Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
31 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 30
กลูตาไธโอน (Glutathione)
โครงสร้างโมเลกุลของกลูตาไธโอน. ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Glutathione
ถ้าใช้คำว่า glutathione หรือ กลูตาไธโอน หรือ กลูตาไทโอน ค้นในกูเกิล จะพบข้อมูลอยู่มากมาย รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ซึ่งอ้างสรรพคุณของสารนี้ในการช่วยทำให้ผิวขาวได้อยู่มากมาย
แต่เรื่องนี้จริงหรือเท็จกันแน่
“กลูตาไธโอน” เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบแพร่หลายในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ (คือ สร้างกันเองได้) ทั้งในพืช สัตว์ (รวมทั้งคน) เห็ดรา รวมไปถึงแบคทีเรียบางชนิด โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)
คำว่า “อนุมูลอิสระ” ก็คือ สารกลุ่มที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ แต่มีอิเล็กตรอนเกินมา ทำให้มันมีพลังงานในตัวเยอะไปหน่อย ก็เลยไปชนเปะปะทำให้สารสำคัญต่างๆ ในเซลล์เสียหาย
สารต้านอนุมูลอิสระจึงมาช่วยตรงนี้ คือ ช่วยทำปฏิกิริยากับพวกอนุมูลอิสระ ทำให้โมเลกุลพลังงานสูงเหล่านี้หมดพิษสง จึงทำให้เซลล์ปลอดภัย หาไม่ก็อาจจะมีผลร้ายตามมาหลายรูปแบบ รวมทั้งการเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง
สำหรับประโยชน์ของกลูตาไธโอนในทางอุตสาหกรรมนั้น หลายคนคงไม่เคยทราบว่า ในอุตสาหกรรมการทำไวน์ขาวมีการนำกลูตาไธโอนไปใช้ด้วย
แต่เรื่องที่คนไทยได้ยินกันบ่อยที่สุดคือ หากกินกลูตาไธโอนแล้วจะทำให้ผิวขาวขึ้น
Photo by Nsey Benajah on Unsplash
มีงานวิจัยในหนูที่พบว่า หากได้รับกลูตาไธโอนในปริมาณมาก อาจจะส่งผลข้างเคียงทำให้มีสีผิวซีดจางลง เพราะจะไปขัดขวางกระบวนการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนังที่เรียกว่า เมลานิน (melanin)
โดยไปขัดขวางการสร้างสารตั้งต้นซึ่งจะถูกเปลี่ยนให้กลายไปเป็นเมลานินในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ มันยังไปยับยั้งไม่ให้เมลานินที่สร้างขึ้นมาจับตัวกัน และยังมีฤทธิ์ช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสียูวีอีกด้วย แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นผลการทดลองในสัตว์ทดลองเท่านั้น
ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ ซึ่งยืนยันประสิทธิภาพ ปริมาณที่เหมาะสม และความปลอดภัยในการใช้งานกลูตาไธโอนในการทำให้ผิวขาวในคน
และยังไม่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ของประเทศสหรัฐอเมริกาและของไทยอีกด้วย แปลว่า มีความเสี่ยงที่จะใช้งาน เพราะยังไม่ผ่านการพิสูจน์ว่าปลอดภัยพอจะใช้งาน
ปัจจุบันยาเม็ดที่โฆษณากันว่าเป็นกลูตาไธโอนที่ อย. ของประเทศไทย “อนุญาตให้ขายเป็นอาหารเสริม” นั้น แท้จริงเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไธโอน (Glutathione Precursors) คือ กรดอะมิโนชื่อ เอ็น-แอซิทิล-ซิสเทอีน (N-acetyl-cysteine) ซึ่งร่างกายดูดซึมเข้าทางเดินอาหารได้ง่ายและรวดเร็ว
แต่จะถูกนำไปใช้สังเคราะห์โมเลกุลกลูตาไธโอนในกระแสเลือดอีกที
หากรับประทานมากเกินไปอาจมีข้างเคียง เช่น มึนงง ปวดหัว ตาพร่ามัว และอาจมีสารตกค้างทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนเป็นสารกลูตาไธโอนจริงๆ และ (ลักลอบ) ขายกันอยู่ทั้งในรูปเม็ด แคปซูล ผงละลายน้ำ หรือแบบน้ำเชื่อม แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เพราะกลูตาไธโอนมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะถูกดูดซึมได้โดยตรง แต่จะถูกทำลายจนหมดในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ จึงแทบส่งผลอะไรไม่ได้เลย
อีกทั้งหากกินเยอะเกินไปก็อาจมีผลข้างเคียงได้
Photo by Nati Melnychuk on Unsplash
ส่วนที่เตรียมในรูปครีมหรือเจลทาผิวหนัง โมเลกุลก็ใหญ่เกินกว่าจะแทรกซึมเข้าผิวหนังได้ จึงไม่เกิดผลใดๆ อีกเช่นกัน
ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งของกลูตาไธโอน (จริง) ที่พบมีผู้นำเข้ามาคือ แบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งอ้างกันว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าและเห็นผลเร็วกว่าชนิดรับประทาน
วิธีนี้มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของสารได้ เนื่องจากได้รับคราวละเป็นปริมาณมาก และต่อให้ใช้ได้ผลจริง ฤทธิ์ในการทำให้ขาวก็อยู่เพียงชั่วคราว จึงจำเป็นต้องฉีดซ้ำๆ ซึ่งก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก อาจทำให้ช็อก แพ้รุนแรง หายใจติดขัด หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย
ผลจากการสะสมกลูตาไธโอนในร่างกายในระยะยาว ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
จึงควรคิดให้หนักเวลาจะซื้อหรือใช้สารพวกนี้ แต่คนเราจะอยากขาวกันไปมากมายทำไมนะ!
glutathione
กลูตาไธโอน
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย