Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
22 มี.ค. 2022 เวลา 02:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 24
มัลแวร์ (Malware)
ที่มา: https://www.bloggingpro.com/malware-viruses-infected/
วันที่ 12 พฤกษภาคม 2560 มีข่าวใหญ่เรื่อง ซอฟแวร์ชื่อ วอนนาคราย (WannaCry) หรือ “อยากร้องไห้” ที่จับข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานเป็นตัวประกัน เพื่อ “เรียกค่าไถ่” ซึ่งต้องจ่ายเงินค่าไถ่ก่อนไม่งั้นใช้งานข้อมูลตัวเองไม่ได้ แค่วันเดียวมีคนโดนมันเล่นงานไปเป็นแสนคนทั่วโลก !
วอนนาครายจัดเป็น แรนซัมแวร์ (ransomware) แปลตรงๆ คือ เป็นซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ ซึ่งเป็น 1 ในซอฟต์แวร์ตัวแสบหลากหลายแบบที่อาจพบเจอได้ในอินเทอร์เน็ต
พวกซอฟต์แวร์ตัวร้ายเหล่านี้มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า มัลแวร์ (malware) ครับ
มาจากคำเต็มว่า malicious software หรือ “ซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย”
มัลแวร์มีหลากหลายมากจริงๆ เลยครับ แต่พบบ่อยได้ยินจนติดหูก็คือ ไวรัส หรือเรียกให้เต็มยศก็คือ “ไวรัสคอมพิวเตอร์ (computer virus)” เพราะไปหยิบยืมคำศัพท์มาจากทางฟากชีววิทยา เพราะติดเชื้อและแพร่กระจายได้ไวแบบเดียวกับโรคที่เกิดจากไวรัสจริงๆ นั่นเอง
มัลแวร์อีกชนิดหนึ่งที่ได้ยินบ่อยคือ เวิร์ม (worm) หรือ “หนอน” ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างจากไวรัสอยู่บ้าง
กล่าวคือไวรัสนี่มักจะซ่อนตัวพ่วงติดมากับซอฟต์แวร์ที่เราต้อง “รัน” หรือปล่อยให้มันทำงานบางอย่างจำเพาะ เช่น ใช้คำนวณ หรือเล่นเกม หรือแม้แต่ใช้เป็นระบบปฏิบัติการที่เรียกกันย่อๆ ว่า โอเอส (OS) เช่น ระบบปฏิบัติการของแมคอินทอช หรือแอนดรอย์ในมือถือ ฯลฯ
ขณะที่หนอนคอมพิวเตอร์นี่แพร่กระจายไปแบบศิลปินเดี่ยว ไม่ต้องผูกติดกับใคร
ตัวต่อไปก็คือ สปายแวร์ (spyware) ที่มักจะขโมยข้อมูลสำคัญ เช่น พาสเวิร์ดที่เราใช้สมัครอะไรต่อมิอะไร หรือแม้แต่พาสเวิร์ดที่ใช้ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การจ่ายเงิน หรือโอนเงิน
ใช่แล้วครับ มันทำตัวเป็น “จารชน” สืบความลับอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรานี่แหละครับ
ที่มา: https://www.bloggingpro.com/malware-viruses-infected/
อีกชนิดหนึ่งอาจจะไม่ค่อยอันตรายเท่าตัวอื่น แต่ก็น่ารำคาญมากคือ แอดแวร์ (adware) ซึ่งจะคอยบังคับเปิดป๊อปอัพโฆษณาที่เราไม่ต้องการหรือไม่สนใจ หรือแม้แต่อาจจะทำให้ได้อับอาย หากกำลังเปิดคอมพิวเตอร์ใช้งานต่อหน้าธารกำนัลได้
ช่างแย่จริงๆ เลยครับ
ที่ว่ามายังไม่ใช่ทั้งหมดของมัลแวร์นะครับ แต่ว่ากล่าวถึงพอหอมปากหอมคอก็แล้วกันนะครับ
อันที่จริงมัลแวร์ในโลกนี้มีมากนับล้านๆ ชนิด และอาจแบ่งได้เป็นนับสิบประเภทเลยครับ
ที่มา: https://www.bloggingpro.com/malware-viruses-infected/
มัลแวร์เป็นปัญหาใหญ่มากนะครับของอินเทอร์เน็ต
บริษัทไมโครซอฟต์เคยรายงานไว้ในเดือนพฤกษภาคม 2011 ว่า ทุกๆ 1 ใน 14 ครั้งของการดาว์นโหลด จะมีมัลแวร์ตามติดมาด้วย
พวกโซเชียลมีเดียก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นนะครับ
แต่หนักไปกว่านั้นก็คือ มีงานวิจัยในปี 2014 ที่ระบุว่า มัลแวร์คืบคลานเข้าสู่มือถือมากยิ่งขึ้นทุกทีๆ
ลองนึกภาพมือถือที่คุณใช้งานอยู่โดนจู่โจมดูสิครับ แค่คิดก็สยองแล้วนะครับ
ประเมินกันว่ามัลแวร์ก่อความเสียหายราว 4.55 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีทีเดียว !
ข้อสังเกตง่ายๆ ว่าติดพวกมัลแวร์แล้วก็คือ เครื่องอาจทำงานช้าลงอย่างเห็นได้ชัด มีป๊อปอัปประหลาดๆ โผล่มาเรื่อย หรือใช้ๆ อยู่เครื่องก็ “แฮงก์” ใช้งานต่อไม่ได้ ต้องรีสตาร์ตเครื่องใหม่
นอกจากนี้ บางที (ถ้าเช็คเป็น) ก็อาจพบการใช้งานของไดรฟ์ต่างๆ ที่หนักหน่วงกว่าปกติมาก โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แม้ว่าเราจะใช้ตามปกติ
ที่มา: https://www.bloggingpro.com/malware-viruses-infected/
สัญญาณถัดไปก็คือ ค่าต่างๆ ที่ตั้งไว้ มีการเปลี่ยนแปลงไป มีปัญหาเบราว์เซอร์ (browser) หรือโปรแกรมตัวที่พาเราไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เช่น โครมของกูเกิล พาเราไปหาหน้าเว็บไซต์แปลกๆ โดยไม่ได้กดอะไร หรือบางทีเพื่อนบ่นว่าเราส่งอะไรแปลกๆ ไปให้ จะปฏิเสธยังไงก็ไม่พ้นตัว
สุดท้าย สัญญาณที่พบบ่อยอีกอย่างคือ ฮาร์ดดิสก์เต็มซะเรื่อย ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ทำอะไร
ไม่ต้องรอให้มีสัญญาณครบทุกข้อนะครับ มีข้อไหนโผล่ขึ้นมา ก็ให้ตั้งข้อสงสัยและหาวิธีจัดการได้เลยนะครับ
ที่มา: https://www.bloggingpro.com/malware-viruses-infected/
ทีนี้คำถามสำคัญ มีทางป้องกันมัลแวร์พวกนี้บ้างไหม
ไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดนะครับ
แต่ที่ช่วยได้บ้างก็มีตั้งแต่ลงโปรแกรมต่อต้านไวรัสและอัพเดตบ่อยๆ ไม่จำเป็นก็อย่าไปเข้าโปรแกรมสำคัญๆ ในพวกอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
พวกพาสเวิร์ดก็ต้องตั้งให้ยากๆ แต่พอจำไหวเอาไว้ และอาจต้องมีสำรองไว้เปลี่ยนบ้าง จะดาว์นโหลดอะไรก็อ่านให้ดีก่อน เผลอดาว์นโหลดมาแล้ว ก็อย่าผลีผลามกด “ติดตั้ง (install)” หรือ “รัน (run)” เพื่อใช้งานในทันที ควรจะพิจารณาเว็บไซต์หรือแผ่นที่มาของโปรแกรมให้รอบคอบก่อน
ที่สำคัญที่สุดคือ เจอแชตผ่านเฟซบุ๊ค หรือไลน์ หรืออีเมลประหลาดๆ ที่มาพร้อม “ลิงก์เด็ดๆ” ก็ควรหักห้ามใจไว้บ้าง !
malware
มัลแวร์
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย