12 เม.ย. 2022 เวลา 12:24 • สุขภาพ
ทำไมเมื่ออายุมากขึ้น จึงปวดเมื่อยง่าย
เป็นที่ทราบกันดีกว่า เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็เปลี่ยนไป ทั้งจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามปกติ จากการใช้งานมากซ้ำๆ จากการบาดเจ็บในอดีต และเมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสพบโรคร่วมอื่นๆที่ทำให้ปวดด้วยได้ จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายสาเหตุของความปวด ดังนั้น การป้องกันและลดอาการปวดเมื่อย จึงจำเป็นต้องรักษาให้เหมาะสมตามสาเหตุ
สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดเมื่ออายุมากขึ้น
ความเสื่อม (degenerative changes) เมื่ออายุมากขึ้น “น้ำ” ในหมอนรองกระดูก และข้อต่อต่างๆ ของร่างกายลดลง “เนื้อกระดูก” ก็สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โดยเฉพาะในส่วนของกระดูกสันหลัง และข้อต่อต่างๆ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ มานานๆ ทำให้เกิดภาวะที่พบได้บ่อย คือ กระดูกคอเสื่อม หลังเสื่อม (spondylosis) หมอนรองกระดูกเสื่อม (disc degeneration) ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม ข้อนิ้วเสื่อม (arthritis) ส่วนเอ็นต่างๆ ก็มีโอกาสเกิดหินปูนเกาะได้ (calcific tendinitis) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการปวดเป็นๆหายๆ
นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อที่ประคองโครงสร้างต่างๆ ได้แก่ กระดูก และข้อต่อ จะแข็งแรงลดลง หรือที่เราเรียกว่า Sarcopenia โดยกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ให้ความแข็งแรง (muscles type 2) จะมีปริมาณลดลง โดยพบว่า ทุกๆ 1 ปีของอายุ กล้ามเนื้อสามารถลดลงได้ถึง 0.5–1% ทำให้บริเวณกระดูกและข้อต่อต่างๆ มีแรงพยุงจากกล้ามเนื้อน้อยลง จึงปวดได้ง่ายขึ้น
สาเหตุอื่นที่ทำให้มีโอกาสปวดได้เพิ่มขึ้น คือ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเอ็น ที่มากขึ้น (muscle tightness or stiffness) เนื่องจากส่วนประกอบของน้ำในเนื้อเยื่อของร่างกายลดลง ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเอ็นไม่ดี ทำให้บาดเจ็บง่าย
เช่นเดียวกับคนอายุน้อย การใช้งานกล้ามเนื้อจนหดตึงซ้ำๆ (trigger point) เช่น myofascial pain syndrome หรือที่เรามักเรียกกันว่า office syndrome การใช้งานเอ็นต่างๆ ต่อเนื่อง จนเกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ (repetitive trauma) มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น trigger finger หรือ นิ้วล๊อค เกิดจากการใช้มือมากๆ ซ้ำๆ
นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือน มีโอกาสกระดูกพรุนง่ายขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรง กระดูกหัก เมื่อหกล้มได้
หมอจะไม่ได้เน้นถึง การปวดจากโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่พบได้มากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นนะคะ เช่น การปวดจากการบาดเจ็บของระบบประสาท (neuropathic pain), การปวดที่เกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยง (ischemic pain) และการปวดจากมะเร็ง (cancer pain) จะขอแนะนำในเรื่องความปวดจากสาเหตุจากกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก หรือที่เรามักเรียกกันว่า ปวดเมื่อย เนื่องจากการดูแลรักษาการปวดจากโรคเรื้อรัง มีความแตกต่างกัน/ไปมาก ตามสาเหตุค่ะ
ฟังแล้วดูเหมือนจะมีแต่เรื่องให้กังวล ที่จริงเรามีวิธีดูแลและป้องกันการปวดเมื่อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในระยะยาวได้ ที่สำคัญที่สุด คือ การปรับการใช้งานร่างกาย สรีระให้เหมาะสม การพักผ่อนที่เพียงพอ และที่ขาดไม่ได้เลยคือการออกกำลังกายที่เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและยืดหยุ่น และยังสามารถช่วยให้เลือดไปเลี้ยงโครงสร้างต่างๆ ได้ดีขึ้น ลดโอกาสการเกิดความเสื่อมได้ค่ะ
fb & blockdit: Rehab Your Life, Youtube: DrAnnPlanet
References
Aging changes in Bone-Muscles-Joints, Medline Plus, Medical encyclopedia
Sally Roberts et al., Ageing in the musculoskeletal system, Acta Orthop. 2016 Dec; 87(Suppl 363): 15–25.
Asad Ali et al., Managing Chronic Pain in the Elderly: An Overview of the Recent Therapeutic Advancements, Cureus. 2018 Sep; 10(9): e3293.
Walter R Frontera., Physiologic Changes of the Musculoskeletal System with Aging: A Brief Review, Phys Med Rehabil Clin N Am. 2017 Nov;28(4):705–711.
โฆษณา