12 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
โลกพร้อมแล้วหรือยัง กับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานยั่งยืน?
ท่ามกลางอากาศที่แปรเปลี่ยน ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการหาพลังงานทดแทนมาสักพักแล้ว แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน ที่ส่งผลเสียต่ออุปทานน้ำมันและก๊าซทั่วโลก ก็กำลังทำให้การหาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าเดิม
ข่าวดีคือ หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มมีมาตรการในการหาพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนบ้างแล้ว อันที่จริง ในปี 2021 นี้ กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย เวียดนาม อาร์เจนตินา ฮังการี หรือ เอลซัลวาดอร์ ต่างก็ได้ผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์เกิน 10% แล้วตามรายงานขององค์กร Ember
นอกจากนี้รายงานนี้ยังบอกด้วยว่าพลังงานสะอาด (หรือพลังงานทุกรูปแบบที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) นั้นมีสัดส่วนเกือบ 40% ของพลังงานที่ทั่วโลกผลิตแล้ว ซึ่งสัดส่วนนี้ถือว่าเยอะกว่าพลังงานจากถ่านหิน (36%) เสียอีกโดยปัจจัยหลักที่ทำให้มีการผลิตพลังงานสะอาดมากขึ้นก็มาจากราคากังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดลงจากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกนี้ก็ทำให้เราเห็นได้ว่า หลายๆ ที่ก็น่าจะเริ่มมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานที่ยั่งยืนอย่างฉับพลันในระดับหนึ่ง และในเมื่อเรารู้แล้วว่าทั่วโลกมีการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว คำถามต่อมาคือ “ประเทศไหนล่ะ ที่พร้อมมากที่สุด?”
ในการจะตอบคำถามนี้นั้น เม็ดเงินลงทุนในการผลิตพลังงานสะอาดก็น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดความพร้อมที่ดี อย่างในปี 2021 ทั่วโลกได้ลงทุนไปกับเทคโนโลยีลดคาร์บอนเป็นจำนวนราวๆ 755 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสามประเทศที่ลงทุนมากที่สุดตามรายงานของ BloombergNEF ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และเยอรมนี (แผนภูมิ 1)
ในปี 2021 ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในด้านการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ได้เพิ่มเม็ดเงินลงทุนขึ้นจากปีที่แล้วถึง 60% โดยเฉพาะในด้านยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า และที่ผ่านมาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ
จากรายงานของบริษัท Rystad Energy พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ที่ถูกติดตั้งนั้น เพิ่มขึ้นจาก 19.4 กิกาวัตต์ ในปี 2017 เป็น 27.3 กิกาวัตต์ในปี 2021 นี่ก็เป็นความสำเร็จที่ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายกระตุ้นของภาครัฐและมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย อย่างที่คณะกรรมาธิการด้านการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติของจีนได้ประกาศว่าจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนอาคารสร้างใหม่ให้ได้ถึง 50% ของทั้งหมดภายในปี 2025
รองจากจีนแล้ว สหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใส่ใจกับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานยั่งยืนอย่างมาก ในปีที่แล้ว ประเทศได้ลงทุนไปกับการผลิตพลังงานสีเขียวเป็นจำนวนเงินกว่า 114 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยในจำนวนนี้ มีการลงทุนในการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ราวๆ 37 กิกาวัตต์ และจากกังหันลม-ไฮโดรเจนประมาณ 8 กิกาวัตต์ ซี่งเม็ดเงินการลงทุนของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนนั้น ถือว่าเยอะจนสามารถทำให้ประเทศกลายเป็นผู้นำในด้านนี้ได้ภายในอีก 10 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว
เยอรมนีก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมาโดยตลอด แต่หนึ่งในวิธีการหลักที่ประเทศใช้ในลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงนั้นก็คือ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นพลังงานที่สะอาดกว่า และปัญหาก็คือราวๆ 40% ของก๊าซที่เยอรมนีนำเข้านั้นมาจากรัสเซีย
เพราะเช่นนั้น สงครามในปัจจุบันจึงกระทบอุปทานก๊าซธรรมชาติในประเทศอย่างมาก แถมเยอรมนีก็เพิ่งจะยกเลิกสัญญาท่อส่งก๊าซ Nord Stream ที่จะส่งก๊าซจากรัสเซียมายังประเทศด้วยตรงไปด้วย
ดังนั้น ความมั่นคงทางพลังงานจึงกลายเป็นโจทย์หลักสำหรับนโยบายของประเทศในตอนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเยอรมนีก็ได้มีการอนุมัติสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลว 2 แห่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการนำเข้าจากที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป และประเทศอาจจะมีการหาคู่ค้ารายใหม่ด้วย ซึ่งก็มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือประเทศในแถบเอเชีย
เมื่อดูจากพัฒนาการของแต่ละประเทศในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานยั่งยืนแล้ว เราคงพูดได้ว่าทั่วโลกนั้นทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ในการพยายามเร่งความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าถามว่าความพยายามเหล่านี้เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนไปพึ่งพาพลังงานยั่งยืนอย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาสั้นๆ ไหม ก็คงจะไม่ เพราะเท่าที่ดูจากแต่ละประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในพลังงานสีเขียวแล้ว เราก็ยังเห็นช่องโหว่ที่ประเทศเหล่านั้นสามารถพัฒนาได้อีก นี่ยังไม่รวมถึงการที่ยังมีอีกหลายประเทศที่ล้าหลังในเรื่องนี้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางประการที่ทำให้การเปลี่ยนไปใช้พลังงานยั่งยืนนั้นล่าช้า ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักก็คือ การที่ทั่วโลกยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่มาก อย่างล่าสุด พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของพลังงานไฟฟ้าที่ถูกผลิตทั่วโลก แถมพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็น่าจะยังคงครองตลาดไปอีกนานด้วย
เหมือนอย่างที่รายงาน Annual Energy Outlook คาดไว้ว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังคงเป็นพลังงานหลักในสหรัฐฯ ไปจนถึงปี 2025 แม้จะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานยั่งยืนมากขึ้นก็ตาม อันที่จริงแล้ว หลายประเทศนั้นต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตพลังงานสะอาดด้วยซ้ำ เพราะเทคโนโลยีอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า กังหันลม หรือ แผงโซลาร์เซลล์ ต่างก็ใช้พลังงานดังกล่าวในการผลิตทั้งนั้น
1
เพราะเหตุนี้ ทั่วโลกจึงยังต้องพยายามเร่งการลงทุนในพลังงานยั่งยืนมากขึ้นอยู่ดีหากจะเลิกพึ่งพาพลังงานที่ไม่ยั่งยืนได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ และการทำเช่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีความร่วมมือและความแน่วแน่จากภาครัฐ
1
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา