Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ร
เรื่องเล่าหน้ากองไฟ
•
ติดตาม
4 เม.ย. 2022 เวลา 01:07 • นิยาย เรื่องสั้น
เปิดตำนาน “ลาบเมือง”
ตำนาน…แห่งชายชาตรี ที่เป็นมากกว่าสุดยอดอาหารของล้านนา แต่คือที่มาของเครื่องเทศ การค้าและการเมือง
“ใส่ลาบบ่ะ” ถ้าใครเป็นคนเหนือจะได้ยินประโยคนี้บ่อยมาก เวลาที่เราคิดเมนูไม่ออกว่าจะกินอะไรดีในวันนี้ อารมณ์เดียวกับคนภาคกลางที่ไม่รู้ว่าจะกินอะไรก็ขอกะเพราไว้ก่อน แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคเมื่อหลายร้อยกว่าปีก่อน การจะหากินลาบไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบนี้แน่ และการกินลาบก็เป็นมากกว่าอาหารแต่มันเป็นทั้งประวัติศาสตร์ที่มาของเครื่องเทศ การค้าและการเมืองอีกด้วย
หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าลาบนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร มีส่วนผสมและวิธีทำอย่างไรบ้าง เราจะไม่ขอกล่าวถึงในส่วนนั้นแต่เราจะขอกล่าวถึงเรื่องของประวัติศาสตร์อย่างเดียวเลยก็แล้วกัน เชื่อกันว่าลาบนั้นมีต้นกำเนิดมาจากมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยนิยมกินกันมากในอาณาจักรล้านนา ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของสยาม
ในล้านนานั้นวัฒนธรรมการกินลาบนี้มักจะแพร่หลายในหมู่คนยวนและชาวไทลื้อเป็นหลัก ซึ่งสองชนชาตินี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความใกล้ชิดกันทั้งทางภาษา ประวัติศาสตร์และประเพณีกันเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนพ่อค้าชาวจีนได้ออกเดินทางไกลโดยใช้คาราวานเรือและเดินเท้าเพื่อทำการค้าระหว่างมณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านนาและพม่า โดยนำใบชา ฝิ่น เครื่องเทศและเครื่องหอม ขี้ผึ้งและน้ำผึ้ง ใบพลูและพริก ขนสัตว์ ฝ้ายและผ้าไหมรวมถึงเครื่องครัวทองเหลืองมาจำหน่ายอีกทั้งยังนำวัฒนธรรมมาเผยแพร่ โดยได้เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คน ประเพณีและแนวความคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกันกับเส้นทางการค้าเครื่องเทศนี้และเครื่องเทศนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของส่วนประกอบหลักของเมนูลาบ ซึ่งก็คือ “พริกลาบนั่นเอง”
สมัยนั้นถือว่าเนื้อเป็นสิ่งที่มีค่ามาก บางบ้านหรือบางครอบครัวเวลามีค่าใช้จ่ายเยอะจนแบกรับไม่ไหวก็จะนำวัวหรือควายไปแลกเปลี่ยนเพื่อชำระหนี้กันเลยทีเดียว และวัวควายเหล่านี้นอกจากจะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิตแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย การจะนำมาทำเป็นอาหารได้นั้นต้องเป็นงานที่พิเศษและมีหน้ามีตาจริงๆ ของเจ้าบ้านหรือเจ้าภาพในขณะนั้น
แล้วถ้าเราเป็นแค่คนธรรมดาไม่ได้มีฐานะที่จะล้มวัวควายได้ตามใจเพื่อที่จะมาทำลาบได้ ทำไงล่ะทีนี้ คำตอบคือออกไป “ล่า” สมัยนั้นไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ อาชีพของผู้ชายส่วนใหญ่ในหมู่บ้านถ้าไม่ทำเกษตรกรรมก็เป็นนายพราน การจะออกไปล่าสัตว์ทั้งทีนั้นต้องออกล่ากันเป็นกลุ่มโดยใช้ทักษะความชำนาญของแต่ละคนร่วมมือกัน พอล่าสัตว์ได้มาแล้วก็ลงมือทำลาบกินกันตรงนั้นเลย แต่จะทำกินกันแค่ในกลุ่มนั้นมันดูธรรมดาไป การนำกลับไปที่หมู่บ้านดูจะเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มมากกว่า
และดูเหมือนว่าคงจะเป็นเมนูเดียวที่ผู้ชายในยุคนั้นเข้าครัวปรุงอาหารกันเองซึ่งหน้าที่นี้ควรจะเป็นของผู้หญิงมากกว่า ถ้าถามว่าทำไมต้องปรุงเองแล้วไม่ให้พวกผู้หญิงจัดการ คำตอบคือ “ความภาคภูมิใจ” นี่แหละ การได้โชว์ว่ากลุ่มเราล่าสัตว์ตัวนี้มาเลี้ยงคนในหมู่บ้านได้มันคือเกียรติและชื่อเสียงอย่างที่สุดเพื่อที่จะได้เป็นผู้นำในอนาคตในภายภาคหน้าได้ ส่วนมากสัตว์ที่ล่าได้ก็จะเป็นพวกเก้ง, หมูป่า, ควายป่าเป็นต้น ดังนั้นการทำลาบจึงกลายเป็นสายใยที่สำคัญของโครงสร้างทางสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของงานสำคัญประจำหมู่บ้านกันเลยทีเดียว
"ลาบ-หลู้-เหล้า กับวัฒนธรรมของชายชาตรี"
ชาวล้านนาเชื่อว่าลาบดิบอุดมไปด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เป็นกิจกรรมที่เหล่าบุรุษล่าสัตว์ร่วมกันมาและแบ่งปันความกล้าหาญนี้ด้วยการรับประทานเนื้อที่ไม่ผ่านการปรุงสุกร่วมกับเหล้าท้องถิ่นที่หมักขึ้นมากันเองโดยเฉพาะ พวกเขาเชื่อกันว่าลาบกับเหล้าเป็นสิ่งที่สามารถผสานความกลมกล่อมเข้ากันได้อย่างลงตัว ซึ่งทั้งลาบและเหล้านี้มีรสชาติที่เข้มข้นพอ ๆ กันและช่วยเสริมรสชาติซึ่งกันและกันได้อย่างดีเยี่ยมและยังเชื่ออีกว่าเหล้าจะช่วยฆ่าพยาธิที่อยู่ในเนื้อดิบได้อีกด้วย และอีกด้านหนึ่งความขมของลาบและผักแนมจะทำให้รสชาติของเหล้านุ่มขึ้น เมื่อรับประทานลาบและดื่มเหล้าร่วมกันเชื่อว่าจะมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะและเสริมความแข็งแกร่งของท่านชายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เมนูลาบยังอุดมไปด้วยโปรตีนและสารอาหารที่ครบถ้วนจากผักสมุนไพรแถมยังมีฤทธิ์เป็นยาอีกด้วย
"ผักกับลาบ ดับกลิ่นคาวและเป็นยาในตัวเดียวกัน"
ผักกับลาบเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่หาได้ไม่ยาก บางบ้านก็ปลูกไว้และในบางครั้งก็เข้าป่าไปเก็บมาโดยแต่ละชนิดนั้นมีสรรพคุณทางยาถือว่าค่อนข้างสูงตั้งแต่ 14 ชนิดถึง 20 ชนิดกันเลยทีเดียว ถือว่ากินลาบทีต้องเด็ดมาทั้งสวนเลยก็ว่าได้ ซึ่งผักกับลาบจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและภูมิภาคที่พบ โดยแต่ละชนิดจะได้รับการคัดสรรอย่างพิถีพิถันตามสรรพคุณทางยา รสชาติและกลิ่น แบ่งออกเป็น 3 แระเภทหลักๆ คือพืชสมุนไพรหอม พืชใบรสเปรี้ยวและสมุนไพรรสขม ทั้งสามประเภทนี้จะมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เสริมรสชาติของกันและกันได้อย่างดีในการดับกลิ่นคาวของเนื้อดิบและเลือดสด ทั้งนี้ยังมีความเชื่ออีกว่าสมุนไพรที่มีรสขมมีสรรพคุณทางยาในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้
ตัดภาพมาในยุคสมัยปัจจุบัน การกินลาบเดี๋ยวนี้ก็ไม่ต่างจากอาหารมื้อหนึ่งเท่านั้น เราสามารถเข้าไปในร้านแล้วสั่งเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดได้ในทันที โดยไม่ต้องไปเตรียมเนื้อเตรียมผักเหมือนเมื่อก่อน ถือได้ว่าเป็นอาหารที่คนในทุกระดับหากินได้ง่ายกันแล้ว แต่ไม่ว่ายังไงลาบก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นลาบอยู่ได้นั่นก็คือ ท่านชายทั้งหลายช่วงเวลาตั้งวงในตอนเย็นก็มักจะมีเมนูนี้กินเคล้ากับวิสกี้ท้องถิ่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะพูดคุยเรื่องงาน ถกเรื่องการเมืองหรือแม้แต่เล่าประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวก็มักจะมีเมนูลาบนี่แหละที่อยู่กลางวงอาหารในทุกช่วงเวลา เพื่อเพิ่มอรรถรสในการพบปะสังสรรค์พูดคุยกันได้อย่างราบลื่น
และคนรุ่นใหม่นี้เดี๋ยวนี้ก็นิยมหันมากินลาบกันมากขึ้นอีกด้วยในรูปแบบของลาบคั่วหรือลาบสุกนั่นเอง การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลมาจากโรคภัยไข้เจ็บจากการกินดิบเพิ่มมากขึ้นการหันไปกินแบบคั่วสุกก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างความปลอดภัยทางด้านสุขภาพร่างกายเช่นกัน แต่ก็ถือว่าทำให้รสชาติของลาบเปลี่ยนไปเยอะพอสมควรเลยซึ่งแน่นอนว่าสุขภาพยังไงก็มาก่อนอยู่เสมอ ยังไงก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะท่านทั้งหลาย “เนื้อบ่ะมีโรคเป๋นลาบอันประเสริฐ”
อาหารสุขภาพ
อาหาร
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย