Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
29 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 28
ความเป็นจริงเสมือน (virtual reality)
Photo by Jessica Lewis on Unsplash
ในโลกที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน นอกจาก “ความจริง” ที่พบเห็นและรู้สึกได้ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ ตามธรรมชาติแล้ว เรายังมีเทคโนโลยีที่สามารถสร้าง “ความเป็นจริงเสมือน (virtual reality)” ขึ้นได้อีกด้วย
โลกเสมือนแบบนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก และมีผลกระทบกับเราหลายด้านมากอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ในฐานะเครื่องพักหย่อนใจ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนรู้ ไปจนถึงเครื่องมือที่ใช้ฝึกฝนทหารในการสู้รบ !
Virtual Reality หรือ วีอาร์ (VR) ที่พบเห็นกันชินตามากที่สุดมักเกี่ยวข้องกับ “เกมคอมพิวเตอร์” โดยโลกเสมือนที่เห็นผ่าน “แว่นวีอาร์” ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจเป็นภาพทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่อง อุปกรณ์ เครื่องมือ หรืออาวุธต่างๆ ที่ผู้เล่นจะสามารถนำมาใช้เล่นในเกมได้
เดี๋ยวนี้ไปไกลถึงขนาดดวลกันบนออนไลน์แบบเรียลไทม์ คือ เห็นกันในเวลานี้ สู้กันจริงๆ อาจสู้เดี่ยวๆ หรือลุยกันเป็นทีม
Photo by Lucrezia Carnelos on Unsplash
แต่ทั้งหมดนั้นแม้ว่าจะสมจริงเพียงใด ก็เป็นแต่เพียงโลกเสมือนที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น จะว่าไปก็ทำให้นึกถึงเรื่อง “ทรอน (Tron)” ที่ผู้สร้างหลุดเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนทำนองนี้เหมือนกันนะครับ
https://en.wikipedia.org/wiki/Tron#/media/File:Tron_poster.jpg
นอกจากแว่นวีอาร์หรือชุดเซตสวมหัว (headset) แล้ว เดี๋ยวนี้บางเกมจะมีชุดให้สวมใส่ ซึ่งจะส่งสัญญาณกระตุ้นทำให้รู้สึก “สัมผัส” ได้ สมจริงสมจังมากขึ้นไปอีกด้วย
ตัวอย่างฮาร์ดแวร์วีอาร์เจ้าดังๆ ก็เช่น เอชทีซีไวว์ (HTC Vive) อ็อกคูลัสริฟต์ (Oculus Rift) ของเฟซบุ๊ค และโซนีเพลย์สเตชัน วีอาร์
แถมศัพท์อีกคำครับ เทคโนโลยีที่ทำให้เรา “จม” เข้าไปอยู่ในโลกเทียมอีกใบนี้ เรียกรวมๆ ว่า อิมเมอร์สีฟเทคโนโลยี (immersive technology) ซึงหลักๆ หมายถึง เทคโนโลยีที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกกายภาพในชีวิตจริงกับโลกเสมือนที่ไม่ได้มีอยู่จริง “เบลอๆ” ไป ซึ่งรวมเอาเทคโนโลยีการสร้างภาพกราฟิกและเสียงที่สมจริง ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น หันศีรษะไปทางไหนหรือเคลื่อนมือไปทางไหน เพื่อส่งสัญญาณภาพที่แวดล้อมตัวอยู่ให้สอดคล้องกัน และสุดท้าย อุปกรณ์ควบคุมด้วยมือต่างๆ
มีอุปกรณ์วีอาร์อีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง เพราะทำงานผ่านแอปในสมาร์ตโฟน แอปที่ดังๆ ก็เช่น ซัมซุงเกียร์วีอาร์ (Samsung Gear VR) กับ กูเกิลเดย์ดรีมวิว (Google Daydream View)
หากไปดูในแง่ประวัติศาสตร์ วีอาร์นี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ซะทีเดียว มีคนพยายามคิดทำและสร้างมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20
เช่น มีอุปกรณ์ชื่อ เซนเซอรามา (Sensorama) ที่ออกมาใน ค.ศ.1962 ดูคล้ายๆ ตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์รุ่นแรกๆ แต่มีเก้าอี้นั่ง และมาพร้อมกับหนังสั้น 5 เรื่อง ที่มีสเปเชียลเอฟเฟกต์แบบหนัง 4 มิติ 5 มิติในปัจจุบัน คือ มีกลิ่นและมีการสัมผัสบางอย่างเพิ่มขึ้นมาด้วยขณะชม
แต่นอกจากเพื่อความบันเทิงแล้ว วีอาร์ยังมาแรงในอีกหลายด้านนะครับ
ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และด้านการแพทย์ สำหรับด้านการทหาร วีอาร์ถูกนำมาใช้ฝึกทหารในการกระโดดร่ม และภารกิจอื่นๆ อีกหลายอย่าง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญสามารถถ่ายทำแล้วเอาภาพมาทำวีอาร์เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวได้สบายเลย
โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้มีภาพสวยๆ มุมสูงจากโดรนมาช่วยเพิ่มความน่าทึ่งอีกแรง
หากจะมีจุดอ่อนของเทคโนโลยีวีอาร์ ก็คงเป็นเรื่องที่ยังต้องสร้างโมเดลและเขียนโปรแกรมกันวุ่นวาย ทำให้มีราคาแพงอยู่
แต่โปรแกรมวาดภาพอย่าง AutoCAD advance ก็ใกล้เคียงกับวีอาร์เข้าไปทุกที เชื่อได้ว่าต้นทุนการทำวีอาร์น่าจะลดลงเรื่อยๆ
เทคโนโลยี AR ที่ผนวกเอาภาพโลกเสมือนเข้ากับโลกจริง. Photo by Mika Baumeister on Unsplash
หากไม่โดนเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เออาร์ (AR, Augmented Reality) ที่ผนวกเอาภาพโลกเสมือนเข้ากับโลกจริง อย่างแอปเดินจับสัตว์ประหลาด โปเกมอนโก (Pokemon Go) มาเบียดจนตกขอบไปก่อน
ในอนาคตเราคงได้เห็นอะไรๆ ที่น่าสนใจจากเทคโนโลยีวีอาร์อีกมากครับ
vr
ar
บันทึก
1
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย