25 มี.ค. 2022 เวลา 06:41 • ข่าวรอบโลก
Hypersonic Weapon ‘อาวุธเหนือเสียง’
นวัตกรรมเปื้อนเลือดเหนือน่านฟ้าสงครามยูเครน-รัสเซีย
สงครามมักนำพามนุษย์สู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมประหัตประหารนำพาประชาคมโลกมาสู่ความตึงเครียดรูปแบบใหม่ในสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่ง ‘อาวุธเหนือเสียง’ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มพูดถึงกันมากขึ้น
วันที่ 20 มีนาคม 2022 สำนักข่าว The Gurdian รายงานว่า กองทัพรัสเซียเพิ่มจำนวนอาวุธเหนือเสียง (Hypersonic Weapon) ชนิดติดตั้งบนเครื่องบิน Kinzhal (แปลได้ว่า ‘กริช’) ในสงครามยูเครน-รัสเซีย และในวันเดียวกันทางการรัสเซียได้กล่าวอ้างว่าอาวุธชนิดนี้สามารถทำลายคลังน้ำมันในเมืองนิโคลาเยฟ (Mykolaiv) ของยูเครนได้สำเร็จอีกด้วย
การใช้งานอาวุธเหนือเสียงชนิดนี้ ประชาคมโลกมองว่าเป็นการใช้งาน ‘ครั้งแรก’ ของอาวุธสมัยใหม่ (next-generation weapon) ความสามารถที่น่ากลัวของมันคือ ความเร็วเกือบ 10 เท่าของความเร็วเสียง แต่ยังคงขีดความสามารถในการเคลื่อนที่ขณะถูกยิงออกไปแล้วได้ผลเหมือนกับขีปนาวุธร่อน (cruise missile) รูปแบบอื่นๆ ทำให้การป้องกันการโจมตียากขึ้นกว่าเดิมมาก และเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์สงครามของโลกในทันที
การทำความเข้าใจอาวุธแห่งโลกยุคใหม่ที่กำลังถูกใช้ในสงครามยูเครนครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกชีวิตบนโลกควรให้ความสนใจ เนื่องจากขอบเขตความเสียหายจากอาวุธชนิดนี้ทั้งในทางรูปธรรมและทางจิตวิทยากำลังจะส่งผลไปยังความขัดแย้งทั่วโลกในอนาคตต่อไป
  • อานุภาพและพลังทำลายล้างด้วยความเร็วสูง
จากข้อมูลของ The Economist ระบุว่า อาวุธความเร็วเหนือเสียงสามารถเดินทางผ่านอากาศได้ด้วยความเร็วถึง 1.6 กิโลเมตรต่อ 1 วินาที เป็นอย่างต่ำ ซึ่งเร็วพอๆ กับขีปนาวุธพิสัยไกล (long-range ballistic missile) ช่วงที่กำลังกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่จุดเด่นจริงๆ ของมันคือ ความสามารถในการควบคุมทิศทางได้หลังจากยิงออกไปแล้ว ทำให้ยากต่อการสกัดกั้นด้วยเทคโนโลยีทางการทหารทั่วไปในปัจจุบัน
1
ชนิดของอาวุธเหนือเสียงในปัจจุบันถูกแบ่งอย่างกว้างออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ขีปนาวุธร่อน มีรูปแบบคล้ายขีปนาวุธรูปแบบร่อนรุ่นก่อนๆ อย่างจรวดโทมาฮอว์ค (Tomahawk) แต่เร็วมากขึ้น ขณะที่อีกประเภทคือ hypersonic glide vehicles (HGVs) ที่ใช้จรวดบูสเตอร์ในการขับเคลื่อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก่อนตกลงมาสู่เป้าหมายด้วยความเร็วเหนือเสียง ซึ่งทำให้การคาดการณ์เพื่อป้องกันทำได้ยากกว่าขีปนาวุธพิสัยไกลรุ่นก่อนๆ
ความสามารถในการควบคุมทิศทางระหว่างยิงออกไปแล้ว ไม่เพียงทำให้มันสามารถหลบหลีกการสกัดกั้นได้เท่านั้น แต่สามารถทำได้แม้แต่การ ‘เปลี่ยนเป้าหมาย’ กลางอากาศได้ด้วย ซึ่งตอนนี้ขีปนาวุธ Kinzhal ของรัสเซียถูกประเมินว่ามีพิสัยอยู่ที่ประมาณ 2,000 กิโลเมตร
ถึงแม้พลังการทำลายล้างอาจจะไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับจรวดรุ่นอื่นๆ ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การทหาร ทว่าความรวดเร็วของมันอาจจะทำให้ระเบียบความมั่นคงของโลกต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยเฉพาะเมื่ออาวุธชนิดนี้กำลังถูก ‘ทดลอง’ ใช้งานจริงในสงครามยูเครน-รัสเซีย
  • ใครเป็นเจ้าของบ้าง?
โครงการอาวุธเหนือเสียง Congressional Research Service (CRS) ระบุเอาไว้ในรายงานชื่อ Defense Primer: Hypersonic Boost-Glide Weapons เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2021 ว่า ประเทศที่ดำเนินโครงการขีปนาวุธเหนือเสียงระดับนำมีอยู่ทั้งสิ้น 3 แห่ง คือ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย
สหรัฐเริ่มการทดลองขีปนาวุธเหนือเสียงในช่วงต้นปี 2000 เพื่อใช้ป้องกันหรือจู่โจมเป้าหมายที่มีลักษณะเร่งด่วน ก่อนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐจะเริ่มเพิ่มงบประมาณในโครงการอาวุธเหนือเสียงเหล่านี้เพื่อพัฒนาให้มันสามารถใช้งานในระดับภูมิภาคได้ดีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของ CRS ได้ระบุว่า สหรัฐแตกต่างจากจีนและรัสเซียตรงที่ไม่ได้พยายามพัฒนาให้เทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้กับหัวรบนิวเคลียร์
ทางด้านรัสเซีย ก่อนที่จะมีขีปนาวุธ Kinzhal เคยมีโครงการ HGVs ในชื่อ Avangard ที่สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ได้โดยยิงจากฐานยิงขีปนาวุธพิสัยไกล SS-19 ความน่ากลัวของ Avangard คือมันสามารถที่จะหลบหลีกจรวดต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐได้ (ตามที่รัสเซียกล่าวอ้าง) และทางการรัสเซียระบุว่า การทดสอบอาวุธชนิดนี้ประสบความสำเร็จแล้วในปี 2018 ซึ่งในปี 2019 กองทัพรัสเซียระบุต่อสาธารณะว่า มีขีปนาวุธ SS-19 อย่างน้อย 2 ลูกที่ติดตั้งจรวจ Avangard แบบพร้อมใช้งานเอาไว้แล้ว
ขณะที่จีนมีโครงการขีปนาวุธเหนือเสียงของตนเองเช่นเดียวกันในชื่อ DF-ZF โดยได้ทำการทดสอบมาแล้วกว่า 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2014 และจากข้อมูลของ CRS มีการคาดการณ์ว่าขีปนาวุธ DF-ZF มีความสามารถในการ ‘เคลื่อนไหวระดับสูง’ กว่าการเคลื่อนไหวทั่วไป จนอาจจะทำให้ระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐไม่สามารถป้องกันได้ และยังคาดการณ์ไว้อีกด้วยว่าขีปนาวุธ DF-ZF ตัวนี้อาจจะมีพิสัยอยู่ที่ 1,800-2,500 กิโลเมตร
นอกเหนือไปจากข้อมูลของ CRS แล้ว สำนักข่าว The Economist ยังมองว่าไม่ใช่แค่ 3 ประเทศนี้เท่านั้นที่มีโครงการลักษณะดังกล่าว แต่ปัจจุบันนี้โครงการอาวุธเหนือเสียงยังถูกพัฒนาโดยประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย และญี่ปุ่น ขณะที่สำนักข่าว VOA News ระบุว่า เยอรมนี อิหร่าน อิสราเอล และเกาหลีใต้ ก็ได้ดำเนินโครงการไปในระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน
1
อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือเองก็ได้กล่าวอ้างว่า ตนเองประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธเหนือเสียงเช่นเดียวกันเมื่อเดือนมกราคมปี 2022
  • อาวุธเหนือเสียงในฐานะโฆษณาชวนเชื่อในสงครามยูเครน-รัสเซีย
การใช้ขีปนาวุธเหนือเสียงของรัสเซียในยูเครน ทำให้รัสเซียกลายเป็นชาติแรกที่ใช้งานอาวุธชนิดนี้จริงในประวัติศาสตร์ ทว่าคำถามสำคัญที่น่าสนใจต่อมาคือ ทำไมรัสเซียถึงยอมใช้อาวุธที่มีราคาสูงเช่นนี้ ในเมื่อขีปนาวุธพิสัยไกลทั่วไปก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้เช่นเดียวกัน
คำถามดังกล่าว นักวิเคราะห์การทหารของรัสเซีย พาเวล ฟิลกินฮาวเวอร์ (Pavel Felgenhauer) ระบุเอาไว้ว่า ขีปนาวุธเหนือเสียงที่กำลังถูกใช้ในสงครามยูเครนครั้งนี้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการทหารมากนักเมื่อเทียบกับผลทางด้านจิตวิทยาและโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งยังมีความเป็นไปได้อีกว่าขีปนาวุธชนิดอื่นๆ ของรัสเซียเริ่มใช้งานไม่ได้เท่าที่คาดหวังสำหรับการจู่โจมยูเครน
การที่ขีปนาวุธพิสัยใกล้อย่าง Iskander ไม่ถูกนำมาเป็นตัวเลือกแรกๆ เมื่อเทียบกับ Kinzhal ได้สร้างความสงสัยให้แก่นักวิเคราะห์ทางการทหารทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์ชาวรัสเซียอย่าง วาสสิลี คาชิน (Vassily Kashin) จากสถาบัน Institute of Far Eastern Studies of the Russian Academy of Sciences กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า Kinzhal มีความสามารถในการทำลายล้างโรงเก็บขีปนาวุธใต้ดินของยูเครนได้ดีกว่าขีปนาวุธทั่วไปที่ไม่ได้เร็วเหนือเสียง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกหลายคนยังคงคลางแคลงใจในคำอธิบายดังกล่าว
อีกหลายสำนักมองว่า หากไม่ใช่การทำโฆษณาชวนเชื่อหรือสงครามจิตวิทยาแล้ว การนำขีปนาวุธเหนือเสียงมาใช้งานจริงเช่นนี้คือการ ‘เพิ่มเดิมพัน’ ของรัสเซีย เนื่องจากขีปนาวุธชนิดนี้ต่างมีความสามารถในการบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ได้ และทำให้สถานการณ์โลกตึงเครียดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ที่มา
โฆษณา