Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
7 เม.ย. 2022 เวลา 01:20 • สุขภาพ
‘สุขภาพดีสร้างได้’ – คำกล่าวที่อยู่คู่แคมเปญสาธารณสุขไทยมาอย่างยาวนาน โดยหวังจะกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจการออกกำลังกายและใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตาม ประชากรวัยทำงานในสถานประกอบการทั่วประเทศยังถูกรุมเร้าด้วยภัยเงียบอย่างโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง และโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจเรื้อรัง หรือพูดได้ว่ากลุ่มโรค NCDs ยังคงคร่าชีวิตของคนไทยในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง แม้วลี ‘สุขภาพดีสร้างได้’ จะอยู่กับเราเกินกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม
ในปัจจุบันมีงานศึกษาจำนวนไม่น้อยระบุตรงกันว่า ภัยจากโรค NCDs มีขนาดใหญ่กว่าที่สังคมรับรู้มาก (อ่านต่อได้ที่นี่) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจหรือเจ้าของสถานประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญทั้งในแง่เหตุผลทางสุขภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจ (อ่านต่อได้ที่นี่) ไปจนถึงความพยายามที่จะใช้แอพพลิเคชั่นในการตอบโต้กับโรคกลุ่มนี้ดังที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ (อ่านต่อได้ที่นี่) ทว่าหัวใจสำคัญของการรับมือโรคกลุ่มนี้ที่งานศึกษาวิจัยเห็นร่วมกันคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนวัยทำงานให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้มากที่สุดคือ การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจ เพื่อระงับ ยับยั้ง และป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นตอ
งานศึกษาของ ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ เรื่อง ‘มาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในสถานประกอบการ’ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนทำงาน และยังระบุไปไกลกว่านั้นด้วยว่า รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน ควรกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อผลักดันเรื่องนี้โดยตรง
●
มาตรการสร้างแรงจูงใจ หนทางสร้างสุขภาพดีที่ต้องเริ่มต้นจากรัฐ
ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ ระบุเอาไว้ในงานศึกษาดังกล่าวว่า แม้สถานประกอบการจะมองว่าการออกนโยบายภายในเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพของลูกจ้างไม่ได้เป็นความรับผิดชอบขององค์กร แต่หากรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน พวกเขาก็ยินดีที่จะจัดโครงการเหล่านั้นให้แก่พนักงาน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม โดยเฉพาะคนวัยทำงาน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ริเริ่มด้วยการสร้างแรงจูงใจก่อน
ปัจจัยความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของลูกจ้าง พบว่า ต้องทำงานควบคู่กันไปทั้งเชิงเทคนิคและเชิงงบประมาณ เช่น รัฐบาลจะช่วยผลักดันการลดราคาหากบริษัทขนาดเล็กซื้อบริการสร้างเสริมสุขภาพระดับกลุ่ม และทำให้การเข้าถึงโครงการเหล่านี้มีความง่ายดายที่สุด เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและลดอุปสรรคในการเข้าถึงโครงการ
ในสหรัฐอเมริกา กฎหมาย Affordable Care Act หรือที่เรียกกันว่า ‘Obama Care’ ในปี 2010 ที่มีเนื้อหาครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหลายด้าน ยังมีบางส่วนที่ระบุให้ภาครัฐเสริมแรงจูงใจเป็นเม็ดเงินให้แก่ผู้ประกอบการในการพาลูกจ้างไปใช้บริการตรวจสุขภาพหรือคัดกรองโรค โดยจัดให้มีทางเลือกหลายรูปแบบ เช่น การลดหย่อนค่าประกันสุขภาพ เงินสด หรือบัตรกำนัล ส่งผลให้อัตราการเข้าใช้บริการด้านสุขภาพเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นหลังกฎหมายบังคับใช้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกเหนือไปจากสหรัฐแล้ว ประเทศเยอรมนีเองก็เริ่มใช้มาตรการด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจแก่เจ้าของสถานประกอบการเช่นเดียวกัน โดยกฎหมาย German Tax Act ระบุว่า นายจ้างจะสามารถยกเว้นการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และยังลดหย่อนภาษีสถานประกอบการถึง 500 ยูโร สำหรับบริษัทที่มีมาตรการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพนักงานอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า หากภาครัฐเริ่มออกมาตรการที่มีลักษณะเป็นทางการ มีผลบังคับใช้ และมีลักษณะเชิงบวกให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจ ผลลัพธ์ที่ตามมาจะเห็นผลได้อย่างรวดเร็วในระดับชาติ เราจึงกล่าวได้ว่า ‘สุขภาพดีสร้างได้’ นั้น ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถจัดการได้ง่ายที่สุด และสัมผัสได้ถึงประโยชน์จากการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ มิฉะนั้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกจ้างในสถานประกอบการก็ไม่อาจหลุดพ้นความเสี่ยงจากโรค NCDs
●
ผู้ประกอบการต้องการแรงจูงใจเพื่อผลกำไรที่ยั่งยืน
หากขยับลงมาจากภาพใหญ่ระดับชาติอย่างการสนับสนุนด้านการเงินหรือการกำหนดนโยบายของรัฐบาล งานศึกษาของ ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ ระบุว่า แรงจูงใจบางอย่างที่ไม่ได้สร้างโดยรัฐก็สามารถเกิดขึ้น และนำไปสู่การออกนโยบายด้านสุขภาพของสถานประกอบการได้เช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แรงจูงใจภายใน กับแรงจูงใจภายนอก
แรงจูงใจจากภายใน (Internal Motivation) หมายถึง ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเสริมสุขภาพให้กับพนักงานของตน ซึ่งเกิดจากความศรัทธาหรือความเชื่อว่า การลงทุนเรื่องสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทั้งพนักงานและองค์กรเอง เมื่อดูแลพนักงานอย่างดี พนักงานก็จะสร้างผลผลิตหรือบริการที่มีคุณภาพ นำมาซึ่งผลกำไรของบริษัทต่อไป
แรงจูงใจจากภายนอก (External Motivation) หมายถึง สิ่งที่สถานประกอบการจะได้รับจากคนภายนอกองค์กร โดย ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่สังคมโดยรวมสามารถร่วมกันทำให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้พฤติกรรมด้านสุขภาพของแต่ละสถานประกอบการเริ่มถูกแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป
ตัวอย่างของแรงจูงใจจากภายนอกที่ถูกยกขึ้นมาในงานศึกษา คือ การออกนโยบายด้านสุขภาพภายในองค์กรจะช่วยทำให้ลูกค้ามีความภักดีกับบริษัทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากลูกค้าจะภักดีต่อแบรนด์ต่างๆ เมื่อพนักงานมีความทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงาน โดยโครงการเสริมสร้างสุขภาพภายในองค์กรจะทำให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีและมีความมุ่งมั่นกับองค์กรมากขึ้น และแปรผันไปยังความภักดีของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นต่อไป
การมีนโยบายสุขภาพที่ดีในองค์กรยังเป็นการช่วยดึงดูดให้บุคลากรคุณภาพสูงจากที่อื่นๆ อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรอีกด้วย รวมถึงอัตราการลาออกน้อยลง ในแง่นี้บุคลากรที่เพิ่มมากขึ้นทั้งกำลังคนและศักยภาพจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันขององค์กรได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน หากมีการมอบรางวัลระดับประเทศให้แก่สถานประกอบการที่มีโครงการสุขภาพดังกล่าวก็ยังสามารถช่วยเพิ่มแรงจูงใจได้เช่นกัน
●
‘สุขภาพดีสร้างได้’ ต้องต่อท้ายด้วยคำว่า ‘จากเราทุกคน’
จากทั้งหมดที่กล่าวไป งานศึกษาของ ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้โรค NCDs จะส่งผลอย่างมากและมีอัตราชุกในกลุ่มคนทำงานของไทย ทว่าภาระทั้งหมดไม่อาจตกอยู่ที่เจ้าของสถานประกอบการ หรืออยู่ที่ตัวลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่สังคมทั้งองคาพยพจำเป็นต้องช่วยกันสร้างแรงจูงใจเพื่อตอบโต้วิกฤติโรคภัยไข้เจ็บนี้ด้วยเช่นกัน
จากการถอดบทเรียนของต่างประเทศที่ผ่านมา มักพบว่านโยบายของรัฐบาลหรือภาครัฐมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในการริเริ่มให้เจ้าของสถานประกอบการมีแรงจูงใจที่จะจัดการปัญหาด้านสุขภาพของลูกจ้างอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินอุดหนุน หรือช่วยให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขสามารถทำได้ง่ายขึ้น
ไม่เพียงแค่รัฐบาล แม้แต่องค์กรอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นทางการก็ยังสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจที่จะส่งเสริมสุขภาพได้เช่นเดียวกัน บทสัมภาษณ์เชิงลึกของตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรมในประเทศออสเตรเลียระบุว่า สมาคมอุตสาหกรรมบางประเภทที่ต้องการพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษหรือมีปัญหาการรับพนักงานใหม่ จะให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพของคนทำงานมากกว่าอุตสาหกรรมที่แรงงานส่วนใหญ่เป็น subcontract หรือ informal sector อย่างไรก็ตาม ยังมีความสับสนระหว่างมาตรการสร้างเสริมสุขภาพกับมาตรการส่งเสริมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยซึ่งเป็นภาคบังคับอยู่
ปัญหาของสมาคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ส่วนมากยังพบว่าสมาคมฯ มักจะดำเนินงานในลักษณะตอบสนองความต้องการของสมาชิกสมาคมฯ มากกว่าออกมาชี้นำหรือริเริ่มให้เกิดสิ่งใหม่ ขณะเดียวกันจากงานศึกษาของ ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า หลายสมาคมอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อค่าใช้จ่ายของโครงการสร้างเสริมสุขภาพเมื่อเทียบกับผลที่จะได้รับ โดยเฉพาะสำหรับสถานประกอบการขนาดเล็ก
ดังนั้นถึงแม้ว่าสมาคมอุตสาหกรรมไม่ว่าประเทศใดก็ตามจะสามารถก้าวข้ามกำแพงของตนเอง และออกมาริเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดโครงการด้านสุขภาพในสถานประกอบการแต่ละแห่ง สุดท้ายก็ยังคงติดอุปสรรคเรื่องการขาดแรงจูงใจจากนโยบายภาครัฐ และยิ่งชี้ให้เห็นว่านโยบายรัฐมีความสำคัญมากที่สุดในฐานะตัวแปรที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของคนวัยทำงานได้ในระดับประเทศ หากภาครัฐริเริ่มที่จะลงมือทำ
ผลการศึกษายังชี้ชัดว่า สุดท้ายแล้วการมีมาตรการสร้างแรงจูงใจของรัฐจะช่วยให้สถานประกอบการสามารถต่อกรกับโรค NCDs และเสริมสร้างสุขภาพของทุกคนในสังคมได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกัน สังคมโดยรวมต้องร่วมกันกระตุ้นให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญต่อเรื่องนี้ว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดการ
text: ภูภุช กนิษฐชาต
illustrator: พิชชาพร อรินทร์
โรคไม่ติดต่อ
ncds
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย