Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
30 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 29
เกษตรกรรมแม่นยำ (precision agriculture)
ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกวัน วิธีทำเกษตรกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปมาก การปลูกพืชเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศพัฒนาแล้วก็เปลี่ยนรูปแบบชนิดที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” ได้เต็มปาก
หลักฐานที่ชัดเจนแบบหนึ่งก็คือ การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังเกิดเป็น “เกษตรกรรมเที่ยงตรง” หรือ “เกษตรกรรมแม่นยำ” (precision agriculture)
โดยชื่ออื่นที่ใกล้เคียงกันก็มีเช่น การทำฟาร์มหรือไร่นาแบบชาญฉลาด (smart farming) หรือบางคนก็อาจจะยกระดับใในภาษาไทยขึ้นไปให้เป็นการทำฟาร์มอัจฉริยะ
แต่คำพวกนี้จะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างกันนะครับ
คำว่า “เกษตรกรรมแม่นยำ” นี่ กินความแค่ไหนกันแน่
เกษตรกรรมแม่นยำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดค่าใช้จ่าย. ที่มา: https://d21buns5ku92am.cloudfront.net/27385/images/117192-de101e40-a7d2-4d02-800f-ae8660862668-precision_2520farming_2520infographic-large-1386853703.jpg
หากไปค้นในเอกสารที่หน่วยงานต่างๆ ของฝรั่ง เช่น รัฐสภายุโรป หรือองค์กรวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ก็จะพบว่ามักกำหนดให้เกษตรกรรมแม่นยำเป็น
การจัดการฟาร์มแบบบูรณาการ โดยใช้เทคโนโลยีข้อมูลในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ผลผลิต และผลกำไร โดยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด”
นิยามแบบหลักการอย่างนี้คงนึกตามลำบาก ลองดูตัวอย่างที่ทำกันจริงๆ อยู่ตอนนี้กันเลยดีกว่าครับ
มีการนำระบบจีพีเอส (GPS) หรือระบบเทียบตำแหน่งบนพื้นโลก มาใช้กับรถแทร็กเตอร์ที่ใช้ไถพรวนหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบอัตโนมัติ
พบว่าช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ราว 10%
ส่วนการใช้โดรนถ่ายรูปแปลงขนาดใหญ่แล้วใช้แอปที่ทำให้ระบุตำแหน่งวัชพืชหรือวัดค่าการเติบโตของพืชที่ปลูกได้ ก็เพิ่มผลผลิตการปลูกข้าวสาลีได้ราว 2–5%
ในเมืองไทย เนคเทค สวทช. ก็ทำแอปชื่อ ใบข้าวเอ็นเค (BaikhaoNK) ที่ใช้การถ่ายรูปใบข้าว เพื่อใช้ประเมินความต้องการธาตุอาหารไนโตรเจนและโพแทสเซียมในต้นข้าว ทำให้ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี โดยไม่ต้องทำลายใบข้าวเพื่อใช้ทดสอบอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแอปและซอฟต์แวร์ที่ สวทช. ทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชื่อ อะกริแมป (Agri-Map) โดยเป็นแผนที่เกษตรกรรมในประเทศไทย ซึ่งนำข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาบูรณาการ
ช่วยบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการปรับข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และออกแบบเกษตรกรแต่ละรายใช้งานง่าย
ส่วนการเลี้ยงสัตว์นั้น ในระบบเกษตรกรรมแม่นยำก็มีการทดลองนำเซนเซอร์ไปติดไว้กับพวกวัวนม ทำให้สามารถตรวจได้ว่าเจ็บป่วยไม่สบายหรือตั้งท้องแล้วหรือไม่
โดยพบว่าการติดตามสุขภาพแม่วัวอย่างใกล้ชิดช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนมได้ราว 10% หรือหากเอาเซนเซอร์อีกแบบหนึ่งไปปักไว้ในดิน ก็ช่วยระบุความชื้นหรือปริมาณธาตุอาหารในดินได้ พร้อมกับส่งข้อความ SMS ไปแจ้งเกษตรกรได้ว่าควรรดน้ำได้หรือยัง วิธีนี้ลดปริมาณน้ำได้ราว 50%
นอกจากนี้ ก็ยังมีเซนเซอร์ที่ใช้วัดปริมาณสต็อกพืชที่เก็บไว้ได้อีกด้วย
ข้อมูลที่ว่ามานี้มีปริมาณมากมายในแต่ละวัน ก็อาศัยส่งเข้าระบบดาวเทียมหรือผ่านอินเทอร์เน็ต ไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์กลางที่เรียกว่า เซิฟเวอร์ (server) หรือยุคนี้เรียกว่า “คลาวด์ (cloud)”
เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ทันทีแบบเรียลไทม์ (real time) หรือจะนำมาวิเคราะห์ในภายหลังก็ได้เช่นกัน ในอังกฤษพบว่าฟาร์มที่ทำเกษตรกรรมแม่นยำแบบนี้ ช่วยลดความยุ่งยากในตรวจสอบข้อมูลและรายงานผล คิดเป็นมูลค่าราว 5,500 ปอนด์ (ราว 2.2 แสน)/ ฟาร์ม/ ปี
คงพอเห็นได้ว่า “เกษตรกรรมแม่นยำ” ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีความเป็นระบบอัตโนมัติสูง สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั่วโลกที่เป็นแบบสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และมีคนรุ่นหนุ่มสาวมาทำงานเกษตรกรรมน้อยลง
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ระบบแบบนี้ดีต่อโลกในระยะยาวมากกว่า เพราะลดการใช้สารเคมีได้ จึงช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับโลกโดยรวมให้น้อยลง
สังคมไทยในฐานะที่ยังเชื่อมโยงกับการเกษตรอย่างเหนียวแน่น และมีความเหมาะสมจากความร่ำรวยด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ก็คงจะหนีไม่พ้นแนวโน้มเทคโนโลยีแบบนี้เช่นกัน
precisionagriculture
เกษตรแม่นยำ
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย