Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
9 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ "เลบานอน" ประเทศที่กำลังเข้าสู่วิกฤติการล่มสลายด้านการเงิน
4
เศรษฐกิจของประเทศเลบานอนกำลังเข้าสู่วิกฤติขั้นรุนแรง ถึงขนาดที่ธนาคารโลก (World Bank) กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในเลบานอนตอนนี้ อาจจะเป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดติดอันดับ 1 ใน 3 ตั้งแต่ยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว
3
ซึ่งต้นเหตุสำคัญก็มาจากปัญหาทางด้านการเงิน ที่สกุลเงินของประเทศมีมูลค่าลดลงกว่า 90% แล้ว
แต่เรื่องราวของประเทศเลบานอนไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นถึงความสำคัญของภูมิศาสตร์ของประเทศเลบานอน ที่เป็นท่าเรือเชื่อมระหว่างดินแดนตะวันออกกลางและทวีปยุโรปผ่านทะเลเมดิเตอร์เนียน ซึ่งทำให้ดินแดนแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางทางการค้าเสมอมา
2
นอกจากนี้ ด้วยภูมิศาสตร์ชั้นยอดนี้ ก็ทำให้มหาอำนาจในแต่ละยุคผลัดเปลี่ยนกันมาปกครองดินแดนแห่งนี้ด้วย จนมีส่วนสำคัญทำให้เลบานอนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของกลุ่มคนอย่างมาก
1
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นสิ่งที่ Bnomics จะมาเล่าให้ทุกคนอ่านกันในบทความนี้ครับ
📌 ประวัติศาสตร์ช่วงแรก และความสำคัญของที่ตั้งภูมิศาสตร์
1
พื้นที่ของประเทศเลบานอนในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีหลักฐานการอาศัยอยู่ของมนุษย์เป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมีหลักฐานการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่สืบย้อนอายุไปได้ถึงช่วงยุคหินเก่า หรือ ประมาณ 45,000 ปีก่อน
6
แต่ชนกลุ่มแรกที่มีหลักฐานการใช้ชีวิตแบบเป็นชุมชนอย่างแท้จริง ต้องรอมาถึงประมาณ 3,000 ก่อนคริสตกาล โดยชนกลุ่มนี้ถูกเรียกโดยชาวกรีกว่า “Phoenician” โดยมีถิ่นฐานสำคัญตามหัวเมืองริมทะเล ทั้ง Byblos, Berytus (Beirut ในปัจจุบัน) และ Tyre
และด้วยภูมิศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม คือ เป็นท่าเรือเชื่อมระหว่างดินแดนตะวันออกกลางกับภาคพื้นทวีปยุโรปในปัจจุบัน ทำให้เมืองท่าเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค ที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรต่างๆ มาโดยตลอด
5
โดยอาณาจักรมหาอำนาจแรกที่สำคัญที่แพร่ขยายอิทธิพลมาสู่ Phoenicia ก็คือ อาณาจักรอียิปต์โบราณ ที่มีหลักฐานที่ถูกบันทึกไว้โดยชาวอียิปต์ผ่านอักษรลิ่ม แสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและในบางช่วงเวลาที่เข้าไปปกครองโดยตรง
2
ซึ่งในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันไปนี้ชาว Phoenicia ก็ยังมีความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และวิทยาการของตนเองออกไปสู่ภูมิภาคอื่นด้วย เวลาที่เดินเรือไปค้าขายหรือไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ ที่สำคัญคือความรู้ในด้านการเดินเรือและการใช้ดาวเหนือนำทาง และที่สำคัญยิ่งกว่าอีกคือการเผยแพร่ตัวอักษรที่ตัวเองใช้
2
ตัวอักษรเหล่านี้ ถูกเรียกกันว่า “The Phoenician Alphabet” เริ่มแรกถูกใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าขาย แต่ต่อมามันก็กลายมาเป็นรากฐานของตัวอักษรกรีก (Greek Alphabet) ซึ่งสุดท้ายมันก็จะถูกพัฒนาต่อ มาเป็นภาษาของหลายประเทศในยุโรป ที่หนึ่งในนั้นก็คือภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษาที่ถูกใช้มากที่สุดภาษาหนึ่งในปัจจุบัน
2
ต่อจากยุคของอียิปต์มา ดินแดนของประเทศเลบานอนก็ถูกผลัดกันปกครองโดยอาณาจักรมหาอำนาจที่รุ่งเรืองขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย ซึ่งในหลายครั้งการเข้ามายึดครองของมหาอำนาจเหล่านี้ ก็จะครอบครองแค่บริเวณที่เป็นชายฝั่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เป็นประเทศเลบานอนในปัจจุบัน ไม่รุกคืบเข้าไปต่อในบริเวณแผ่นดินใหญ่
2
สะท้อนถึงความสำคัญในแง่ของการเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าที่เชื่อมสู่ทะเลเมดิเตอร์เนียน
โดยอาณาจักรที่เคยครอบครองดินแดนนี้ ก็ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ อัสซีเรียน เปอร์เซีย โรมัน ออตโตมัน และฝรั่งเศส ก่อนที่สุดท้ายเลบานอนจะได้รับอิสรภาพเป็นของตัวเองในปีค.ศ. 1946
4
ซึ่งการถูกผลัดเปลี่ยนกันปกครองก็ทำให้เลบานอนกลายเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และจำนวนกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ สะท้อนผ่านออกมาทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต รวมถึงความเข้าใจด้านการเมืองและการต่างประเทศด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็สร้างความท้าทายให้กับรัฐบาลของประเทศเลบานอนในการปกครองต่อมาด้วย
●
(เกร็ดความรู้: เลบานอนมีแหล่งมรดกโลกที่รองรับโดยยูเนสโกถึง 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็สะท้อนวัฒนธรรม และความเชื่อในรูปแบบที่แตกต่างกันของกลุ่มคนที่อาศัยหรือเคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้)
📌 ประวัติศาสตร์ยุคหลังจากได้รับเอกราช
จริงอยู่ที่ประเทศเลบานอนมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยมสำหรับการค้า แต่ในยุคต่อมา ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันออกกลาง จะเป็นอะไรไม่ได้นอกจาก “น้ำมันดิบ”
1
ซึ่งเหมือนกับเมื่อได้แล้วก็ต้องเสียอย่าง อย่างใดอย่างนั้น เพราะ ประเทศเลบานอนไม่มีทรัพยากรน้ำมันเป็นของตัวเอง ต้องนำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ
ทำให้ประเทศต้องเลือกสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไปจากประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ คือ การสร้างศูนย์การค้าและศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งก็คือ การใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ใช้มาตลอดตั้งแต่ในยุคแรกเริ่ม
1
รวมถึงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่อาศัยความหลากหลายเชิงสถาปัตยกรรม และการเป็นเมืองชายฝั่งติดทะเล ซึ่งก็ดึงดูดเม็ดเงินให้ไหลเข้ามาสู่ประเทศจำนวนมาก
แต่ความท้าทายสำคัญของประเทศ คือ ความหลากหลายของกลุ่มคน ที่ส่งผลให้มีความต้องการและเป้าหมายที่ไม่ได้ตรงกันสักทีเดียว จนทำให้ต้องปฏิบัติตาม “ข้อตกลงที่ไม่ถูกเขียนไว้อย่างเป็นทางการ” ที่ถูกใช้เพื่อแบ่งอำนาจไม่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งของคนแต่ละกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ก็มีความขัดแย้งและความไม่มั่นคงในการปกครองของรัฐบาลเป็นระยะๆ จนในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นในปี 1975
หลังจากอยู่ในภาวะสงครามยาวนาน 15 ปี ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก และมีประชาชนผลัดถิ่นออกมาเกือบล้านคน สุดท้ายสงครามก็ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด และก็มีการก่อตั้งรัฐบาลแบบประนีประนอมกันอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นมาในยุคหลังปี 1990 นี้ ก็มีภารกิจที่ต้องปรับปรุงและฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีหนึ่งในแผนการสำคัญที่นำออกมาใช้ คือ การประกาศตรึงค่าเงินของประเทศตนเองไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตรา 1507 Lebanese lira ต่อ 1 US dollar
5
โดยการตรึงค่าเงินในลักษณะแบบนี้ ก็เป็นนโยบายที่หลายประเทศที่เน้นการค้าและการเป็นศูนย์กลางการเงินเลือกใช้ อย่างไรก็ดี มันก็มีข้อจำกัดของมันอยู่ ที่ถ้าคุณฝ่าฝืนมันเมื่อใดก็จะตามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างที่เราเห็นซ้ำหลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์
1
ประเทศเลบานอนก็มีปัญหาในการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนจากการขาดดุลการชำระเงินมาตลอด เนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่อาหาร น้ำมัน และอุปกรณ์การแพทย์
จึงต้องออกมาตรการเพื่อดึงดูดให้คนนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาฝากกับธนาคาร เพื่อให้มีเงินสำรองสำหรับตรึงค่าเงินได้อย่างเพียงพอ หนึ่งในมาตรการที่นำออกมาใช้คือการจ่ายดอกเบี้ยรายปีสูงถึง 15-20% สำหรับคนที่นำเงินดอลลาร์สหรัฐมาฝาก
ซึ่งผลตอบแทนระดับนั้นก็ไม่สามารถหาได้จากการลงทุนทั่วไป สิ่งที่ทางธนาคารทำก็คือการนำเงินของคนที่มาฝากใหม่ มาจ่ายให้กับคนที่ฝากอยู่ก่อน คล้ายๆ กับกรณีแชร์ลูกโซ่ ที่สุดท้ายปัญหาก็จะสั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ
1
จนมันก็มาระเบิดออกในช่วงวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของเลบานอน ที่เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศคิดเป็น 18% ของ GDP และก็เป็นแหล่งของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ช่วยเข้ามาชดเชยการขาดดุลด้านหนึ่งต้องหายไป
5
ทำให้ค่าเงินของเลบานอนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลักอย่างเลบานอนต้องเจอกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส สินค้าพื้นฐานมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล สินค้าอย่างน้ำมันและอุปกรณ์การแพทย์ไม่สามารถหาได้เพียงพอกับความต้องการด้วยซ้ำ
ตอนนี้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ทางออกเดียวของปัญหาทางเศรษฐกิจ คือ การขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็มีข้อแม้ที่ทางรัฐบาลต้องปฏิรูประบอบเศรษฐกิจก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เนื่องจากรัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นมาต้องถ่วงดุลอำนาจและประนีประนอมให้คนทุกกลุ่มรู้สึกสบายใจมากเท่าที่จะเป็นได้
และตอนนี้ ความยากลำบากของประชาชนที่ได้รับอยู่ ก็เหมือนจะยังไม่ได้รับการเหลียวแลมากเท่าที่ควรจากหลายประเทศมหาอำนาจ ที่มีศักยภาพยื่นมือเข้าไปช่วยได้ ก็คงมีแต่ฝรั่งเศสที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมเท่านั้นที่เข้ามาช่วยเหลือบ้าง
1
ก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์ความยากลำบากที่เกิดขึ้นจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชาชนชาวเลบานอนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง...
1
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
●
https://www.britannica.com/place/Lebanon/Phoenicia-as-a-colonial-and-commercial-power
●
https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2022/01/24/lebanon-s-crisis-great-denial-in-the-deliberate-depression
●
https://www.nytimes.com/2021/10/14/briefing/lebanon-financial-crisis-lira.html
●
https://www.theguardian.com/world/2021/jun/28/this-is-the-end-of-times-lebanon-struggles-to-find-political-path-through-its-crisis
●
https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Lebanon#Ancient_Near_East
1
เลบานอน
ประวัติศาสตร์
การเงิน
78 บันทึก
40
4
57
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
78
40
4
57
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย