17 เม.ย. 2022 เวลา 05:58 • ท่องเที่ยว
ยอร์ก วันที่ 2 (ตอนที่ 2) มาเข้าคุกกันนะ สนุกดี
ใกล้ๆกับหอคอยคลิฟฟอร์ดมีอาคารเก่าสวยงามซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ปราสาทแห่งยอร์ค (York Castle Museum) ตามที่ได้บอกแล้วว่าตรงเคยเป็นปราสาทมาก่อนก็จริง แต่มันล่มสลายไปและถูกนำมาใช้ทำอะไรอีกหลายอย่าง รวมถึงการนำมาเป็นคุกอีกด้วย ดังนั้นที่นี่จึงมิใช่พิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของปราสาท ไม่ใช่เรื่องราวของหอคอยคลิฟฟอร์ด (เพราะที่หอคอยเขามี Display เรื่องราวนั้นอยู่แล้ว) แต่เป็นเรื่องของคุกใน York ต่างหาก
พิพิธภัณฑ์ปราสาทแห่งยอร์ค หรือคุกในอดีต เป็นเหมือนคฤหาสน์ที่ชวนให้ไปอยู่
สิ่งที่จัดแสดงนำเสนอก็เกี่ยวกับคุกที่ตรงนี้เคยเป็นมาก่อน แต่ไหนๆเมื่อได้พื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์แล้วก็เลยถือโอกาสจัดแสดงเรื่องราวอื่นๆลงไปด้วย ตัวอย่างเช่น วิถีชีวิตของผู้คนชาวยอร์คในช่วงเวลาต่างๆ อย่างเช่นช่วงสงครามโลก ช่วงยุคสมัยจอร์เจียน ยุควิคตอเรีย ยุคแจ๊ส ยุคทศวรรษ1960 ดังนั้นจึงคาดเดาได้คงจะไม่เลี่ยนกับสีเทาหม่นของคุกไปตลอด แต่จะมีสีสันสดใสแทรกแซมอยู่ด้วยในที่แห่งนี้
ภายในคุกมีลักษณะแบบนี้แหละ
ณ ที่นี้เราจะได้เห็นสภาพคุกที่มีกำแพงหินหนาและหนักเป็นผิวขรุขระ เดินไปก็จะพบกับห้องขังเล็ก ๆมีลวดสายบัวกั้นอยู่ จัดโชว์ให้เห็นเครื่องพันธนาการที่ใช้ในสมัยนั้นด้วย สภาพคุกที่นี่ไม่ค่อยจะน่ากลัวเท่าไร ออกจะน่าอยู่ด้วยซ้ำ หากนำมาทำเป็นนบูติคโฮเตลก็คงมีคนพิสมัย เพราะผนังหนาขรุขระทาด้วยสีขาวฉาบปูนขาว รอยแตก รอยกะเทาะของผนังปูน เป็นเสน่ห์ของตึกโบราณที่เราชื่นชอบ แถมยังมีการจัดไฟที่ดีมาก ยิ่งเมื่อประดับด้วยภาพถ่ายขาวดำโบราณ (ภาพของนักโทษที่นี่แหละ) ต่างคนกำลังจ้องมาที่ตัวเรา ก็ยิ่งเพิ่มความขลัง ให้ความรู้สึกว่ากำลังเข้าสู่อดีตกาลเหมือนนางเอกทวิภพ
ภาพถ่ายใครบางคนที่เคยอยู่ที่นี่
และถ้าหากได้มีโอกาสเข้าพักแรมที่นี่ก็ดีนะ รับรองไม่เหงาหรอกเพราะในขณะที่พวกเราก้าวเดินเข้าไปในห้องมืด จู่จะปรากฏภาพมนุษย์ในร่างโปร่งแสงฉายให้ดูบนผนัง ดูเป็นวิญญาณอาฆาตของนักโทษต่างๆที่เคยมาอยู่ในคุกนี้แล้วมาบอกเล่าอะไรกับเรา ว่าวันนี้ในอดีตมีใครตายบ้าง ฉันถูกจับเพราะอะไร ขออุทธรณ์ไปว่าอย่างไร เห็นแล้วชวนให้สงสารเหมือนกัน คิดได้ว่าถ้าพิพิธภัณฑ์นี้มาอยู่เมืองไทยคงได้มีคนตักบาตรกรวดน้ำทำสังฆทานให้พวกเขาบ่อยๆ
เหล่าวิญญาณมาเล่าเรื่องราวให้เราฟัง
เรื่องราวที่เกิดขึ้น บันทึกคำอุทรณ์ต่างๆในอดีต
ขณะเดินๆอยู่ มีประตูนึงบอกวา ถ้าคุณเจอปัญหาหรือกรณีฉุกเฉินไร้ทางออก ให้เปิดประตูนี้จะหนีออกไปได้ ผมก็เปิดออกไป ปรากฏมีเจ้าหน้าที่วิ่งมา บอกว่าเกิดไรขึ้นเหรอ เราเองก็เพิ่งรู้ว่านี้คือประตูฉุกเฉินของจริง ตอนแรกนึกว่ามันเป็นการแสดงของนิทรรศการนี้ซะอีก (แหม ขออภัยด้วย ไม่ได้ตั้งใจ)
นอกจากนั้นแล้ว อดีตคุกแห่งนี้ยังบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ละเอียดจนสามารถบอกคุณได้ว่าวันที่คุณมาเยือนมีนักโทษตายไปแล้วกี่คน จากสาเหตุอะไร ในห้องที่คล้าย ๆ กับที่คุณยืนอยู่ตรงนี้นั่นแหล่ะ เชื่อไหมว่านักโทษที่เคยมาอยู่ที่นี่มีจำนวนถึงมากกว่า 5,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มาทีเดียว และก็มีการถามกับผู้ชมว่าเคยคิดไหมว่าจากจำนวนที่มากมายเหล่านี้ ใครบางคนอาจมีความสัมพันธ์กับคุณ เช่น เป็นญาติกัน เป็นคนในตระกูลของคุณหรือไม่ ที่สำคัญคือเขามีข้อมูลให้คุณตรวจสอบได้ด้วยโดยการพิมพ์นามสกุลของคุณลงไป แล้วจะบอกเราว่าคนชื่อนั้น นามสกุลนี่ มาทำอะไรที่นี่ โดนประหารหรือเปล่า พร้อมกับมีคำเตือนปรากฏไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า “ตระกูลส่วนใหญ่มักมีแกะดำอยู่ด้วยเสมอ” (Most Family have a black sheep in them somewhere!)
ป้ายนี้บอกเราว่า ที่นี่เก็บบันทึกข้อมูล ประวัติต่างๆ ของนักโทษไว้มาก และเข้าถึงได้ทางเวบไซต์ได้ด้วย
โชคดีที่ผมลองพิมพ์ดูแล้วไม่เจอใครในตระกูล (ก็แน่ละ ตระกูลผมไม่เคยมาอยู่เมืองยอร์กนี่นา) แต่พอลองพิมพ์ตระกูลใหญ่ ๆ อย่างเช่น Smith Carpenter Tailor Brown พบว่ามีที่กล่าวมาทั้งหมดเลย ใครที่มีนามสกุลโหลๆ มีญาติเยอะก็ระวังตัวหน่อยนะ และขอบอกว่าระบบทะเบียนที่นี่ดีมากๆ สามารถระบุได้ว่านายคนนี้อาศัยอยู่ที่ไหน ทำผิดอะไรมาตรงไหน ฆ่าคนตายโดยวิธีอะไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร โดนลงโทษอะไร
อย่างไรก็ตาม ถ้าใครสนใจบริการนี้ก็ไม่ต้องไปถึงที่คุกก็ได้ ปัจจุบันเขามีบริการสืบต้นออนไลน์แล้ว ลองเข้าไปที่ www.yorkcastleprison.org.uk แล้วเติมนามสกุลของท่านลงไปในหัวข้อ Family History อาจจะพบกับคนที่คิดถึงก็เป็นได้ ขอให้โชคดีได้พบกันสมความปรารถนา (แหม คุกบางขวางน่าจะมีอะไรแบบนี้ด้วยนะ น่าสนใจดีออก)
เวบไซต์ของคุก ลองไปดูนะ มีข้อมูลเยอะ
ทดลองพิมพ์ชื่อตระกูล brook แล้วก็เจอนักโทษจริงๆ ลองค้นตระกูลดังๆของอังกฤษดูก็มีหลายตระกูลนะครับ
หลังจากผ่านพ้นเรื่องการจัดแสดงไปจนสุดทางแล้วก็จะได้พบกับโซนถัดไป ได้แก่ โซนของเล่น (Toy Stories) ไม่รู้เขาคิดอะไรของเขา จัดให้ผู้ชมเจอบรรยากาศที่คนละขั้วกันเลย ถ้าได้มาถึงห้องนี้แสดงว่าเราผ่านพ้นคุกไปแล้วแต่กำลังอยู่ในโลกใบใหม่ เป็นส่วนที่เรียกกว่าห้องแห่งช่วงเวลา (Period Room) โดยจะแสดงข้าวของเครื่องใช้ในยุคต่างๆโดยในโซนแรกชื่อว่า From Gradle To Grave (จากเปลจนถึงหลุมฝังศพ) อ้าว ยังสยองอยู่นี่นา แสดงของใช้ในชีวิตช่วงวัยต่างๆ มีห้องนอนเด็ก ห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าวสมัย ศตวรรษที่ 17 ให้ดู ต่อจากนั้นเป็นโซนสำหรับลูกๆหลานๆ ชวนให้ไปเล่นม้าโยก ตุ๊กตา ม้าหมุน หุ่นกล พร้อมกับรูปการ์ตูนเด็กที่บอกว่า “Come and Play in the Prison” เอ๊ยไม่ใช่ ดูผิด “Come and Play in the Castle” ต่างหาก
โซนสำหรับเด็ก มาเล่นตรงนี้ได้ (ไม่เห็นมีใครเล่นเลย กลัวจะติดใจ อยากไปเล่นต่อในคุกจริงเปล่า?)
หลังจากปล่อยให้เด็กเข้ามาเล่นผ่อนคลายจากความเครียดกันแล้วก็ขอเชิญมาท่องเวลาต่อไปในโซนของยุคจอร์เจียน (ปี 1780) และยุคควิคตอเรียน ยุคเหล่านี้ไม่ได้มาเป็นห้องแต่มาเป็นถนนเลย มีร้านรวงต่างๆ ขายของสารพัด เป็นถนนวิคตอเรียตอนกลางคืน ไม่รู้ทำไม สงสัยว่ายังคนอยากสร้างร้านอะไรหลอน ๆ อีกเปล่า
ร้านรวงในยุคต่างๆ คิดว่าหลงมิติย้อนอดีตไปละกัน
ต่อจากถนนสายวิคตอเรียแล้วก็เข้าสู่ทศวรรษ 1920 นำเสนองานศิลปะให้ได้ชม ถ้าใครยังนึกภาพผู้คนในยุคนี้ไม่ออกก็คิดถึงหนังของชาลี แชปลินก็ได้นะ อันนี้แหละยุคของเขา หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ยุคของคุณพ่อหรือคุณปู่ของเรา (แล้วแต่ว่าคนที่อ่านอยู่จะเป็นคน Gen. ไหน) ซึ่งก็คือ ยุคทศวรรษ 1960 ที่ซึ่งเกิดงานศิลปะแบบใหม่ๆ มีดนตรีป๊อบอย่างเช่น 4 เต่าทองและงานศิลปะแบบ Pop Art
ยุคสมัยต่างๆ ที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวอังกฤษและชาวยอร์ก
เรื่องราวและงานศิลปะยุคต่างๆ
นอกจากนี้แล้ว ในคุกยังมีนิทรรศการของช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง และเรื่องราวของชาวยอร์คที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้นอีกด้วย นิทรรศการจะแสดงที่มา สาเหตุของสงคราม ผลกระทบของสงคราม ภาพถ่าย ภาพวาดที่แสดงเรื่องราวของยุคนี้ ชุดทหารหน่วยต่างๆ สมุดบันทึก ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนบรรยากาศในสนามเพลาะและอุปกรณ์ยังชีพที่พวกทหารใช้กัน อาวุธ และสื่อหนังสือพิมพ์ และที่น่าเศร้าก็คือรายชื่อของชาวยอร์กที่ไปเสียชีวิตในสมรภูมิต่างๆซึ่งมักเป็นแนวรบแถวฝรั่งเศส อีกทั้งยังกล่าวถึงช่วงชีวิตของชาวยอร์กหลังสงครามอีก
อนุสรณ์แสดงรายชื่อผู้สละชีพในสงครามโลกครั้งที่ 1
ตรงนี้เรียกว่า Half Moon Court สำหรับให้นักโทษมาออกกำลัง รับแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ หรือ ใช้สำหรับรอส่งตัวไปที่อื่น (เดินมาตรงนี้รู้สึกโปร่งโล่งมาก เหมือนสวรรค์ท่ามกลางความมือและแคบในคุก คิดว่านักโทษคงรู้สึกเหมือนกัน)
หลังจากผ่านพ้นโซนนี้มาแล้วจะมีกระดานดำให้ผู้คนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสงคราม ส่วนใหญ่ก็แสดงความเศร้าสร้อย ความนับถือวีรกรรม และความโหยหาสันติภาพ โดยเฉพาะอันหลังนี้เยอะสุด เห็นได้จากรูปเท้านกพิราบแปะอยู่หลายจุด
ออกมาจากพิพิธภัณฑ์แบบอาการสงสัยว่ามองในมุมหนึ่งยอร์กเป็นเมืองสวยงามชวนมอง แต่มีอดีตมืดอยู่ไม่น้อย ผ่านพ้นช่วงรุ่งเรือง ตกต่ำ ทุกข์ยาก และสดใส ของชีวิต ซึ่งในพิพิธภัณฑ์ก็ผสมสิ่งเหล่านี้ด้วยกัน จนเรางง ว่าจะปรับอารมณ์เราได้อย่างไร
ว่าไปแล้วโลกเราก็เป็นแบบนี้แหละ ประวัติศาสตร์นั้นอาจมีหลายรสชาด แต่เราจะหยิบยกมุมไหนมาเล่าขานกันไปก็แล้วแต่
โฆษณา