Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
8 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Pachinko : การเปลี่ยนผ่านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของ “ไซนิจิ” (คนเกาหลีในญี่ปุ่น)
ฉันแค่อยากรู้ว่าเธอมีความฝันไหม ฉันเองก็เคยจนเหมือนเธอ แต่ถึงจะจนฉันก็ยังมีความฝัน และฉันไม่ยอมให้ใครมาพรากความฝันของฉันไป
5
เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นภูมิภาคใกล้เคียงกันและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทุกวันนี้ทั้งสองประเทศต่างรุ่งเรืองในแบบฉบับของตนเอง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในห้วงเวลาหนึ่งที่ทั้งสองประเทศนั้นคาบเกี่ยวกันในฐานะประเทศอาณานิคม
เกิดอะไรขึ้นกับคนเกาหลีที่ต้องอพยพไปจากบ้านเกิดเมืองนอนเพราะความยากจน กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาอย่างทัดเทียมกับพลเมืองในประเทศ แต่ก็ห่างไกลจนไม่สามารถกลับไปยังประเทศแม่ที่จากมาได้อีกแล้ว
1
Pachinko เป็นซีรีส์ฟอร์มยักษ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่ค่อยได้รับพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ผ่านตัวละครหลัก คือ ครอบครัวชาวเกาหลีทั้ง 4 รุ่นนับตั้งแต่ยุคที่จักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี จนต้องอพยพหนีความยากจนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ญี่ปุ่น โดยเป็นพลเมืองชั้นสอง และต้องหาทางดิ้นรนเอาชีวิตรอดจนสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ในปัจจุบัน
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มคนเกาหลีที่อพยพไปอยู่ญี่ปุ่นในช่วงที่ตกเป็นประเทศใต้อาณานิคมว่าพวกเขาต้องเผชิญกับอะไรมาบ้างกว่าจะมีวันนี้
2
📌 ไซนิจิ (Zainichi) คนสัญชาติญี่ปุ่นที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น…
ในตอนเปิดเรื่อง Pachinko ตรงกับช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปกครองเกาหลีในปี 1910 ภาพผู้คนที่อดอยาก เต็มไปด้วยความลำบาก เป็นเรื่องที่เห็นทุกวันจนชินตา ในยุคนั้นเกาหลีถูกพรากเอาที่ดินทำกินไป ทำให้ชาวนาทางตอนใต้ต้องอพยพไปอยู่โอซาก้าและโกเบ เพื่อไปเป็นแรงงาน กลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกเรียกว่าไซนิจิ (Zainichi) ซึ่งหมายถึง คนเกาหลีที่อพยพไปอยู่ญี่ปุ่นในช่วงอาณานิคม (1910 - 1945)
2
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นพบว่าในปี 1924 จำนวนคนเกาหลีในญี่ปุ่นมีมากกว่า 100,000 คน และเพิ่มสูงจนอยู่ที่ 1,240,000 คน ในปี 1940
ในยุคอาณานิคม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีในญี่ปุ่นนั้นยากลำบากมาก โดยเฉพาะในด้านภาษา จึงทำให้พวกเขาหางานที่ต้องการทำในญี่ปุ่นไม่ได้ เลยมักจะถูกจ้างให้เป็นแค่แรงงานทั่วไป ทั้งยังต้องแข่งขันกับแรงงานของญี่ปุ่น
ในปี 1928 แรงงานเกาหลีในญี่ปุ่นกว่า 91.4% เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่แรงงานรายวันเท่านั้น โดยได้รับค่าจ้างโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าแรงงานชาวญี่ปุ่นถึง 25% แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมากกว่าค่าแรงในบางพื้นที่ของเกาหลีเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
2
ดังนั้น แม้ว่าชีวิตในญี่ปุ่นจะยากลำบากเพียงใด แต่สำหรับในตอนนั้นก็ยังดีกว่าอดตายอยู่ในเกาหลีเป็นแน่ ตลอดช่วงอาณานิคมจึงมีชาวเกาหลีอพยพไปญี่ปุ่นอยู่เสมอๆ เพราะเป็นเหมือนจุดหมายปลายทางเดียวสำหรับชาวนายากจนที่สิ้นหวัง
2
📌 แม้สงครามจะจบลง…แต่บ้านเกิดอาจไม่มีที่สำหรับบางคนให้กลับไปได้อีกแล้ว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แรงงานเกาหลีและทหารเกณฑ์จำนวนมากถูกนำไปเป็นกำลังแรงงานในช่วงที่แรงงานขาดแคลน
ในปี 1944 ชายชาวเกาหลีก็ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานที่ญี่ปุ่น ทำให้ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มีคนเกาหลีกว่า 2 ล้านคนติดอยู่ที่นั่น
หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ชาวเกาหลีในญี่ปุ่นจำนวนมากอพยพกลับบ้านเกิดเมืองนอนไป แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ทำให้คนเกาหลีกว่าครึ่งล้านยังคงอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อไป
1
เครดิตภาพ : Apple TV
ในช่วงหลังสงครามจบลงหลายสิ่งถูกทำลาย สภาพชีวิตของพวกเขายิ่งยากลำบากกว่าเดิมมาก อย่างแรก คือ งานมีอยู่อย่างจำกัด อัตราการว่างงานจึงสูงมากแม้ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นเองก็ตาม
อีกทั้งอคติต่อชาวเกาหลีในสมัยนั้นทำให้เป็นเรื่องยากมาก สำหรับเหล่าไซนิจิ ที่จะหางานที่ต้องการในบริษัทญี่ปุ่นได้ พวกเขาจึงกลายเป็นคนว่างงานหรือไม่ก็เป็นแรงงานทั่วไป
ในช่วงทศวรรษ 1950 ชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นยังคงมีชีวิตอยู่ภายใต้ความยากจนโดยปราศจากงานประจำ หรือหากมีงานทำส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นงานใช้แรงงาน ค่าจ้างน้อย ในตลาดแรงงานนอกระบบ เช่น เก็บเศษเหล็ก เก็บขยะ แรงงานรายวัน
3
📌 ชีวิตที่ดีขึ้น…แต่ก็ยังเป็นคนแปลกแยกในสังคม
ภายหลังทศวรรษ 1960 สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มไซนิจิเริ่มดีขึ้นบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างมากในช่วงนั้นก่อให้เกิดความต้องการแรงงาน จึงทำให้คนเกาหลีในญี่ปุ่นเหล่านี้มีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลายขึ้น การศึกษาก็ดีขึ้นแม้ว่าจะยังต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของประเทศก็ตาม
ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 คนเกาหลีได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจกันมากขึ้น จำนวนของคนที่ทำงานระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับผู้จัดการ เพิ่มขึ้นจาก 2.6%
ในปี 1959 กลายเป็น 6.5% ในปี 1974 ทั้งนี้สัดส่วนของแรงงานมีฝีมือและแรงงานกึ่งมีฝีมือก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนของแรงงานไร้ฝีมือลดลง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติเกาหลียังคงมีอยู่ในตลาดแรงงานญี่ปุ่น บริษัทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ก็ยังหลีกเลี่ยงที่จะจ้างชาวเกาหลี นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ชาวเกาหลีเข้าทำงานในหน่วยงานส่วนใหญ่ของรัฐได้
1
เครดิตภาพ : Apple TV
📌 การเติบโตของอุตสาหกรรมปาจิงโกะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของกลุ่มไซนิจิ
“Pachinko” ที่ถูกนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อซีรีส์เรื่องนี้ และเป็นธุรกิจที่ลูกชายของซุนจา ซึ่งเป็นไซนิจิรุ่นแรกของตระกูลที่เกิดในแผ่นดินญี่ปุ่นทำ เป็นช่องทางที่สำคัญที่ทำให้ไซนิจิร่ำรวยขึ้นมาได้ในญี่ปุ่น ถึงแม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก (จะเห็นได้จากฉากที่ลูกชายของเขาไม่ค่อยพอใจ เมื่อได้ยินว่าพ่อจะเปิดร้านปาจิงโกะสาขา 2)
ในช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 1990 สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเหล่าไซนิจิดีขึ้นมากกว่าเดิมเนื่องจากการขยายตัวของภาคบริการและอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งทำให้คนเกาหลีที่ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมนนั้นมีโอกาสในอาชีพการงานเพิ่มขึ้น
1
เครดิตภาพ : Apple TV
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมปาจิงโกะ ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมของคนเชื้อชาติเกาหลีที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างมาก อุตสาหกรรมปาจิงโกะที่มีมูลค่ากว่า 30 ล้านล้านเยนต่อปี ในปี 1994 มีชาวเกาหลีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นกว่า 60 - 70%
2
การศึกษาของชาวเกาหลีก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจในช่วงกลางทศวรรษ 1990 พบว่าแทบไม่มีความแตกต่างในเรื่องปีการศึกษาโดยเฉลี่ยของชาวเกาหลีและญี่ปุ่นอีกแล้ว
2
อีกทั้งยังมีการปรับแก้กฎหมายเปิดกว้างให้ชาวเกาหลีสามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานรัฐได้มากขึ้น ส่วนในภาคเอกชนแนวคิดเหยียดเชื้อชาติเกาหลีก็ลดลงไปมาก
หลายปัจจัยข้างต้นจึงทำให้ไซนิจิ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างในซีรีส์เรื่องที่ได้ถ่ายทอดภาพความลำบากของไซนิจิรุ่นแรกอย่างซุนจา ผ่านมาจนถึงรุ่นหลานชายของเธอ ซึ่งถือเป็นไซนิจิรุ่นที่ 3 ที่มีหน้าที่การงานดีในบริษัทใหญ่โตของญี่ปุ่น
เครดิตภาพ : Apple TV
จากข้อมูลในปี 2019 พบว่ามีกลุ่มไซนิจิที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกว่า 8 แสนคน ส่วนใหญ่เกิดในประเทศญี่ปุ่น ส่วนไซนิจิรุ่นแรกที่เกิดที่เกาหลีและอพยพมาญี่ปุ่นแทบไม่เหลือแล้ว คนเชื้อสายเกาหลีเหล่านี้มักจะพูดภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาหลัก และเรียนจบจากโรงเรียนญี่ปุ่น
1
การที่พวกเขาจะเกิดและเติบโตในญี่ปุ่น ทำให้ไซนินิรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 หรือรุ่นที่ 4 ไม่ใช่เพียงแต่มีรูปลักษณ์เหมือนชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่แทบไม่สามารถแยกความแตกต่างทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นได้แล้ว สิ่งเดียวที่ยังคงบ่งบอกความเป็นเชื้อสายเกาหลีของพวกเขามีเพียงลักษณะชื่อ หรือการออกเสียงชื่อแบบเกาหลี
2
ซึ่งหลายๆ คนก็เลือกที่จะใช้ชื่อแบบชาวญี่ปุ่นไปเพื่อให้กลมกลืนไปเลย เพราะแม้จะมีเชื้อสายเกาหลี แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นบ้านของพวกเขาไปแล้ว…
2
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co/
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
●
Bumsoo KIM, Changes in the Socio-economic Position of Zainichi Koreans: A Historical Overview, Social Science Japan Journal, Volume 14, Issue 2, Summer 2011, Pages 233–245,
https://doi.org/10.1093/ssjj/jyq069
●
https://dornsife.usc.edu/assets/sites/731/docs/Nationalisms_of_and_against_Zainichi.pdf
เครดิตภาพปก : Apple TV
ประวัติศาสตร์
ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจ
24 บันทึก
25
2
26
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
24
25
2
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย