Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted investor
•
ติดตาม
17 เม.ย. 2022 เวลา 04:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Peter Lynch : 13 ข้อคิดจากนักลงทุนในตำนาน”
5
หากต้องกล่าวถึงใครสักคน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือนักลงทุนวีไอ (VI : Value Investor) ผู้ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆในประวัติศาสตร์แห่งโลกการลงทุน "ปีเตอร์ ลินซ์" (Peter Lynch) คือหนึ่งในบุคคลนั้นที่ผู้เขียนนึกถึงเสมอ
นักลงทุนชาวไทยมือเก๋าซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการตลาดหุ้นมายาวนานคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก แต่สำหรับ "นักลงทุนหุ้นมือใหม่" อาจไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติศัพท์ของ “ลินซ์” มาก่อน และคงมิใช่การกล่าวเกินความจริงไปนัก ถ้าหากจะเปรียบว่าเขาคือ "ครู" หรือแม้กระทั่ง "ศาสดา" ด้านการลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ที่เหล่านักลงทุนวีไอทั่วโลกให้การยอมรับนับถือในความสามารถมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ และยากเกินกว่าที่ใครจะขึ้นมาทัดเทียม
‘ปีเตอร์ ลินซ์’ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1944 และสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้จัดการกองทุน "ฟิเดลลิตี้ แมคเจลลัน" (Fidelity Magellan) ในสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการเงินระหว่างปี ค.ศ.1977 - 1990 ก่อนที่เขาจะเกษียณอายุตนเองออกจากเส้นทางนักลงทุนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา และฝากฝังผลงานการบริหารจัดการกองทุนอันยอดเยี่ยมไว้เป็นอนุสรณ์เบื้องหลัง
ลินซ์ได้สร้างสถิติอัตราผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยได้ถึง 29.20% ต่อปี เป็นระยะเวลานาน 13 ปีติดต่อกันตลอดช่วงเวลาที่เขากุมบังเหียนบริหารกองทุนฟิเดลลิตี้ และสถิตินี้ยังคงเป็นประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งแห่งโลกการลงทุนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยความสามารถปราดเปรื่องดังที่กล่าวมาของ ‘ปีเตอร์ ลินซ์’ คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับ "นักลงทุนหุ้นมือใหม่" ที่จะได้สัมผัสกับตำนานแห่งนักลงทุนวีไอคนนี้ให้มากขึ้นอีกสักหน่อย คงจะเป็นการดีไม่น้อยที่เหล่ามือใหม่จะได้เริ่มต้นศึกษากระบวนการลงทุนซึ่งสำคัญที่สุดและเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด นั่นคือ “การปรับทัศนคติ (Mindset)” ก่อนจะก้าวกระโดดเข้าสู่สนามรบจริงอันแสนโหดร้าย ซึ่งผู้เขียนคิดเห็นว่า ทัศนคตินั้นสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเริ่มต้นกระบวนการศึกษาของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ สำคัญเสียยิ่งกว่าการเรียนรู้วิธีซื้อขายหุ้นเสียอีกนะครับ
บทความนี้ผู้เขียนจะพาเหล่า ‘นักลงทุนมือใหม่ตัวน้อย’ ค่อยๆเข้าไปทำความรู้จักกับแนวคิดด้านการลงทุนในหุ้นของ‘ปีเตอร์ ลินซ์’ ที่ถูกทบทวน กลั่นกรอง และตกผลึกมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ผ่านประสบกาณ์อันโชกโชนของเขา นำมาบอกเล่าต่อแบบกระชับรวบรัดให้เข้าใจได้อย่างง่ายดายกันครับ
1. หากคุณเตรียมพร้อมที่จะเข้าลงทุนในบริษัทใดก็ตาม คุณต้องสามารถอธิบายภาพรวมทั้งหมดของลักษณะทางธุรกิจนั้นๆได้ด้วยภาษาง่ายๆ ซึ่งรวดเร็วพอที่จะพูดให้เด็กฟังเข้าใจและไม่เบื่อไปเสียก่อน : ความเชี่ยวชาญนั้นไม่สามารถวัดผลได้จากความพยายามในการศึกษาและอธิบายเรื่องยากๆ แต่สามารถวัดผลได้จากการทำให้ความยากและซับซ้อนดังกล่าวนั้นหายไป เมื่อคุณจำเป็นต้องอธิบายถึงมัน
3
2. การเข้าไปที่ร้านค้าและทดลองใช้สินค้าของบริษัทซึ่งคุณกำลังสนใจลงทุน คือสิ่งสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์ธุรกิจ (Scuttlebutt) : ยังมีอีกหลากหลายวิธีการซึ่งจะทำให้คุณได้ “ข้อมูลวงใน” มาไว้ในครอบครอง เช่น การพูดคุยกับผู้บริหาร พนักงาน กลุ่มลูกค้า การลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ทั้งจากฝั่งบริษัทที่คุณสนใจและคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันกับพวกเขา การพยายามทำสิ่งเหล่านี้นั้นจะทำให้คุณได้รับรู้ข้อมูลบางอย่างที่อาจไม่ปรากฏอยู่ในสื่ออื่นๆ ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการตัดสินใจลงทุนของคุณอย่างแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
3. การศึกษาประวัติศาสตร์และปรัชญานั้นมีประโยชน์สำหรับการลงทุนหุ้น : แน่นอนว่าการจะเป็นนักลงทุนที่ดีนั้นคุณจำเป็นต้องมีความรอบรู้ในด้านอื่นๆบ้าง มิใช่เฉพาะเรื่องการเงินหรือการลงทุนเพียงด้านเดียวเท่านั้น ประวัติศาสตร์และปรัชญาคือเรื่องราวของมนุษย์และสังคม เชื่อมโยงทั้งทางด้านร่างกาย ความสัมพันธ์ และความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ ซึ่งกิจการ การค้าและธุรกิจทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ที่ถือกำเนิดขึ้นแล้วและกำลังจะถือกำเนิดขึ้นต่อไปบนโลกใบนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้น กระบวนการ และเป้าเหมายเพื่อตอบสนองเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด
4. คณิตศาสตร์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อคำนวณตัวเลขต่างๆในตลาดหุ้นนั้นเป็นเพียงการคำนวณหาค่าพื้นฐานง่ายๆเท่านั้น : หากคุณได้ทำการบ้านมาอย่างดี มีการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมาอย่างเพียงพอ การใช้คณิตศาสตร์ในตลาดหุ้นเช่นการคาดการณ์รายได้หรือกำไรของบริษัทจดทะเบียน และการประเมิลมูลค่าพื้นฐานที่เหมาะสมนั้น วิชาเลขระดับมัธยมปลายคงเพียงพอแล้วสำหรับการค้นหาสิ่งที่คุณต้องการ เพื่อสร้างความถูกต้องและความมั่นใจในกระบวนการลงทุน “การคำนวณอะไรที่ซับซ้อนยุ่งยากเกินไปกว่านี้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิชาการ มันไม่ใช่เรื่องของนักลงทุน”
3
5. ข่าวสารมากมายตามสื่อต่างๆที่คุณได้ยินและได้เห็นในทุกๆวัน ส่วนใหญ่แล้วมีแต่จะทำให้การลงทุนของคุณแย่ลง : เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะมันเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แล้วจะมีประโยชน์อันใดเล่าที่คุณจะเสียเวลาไปกับข่าวสารเหล่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดมิใช่การพยายามปิดหูปิดตา แต่คือ “การฝึกฝนตนเองเพื่อแยะแยกให้ได้ว่าอะไรคือข้อคิดเห็นและอะไรคือข้อเท็จจริง”
6. เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะชอบทำอะไรที่ “เสี่ยงและสนุก” : จงมีสติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในฐานะนักลงทุน หรือฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคมของคุณก็ตาม อย่าลืมนึกถึงผลลัพธ์ที่คล้ายเงาเดินตามติดแผ่นหลังคุณมาไม่ห่าง ไม่ว่าจะในทิศทางบวกหรือทางลบ
1
7. ในโลกธุรกิจ ถ้าคุณเก่ง คุณจะทำถูก 6 ใน 10 ครั้ง ไม่มีใครทำถูก 9 ใน 10 ครั้งแน่นอน และการแข่งขันมันไม่สนุกหรอก แต่สนุกที่สุดคือ “การกินรวบ (ผูกขาดทางธุรกิจ)” : ปรากฎการณ์ “Winner Take All” คือจุดสูงสุดของระบบทุนนิยม มันพร้อมที่จะสร้างความมั่งคั่งและในทางกลับกันมันก็สามารถทำลายชีวิตคุณได้ตลอดเวลา จงเตรียมตัวให้พร้อมไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนหรือนักธุรกิจก็ตาม
1
8. หุ้นไม่ใช่การเสี่ยงโชค มันมีธุรกิจอยู่เบื้องหลัง : ผู้คนส่วนใหญ่มองการลงทุนในหุ้นอย่างฉาบฉวยเพียงแค่ ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ ตัวเลข สีเขียว สีแดง หรือเส้นกราฟวิ่งไปมาขึ้นๆลงๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์การเงินนั้นถูกพิสูจน์มาเป็นศตวรรษแล้วว่า ผู้ที่มองอะไรแบบผิวเผินและฉาบฉวยเช่นนี้ไม่เคยมีแม้ที่ยืนหลงเหลืออยู่ในวงการเลยสักคนเดียว อย่าได้แม้แต่จะคิดถึงเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวยเลย หากคุณเผลอคิดเช่นนี้เพียงเสี้ยววินาทีเดียวนั้นไซร้ หายนะทางการลงทุนก็พร้อมจะกระแทกเข้าใส่ใบหน้าของคุณทันทีไม่ช้าก็เร็ว “หุ้นคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ คือส่วนของความเป็นเจ้าของ ที่มีมนุษย์อยู่เบื้องหลัง” เพียงเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า “ลงทุนหุ้นให้เหมือนทำธุรกิจ” เพียงเท่านี้คุณก็ชนะนักลงทุนกว่า 80% ในตลาดแล้ว
1
9. การขาดทุนหุ้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย ที่น่าอายคือการถือหุ้นแย่ๆไว้ แล้วยังไปซื้อเพิ่มในตอนที่พื้นฐานกำลังแย่ลงไปอีก : จงศึกษาพื้นฐานของธุรกิจทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ทั้งลักษณะการประกอบธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจ ผู้บริหาร และงบการเงินอย่างลึกซึ้ง การทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้คุณตอบคำถามในใจได้อย่างเด็ดขาดว่าพื้นฐานของหุ้นที่คุณครอบครองอยู่นั้นดีขึ้นหรือกำลังแย่ลง
4
10. การมีหุ้นก็เหมือนกับการมีลูก อย่ามีมากเกินไปจนดูแลไม่ไหว ถ้ายังไม่เจอหุ้นที่น่าสนใจมากพอจงเก็บเงินสดเอาไว้ก่อนจนกว่าจะหาสิ่งที่ดีที่สุดเจอ : การลงทุนอะไรก็ตาม มิใช่เพียงแค่ได้ครอบครองมันไว้ แต่ต้องคุ้มค่าพอที่จะครอบครองด้วย จงคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจที่คุณมี ความเสี่ยง ผลตอบแทน และค่าเสียโอกาสเสมอ
1
11. คนที่ขยันสืบเสาะหาหุ้นที่ดีตลอดเวลาคือผู้ชนะในตลาดหุ้น : คนที่ขยัน ทุ่มเทพยายาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม หากแม้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้ชนะ แต่ก็จะสามารถยืนอยู่ในจุดที่ตนเองต้องการอย่างมีคุณค่าได้เสมอ
12. การนั่งวิเคราะห์ถกเถียงเรื่องการลงทุนนั้นไม่มีประโยชน์ “ที่ดีที่สุดคือลงมือทำ” : นั่นหมายถึงมันไม่มีประโยชน์ที่คุณจะนั่งคิดตลอดเวลาว่าคุณควรทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ แล้วสุดท้ายชีวิตคุณก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยทั้งในด้านดีและด้านแย่
2
13. หากคุณประสบความสำเร็จในการลงทุนแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณจะมีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือเป็นทาสของเงินโดยการหมกมุ่นกับการทำให้เงินงอกเงยมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสองคือปล่อยให้เงินที่คุณหามาได้นั้นรับใช้คุณ : นี่อาจเป็นข้อที่คุณอยากมีโอกาสได้นั่งขบคิดถึงมันอย่างจริงจังดูสักครั้งในชีวิต ฟังดูเหมือนง่าย แต่อำนาจเงินนั้นช่างมีแรงดึงดูดอย่างมหาศาล ใครเล่าจะล่วงรู้อนาคตว่าหากประสบความสำเร็จแล้ว คุณจะเป็นผู้มั่งคั่งประเภทใด การได้ลองนั่งลงคิดอย่างช้าๆ แล้วออกแบบชีวิตคุณเสียแต่เนิ่นๆ คงไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือเสียเวลาอะไรมากมาย จงวางแผนเพื่อจะเป็นคนในแบบที่คุณอยากเป็น และเฝ้ารอให้วันนั้นมาถึง นี่อาจเป็นสายน้ำทิพย์ชโลมจิตใจคุณเพื่อการก้าวเดินอย่างมั่นคงในเส้นทางการเป็นนักลงทุนในตำนานอันแสนยาวไกล
1
ข้อคิดและบทเรียนทั้ง 13 ข้อนี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งที่ตกผลึกมาจากแนวคิดของ ‘ปีเตอร์ ลินซ์’ เท่านั้น ซึ่งต่อให้กาลเวลาผ่านล่วงเลยมานานเพียงใด จนถึงปัจจุบัน ข้อคิดเหล่านี้ยังคงมีคุณค่าและใช้ได้ผลจริงในตลาดหุ้น ทุกพื้นที่ ทุกยุคสมัย รวมถึงการลงทุนด้านอื่นๆในทุกรูปแบบเป็นอย่างดีเสมอมา ซึ่งถูกพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์มาแล้วอย่างยาวนานโดยนักลงทุนวีไอรุ่นหลังที่ประสบความสำเร็จกับการเดินตามรอยเท้าของ ‘ลินซ์’
และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการปรับเปลี่ยนแนวทางบางอย่างให้ย้อนกลับมาเป็น "เอกลักษณ์และรอยเท้าของตนเอง"
ยังมีแนวคิดอีกจำนวนมหาศาลในด้านการลงทุนหุ้นที่มือใหม่อย่างเราจำเป็นต้องเรียนรู้ ค่อยๆพยายามอย่างมุ่งมั่น ศึกษาทบทวน วิเคราะห์วางแผน และลงมือทำอย่างมีวินัยไปพร้อมๆกันนะครับ ขอให้มีความสุขกับการลงทุนครับ 😊
อุทิศแด่บางส่วนจากมันสมองของลินซ์.
การลงทุน
หุ้น
ตลาดหุ้น
28 บันทึก
19
8
20
28
19
8
20
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย