4 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • ความคิดเห็น
มุกตลก ที่ไม่ตลก สำหรับทุกคน
หลังจากเหตุการณ์บนเวทีออสการ์อันลือลั่นไปทั่วโลก ก็เกิดการถกเถียงกันไปอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น หนึ่งในนั้น คือ “มุกตลกที่เล่นกัน มันอาจจะไม่ตลกสำหรับทุกคนก็ได้”…
ซึ่งหลังจากที่ทางผู้เขียนลองไปสืบค้นข้อมูลดูจริงๆ ก็ไม่น่าเชื่อว่า จะมีงานศึกษาเกี่ยวกับ “มุกตลก” จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยผลการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “มุกตลกแต่ละมุกสร้างความตลกให้กับคนแต่ละคนไม่เท่ากัน” ดังหัวข้อที่เราตั้งเป็นชื่อบทความ
📌 อะไรทำให้สิ่งต่างๆ ตลก?
แต่ก่อนที่จะไปดูในเรื่องความแตกต่างตรงนั้น เราอยากจะขอเล่ากันก่อนสักนิดนึงว่า อะไรที่ทำให้สิ่งต่างๆ ตลกได้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณ TEDTalk โดยคุณ Peter McGraw ที่เล่าเรื่องนี้ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม
โดยคุณ Peter ได้อธิบายเอาไว้ว่า การที่เรื่องๆ หนึ่งจะตลกนั้นต้องประกอบไปด้วย 2 องค์ประกอบ คือ
  • 1.
    ‘Violation’ หรือมุกตลกมันต้องอยู่นอกเหนือหรือละเมิดกรอบทางสังคมบางอย่าง และ
  • 2.
    ‘Benign’ หรือความใจดี อ่อนน้อม ปราณี
1
ซึ่งมุกตลกที่ดี ต้องสร้างสมดุลระหว่าง 2 องค์ประกอบข้างต้น ถ้าสิ่งที่เป็นมุกตลกมันรุนแรงเกินไป ก็จะให้ความรู้สึกถูกคุกคามได้ แต่ถ้าสิ่งที่เล่ามันธรรมดา เป็นเรื่องของคนใจดีปกติ ก็จะไม่สร้างความดึงดูดให้คนตลกกับมันได้
1
โดยเมื่อทั้งสององค์ประกอบมาอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล เราก็จะเรียกสิ่งนี้ว่า “Benign violation” ที่ตัวผู้เขียนขอแปลว่า การละเมิดแบบอ่อนโยน ล่ะกันครับ
โดยเขายังยกตัวอย่าง “การจั๊กจี้” ที่เราหัวเราะเวลาคนอื่นมาจั๊กจี้ ก็เพราะเรารู้ว่า สิ่งที่เขาทำไม่ใช่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจะทำร้ายเราจริงๆ เป็นเพียงแค่ “การแกล้ง” กันเท่านั้น
แต่ถ้าคนที่จะมาจั๊กจี้แสดงท่าทีคอยตามแต่จะจั๊กจี้ เราก็คงรู้สึกว่า อันนี้เริ่มเป็นการคุกคามแล้ว ซึ่งมันก็คือการใช้ส่วนประกอบในข้อที่ 1 ”การละเมิดกรอบสังคม” มากเกินไป
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตัวเรา “จั๊กจี้ตัวเอง” ก็จะไม่รู้สึกจั๊กจี้อะไร เพราะมันเป็นการใช้ส่วนประกอบในข้อ 2 “ความปราณี อ่อนโยน”มากเกินไปแทน
📌 ตลกของเธอ ไม่เท่ากับ ตลกของฉัน
ตอนนี้ เราทราบกันคร่าวๆ แล้วว่า องค์ประกอบอะไรที่ทำให้มุกมันตลก ก็มาสู่ส่วนที่เป็นคำถามหลักของเราแล้ว ที่เราจะอธิบายว่า อะไรที่ทำให้คนตลกกับมุกแต่ละมุกไม่เท่ากัน
โดยคำอธิบายแรก คือ วัฒนธรรมและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
มีงานวิจัยจำนวนมากพอสมควรเลยที่พยายามจะศึกษาว่า วัฒนธรรมและประสบการณ์ที่แตกต่างกันส่งผลต่อมุกตลก และอารมณ์ขันของคนแต่ละชาติอย่างไร ซึ่งจะขอตัวอย่างผลการศึกษาบางอย่างมาเล่าให้ฟัง
ผลงานวิจัยหนึ่ง แสดงให้ว่า “เด็กประเทศสหรัฐฯ จะมีการเล่นมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องใต้สะดือมากกว่าเด็กจากสิงคโปร์” สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าของคนเอเชีย
อีกหนึ่งงานวิจัยที่แสดงผลความแตกต่างในประสบการณ์และความรู้ เกิดจากการเปรียบเทียบคนญี่ปุ่นกับคนไต้หวัน ที่ผลลัพธ์แสดงว่า “คนไต้หวันตลกกับมุกภาษาอังกฤษมากกว่าคนญี่ปุ่น” สะท้อนความเข้าใจทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของคนอื่นที่ไม่เท่ากันส่งผลต่อความตลกเช่นกัน
มาสู่คำอธิบายที่สอง ที่จะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ “เหตุการณ์อื้อฉาวที่ออสการ์” โดยตรง คำอธิบายนี้ก็คือ “เราจะตลกกับการละเมิดคนอื่น มากกว่า การละเมิดตัวเราเองหรือคนที่เรารัก”
ซึ่งมันก็ตรงกับแนวคิดในวงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม รวมถึงในวงการจิตวิทยาปกติ ที่เราจะคิดเข้าข้างตัวเองหรือคนที่เรารัก เมื่อการกระทำมันตรงกันข้ามกัน คือ คนที่เรารักถูกละเมิดหรือทำร้าย ก็ไม่แปลกที่เราจะไม่ตลกกับเรื่องนั้น ๆ
มีคำพูดของนักแสดงตลกชาวอเมริกันชื่อ Mel Brooks ว่าเอาไว้ว่า
หาก ‘ฉัน’ ตัดนิ้วของตัวเองมันจะเป็นโศกนาฎกรรม แต่ถ้า ‘คุณ’ เดินตกท่อตาย สิ่งนั้นมันช่างเป็นเรื่องตลก
(Tragedy is when I cut my finger. Comedy is when you walk into an open sewer and die.)
Mel Brooks
ซึ่งสิ่งนี้เป็นเทคนิคที่นักแสดงตลกจำนวนมากใช้กันจริง คือ การนำ “เรื่องรุนแรงให้ออกมาห่างตัวพวกคุณ” โดยแสดงการละเมิดตัวพวกเขาเอง
นอกจากนี้ ก็ยังมีตัวอย่างในเกมโชว์ ละคร หรือแม้แต่การ์ตูนด้วย ที่ยิ่งเมื่อเราคิดว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นไม่ใช่ความจริง เป็นเพียงการแกล้ง หรือเทคนิคการถ่ายทำเท่านั้น มันก็จะเข้า 2 องค์ประกอบที่เราเล่าไปกลายเป็น “การละเมิดแบบอ่อนโยน (Benign Violation)”
อย่างไรก็ดี การยอมรับในมุกตลกมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย ถ้ามีการเรียกร้องหรือปลูกฝังแนวคิดไปอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาเล่นตลกไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็แล้วแต่ หนึ่งในตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัด ก็อย่างเช่น “เรื่องของสงคราม” ที่จะมาทำให้มันอ่อนโยนลงอย่างไร คนเกือบทั้งหมดก็ไม่สามารถยอมรับได้อยู่ดี
ท้ายที่สุด มีอีกหนึ่งคำพูดจาก Erma Bombeck นักเขียนชาวอเมริกันอีกคน ที่มีผลงานสร้างเสียงหัวเราะเช่นกัน กล่าวออกมาได้อย่างน่าประทับใจ และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงนักแสดงตลกเท่านั้นที่ควรระลึกเวลาเล่นมุก แต่คนทั่วไปก็ควรคิดมีความคิดนี้ด้วย
“มันมีแค่เส้นบางๆ เท่านั้นที่กั้นระหว่าง เสียงหัวเราะกับความเจ็บปวด ความตลกกับโศกนาฏกรรม และการสร้างอารมณ์ขบขันกับการทำร้าย
(there’s a thin line between laughter and pain, comedy and tragedy, and humor and hurt.)”
Erma Bombeck
ขอให้ทุกคนมีสัปดาห์ที่มีอารมณ์ขันที่ไม่อยู่บนความเจ็บปวดของคนอื่นครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา