19 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมทั่วโลกเจอผลกระทบบางส่วนจากสงครามและล็อกดาวน์
ตัวเลขดัชนี PMI (Purchasing Managers Index) ภาคการผลิตล่าสุดในหลายประเทศได้แสดงให้เห็นว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนและการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ในจีนได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกแล้ว (แผนภูมิ 1) แต่ความรุนแรงของผลกระทบนี้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
แน่นอนว่าเหล่าประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรง ก็จะเป็นกลุ่มที่โดนหนักที่สุด ยกตัวอย่างเช่น จีน ที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตล่าสุดได้ลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ในประเทศนั้นกำลังคิดจะลดกำลังการผลิตลง (หากสูงกว่า 50 แปลว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่คิดที่จะเพิ่มกำลังการผลิต)
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนี PMI ของจีนอยู่ที่ 50.4 แต่ในเดือนมีนาคม ตัวเลขนี้ลดลงมาเหลือ 48.1 ซึ่งถือเป็นการลดลงที่เร็วที่สุดในรอบ 2 ปี และเหตุผลหลักๆ ที่ดัชนีนี้ลดลงเร็วก็มาจากนโยบายควบคุมการระบาดครั้งใหม่ในประเทศและปัญหาความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลเสียต่ออุปสงค์นอกประเทศ
เช่นเดียวกัน กิจกรรมการผลิตในรัสเซียก็ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี โดย PMI ของรัสเซียในเดือนมีนาคมลดลงมาอยู่ที่ 44.1 จากเดิมที่ 48.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนี่เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของโควิดในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว การหดตัวของภาคการผลิตครั้งนี้ มาจากอุปสงค์นอกประเทศที่ซบเซาจากการแบนสินค้ารัสเซียเสียส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ราคาสินค้าในประเทศก็พุ่งขึ้นสูงด้วยจากต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้นบวกกับค่าเงินที่อ่อนลง
นอกจากทั้งสองประเทศนี้แล้ว ภาคอุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ ก็ยังดูจะไม่ค่อยโดนผลกระทบหนักมากเท่าไร อย่างใน EU ที่น่าจะโดนหนัก เพราะทำการค้าโดยตรงกับรัสเซีย ก็กลับดูไม่ค่อยแย่เท่าไร เพราะตัวเลข PMI ในเดือนมีนาคมยังคงสูงกว่าระดับ 50 (56.5 ในเดือนมีนาคม) อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ลดลงจากเดือนที่แล้ว (58.2) ซึ่งหมายความว่าภาคการผลิตยังเติบโตด้วยอัตราความเร็วที่ช้าลง
อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ PMI ลดลงเล็กน้อย (จาก 54.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ มาเป็น 54 ในเดือนมีนาคม) แต่ยังอยู่ในระดับที่สื่อถึงการขยายตัวของภาคการผลิต เช่นเดียวกัน PMI ของกลุ่มประเทศ ASEAN ลดลงจาก 52.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ ลงมาเป็น 51.7 ในเดือนมีนาคม ส่วนดัชนีของประเทศไทยก็ตกลงมาอยู่ที่ 51.8 จาก 52.5
แต่แม้ภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศจะทรงตัวได้ดีในตอนนี้ ทุกที่ก็ยังมีความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและความต้องการซื้อสินค้าของต่างประเทศที่ซบเซาลง นอกจากนี้ หากดูดัชนีอื่นๆ ประกอบไปด้วย กิจกรรมในภาคการผลิตก็ยังมีแนวโน้มลดลงเพิ่มได้อีกในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
อย่างราคาพลังงานในยุโรปตอนนี้ก็สูงจนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็วและอาจตัดกำไรของผู้ผลิตได้ในอนาคต ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของทวีปล่าสุด (8.8) อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020
เช่นเดียวกัน ราคาสินค้าต้นทุนล่าสุดในญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2008 และความเชื่อมั่นทางธุรกิจก็ลงไปอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส
ส่วนจำนวนคนถูกจ้างงานใน ASEAN ตามรายงานของ S&P Global ก็หดตัวมาสองเดือนติดต่อกันแล้ว ซึ่งก็ชี้ถึงการที่บริษัทมากมายยังไม่คิดที่จะจ้างคนเพิ่ม เพื่อขยายกำลังการผลิต นอกจากนี้ S&P Global ยังบอกด้วยว่า ระยะเวลาการรอสินค้าจากประเทศใน ASEAN ของผู้ซื้อ (lead time) นั้นเพิ่มขึ้นจากความขัดข้องในห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ตาม หากเราตัดผลเสียจากปัญหาสงครามหรือการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ออกไป จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกนั้นฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดได้ค่อนข้างดีทีเดียว และถ้าจะรักษาการฟื้นตัวที่ดีนี้ไว้ บริษัททั่วโลกก็จำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งตามรายงานของ Deloitte เทรนด์บางส่วนที่บริษัททั่วโลกควรจะเตรียมพร้อมรับมือก็มี
  • 1.
    การขาดแคลนแรงงาน
  • 2.
    ความไม่มั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน
  • 3.
    การปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
  • 4.
    ความปลอดภัยด้าน Cyber และ
  • 5.
    การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา