเส้นจากรูปโป๊ก็เข้าข่ายนี้ เริ่มต้นวาดรูปโป๊ แล้วจบที่รูปปกติ การใช้รูปโป๊ก็เพื่อดึงความสนใจ
วงการโฆษณาน่าจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการมองต่างมุมมากที่สุดวงการหนึ่ง ไอเดียดีๆ แทบทั้งหมดมาจากการมองต่างมุม
1
ผมผ่านเวลาสิบหกปีครึ่งในชีวิตในโลกของงานโฆษณา พบว่ากรอบคิดใหญ่อย่างหนึ่งคือความต้องการแสดงสินค้าให้ใหญ่ที่สุด บรรยายสรรพคุณสินค้าให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่ามันเป็นทางเดียวที่สื่อถึงลูกค้า เพราะ “สินค้าใหญ่ = คนจำได้”
แต่ความจริงคือมีหนทางอื่นที่สื่อว่า สินค้าเล็กหรือไม่มีสินค้าก็มีคนจำได้เช่นกัน
“สินค้าใหญ่ = คนจำได้” ก็คือกรอบคิดอย่างหนึ่ง นี่ไม่ได้บอกว่ามันไม่เวิร์ก แค่บอกว่ามันไม่ใช่ทางเดียว
การบรรยายสรรพคุณสินค้าให้มากที่สุดก็เป็นกรอบคิดเช่นกัน ต่อให้บรรยายมากเพียงใด ถ้าคนไม่อ่านหรือไม่ฟัง มันก็ไร้ประโยชน์
1
วงการโฆษณาและการตลาดมักแบ่งตระกูลของงานโฆษณาเป็น hard sell และ soft sell มันก็เป็นเพียงหลักการคร่าวๆ ต้องระวังไม่ให้มันกลายเป็นกรอบคิดว่า hard sell จะขายได้มากกว่าเสมอไป
4
ด้วยเหตุนี้จึงมีคนโฆษณาที่กล้าแหวกกรอบเดิม มองต่างมุมไป 360 องศา บางครั้งไม่บอกสินค้าตรงๆ บางครั้งไม่บอกว่าสินค้าทำอะไร บางครั้งก็ไปไกลถึงขั้นที่บอกหน้าที่อื่นของสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าเลย
1
ยกตัวอย่างเช่นโฆษณาชิ้นนี้
1
ผู้หญิงคนหนึ่งรูปร่างท้วม พยายามสวมชุดราตรี เธอสวมไม่ได้ เพราะมันรัดเกินไป เธอจึงทาน้ำมันเนยบนผิวกาย เมื่อผิวลื่น ก็สวมชุดราตรีตัวนั้นได้
2
เผยตอนจบว่ามันคือโฆษณาขายเนย ประโยคสรุปคือ “ใช้กินได้ด้วยนะ”
2
ลองทายว่านี่เป็นโฆษณาอะไร ภาพเป็นฉากเดียวคือบนรถเมล์ที่ว่างเปล่า มีแต่คนขับหนึ่งคนกับผู้โดยสารหนึ่งคน ผู้โดยสารคนนี้ยืนโหนราวไปตลอดทาง ทั้งที่ที่นั่งรอบตัวว่างเปล่า
ภาพตัดไปที่สินค้า คือยาแก้ริดสีดวงทวาร
3
โฆษณาชิ้นหนึ่งเป็นชายหญิงชราคู่หนึ่งมองตากัน แล้วตกลงจะมีเซ็กซ์กัน ฝ่ายชายบอกว่าต้องขอไปเอาอุปกรณ์ก่อน
1
ชายชราเปิดลิ้นชักหัวเตียง ภายในนั้นคือหลอดยาแก้ปวดเมื่อยขัดยอก ก็คือสินค้าที่จะโฆษณา
โฆษณาอีกชิ้นหนึ่งเป็นชายคนหนึ่งไปพูดบนเวที เขาพูดผิดๆ ถูกๆ กิริยามึนงง จบด้วยการโฆษณาโรงแรม บอกทางอ้อมว่า ไปพักโรงแรมไม่ดี เตียงไม่ดี นอนไม่ดีก็เป็นอย่างนี้แหละ
2
อีกเรื่องหนึ่งชายคนหนึ่งเดินทางข้ามทวีปไปถึงจุดหมายและเล่นสนุกเกอร์ คู่แข่งเชื่อว่าเขาจะเกิดอาการเจ็ตแล็กจากการเดินทาง จะไม่มีสมาธิเล่น ปรากฏว่าเขาเล่นชนะอย่างง่ายดาย คู่แข่งมองดูป้ายที่ติดกับกระเป๋าเดินทางของเขา เป็นป้ายสายการบิน Cathay Pacific บอกทางอ้อมว่าถึงจะเดินทางไกล แต่เขาหลับสบายบนเครื่องบิน โฆษณาไม่ต้องแสดงภาพเครื่องบินเลย แต่ได้ผลกว่ามาก
6
ราวสามสิบปีมาแล้ว มีโฆษณาเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่สิงคโปร์ เป็นซีรีส์ print ad ที่เน้นภาพ ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่แปลกตา ผลคือคนตามหาซื้อเบียร์ยี่ห้อนั้น แต่ไม่ว่าไปที่ร้านหรือบาร์เหล้าแห่งไหน ก็ไม่มีขาย สอบถามจนได้ความว่า มิเพียงไม่มีเบียร์ยี่ห้อนั้นในสิงคโปร์ แต่ไม่มีเบียร์ยี่ห้อนั้นในโลก
3
มันเป็นเบียร์หลอก สมมุติขึ้นมาเล่นๆ ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ ทำโฆษณาซ้อนโฆษณา เพื่อให้เห็นพลังของโฆษณาที่ดีเยี่ยม สามารถชักจูงคนได้อย่างไร
1
นานปีมาแล้ว ไมเคิล แจ็คสัน มาแสดงคอนเสิร์ตในไทย เขาไม่สบายเพราะเกิดอาการขาดน้ำอย่างหนักจนต้องยกเลิกการแสดงไปหนึ่งรอบ เวลานั้นไมเคิลเป็นพรีเซนเตอร์ให้เป๊ปซี่ วันรุ่งหนึ่งหนังสือพิมพ์ฝรั่งลงโฆษณาครึ่งหน้า พื้นดำหมด มีแค่ประโยคเดียว
1
“Dehydrated? Drink Coke.”
(ขาดน้ำหรือจ๊ะ? ดื่มโค้กสิ)
8
นี่เป็นจังหวะที่โค้กจะเสียบโฆษณาสินค้าตัวเองโดยพึ่งใบบุญจากพรีเซนเตอร์ของสินค้าคู่แข่ง มันต้องทำในวันนั้น เดี๋ยวนั้น ต้องไวอย่างยิ่ง หน้าต่างของโอกาสเปิดช่องตรงนั้นเวลานั้นพอดี
3
มันกลายเป็นโฆษณาที่ถือว่ามีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดชิ้นหนึ่งในปีนั้น
4
คนทำโฆษณาที่ดีเมื่อได้รับโจทย์จากลูกค้า จึงไม่รีบร้อนทำตาม ‘คำสั่ง’ แต่คิดก่อนว่ามีทางอื่นอีกไหมที่สื่อสารเดียวกัน แต่แรงกว่า ถ้าทำได้ถูกทาง ก็อาจแรงกว่าร้อยเท่าพันเท่า
4
ขำขันส่วนใหญ่ก็ใช้หลักการมองต่างมุมอย่างนี้
หากคิดว่ามีแต่วงการโฆษณาและการออกแบบที่เล่นฉีกแนวจากกรอบได้ ก็ลองดูวงการอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรม ก็มีการออกแบบที่ฉีกแนวออกไปอย่างคาดไม่ถึงหลายอาคารเช่นกัน
ตัวอย่างหนึ่งคืออาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Guggenheim ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ก ตรง Fifth Avenue ตัดถนน East 89th Street ออกแบบโดยสถาปนิกระดับปรมาจารย์ แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์
ปกติเวลาเราไปชมงานในพิพิธภัณฑ์ เราจะเดินเข้าไปในห้องแสดงงานทีละห้อง ชมครบแล้วหรือเบื่อแล้ว ค่อยเดินออกจากอาคารไป แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ เปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้โดยสิ้นเชิง เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการชมงานศิลปะแบบเดิมโดยผสมกับสถาปัตยกรรมใหม่
งานออกแบบที่ออกมาคือผู้ชมขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้นบนสุด แล้วเดินลงมาตามทางลาดเป็นวง บนกำแพงข้างทางลาดคือพื้นที่แสดงงานศิลปะ เมื่อเดินชมมาถึงชั้นล่าง ก็ออกจากพิพิธภัณฑ์ไป
1
ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์ที่ต่างจากเดิม
1
The Guggenheim
นอกจากงานศิลปะแล้ว เรายังสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และมองมุมต่างในการใช้ชีวิต และปรัชญาการเดินชีวิต
เคยถามตัวเองไหมว่า เราดำเนินชีวิตอยู่ในกล่องบ้างหรือไม่?
เราไปเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาล เราซื้อซุปไก่สกัดและรังนกไปโดยสัญชาตญาณ
คนที่เรารู้จักดีตาย เราส่งพวงหรีดไป และแปลกใจเมื่อเจ้าภาพแจ้งว่า “ไม่ขอรับพวงหรีด”
เราไปกินอาหารเย็นในโรงแรมหรู เรารักษามารยาทบนโต๊ะอาหาร ช้อนวางฝั่งขวา ส้อมฝั่งซ้าย แก้วน้ำฝั่งขวา ไวน์ขาวเสิร์ฟพร้อมปลา ไวน์แดงเสิร์ฟกับเนื้อ ฯลฯ
ธรรมเนียมแบบนี้มีมากมาย เราก็ทำไปต่อเนื่องจนมันกลายเป็นกรอบคิด มันเกิดจากความเคยชิน มรรคปฏิบัติ ค่านิยม สิ่งที่ทำต่อกันมา หรืออาจเป็นทุกอย่างรวมกัน เป็นตัวตนและวิธีคิดอย่างที่เป็นอยู่
นี่มิได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แค่ชี้ว่ามันเป็นกรอบคิด กินปลากับไวน์ขาวอาจจะอร่อยกว่าจริงๆ แต่ระวังอย่าให้มันกลายเป็นกรอบคิดที่ทำให้เรากระดิกตัวไม่ได้จนไม่มีความสุขในชีวิต
เคยสงสัยไหมว่าทำไมนามบัตรของคนในองค์กรธุรกิจต้องพิมพ์วุฒิการศึกษาชั้นสูงสุดด้วย เช่น
สมชาย ชายสม
สถ.บ. จฬ. เกียรตินิยมอันดับ 1, M. Arch. M.I.T.
ถ้าจบปริญญาเอก ก็ต้องใส่ ‘ดร.’ นำหน้า
เช่น ดร. สมชาย ชายสม
เราใส่วุฒิการศึกษาทำไม? และในเมื่อจะใส่แล้ว ทำไมใส่เฉพาะวุฒิชั้นสูงสุด ทำไมไม่ใส่วุฒิชั้นประถมด้วย เพราะหากไม่มีการปูพื้นฐานที่ดีในชั้นประถม ก็อาจไม่มีตัวตนในวันนี้ และถ้าไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย ทำไม่พิมพ์วุฒิชั้นประถมหรือมัธยม?
2
นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เราทำกันมานานต่อเนื่องจนกลายเป็นธรรมเนียม และกลายเป็นกรอบคิดว่าจะต้องทำ
แต่เมื่อดูธรรมเนียมของหลายชาติ เช่น โลกตะวันตก อาจไม่มีการใส่ตำแหน่ง วุฒิการศึกษา เพราะในความเห็นของสังคมนั้น มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย
จดหมายสมัครงานก็เช่นกัน
นี่คือจดหมายสมัครงานแบบมาตรฐาน
เรื่อง ขอสมัครงานตำแหน่ง xxx
เรียน กรรมการผู้จัดการ
เนื่องจากกระผมอ่านหนังสือพิมพ์ xx ฉบับวันที่ xx เดือน xx ปี xx ทราบว่าบริษัทท่านต้องการตำแหน่ง xx กระผมสนใจตำแหน่งดังกล่าว จึงเขียนจดหมายมาสมัครงาน
กระผมเรียนจบจากคณะ xx มหาวิทยาลัย xx จบด้วยเกรด 3.75 เรียนดีมาโดยตลอด กระผมมีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักได้ กระผมมีงานอดิเรกคือ xx
กระผมแนบใบส.ด. 8 แสดงการผ่านพ้นพันธะทางทหาร ใบทรานสคริปต์ รูปถ่ายหน้าตรงขนาดสองนิ้วสองใบ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบขับขี่
กระผมหวังว่าท่านคงเรียกผมไปสัมภาษณ์ เพราะกระผมอยากทำงานที่บริษัทของท่านมาก
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ลงชื่อ xxx
นี่เป็นโครงสร้างของจดหมายสมัครงานที่ใช้กันสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้กันอยู่ มันกลายเป็นกติกาโดยปริยาย เป็นหนทางที่พึงปฏิบัติ จึงไม่แปลกที่เรามีหนังสือคู่มือการเขียนจดหมายสมัครงาน แค่ก๊อบปี้ เปลี่ยนชื่อองค์กรที่จะสมัครงาน ก็ใช้ได้แล้ว
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เราต้องระวังอย่าให้ “ทำยังไงจึงจะเขียนถูก” กลายเป็นกรอบคิดที่ทำให้เรากระดิกตัวไม่ได้
1
ในแต่ละการรับสมัครงาน มีจดหมายหน้าตาเหมือนกันแบบนี้นับร้อยนับพันฉบับ ท้ายที่สุดผู้กรองจดหมายก็หันไปดูมาตรวัดอื่น มาตรวัดที่นิยมก็คือเกรด อาจจบที่ใครได้เกรดต่ำกว่า 3.5 ก็ทิ้งใบสมัครลงตะกร้าเลย กระบวนการคัดแบบนี้อาจทิ้งผู้สมัครที่มีความคิดสร้างสรรค์ไปโดยปริยาย
ข้อมูลในจดหมายเบื้องต้นแค่บอกว่าผู้สมัครคนนั้นเรียนอะไรมา แต่ไม่ได้แสดงว่าให้เห็นว่าเขาแตกต่างจากผู้สมัครอีก หลายพันคนที่เขียนมาเหมือนกันหมด
จดหมายสมัครงานแบบ ‘เซม-เซม’ แบบนี้จึงแทบไม่ได้บอกอะไร
1
การเขียนจดหมายสมัครงานเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในภาพยึดติดหลายอย่างของเรา และเป็นการฝังกรอบคิดอย่างหนึ่ง
สิ่งที่เราควรถามตัวเองคือ มีทางอื่นอีกไหมที่จะสื่อสารเดียวกัน แต่ด้วยกลวิธีที่ทำให้เราโดดเด่นออกมาจากกลุ่ม ‘เซมเซม’ และบรรลุเป้าหมาย
1
บริษัทโฆษณาน่าจะเป็นองค์กรที่ได้รับจดหมายสมัครงานแปลกๆ มากที่สุด วงการโฆษณามักไม่ดูที่เกรด เพราะมันไม่มีความหมายอะไรเลย ตรงกันข้าม ในวงการโฆษณา จดหมายสมัครงานแบบ ‘เซมเซม’ ถูกเขี่ยทิ้งทันที พวกเขาต้องการจดหมายที่แสดงให้เห็นว่าผู้สมัครคนนั้นมีความคิดสร้างสรรค์และวิธีนำเสนอที่น่าสนใจ
สมัยที่ยังอยู่ในโลกของวงการโฆษณา ผมเคยพบการนำเสนอจดหมายสมัครงานที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความประทับใจตั้งแต่นาทีแรก เอเจนซีทั่วโลกต่างก็เคยได้รับจดหมายแปลกๆ แบบนี้ เช่น ส่งใบสมัครงานในรูปแท่งช็อคโกแล็ต โดยพิมพ์ประวัติบนกระดาษห่อ บางคนพิมพ์จดหมายสมัครงานบนเสื้อยืด บางทีผู้สมัครบางคนส่งแผ่นเสียง ส่งชา ยาสีฟัน กล่องไม้ขีดไฟ ส่งผลงานในรูปนิตยสาร ฯลฯ
1
จดหมายสมัครงานฉบับหนึ่งเป็นซองสีชมพู เขียนหน้าซองว่า ส่วนตัว ฉีดน้ำหอมราคาแพงลงไปบนซอง ส่งไปยัง ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ ของบริษัท
เมื่อจดหมายไปถึงบริษัท เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเปิดจดหมายฉบับนั้น เพราะหน้าตาของมันดูเป็นเรื่องส่วนตัว อาจเป็นคนรักของ ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ ก็ได้ จดหมายจึงถูกส่งตรงไปที่ผู้รับ ซึ่งประทับใจวิธีชาญฉลาดของผู้สมัคร และให้งานเขาในที่สุด
เลขานุการคนหนึ่งสมัครงานที่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ตำแหน่งเลขานุการของ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ เธอส่งจดหมายสมัครงานแบบปกติ แต่แยกเป็นสองฉบับต่อกันวันละฉบับ วันแรกส่งจดหมายเขียนด้วยภาษาชวเลขซึ่งไม่มีใครอ่านรู้เรื่อง วันต่อมาส่งจดหมายที่เป็นคำแปลไปให้ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ เรียกตัวผู้สมัครไปสัมภาษณ์ทันที เพราะแม้จะเป็นจดหมายสมัครงานแบบเดิม แต่กลวิธีการนำเสนอส่งได้คะแนนเต็มเรื่องความคิดสร้างสรรค์และสื่อสารถึงผู้ว่าจ้างว่าเธอเขียนชวเลขเป็น
3
คนส่วนมากมีกรอบคิดว่าจดหมายสมัครงานต้อง ‘สุภาพ’ และเป็นทางการ บางคนเห็นว่าการเขียนอะไรที่แปลกออกไปจากกรอบคือความไม่สุภาพ หรือ ‘เล่นมากไป’ แต่จดหมายที่สร้างสรรค์มากๆ ก็สุภาพได้ เพราะความสุภาพเป็นคนละเรื่องกับความคิดสร้างสรรค์
นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเขียนจดหมายสมัครงานแบบพิสดารหลุดโลกไปยังทุกองค์กรทุกประเภทได้ แต่เราสามารถสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์ในความเรียบง่ายได้เสมอ อาจจะใช้คำพูดหรือวิธีเล่า หรือมุมมองของผู้เขียน การเรียงเรื่องให้เป็นจดหมายสมัครงานที่แปลกได้ แสดงว่าคนสมัครงานมีวิสัยทัศน์ มุมมองกว้างไกล น่าชวนมาทำงานด้วยกัน
2
ย่อมมีคนแย้งว่า ไม่ทุกวงการทุกองค์กรกล้ายอมรับความคิดต่างแบบนี้ ไม่ผิด แต่มองนอกกรอบคือ หากเราชอบทำงานโดยมีความคิดสร้างสรรค์ ทำไมต้องไปจมตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้ความคิดสร้างสรรค์เติบโตเล่า
ตัวอย่างหนึ่งคือในการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับ ไอวี ลีก ของตะวันตก ใบสมัครแบบตามสูตรสำเร็จมักจะถูกโยนลงตะกร้าทันที เกรดสูงๆ ก็ไม่ช่วยให้เข้ามหาวิทยาลัยระดับสูงเสมอไป พวกเขาต้องการนักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะมีแต่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จึงสร้างนวัตกรรมได้
5
อีกกรอบคิดหนึ่งคือ คนจำนวนมากคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ใช้เฉพาะในวงการบันเทิง โฆษณา หนังสือ ศิลปะ นั่นเพราะวงการเหล่านี้มักมีอะไรที่หลุดโลก เซอร์เรียล แต่ความคิดสร้างสรรค์ทำได้มากกว่าแค่ในวงการศิลปะ วงการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
ไอน์สไตน์คิดทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างไร หากมิใช่เพราะใช้ความคิดสร้างสรรค์ แหกจากกรอบคิดเดิมของ ไอแซค นิวตัน
บริษัทองค์กรที่ขายสินค้าหรือทำธุรกิจโดยไม่ปรับตัวยากอยู่รอด ยกเว้นแต่ว่าความเก่านั้นเป็นจุดขาย เช่น ร้านอาหารที่ขายบรรยากาศแบบเก่า สังคมเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน ดังนั้นการทำธุรกิจอะไรก็ตาม วิธีคิดแบบสร้างสรรค์สำคัญมาก
1
แค่สลัดความเคยชินและกรอบคิดเดิม ก็เปิดโลกใหม่ได้มากมายไม่จำกัด
เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ โอ. เฮนรี เล่าว่า เซลส์แมนคนหนึ่งไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้เพื่อขายรองเท้า เซลส์แมนพบความจริงว่าคนทั้งหมู่บ้านเดินเท้าเปล่า จึงรายงานเจ้านายว่า “หมู่บ้านนี้ขายรองเท้าไม่ได้หรอก เพราะไม่มีใครสวมรองเท้า”
เจ้านายส่งเซลส์แมนอีกคนหนึ่งไปที่เดิม เซลส์แมนคนที่สองกลับไปรายงานเจ้านายว่า “เรารวยแน่แล้ว เพราะที่หมู่บ้านนั้นไม่มีใครสวมรองเท้า เราสามารถปลูกฝังนิสัยสวมรองเท้าให้พวกเขาได้”
ในการทำธุรกิจทุกวงการ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญ และความคิดสร้างสรรค์มักมาจากการคิดนอกกรอบ ปรัชญาว่าของเก่าดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องดิ้นรนคิดค้นของใหม่ อันตรายอย่างยิ่ง
BlackBerry เคยเป็นสมาร์ทโฟนชั้นนำ แต่ในที่สุดก็พ่ายคู่แข่ง ผู้เชี่ยวชาญในวงการสมาร์ทโฟนวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะ BlackBerry ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ดื้อดึง ไม่ข้ามกรอบคิดเดิมๆ ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงนาทีต่อนาที ขณะที่ไอโฟนกล้าเปลี่ยนและหลายครั้งเป็นผู้นำในการเปลี่ยน เช่น การกำจัดช่องเสียบหูฟังทิ้ง มีความเสี่ยง แต่มันก็กลายเป็นเรื่องปกติของวงการไปแล้ว
1
การออกจากกรอบคิดต้องอาศัยความกล้าและลูกบ้าพอๆ กัน
2
ศิลปินฝรั่งเศส Henri Matisse กล่าวว่า “ความคิดสร้างสรรค์ต้องใช้ความกล้าหาญ”
5
ไลฟ์สไตล์
หนังสือ
ปรัชญา
36 บันทึก
60
1
30
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals ฆรีเอติวิถี CREATIVITY
36
60
1
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย