28 มี.ค. 2022 เวลา 22:36 • ปรัชญา
๗. ผู้นำ-ผู้ตาม และ ธรรม​บรรยาย
ธรรม​บรรยาย​ (บทคัดย่อ​ชิ้นที่ ๔ -​ ๔๕)
ทีนี้จะเรียนรู้​ธรรมะนั้นต้องเรียนที่ใจจึงจะรู้จักธรรมะ ไปเรียนที่ข้างนอกนี่ไม่รู้จัก ไปรู้จักบางแง่ของธรรมะ ต้องเรียนที่ใจ จะเป็นก้อนหินหรือลูกหรือเมีย หรือทรัพย์อะไรนั้น ถ้าเราไม่มีสิ่งนั้น ก็ไม่มีความหมายอะไร ทีนี้สิ่งนั้นมีขึ้นเพราะเรามีใจ มันต้องเรียนที่ใจ
ทีนี้เมื่อเรียนที่ใจแล้วเรียนอย่างไร ดูที่ใจ ดูอะไร ก็ต้องดูสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะลักษณะ คือว่าลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ปรากฏที่ใจนั้น มันปรากฏอย่างไร
เมื่อเรียนที่ใจต้องเรียนด้วยสติ และเรียนเพื่อให้รู้ธรรมะลักษณะ คือว่าลักษณะของสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏที่ใจนั้น ปรากฏอย่างไร ให้ดูให้รู้ชัดว่ามันปรากฏอย่างไร
ธรรมชาติของจิตมันก็ต้องคิด เรื่องอะไรไปบังคับให้มันหยุดคิด แน่นอนจุดหมายของการฝึกจิตก็คือ เพื่อจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ จิตที่ฟุ้งซ่าน​ที่จริงก็ดีแล้ว แสดงว่ามันว่องไว มันไม่โง่ จิตนั้นมันไม่ใช่ว่ามันฟุ้งอยู่ตลอดเวลา
การเรียนสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะนั้น เรียนให้รู้จักธรรมะลักษณะของจิต จิตเกิดอย่างไร? อย่าไปห้ามมัน สิ่งทั้งปวงมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด เมื่อมันเกิดแล้วจะไม่ให้มันเกิดก็ไม่ได้ แล้วเมื่อมันจะจากไปอย่าไปห้ามมัน เราห้ามมันไม่ได้
ถ้าเราเรียนโดยวิธีไปห้ามเกิด ห้ามจาก นี่ชื่อว่าเป็นศัตรูแก่ตัวเองแล้ว เราเรียนผิดแล้ว เรื่องของเรื่องไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อมันเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด
แต่การปล่อยมี ๒ อย่าง ต้องปล่อยด้วยสติสัมปชัญญะ คือรู้ตัวชัด รู้ชัดว่าขณะที่กำลังเกิด เมื่อเป็นเช่นนั้น การเฝ้าดูจิตก็ไม่เป็นการทำลายจิต แล้วก็ไม่ปรุงแต่งจิต เมื่อจิตไม่ถูกปรุงแต่งไปด้วยตัณหา หรือความต้องการ แล้วไม่ได้ถูกยับยั้งกัน จิตมันก็กลายเป็นธรรมชาติกลางๆ ตามเรื่องของมัน เมื่อจิตเกิดดับตามเรื่องของมัน ก็หมดเรื่องที่ต้องไปยุ่งกับมัน
...
ธรรมบรรยาย ณ วัดสนามใน นนทบุรี​ ขณะนั้นท่าน​เขมานันทะ​ยังครองสมณะ​เพศ​ -​ ถอดเทปและจัดพิมพ์​ (โรเนียว​-เย็บเล่ม)​ โดยกลุ่ม​ศึกษา​และปฏิบัติ​ธรรม เมื่อ กันยายน​ พ.ศ. ๒๕๒๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา