1 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Kotaro Lives Alone: ทำไมคนในประเทศรายได้สูง ถึงนิยมใช้ชีวิตอยู่คนเดียว?
2
ทำไมถึงออกมาอยู่คนเดียวงั้นเหรอ… เพื่อที่จะเข้มแข็ง
5
ในปัจจุบัน ผู้คนในหลายๆ ประเทศเริ่มนิยมที่จะใช้ชีวิตอยู่คนเดียวกันมากขึ้น จะเห็นได้จากรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับคนที่ใช้ชีวิตคนเดียว ลดฟังก์ชั่นบางส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็นออกไป เนื่องจากเล็งเห็นว่ากลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังจะมีเยอะขึ้นในอนาคต อย่างในญี่ปุ่น
สัดส่วนของครัวเรือนที่มีผู้อยู่อาศัยเพียงคนเดียวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก National Institute of Population and Social Security Research ประมาณการไว้ว่า ในปี 2040 ประชากรญี่ปุ่นกว่า 20 ล้านคน จะใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง โดยกว่า 42% เป็นผู้สูงวัยที่อายุ 75 ปีขึ้นไป
4
เรื่องราวการอยู่คนเดียว ได้ถูกสะท้อนผ่านเรื่อง Kotaro Lives Alone อนิเมะที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่ารักๆ คลายเครียด โดยมีตัวละครหลัก คือ เด็กชายซาโต้ โคทาโร่ เด็กวัย 4 ขวบที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในอพาร์ทเมนต์ระดับล่างที่ไม่มีแม้แต่ห้องอาบน้ำ ก่อนที่จะเริ่มแง้มให้เห็นชีวิตในแต่ละแง่มุมของโคทาโร่ทีละน้อยๆ ทำให้เรามองเห็นความโลภของผู้ใหญ่ ผ่านมุมมองที่ไร้เดียงสาของเด็กคนหนึ่ง จนเราพอจะเริ่มรู้ว่าเหตุใดเด็กชายวัย 4 ขวบนี้ถึงต้องมาใช้ชีวิตอยู่คนเดียว
6
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกคนไปรู้จักกับเทรนด์การอยู่อาศัยเพียงลำพัง และดูว่ามันจะมีผลดีหรือผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่ากัน
📌 ทำไมคนถึงใช้ชีวิตเพียงลำพัง?
2
การอาศัยอยู่คนเดียว อาจเกิดขึ้นได้หลายช่วงในชีวิต อย่างในช่วงต้นๆ ของวัยผู้ใหญ่การใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเกิดจากการที่ตัดสินใจแต่งงานและมีลูกช้าลง
ในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายที่ยังอายุน้อยมักมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตเพียงลำพังมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากค่านิยมที่คนโฟกัสเรื่องการศึกษาและหน้าที่การงาน ทำให้เลื่อนการมีคู่ออกไป โดยเฉพาะสำหรับในประเทศที่คนชนบทนิยมย้ายเข้าไปทำงานในเมือง การอยู่คนเดียวถือเป็นเรื่องปกติมากๆ
1
เครดิตภาพ : TV Asahi
แต่เมื่อคนอายุมากขึ้น แนวโน้มการอยู่คนเดียวของเพศชายและหญิงกลับสลับกัน คือผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะอยู่เพียงลำพังมากกว่าผู้ชายถึง 2 - 4 เท่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างใน 113 ประเทศ ซึ่งมาจากการที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะอายุยืนกว่าผู้ชาย จึงทำให้มีผู้หญิงที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังมากกว่า ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากสามีตาย หรือการหย่าร้างก็ตาม
3
ในประเทศที่ให้ค่ากับความเป็นปัจเจกนิยมสูง การอยู่เพียงลำพังถือเป็นเรื่องปกติกว่าในประเทศที่ให้ค่ากับการอยู่อาศัยรวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อย่างเช่น ในสวีเดน และกลุ่มประเทศนอร์ดิก การอยู่คนเดียวเป็นบรรทัดฐานของวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยม ทั้งนี้รัฐสวัสดิการก็ได้เข้ามาช่วยซัพพอร์ทให้คนสามารถมีบ้านอยู่และมีบริการของรัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากครอบครัวก็ได้
1
จากงานวิจัยของคุณ Keith Snell ได้รวบรวมข้อมูลสัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังในแต่ละประเทศและแต่ละช่วงเวลา พบว่าในอดีตสัดส่วนของครอบครัวที่มีสมาชิกเพียงคนเดียวคงที่อยู่ที่ 10% ตลอดศตวรรษที่ 19 แต่สัดส่วนนี้เริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นในทศวรรษ 1960
1
ในยุโรป เทรนด์นี้ได้เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 หรือที่เรียกกันว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรครั้งที่สอง (second demographic transition) โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศนอร์ดิก ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังยุโรปตอนกลางและตอนใต้
2
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ สัดส่วนของผู้อาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศที่รายได้สูงกับประเทศที่รายได้ต่ำ โดยในประเทศทางตอนเหนือของยุโรป มีผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวคิดเป็น 40% ในขณะที่ในประเทศรายได้น้อยในเอเชีย สัดส่วนนี้อยู่ที่เพียง 1% เท่านั้น
2
แสดงให้เห็นว่ารายได้ต่อหัวของประชากร กับสัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวในประเทศนั้นๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก นั่นคือ คนมักจะใช้ชีวิตเพียงลำพังมากขึ้นในประเทศรายได้สูง ตลอดจนเมื่อ GDP ต่อหัวประชากรเติบโตมาขึ้น สัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
1
สาเหตุส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจาก เมื่อผู้คนพอจะมีปัญญาขยับขยายย้ายออกมาได้ ก็มักจะเลือกออกมาอยู่คนเดียว การที่รายได้เพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ดีว่าทำไมคนในปัจจุบันถึงนิยมอยู่คนเดียวมากกว่าในอดีต
2
ทั้งนี้ ปัจจัยอื่นๆ ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมก็มีผลต่อการตัดสินใจใช้ชีวิตคนเดียวเช่นกัน อย่างเช่นในประเทศร่ำรวยมักจะมีโครงข่ายความช่วยเหลือทางสังคมมากกว่า ผู้คนในประเทศเหล่านี้จึงกล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง ในขณะที่สำหรับประเทศที่ยากจน การใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมีความเสี่ยงกว่ามากเพราะไม่ค่อยมีโครงสร้างพื้นฐาน หรือบริการอะไรที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ทการใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังเท่าใดนัก
5
เครดิตภาพ : TV Asahi
ส่วนอีกเหตุผลสำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ส่งผลผู้คนย้ายออกจากภาคเกษตรกรรมในชนบทไปทำงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเมือง ตลอดจนผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น จึงทำให้ผู้คนอาศัยอยู่คนเดียวกันมากขึ้น
3
📌 การใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจหรือไม่?
การอยู่คนเดียวอาจส่งผลเสียได้อยู่ 3 ประการ
  • 1.
    ประการแรก คือ การที่คนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว และ/หรือ การอยู่คนเดียวทำให้ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการพัฒนาไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ ลดลง
  • 2.
    ประการที่สอง คือ ผู้คนที่รักความสันโดษอาจจะเลี่ยงๆ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ
  • 3.
    ประการที่สามคือ การที่คนรักความสันโดษไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม อาจส่งผลความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมลดลง โอกาสที่จะสะสมทุนทางสังคมซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคก็ลดลงด้วย
4
อย่างไรก็ตาม การอยู่คนเดียวไม่จำเป็นว่าจะทำให้คนมีความรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะแม้ว่าผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวอาจจะขาดความผูกพันทางอารมณ์ แต่ก็สามารถชดเชยการขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนในครัวเรือน ด้วยการสร้างโครงข่ายความสัมพันธ์ตั้งแบบตัวต่อตัว หรือผ่านทางโลกออนไลน์กับคนภายนอกขึ้นมาได้
1
เครดิตภาพ : TV Asahi
ในภูมิภาคยุโรป การที่มีสัดส่วนคนอยู่เพียงลำพังมากขึ้นกลับช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ เพราะการเพิ่มขึ้นของคนที่อยู่เพียงลำพังมาจากการตัดสินใจด้วยตัวเอง มากกว่าการถูกสถานการณ์บีบบังคับ จึงทำให้พวกเขาสามารถอยู่ในตลาดแรงงานและยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างเดิม
4
แน่นอนว่าการเชื่อมต่อกันภายในสังคมไม่ว่าจะกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว เป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพ และความรู้สึกอยู่แล้ว ดังนั้นโจทย์ที่ท้าทายของสังคมที่มีคนใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังมากขึ้นก็คือ จะช่วยซัพพอร์ทคนเหล่านั้นให้สามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นในสังคมได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจนที่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารไม่ดีพอ และรัฐสวัสดิการอ่อนแอ
2
เครดิตภาพ : TV Asahi
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
  • The rise of living alone: how one-person households are becoming increasingly common around the world - Our World in Data
  • In 2040, more Japanese will be old and alone - Nikkei Asia
  • Alone and lonely: The economic cost of solitude | VOX, CEPR Policy Portal (voxeu.org)
  • Why more people than ever are living alone – and what this means for the environment (theconversation.com)
เครดิตภาพปก : TV Asahi via Netflix

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา