Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
22 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ส่องอุตสาหกรรมประมงเกาหลีใต้ ผ่านซีรีส์ "Our Blues"
ช่วงปีที่ผ่านมานี้ หลายคนที่ดูซีรีส์เกาหลีบ่อยๆ น่าจะผ่านหูผ่านตากับฉากหลังที่ถ่ายทำตามแถบชายทะเลของเกาหลีใต้ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะทำอาชีพเกี่ยวกับการประมงเป็นอาชีพหลัก และเนื้อหาในซีรีส์ก็มักจะฉายให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีทะเลเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกๆ ช่วงเวลา
Our Blues เป็นซีรีส์ที่มีฉากหลังคือเกาะเชจู โดยในซีรีส์จะค่อยๆ นำเสนอวิถีชีวิตของคนหลายรูปแบบ หลายอาชีพ และมีแผลในใจที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกคนเลือกที่จะมาอยู่บนเกาะเชจูแห่งนี้ ซีรีส์เรื่อง Our Blues จึงเป็นซีรีส์ที่ฉายภาพการใช้ชีวิตคนชาวบ้านที่เรียกได้ว่าเป็น “ลูกทะเล” ในหลากหลายมุมได้อย่างแท้จริง
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกท่านไปรู้จักกับอุตสาหกรรมประมงในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรในแถบชายฝั่งทะเล
📌 ภาพรวมอุตสาหกรรมประมงในเกาหลีใต้
ข้อมูลจาก Ministry of Oceans and Fisheries (MOF) ของเกาหลีใต้ พบว่าในปี 2017 มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเกือบ 100,000 ธุรกิจ และเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมงกว่า 600,000 คน
ในปี 2018 มีการผลิตสินค้าประมงออกมาขายกว่า 3.8 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 8.6 ล้านล้านวอน ในจำนวน 3.8 ล้านตันนี้ เป็นสินค้าประมงที่มาจากฟาร์มหรือการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำกว่า 2.25 ล้านตัน และอีก 1.01 ล้านตัน มาจากการประมงบริเวณชายฝั่งและนอกชายฝั่ง
เครดิตภาพ : tvN
ในปัจจุบัน การประมงบริเวณชายฝั่งและนอกชายฝั่งเริ่มลดลง เนื่องจากการทรัพยากรทางทะเลค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ นำไปสู่ความกังวลที่ว่าหากยังไม่มีการตรวจสอบและควบคุมการทำการประมง ทรัพยากรทางทะเลจะยิ่งลดลงไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพาะเลี้ยงสาหร่าย ที่เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 8%
การจับสัตว์น้ำ หรือการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมประมงเท่านั้น เมื่อผลิตสินค้าประมงขึ้นมาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการถัดไป คือการแปรรูปสินค้าประมง ไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าประมง
เครดิตภาพ : tvN
📌 การแปรรูปและจัดจำหน่ายสินค้าประมง ได้รับประโยชน์จากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ข้อมูลสถิติจาก MOF พบว่าในปี 2018 มีผู้ประกอบการเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าประมงกว่า 5,000 ราย และแปรรูปสินค้าประมงออกไปแล้วรวมกว่า 1.3 ล้านตัน
●
โดยส่วนใหญ่กว่า 46% จะเป็นการแปรรูปในรูปแบบของผลิตภัณฑ์แช่แข็งซึ่งใช้เทคโนโลยีต่ำ
●
รองลงมาคือผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย (20.4%)
●
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อปลา (9.7%) และเครื่องปรุงรส (6.4%)
ในปัจจุบันที่เทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีครอบครัวที่อาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นตลอดจนการเข้าสู่สังคมสูงวัย ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่ปรุงเองในบ้าน กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เครดิตภาพ : tvN
ผู้บริโภคต้องการอาหารที่สำเร็จ ง่ายๆ และมีความหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปจึงได้รับประโยชน์จากการพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้
อย่างไรก็ตามเทคนิคการแปรรูปหลักๆ ในปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่การแช่แข็งแบบธรรมดาๆ เนื่องจากธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าประมงในประเทศส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ดังนั้นผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าประมงที่มีใช้เทคโนโลยีระดับสูงจึงมักจะมาจากบริษัทใหญ่ๆ เสียมากกว่า
หลังจากแปรรูปเสร็จ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดจำหน่ายสินค้าประมง เริ่มตั้งแต่การซื้อขายปลาผ่านการประมูล, การค้าส่ง, การค้าปลีก ตลอดจนการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์
ในปี 2018 เกาหลีใต้มีตลาดประมูลปลากว่า 222 แห่งทั่วประเทศ และมีการขายสินค้าประมงออกไปจากตลาดประมูลปลากว่า 1.61 ล้านเมตริกตัน ถ้าใครที่ดูซีรีส์น่าจะผ่านตากับฉากนายหน้าประมูลปลาในตลาด ท่ามกลางเสียงสั่นกระดิ่งเปิดประมูลปลา เสียงตะโกนเซ็งแซ่ต่อรองราคากัน
📌 บทบาทของรัฐกับการเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมประมงในอนาคต
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมประมงในเกาหลี ยังอยู่ในขั้นต้น และมีโอกาสที่จะพัฒนาได้อีกมาก ทางรัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้ออก Fisheries Innovation Plan 2030 หรือแผนนวัตกรรมการประมงแห่งปี 2030 โดยครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการผลิตสินค้าประมงไปจนถึงการจัดจำหน่าย กำหนดปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมงได้
และปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมให้มีการบริหารจัดการทรัพยากร ขจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย นำนวัตกรรมเข้ามาใช้กับการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เครดิตภาพ : tvN
ในส่วนของการแปรรูปสินค้าประมง ตามแผนจะมีการขยายการแปรรูปสินค้าประมง และขยายการส่งออก พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย สนับสนุนบริษัทต่างๆ ให้สามารถออกไปแข่งยังตลาดทั่วโลกได้
ส่วนการจัดจำหน่ายก็จะเข้าไปช่วยให้มีความทันสมัยตั้งแต่ตลาดประมูลปลา สร้างมาตรฐานควบคุมความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความสะอาดของสินค้าประมงมากขึ้น
เมื่อเห็นเป้าหมายของรัฐบาลเกาหลีใต้ บวกกับความตั้งใจใส่เรื่องราวเกี่ยวกับการประมงเข้ามาในซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ๆ อยู่หลายเรื่อง อาจจะพอให้เราเห็นแนวโน้มว่าในอนาคต เกาหลีใต้น่าจะพยายามผลักดันอุตสาหกรรมประมงให้สามารถแข่งกับนานาประเทศได้ในวันข้างหน้าก็เป็นได้…
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
4
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co/
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
●
https://www.oecd.org/agriculture/topics/fisheries-and-aquaculture/documents/report_cn_fish_kor.pdf
●
https://www.kmi.re.kr/eng/board/view.do?rbsIdx=227&idx=3
●
https://d3r78pk88k4dey.cloudfront.net/downloads/kfr_2016_eng_compressed.pdf
เครดิตภาพ : tvN via Netflix
ซีรีส์เกาหลี
เกาหลี
อุตสาหกรรมประมง
4 บันทึก
7
1
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
4
7
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย