2 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ข้อพิพาทดินแดนระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น ศึกอีกด้านของรัสเซียจากตะวันออก
3
ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตามองไปที่ความขัดแย้งในยูเครนที่เกิดบริเวณชายแดนตะวันตกของรัสเซีย อีกฟากหนึ่งทางชายแดนด้านทิศตะวันออก สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นก็กำลังตึงเครียดขึ้นมาเช่นกัน
2
หลังจากที่ทางรัสเซียได้ทำการซ้อมรบบนหมู่เกาะคูริล (Kuril Islands) ซึ่งเป็นดินแดนข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัสเซียและญี่ปุ่นยังไม่สามารถบรรลุสนธิสัญญาสันติภาพอย่างสมบูรณ์ได้ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ไม่เพียงเท่านั้น ดินแดนเกาะที่เกิดข้อพิพาทกัน 4 เกาะนี้ ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งด้านการประมง และทรัพยากรปิโตรเลียมด้วย
ในบทความนี้ทาง Bnomics จึงจะพาทุกท่าน ไปติดตามประวัติศาสตร์ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในหมู่เกาะคูริลว่ามีความเป็นมาอย่างไร
1
📌 การแบ่งกันปกครองในช่วงแรก
หมู่เกาะคูริลที่เกิดข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น มีด้วยกัน 4 เกาะ ได้แก่ หมู่เกาะ Habomi เกาะ Shikotan เกาะ Kunashir และเกาะ Iturup แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า “หมู่เกาะคูริล” หมายรวมถึง เกาะทั้งหมดถึง 56 เกาะ ที่เชื่อมต่อจากชายแดนของญี่ปุ่นไปจนถึงรัสเซียเลย
2
  • (เกร็ด: ในอดีตหมู่เกาะคูริลพวกนี้ มีชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Ainu” ก่อนที่คนกลุ่มนี้จะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ หลังจากประชากรชาวรัสเซียและญี่ปุ่นจะเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แทน)
อีกหนึ่งเกาะที่เป็นพื้นที่สำคัญ ที่เราจำเป็นต้องทำความรู้จักเพื่อให้เข้าใจเรื่องละเอียดขึ้น คือ เกาะ Sakhalin ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ที่แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นในด้านดินแดน แต่ในอดีตก็มีช่วงที่ญี่ปุ่นเคยปกครองบางส่วนของเกาะแห่งนี้เช่นกัน และดินแดนของเกาะแห่งนี้ก็อยู่ห่างจากญี่ปุ่นในปัจจุบันแค่ 43 กิโลเมตรเท่านั้น
1
เรื่องราวข้อพิพาทของหมู่เกาะคูริล เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในตอนที่จักรวรรดิค่อยๆ แพร่ขยายดินแดนออกมาสู่เอเชียตะวันออก และเข้ายึดดินแดนบางส่วนของจีนในแถบแมนจู ทำให้ดินแดนของรัสเซียและญี่ปุ่นมาเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
ในตอนนั้น ทั้งสองประเทศยังไม่ได้มีความต้องการจะต่อสู้กันอย่างจริงจัง เพราะต่างฝ่ายต่างยังมีพันธกิจสำคัญที่ต้องจัดการอยู่ ทำให้เกิดสนธิสัญญาฉบับแรกขึ้น คือ สนธิสัญญา Shimoda ในปีค.ศ. 1855
ซึ่งมีรายละเอียดแบ่งการปกครองกันของทั้งหมู่เกาะคูริล และเกาะ Sakhalin ออกเป็นประมาณครึ่งๆ โดยครึ่งทางทิศเหนือปกครองโดยรัสเซีย และครึ่งทางใต้ปกครองโดยญี่ปุ่น ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นฉบับสำคัญที่ทางญี่ปุ่นใช้อ้างสิทธิบน 4 เกาะที่เกิดข้อพิพาทกับรัสเซียในปัจจุบัน
แต่หลังจากนั้น 20 ปี ในปีค.ศ. 1875 ก็การเซ็นสนธิสัญญาฉบับใหม่ คือ สนธิสัญญา St. Petersburg ที่เปลี่ยนรูปแบบการแบ่งดินแดน จากตอนแรกที่แบ่งครึ่งเหนือใต้ก็เปลี่ยนมาเป็นรัสเซียปกครองทั้งเกาะ Sakhalin ส่วนญี่ปุ่นปกครองทั้งแถบหมู่เกาะคูริล
2
แต่หลังจากนั้นความตึงเครียดของสองประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งพาเกิดเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นครั้งแรกขึ้นในปี ค.ศ. 1903
📌 ชัยชนะต่อรัสเซีย พาญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก
ในตอนนั้นประทศญี่ปุ่นได้ทำการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในยุคเมจิ และเริ่มต้องการที่จะแพร่ขยายอิทธิพลของตนเองออกไปในแผ่นดินเอเชียใหญ่ แต่ก็ติดอยู่ตรงที่รัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจของยุโรปคนหนึ่ง มีอิทธิพลอยู่เหนือบริเวณจีนและคาบสมุทรเกาหลีอยู่ก่อน
และเมื่อการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นไม่ลงตัวอีกต่อไป ทางญี่ปุ่นก็ได้ตัดสินใจทำสิ่งที่รัสเซียไม่คาดคิดมาก่อน คือ เลือกที่จะบุกรัสเซีย
1
ซึ่งในตอนแรกก็ไม่มีใครคาดคิดอีกว่า ญี่ปุ่นจะสามารถเอาชนะในสงครามนี้ได้ แต่ญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลงประเทศของตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว หลังจากเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์เป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปีเท่านั้น
3
ผลของสงครามครั้งนี้ ก็นำมาซึ่งสนธิสัญญาฉบับใหม่ระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น ชื่อว่า “สนธิสัญญา Portsmouth” ในปี 1905 และเป็นการเปิดศักราชการเป็นประเทศมหาอำนาจของญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว
2
และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่นได้กลับไปปกครองดินแดนครึ่งล่างของเกาะ Sakhalin หลังจากที่เคยปกครองอยู่ช่วงหนึ่งหลังปีค.ศ. 1855 ในสนธิสัญญาฉบับแรก
2
📌 จุดเปลี่ยนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน
2
ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นก็ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ในช่วงแรกทั้งสองประเทศทำสนธิสัญญาเป็นกลาง ไม่บุกซึ่งกันและกัน จนกระทั่งถึงช่วงท้ายของสงครามในเดือนสิงหาคมปีค.ศ. 1945” หลังจากที่สหรัฐฯ ใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก
ในตอนนั้นทางรัสเซีย (สหภาพโซเวียดในขณะนั้น) ก็ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ต่อสู้ร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร และก็ได้ส่งทหารของตัวเองรุกคืบเข้ามายึดดินแดน ซึ่งก็ประกอบไปด้วย บริเวณครึ่งล่างของเกาะ Sakhalin และก็หมู่เกาะคูริลทั้งหมด แล้วก็ปกครองต่อมาจนถึงปัจจุบัน
1
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ก็เหมือนกับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นจะมีช่วงเวลาที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะข้อตกลงทางด้านการค้า และการประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ทั้งสองประเทศก็ยังไม่มีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพอย่างสมบูรณ์ โดยเหตุผลสำคัญก็มาจาก “ความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องดินแดนข้อพิพาทหมู่เกาะคูริล”
2
โดยทางญี่ปุ่นมีความประสงค์ที่จะขอดินแดน “4 เกาะล่าง ในหมู่เกาะคูริล” อันประกอบไปด้วย หมู่เกาะ Habomi เกาะ Shikotan เกาะ Kunashir และเกาะ Iturup คืนจากทางรัสเซีย ซึ่งนอกจากเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์และความมั่นคง หมู่เกาะบริเวณนี้ก็ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งด้านการประมงและปิโตรเลียม
4
และการเคลื่อนไหวเพื่อขอดินแดนคืนก็ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากสหภาพโซเวียดล่มสลายในปีค.ศ. 1991 ซึ่งแม้ตอนแรกรัสเซียจะยังไม่ยอมตกลงคืนดินแดนให้ แต่เหตุการณ์ความร่วมมือก็เหมือนจะเข้าใกล้สู่บทสรุปที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีค.ศ. 2016 – 2020 เมื่อญี่ปุ่นในสมัยของนายกรัฐมนตรี นายชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) มีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัสเซียออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมความเป็นไปได้ในการคืนดินแดนหลายครั้ง และก็มีภาพการจับมือปรองดองระหว่างผู้นำของสองประเทศออกมาไม่ขาด
6
อันที่จริงในข้อตกลงครั้งนั้น ทางญี่ปุ่นถึงขั้นยอมตกลงจะรับคืนดินแดนเกาะข้อพิพาทคืน เพียงแค่สองเกาะเท่านั้น ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กกว่าด้วย คือ เกาะ Shikotan และหมู่เกาะ Habomai
1
แต่สุดท้าย สนธิสัญญาการคืนดินแดนก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งสนธิสัญญาสันติภาพอย่างสมบูรณ์ระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นก็ไม่สามารถบรรลุได้เช่นกัน และต้องรอต่อไปแม้จะรอมาถึง 80 ปีหลังสงครามโลกแล้ว
1
โดยหนึ่งในการกระทำที่ปิดประตูการส่งมอบดินแดนจากทางรัสเซีย ก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญของประเทศในปี 2020 ให้ “การส่งมอบดินแดนให้ประเทศอื่นเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ”
3
แต่การกระทำตอนนั้นก็ยังไม่สร้างความตึงเครียดเท่ากับการที่รัสเซียตัดสินใจส่งทหารเข้าบุกยูเครน ซึ่งนี่ก็เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความคิดเห็นในกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะคูริลอย่างแข็งกร้าวขึ้นอย่างมาก และก็ตัดสินใจทำการคว่ำบาตรรัสเซียด้วย
ซึ่งก็นำมาด้วยการตอบโต้จากทางรัสเซีย ในการส่งทหารเข้ามาซ้อมรบบนหมู่เกาะคูริล และก็ใส่ประเทศญี่ปุ่นเข้าไปสู่บัญชีรายชื่อ “ประเทศที่ไม่เป็นมิตร” ซึ่งก็อาจจะตามมาด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้อีกหลายอย่าง
1
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความตึงเครียดที่สูงขึ้นในหลายประเด็น แต่ก็มีอยู่โครงการหนึ่งที่ทางญี่ปุ่นตัดสินใจจะร่วมมือกับรัสเซียต่อไป คือ โครงการขุดเจาะและส่งปิโตรเลียมบนเกาะ Sakhalin
4
แม้จะห่างออกมาไกลจากทวีปยุโรปเป็นพันกิโลเมตร แต่อาวุธทางการทูตของรัสเซียที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็ยังเป็น “ปิโตรเลียม” อยู่นี่เอง ซึ่งก็ต้องติดตามตอนต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงเช่นใด แต่หลายคนก็คาดกันว่า ทั้งสองประเทศคงไม่เลือกไม้แข็งส่งทหารเข้าไปในบริเวณของอีกประเทศ ไม่งั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นก็คงมากอย่างยากที่จะจินตนาการ จากการที่มหาอำนาจสู้รบกันเอง
2
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : visualizingcultures.mit.edu

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา